สมองเน่า หรือ Brain Rot นั้นได้รับเลือกจากผู้ลงคะแนนออนไลน์หลายพันคนให้กลายเป็นคำศัพท์แห่งปี 2024 ตามคำชี้แจงของผู้จัดพิมพ์มหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดซึ่งเป็นผู้รวบรวมพจนานุกรมภาษาอังกฤษออกซ์ฟอร์ดให้ความหมายไว้ว่า ‘เป็นการเสื่อมถอยของสภาพจิตใจหรือสติปัญญาของบุคคล ซึ่งเป็นผลจากการบริโภคเนื้อหามากเกินไป โดยเฉพาะเนื้อหาบนอินเตอร์เน็ตที่มีคุณภาพต่ำ’
“ภาวะสมองเน่า เป็นการพูดถึงอันตรายอย่างหนึ่งที่อาจเกิดขึ้นในชีวิตเสมือนจริง และวิธีที่เราใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์” แคสเปอร์ แกรธโวล (Casper Grathwohl) ประธานของออกซ์ฟอร์ด แลงเกวจส (Oxford Languages) กล่าวในแถลงการณ์ “มันรู้สึกเหมือนเป็นบทต่อไปที่ถูกต้องตามธรรมชาติในบทสนทนาทางวัฒนธรรมเกี่ยวกับมนุษยชาติและเทคโนโลยี”
แม้ว่าการใช้คำนี้จะเพิ่มขึ้นถึง 230 เปอร์เซ็นและเอาชนะคำอื่น ๆ ที่เข้า 5 รอบสุดท้ายซึ่งได้แก่ ‘demure’, ‘lore’, ‘romantasy’, ‘slop’ และ ‘dynamic pricing’
แต่คำว่า ‘brain rot’, นั้นถูกบันทึกไว้เป็นครั้งแรกเมื่อประมาณ 150-200 ปีก่อน โดยนักปรัชญา เฮนรี เดวิด ธอร์โร (Henry David Thoreau) นักปรัชญาผู้เขียนหนังสือ ‘Walden’ ที่ตีพิมพ์ในปี 1854 ซึ่งเล่าถึงการไปพักผ่อนที่กระท่อมห่างไกลเพื่อใช้ชีวิตอย่างสันโดษและหลีกหนีจากภาระของชีวิต
“ในขณะที่อังกฤษพยายามรักษาโรคมันฝรั่งเน่า แต่กลับไม่มีใครพยายามรักษาโรคสมองเน่าซึ่งแพร่หลายและร้ายแรงกว่ามากหรือ” ธอร์โร เขียน และเขามักจะใช้คำนี้เพิ่มในการตำหนิการมองโลกในแง่ร้ายเกินไป “ทำไมเราจึงมองโลกในแง่อยู่เสมอ และยกย่องว่านั่นเป็นเรื่องของสามัญสำนึก”
ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาของออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า สมองเน่า ได้รับความนิยมบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น TikTok ซึ่งต้องขอบคุณคนรุ่น ‘Gen Z’ และ ‘Gen Alpha’ ที่ทำให้คำนี้แพร่หลาย
อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาจากมุมมองอายุของธอร์โรที่กล่าวถึงสมองเน่าเป็นครั้ง ในตอนนั้นเขาเองก็มีอายุ 27 ปีซึ่งเป็นอายุเดียวกับสมาชิก ‘Gen Z’ ที่เก่าแก่ที่สุดเช่นเดียวกัน มันจึงมีความเชื่อมโยงกันอย่างน่าประหลาดใจ
“สำหรับธอร์โรแล้วคำว่า ‘สมองเน่า’ อธิบายถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับจิตใจและวิญญาณของเรา เมื่อเราหยุดใช้สัญชาตญาณโดยกำเนิดของเราในด้านความอยากรู้อยากเห็นและความสงสัย” คริสติน เอลลิส (Cristin Ellis) อาจารย์สอนวรรณคดีจากมหาวิทยาลัยมิสซิสซิปปี้ ผู้เชี่ยวชาญเกี่ยวกับธอร์โร กล่าว
“และแทนที่จะทำเช่นนั้น เรากลับยอมจำนนต่อนิสัยซึ่งไม่ผ่านการไตร่ตรองที่เราเห็นอยู่รอบตัว เช่นการแสวงหาผลกำไร การนินทา หรือการมุ่งเน้นเอาตัวรอด” พร้อมเสริมว่า “ฉันคิดว่าคำจำกัดความมีความเกี่ยวข้องกัน แต่ความรู้สึก สมองเน่า ของธอร์โรนั้นรุนแรงกว่ามาก”
ในการใช้งานปัจจุบันคำว่า สมองเน่า ถือเป็นเรื่องไม่ดีและเป็นคำเตือนใจถึงสิ่งที่อาจเกิดขึ้นกับเราหากเราเสียสมาธิมากเกินไป เอลลิส อธิบายว่า ธอร์โร ให้ความสำคัญกับประสบการณ์ตรงมากกว่านิสัยของเราในการเสพไอเดียของคนอื่น ซึ่งคล้ายกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เราดูคลิปสั้นอยู่หน้าจอแทนที่จะออกไปแสวงหาประสบการณ์ใหม่ ๆ
“เขาต้องการให้เราออกไปข้างนอกเพื่อรู้สึกและคิดบางอย่างด้วยตัวเอง เขาต้องการให้เราทำความรู้จักกับสถานที่ที่เราอาศัยอยู่จริง ๆ” เอลลิส กล่าว
คำว่า สมองเน่า ที่เกิดจากการ ‘เสพ’ เนื้อหาคุณภาพต่ำบนโลกอินเตอร์อาจฟังดูเป็นเรื่องขำขันและน่าตลกสำหรับใครหลายคน แต่โดยทั่วไปแล้วคำศัพท์ประจำปีมักจะบ่งบอกถึงแนวโน้มบางอย่างและความกังวลเกี่ยวกับทิศทางที่สังคมกำลังมุ่งไปเช่น ‘ภาวะฉุกเฉินด้านสภาพอากาศ’ ในปี 2019 และ ‘วัคซีน’ ในปี 2021
อย่างที่ แกรธโวล กล่าวไว้ข้างต้นคำว่า brain rot นั้นให้ความรู้สึกเหมือนอนาคตของมนุษยชาติที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี ซึ่งน่ากังวลกว่าคำในปี 2022 อย่าง ‘goblin mode’ และปี 2023 อย่าง ‘rizz’
“มีความวิตกกังวลเกิดขึ้นเกี่ยวกับการรักษาสมดลุที่เหมาะสมระหว่างโลกออนไลน์ และการไม่ได้สัมผัสกับโลกแห่งความเป็นจริง” แคทเธอรีน มาร์ติน (Katherine Martin) ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตภัณฑ์ของออกซ์ฟอร์ด แลงเกวจส กล่าว
การตรวจสอบอย่างเป็นระบบในปี 2023 ระบุว่าเด็กอายุ 6-14 ปีใช้เวลาอยู่กับหน้าจอโดยเฉลี่ย (วัดจาก 2 ชั่วโมงขึ้นไป) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากร้อยละ 41.3 เป็นร้อยละ 59.4 โดยใช้เวลาประมาณ 4-6 ชั่วโมงต่อวัน ขณะที่วัยรุ่น (อายุเกิน 14 ขึ้นไป) ใช้เวลามากถึง 9 ชั่วโมง
ตามที่ อีไล อาร์วูด (Eli Harwood) นักจิตวิทยาบำบัดกล่าวไว้สิ่งนี้เน้นย้ำถึงปัญหาร้ายแรงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบทางด้านปัญญาและปฏิสัมพันธ์ทางสังคม เนื่องจากสมองของเด็กและวัยรุ่นนั้นมุ่งเป้าไปที่การเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวและใส่ใจกับความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล
ประสบการณ์เช่น การแอบชอบครั้งแรกหรือการมีเพื่อนที่โรงเรียนซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการพัฒนาทั้งด้านสติปัญญา การแก้ไขปัญหา และความมั่นใจในตัวเองต้องอาศัยการพบปะกันในโลกแห่งความจริง ไม่เพียงเท่านั้นการใช้โซเชียลมีเดียแทนปฏิสัมพันธ์แบบพบหน้า ยังทำให้เกิดการแยกตัวเพิ่มขึ้น
แต่ตามที่ ดร. จูเลีย โคแกน (Julia Kogan) ดูเหมือนว่าปัญหาที่แท้จริงจะอยู่ที่ผลกระทบต่อความนับถือตัวเองและภาพลักษณ์ของร่างกาย ซึ่งอินเตอร์เน็ตต่างพากันยกย่องและนำเสนอภาพชีวิตในอุดมคติอยู่เสมอ ด้วยเหตุนี้การเสพสื่อมากเกินไปอาจทำให้เกิดความไม่พอใจในตนเองและเชื่อว่าตนเองไม่ดีพอ
“การจมอยู่กับภาพนางแบบที่ผ่านการปรับแต่ง สื่อลามก การกลั่นแกล้ง และกระแสโดปามีนที่ท่วมท้นจากเกมและวงจรฟีดแบ็กของโซเชียลมีเดีย ทำให้สมองของคนหนุ่มสาวได้รับผลกระทบอย่างมาก” ดร. โคแกน กล่าว “ผู้ใหญ่ส่วนใหญ่ที่ฉันรู้จักก็มักจะประสบปัญหาในการดำรงชีวิตอยู่ท่ามกลางความเป็นจริงในโลกออนไลน์เหล่านี้”
หลายคนอาจคิดว่าตนเองไม่ได้เสพติดการใช้โซเชียลมีเดีย แต่จริง ๆ พวกเขาแค่ไม่รู้ตัว เนื่องจากโซเชียลมีเดียได้รับการออกแบบมาเพื่อกระตุ้นศูนย์ควบคุมความพึงพอใจของสมอง เช่นลงรูปแล้วมีคนกดไลค์จำนวนมาก ลงโพสต์แล้วมีคนชื่นชมจำนวนมาก สิ่งเหล่านี้ทำให้สมองของเราพัฒนาเส้นทางที่คล้ายกับการเสพติดยา
แต่ข่าวดีก็คือภาวะสมองเน่านี้ไม่ใช่อาการแบบถาวร (เท่าที่นักวิทยาศาสตร์รู้ในตอนนี้) ดังนั้นจึงมีวิธีป้องกันและลดผลกระทบสิ่งที่เกิดขึ้นต่อตัวเราเองหรือต่อลูกหลานของเรา
บางที ธอร์โร อาจกล่าวถูกตั้งแต่แรก “ประเด็นของเขาคือไม่ว่าตอนนี้สิ่งต่าง ๆ จะแย่ลงกว่าเมื่อก่อนหรือไม่ หน้าที่ของเราก็ยังคงเหมือนเดิมเสมอ นั่นคือพยายามอย่างเต็มที่เพื่อทุ่มเทให้กับสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตอันสั้นและน่าอัศจรรย์ของเรา” เอลลิส กล่าว
“จงใส่ใจสิ่งที่คุณรู้ในใจว่าสำคัญจริง ๆ นั่นคือ ความหมาย ความงดงาม ความรัก ความอัศจรรย์ใจ และขอบคุณสำหรับโลกใบนี้”
สืบค้นและเรียบเรียง
วิทิต บรมพิชัยชาติกุล
ที่มา
https://www.smithsonianmag.com