เยือนผืนป่าเก่าแก่ ตามหาสุดยอดใบชา

มีชารูปแบบเฉพาะชนิดหนึ่งที่ยังคงผูกโยงกับภูเขาจิ่งม่ายอย่างแยกไม่ออก เชื่อกันว่าเป็นเวลากว่าหนึ่งพันปีแล้วที่ชาวเผ่าปู้หล่าง พร้อมกับชนพื้นเมืองอีกกลุ่ม ได้ทะนุบำรุงป่าชาโบราณ

ในป่าบนที่สูงของภูเขาจิ่งม่าย รุ่งอรุณฉายฉานเหนือยอดเขาเขียวชอุ่ม อาบไล้ต้นชาโบราณด้วยแสงอุ่นด้วยลำต้นขนาด 1.2 เมตร พร้อมกิ่งก้านใหญ่โต เสียดแทงพุ่มใบแผ่กว้างเป็นเรือนยอด  ทำให้ต้นชานี้ดูสูงใหญ่น่าเกรงขาม ไม่มีอะไรเหมือนกับต้นชาเป็นพุ่มขนาดเล็กกว่าที่มักปลูกเรียงเป็นแถวแน่นขนัดในไร่ชาเชิงพาณิชย์ทั่วประเทศจีน แต่ต้นชาที่อยู่ลึกเข้าในมณฑลยูนนานต้นนี้ทั้งแตกต่างและทำหน้าที่พิเศษออกไปโดยสิ้นเชิง  

คู่สามีภรรยาชื่อ อ้ายหรง อายุ 41 และเคอหลานฟาง อายุ 36 มาสมทบกับพ่อแม่สูงวัยของพวกเขาหน้าต้นชาดังกล่าว พวกเขาสวดอธิษฐานในภาษาชนเผ่าปู้หล่างที่พูดกันในชุมชุนพื้นเมืองทั่วภูมิภาคแถบนี้ ซึ่งมีการปลูกป่าชาอยู่ห้าผืน รวมๆ กันแล้วถือเป็นป่าชาเก่าแก่ที่สุดและมีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ในสายตาคนทั่วไป ชาต้นนี้อาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของผืนป่า แต่สำหรับครอบครัวนี้ มันคือหัวใจของศาลเจ้าที่มีชีวิต  พวกเขาอธิษฐานต่อ “เทพารักษ์ประจำต้นชา” ขอให้บรรพบุรุษของพวกเขาผู้มีนามว่า พ่าอ้ายเหลิง ซึ่งปัจจุบันนับถือเป็นเทพยดา ช่วยบันดาลฤดูเก็บเกี่ยวที่ได้ผลดี “ชาต้นนี้อายุหนึ่งพันปีแล้วครับ” อ้ายบอกอย่างภาคภูมิใจ ชี้ไปที่ลำต้นขนาดใหญ่ของชาต้นนั้น อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ศรัทธาของเขาเหมือนถูกทดสอบอย่างต่อเนื่อง ในช่วงเวลาที่ชาซึ่งผลิตด้วยความเชี่ยวชาญอย่างสูงจากภูมิภาคนี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง ขายได้ราคาสูงลิบ ทว่ากลับมีพลังทางธรรมชาติที่คาดเดาไม่ได้ให้รับมือมากขึ้นเรื่อย ๆ

ในเทศกาลสงกรานต์ของจิ่งม่าย สตรีผู้ปลูกชาชาวเผ่าไตผูกสายสิญจน์รอบวัตถุสัญลักษณ์ เช่น ธนบัตร และเทียนขี้ผึ้ง ซึ่งเป็นตัวแทนความเชื่อมโยงระหว่างมนุษย์กับพระแม่คงคา ยามเกิดภัยแล้ง พวกเขาจะเซ่นไหว้ขอให้ฝนตก
บนที่ตั้งสูงเหนือระดับทะเล 1,250 ถึง 1,550 เมตร ป่าชาของจิ่งม่ายมักปกคลุมด้วยสายหมอก และได้ประโยชน์จากอุณหภูมิหนาวเย็นที่เอื้อให้ต้นชาผลิตใบที่มีกลิ่นรสซับซ้อน ที่ตั้งอันห่างไกลนี้ยังช่วยปกป้องมันจากการพัฒนาในยุครุ่งเรืองของเกษตรอุตสาหกรรมของจีนในศตวรรษที่ยี่สิบ ปัจจุบัน ชาผูเอ่อร์จากจิ่งม่ายถือเป็นชาล้ำค่าในหมู่ผู้รู้ด้านเครื่องดื่มชา

ชาเป็นเครื่องดื่มที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในโลกรองจากน้ำดื่ม ทั่วโลก ผู้คนดื่มชาประมาณ 170,000  ล้านลิตรต่อปี ในรูปแบบหลากหลาย ชาประเภทต่างๆ เหล่านี้มาจากกระบวนการผลิตที่แตกต่างกัน แต่ทั้งหมดมาจากส่วนประกอบพื้นฐานชนิดเดียวกันคือ นั่นคือ Camellia sinensis พืชดอกไม่ผลัดใบชนิดนี้เดินทางไปทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเจ้าอาณานิคมอังกฤษนำไปปลูกที่อินเดียในช่วงต้นศตวรรษที่สิบเก้า ส่งผลให้การผูกขาดของจีนสิ้นสุดลง

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีชารูปแบบเฉพาะชนิดหนึ่งที่ยังคงผูกโยงกับภูเขาจิ่งม่ายอย่างแยกไม่ออก เชื่อกันว่า เป็นเวลากว่าหนึ่งพันปีแล้วที่ชาวเผ่าปู้หล่าง พร้อมกับชนพื้นเมืองอีกกลุ่ม เรียกว่าชาวไต ได้ทะนุบำรุงป่าชาโบราณสายพันธุ์  Camellia sinensis var. assamica (กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัม) อย่างต่อเนื่อง ชาสายพันธุ์ย่อยนี้ให้ผลิตผลเป็นชาดำ ซึ่งรวมถึงชาผูเอ่อร์ที่มีสีสันและรสชาติเข้มข้นจากภูเขาดังกล่าว ชาอันเป็นที่ปรารถนาสูตรนี้กล่าวกันว่าเป็น “ทองดื่มได้” ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้ผลิตจำนวนมากจะหมักชานี้เป็นเวลาอย่างน้อยสิบปี ซึ่งจะทำให้ได้รสชาติลุ่มลึกขึ้น และมีมูลค่าสูงขึ้น ในหมู่ชนชั้นมีอันจะกินที่มีจำนวนมากขึ้นของจีน เครื่องดื่มรสขมอ่อนๆ เจือรสและกลิ่นเฉพาะท้องถิ่นชนิดนี้ เทียบได้กับไวน์ชั้นเลิศทีเดียว 

ผู้ปลูกชาชาวไตเก็บใบชาในต้าผิงจ่าง หนึ่งในป่าชาห้าแห่งบนภูเขาจิ่งม่ายในมณฑลยูนนาน ชนชาวไตและชาวปู้หล่างในภูมิภาคนี้ใช้วิธีทำเกษตรแบบธรรมชาติมาตลอดหนึ่งสหัสวรรษที่ผ่านมา
ในบ้านหลังหนึ่งบนเขาจิ่งม่าย ผู้ปลูกชาชาวปู้หล่างคัดแยกใบชาที่เพิ่งเก็บมาใหม่ๆ เพื่อเริ่มกระบวนการผลิตชาปึก ใบชาเหล่านี้มากจากต้นชาสายพันธุ์ Camellia sinensis var. assamica (กลุ่มพันธุ์ชาอัสสัม) ที่ใช้ผลิตชาดำหลากหลายประเภท ในกรณีชาผูเอ่อร์ ผู้ปลูกจะม้วนคลึงใบชาด้วยมือ ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญในการพัฒนาให้เกิดรสชาติที่ซับซ้อนระหว่างการหมัก

อ้ายกับครอบครัวเป็นเจ้าของแปลงที่มีต้นชาราว 4,000 ต้น แต่ก็ต้องใช้เวลาหลายปีดิ้นรนเพื่อทำกำไร เมื่อปี 2015 พวกเขาตัดสินใจร่วมงานกับแบรนด์สินค้าคุณภาพสูงรายหนึ่งที่ขายชาผูเอ่อร์เกรดไฮเอนด์  ตอนนี้พวกเขาบริหารสหกรณ์การเกษตรที่แปรรูปใบชาจาก 37 ครัวเรือนในพื้นที่ ซึ่งให้ผลผลิตราวหนึ่งตันต่อปี ชาผูเอ่อร์จะถูกอัดเป็นปึกทรงกลมและบ่มไว้ จากนั้นบรรจุหีบห่อและขายในราคา 330 ดอลลาร์สหรัฐต่อปึกขนาด 357 กรัม ภายในจิ่งม่าย รายได้เฉลี่ยสูงขึ้นอย่างมากจากเมื่อสองทศวรรษก่อน สำหรับอ้ายและเคอ ผลกำไรดังกล่าว และความสำเร็จในฐานะผู้ประกอบการ นำไปสู่รายได้รวมราว 40,000 ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งสูงกว่าครัวเรือนโดยเฉลี่ยในเมืองฮุ่ยหมินที่อยู่ใกล้เคียง

เมื่อสองปีที่แล้ว องค์การยูเนสโกรับรองภูเขาจิ่งม่ายเป็นแหล่งมรดกโลกอย่างเป็นทางการ ที่นี่เป็นแหล่งมรดกโลกเพียงแห่งเดียวที่เกี่ยวข้องกับการปลูกชา อาจไม่ใช่เรื่องบังเอิญที่ราคาของชาจากจิ่งม่ายพุ่งสูงขึ้นเกือบเท่าตัวนับตั้งแต่แนวคิดเกี่ยวกับการรับรองคุณภาพและแหล่งปลูกถูกเสนอขึ้นมาเมื่อกว่าหนึ่งทศวรรษก่อน

ผู้อยู่อาศัย 6,000 คนในภูมิภาคดังกล่าวใช้แนวทางปฏิบัติแบบธรรมชาติบริหารจัดการที่ดิน 9,875 ไร่ที่ปลูกต้นชากว่าหนึ่งล้านต้น แต่แบบอย่างเพื่อความยั่งยืนของพวกเขากำลังเผชิญความตึงเครียดใหม่ๆ จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ  ในฤดูใบไม้ผลิ ปี 2024 ทั้งภูมิภาคต้องรับมือกับภัยแล้งรุนแรงที่สุดในรอบ 60 ปี และฤดูหนาวที่อบอุ่นอย่างผิดปกติก็นำพาการแพร่ระบาดของหนอนที่ไม่คาดคิดมาถึงยอดเขาที่ครอบครัวของอ้ายทำพิธีเซ่นไหว้ คุกคามใบชาล้ำค่าในช่วงเวลาก่อนเก็บเกี่ยวพอดี

ชายชาวปู้หล่างผึ่งใบชาให้แห้งบนลานระเบียงบ้านที่หมู่บ้านเวิงจี๋ หนึ่งในหมู่บ้านขนาดเล็กเก้าแห่งที่ซุกอยู่บนเขา จิ่งม่าย องค์การยูเนสโกรับรองหมู่บ้านนี้กับหมู่บ้านนั่วก่างที่อยู่ติดกัน ในฐานะสถานที่ที่มีสถาปัตยกรรมดั้งเดิม ในสภาพสมบูรณ์เป็นพิเศษ ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งในการขึ้นทะเบียนภูเขาแห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลก

เทพารักษ์ประจำต้นชาของชาวปู้หล่างมีพื้นฐานมาจากบุคคลจริง ย้อนหลังไปราวศตวรรษที่สิบตามประวัติศาสตร์จากคำบอกเล่า พ่าอ้ายเหลิงนำคนของเขามาตั้งรกรากในจิ่งม่ายที่ซึ่งเขาค้นพบสรรพคุณทางยาของต้นชาป่า และเริ่มนำพันธุ์มาปลูก พ่าถ่ายทอดภูมิปัญญาที่ยังคงเล่าสืบต่อกันมาโดยชาวไร่อย่างอ้ายและเคอ

“ข้ายกทองคำให้เจ้าได้ แต่เจ้าอาจถลุงจนหมด ฉะนั้น ข้าจะมอบต้นชาให้เจ้า ซึ่งจะให้ความมั่งคั่งได้ชั่วลูกชั่วหลาน” พ่าเคยกล่าวไว้เช่นนั้นอย่างที่จำสืบต่อกันมา 

การบริหารจัดการที่ดินอย่างแยบคายในจิ่งม่ายอาจดูเหมือนปล่อยปละไม่ดูแล ตรงข้ามกับการปลูกชาแบบพืชเชิงเดี่ยวตามเนินเขาขั้นบันไดที่พบเห็นอยู่ทั่วโลก แต่เรือนยอดของต้นไม้ให้ที่พักพิงแก่ต้นชาที่เติบโตได้ดีในร่มเงาไม้พื้นชั้นล่างเป็นเฟิร์นเขียวชอุ่มกับพรมพืชสมุนไพรบนพื้นป่า หล่อเลี้ยงถิ่นอาศัยอันสมบูรณ์ของส่ำสัตว์ ขณะที่ช่วยให้ดินกักเก็บความชื้นที่จำเป็นไว้ได้ แหล่งรักษาพันธุ์ต้นชาเหล่านี้ยังถูกแบ่งเป็นหย่อมๆ ซึ่งเป็นกลยุทธ์ที่ผืนป่าใช้แยกแปลงชาแต่ละแปลงออกจากกัน เพื่อยับยั้งการแพร่กระจายของโรคและศัตรูพืช

ชาวปู้หล่างเชื่อว่าทุกสิ่งมีวิญญาณสิงสถิตอยู่ ซึ่งเป็นเครื่องเตือนใจไม่ให้รบกวนธรรมชาติ ดังนั้น ในการดูแลป่าชาพวกเขาจึงหลีกเลี่ยงการใช้ยาฆ่าแมลงและสารกำจัดวัชพืช รวมทั้งวิถีปฏิบัติเชิงรุกรานอย่างการตัดแต่งกิ่งเคอตัดหญ้าระหว่างต้นชาเพียงปีละสองครั้ง และตัดด้วยมีด

งานวิจัยใหม่แสดงให้เห็นว่า เทคนิคด้านวนเกษตรที่ปฏิบัติในจิ่งม่ายยังคงมีประสิทธิภาพ การศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ พบว่า ชาที่ได้จากต้นชาบนพื้นที่สูงของภูเขาลูกนี้มีรสขมน้อยกว่าชาที่ปลูกในพื้นที่ต่ำกว่า และวิธีเพาะปลูกแบบยั่งยืนก็ส่งเสริมให้มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงกว่าไร่ชาเชิงพาณิชย์อย่างมีนัยสำคัญ ปัจจุบัน ราคาชาจากจิ่งม่ายสูงกว่าชาที่ปลูกกันทั่วไปราว 6.5 เท่า

แม้ครอบครัวของเขาจะเป็นเจ้าของต้นชาเก่าแก่หลายพันต้น แต่อ้ายกลับมีชีวิตวัยเด็กที่ยากจน เพราะความต้องการผลิตภัณฑ์ของพวกเขาไม่มีอยู่เลยในเวลานั้น ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ยี่สิบ การมุ่งเน้นของจีนไปที่การผลิตจำนวนมากจากไร่ชาแบบขั้นบันไดขนาดใหญ่ที่ให้ผลผลิตสูง เหลือที่ว่างน้อยมากให้ผลผลิตจากต้นชาเก่าแก่ที่ต้องพึ่งพาแรงงานอย่างมากในการเก็บเกี่ยว ขณะที่ผู้ปลูกชาตามภูเขาอื่นๆ ในยูนนาน พากันโค่นป่าชาโบราณเพื่อปลูก     ต้นชารุ่นใหม่ที่ให้ผลผลิตสูงกว่า ชาวบ้านในจิ่งม่ายยังคงปกปักรักษาสมบัติในรูปต้นไม้ของตนไว้อย่างแน่วแน่ 

โชคชะตาของจิ่งม่ายเริ่มพลิกผันไปในทางที่ดีขึ้นราวปี 2000 เมื่อรัฐบาลจีนลงทุนก่อสร้างถนนสายใหม่ๆกับโรงไฟฟ้าในพื้นที่ชนบท ทีละเล็กทีละน้อย ผู้ชื้อชารายใหม่ๆ เริ่มมาถึงภูเขาดังกล่าว แม้การเข้าถึงได้มากขึ้นจะนำไปสู่ความท้าทายที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ชาวบ้านบางส่วนแผ้วถางป่าชาเพื่อทำไม้สำหรับใช้ในการก่อสร้างอีกส่วนหนึ่งนำสารเคมีอันตรายมาใช้กับต้นชาและโหใตัดแต่งกิ่งเพื่อเพิ่มผลกำไร

ที่บ้านในหมู่บ้านหมางฮง ผู้ปลูกชา เคอหลานฟง ชงชาผูเอ่อร์ให้ครอบครัว โดยใช้เทคนิคพื้นบ้านของปู้หล่างด้วยการวางถ่านร้อนๆ ไว้บนใบชา ก่อนจะรินน้ำร้อนและแช่ไว้เพื่อให้มีรสรมควัน ในกรณีลูกค้า เธอจะข้ามขั้นตอนนี้ไป
หลังใบชาถูกอัดเป็นปึกแล้ว ก้อนชาที่ได้จะเตรียมนำไปบ่ม โดยห่อด้วยกระดาษและปล่อยให้แห้งในสภาพนี้ เป็นเวลาหลายปี ผู้ผลิตชาจำนวนมากหมักชาปึกเหล่านี้หลายสิบปี
พนักงานในห้างหรูกลางกรุงปักกิ่ง จัดแสดงชาปึกล้ำค่าจากภูเขาจิ่งม่าย ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา จีนปรับปรุง ถนนหนทางในเขตชนบทให้ดีขึ้น เปิดโอกาสให้สินค้าจากป่าชาโบราณเดินทางถึงเมืองใหญ่ๆ ผู้ปลูกชาบนเขาจิ่งม่าย ตอนนี้สามารถแข่งขันกับผู้ปลูกชารายอื่นๆ ทั่วประเทศได้แล้ว

ราวปี 2010 บรรดาผู้อาวุโสของหมู่บ้านในจิ่งม่ายผนึกกำลังกับรัฐบาลจีนเพื่อยื่นข้อเสนอยกสถานะเป็นแหล่งมรดกโลก และด้วยการผลักดันส่วนหนึ่งจากรัฐบาล เจ้าหน้าที่จัดตั้งด่านตรวจบนถนนเส้นเดียวที่ทอดขึ้นสู่เขาจิ่งม่ายเพื่อยับยั้งไม่ให้คนนำสัตว์และพืชต่างถิ่นเข้าไปในพื้นที่ ตลอดจนสร้างถนนเส้นหนึ่งโดยใช้หินแทนยางมะตอย ที่อาจรบกวนกลิ่นหอมของชา อีกทั้งจำกัดการก่อสร้างและการตัดไม้ทำลายป่าในพื้นที่

จั้วจิง ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยอานฮุย ร่วมผนึกความพยายามเพื่อช่วยบันทึกมรดกทางวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่ ทีมงานของเขาซึ่งได้รับทุนจากรัฐบาลยังได้สร้างบ้านตัวอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อสาธิตให้เห็นว่าเทคโนโลยีสมัยใหม่บางอย่างสามารถเพิ่มประสิทธิภาพของระบบสุขาภิบาล การทำความร้อน และไฟฟ้าได้อย่างมาก ขณะที่ช่วยรักษาสถาปัตยกรรมโบราณไว้ด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่ชุมชนรับไปปฏิบัติตามอย่างรวดเร็ว “ภูเขา จิ่งม่ายเปรียบเหมือนต้นชาเก่าแก่ต้นหนึ่งที่มีทั้งประวัติศาสตร์อันเป็นเอก และพลังชีวิตร่วมสมัยอันแกร่งกล้าที่ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่องครับ” เขากล่าว

 

เรื่องและภาพถ่าย จัสติน จิน

แปล อัครมุนี วรรณประไพ


อ่านเพิ่มเติม : ศาสนาโซโรอัสเตอร์

ภารกิจโหมไฟศรัทธาที่ใกล้มอดในโลกยุคใหม่

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.