The Wireless House One Bangkok บันทึก111 ปี ความรุ่งเรืองแห่งปัจจุบันและอนาคตของถนนวิทยุ

วัน แบงค็อก แลนด์มาร์คใจกลางกรุงเทพฯ เปิดตัว เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก (The Wireless House One Bangkok) ประตูสู่ประวัติศาสตร์อันทรงคุณค่าของถนนวิทยุ

ความรุ่งเรืองของถนนวิทยุมีความเป็นมาอย่างไร?  เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก (The Wireless House One Bangkok) โครงการอนุรักษ์อาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงได้ตอบคำถามนี้ ผ่านการจัดแสดงนิทรรศการถาวรบอกเล่าเรื่องราวความเป็นมาของพื้นที่ตั้งโครงการอันเป็นที่มาของชื่อ “ถนนวิทยุ” โดยนำเสนอประวัติศาสตร์ของสถานีวิทยุโทรเลขแห่งแรกของประเทศไทย ซึ่งถือเป็นสัญลักษณ์แห่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสาร

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก กล่าวว่า “วัน แบงค็อก ให้ความสำคัญและวางแนวทางในการผสานองค์ประกอบทางศิลปะและวัฒนธรรมในพื้นที่ต่าง ๆ ตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นโครงการ และตั้งใจรักษาคุณค่าทางประวัติศาสตร์ของพื้นที่ พร้อมนำมาสืบสานต่อยอดเพื่อเป็นประโยชน์ต่ออนาคต  จึงได้สร้างสรรค์ “เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก” ขึ้น ให้เป็นสัญลักษณ์แห่งประวัติศาสตร์และรากเหง้าของพื้นที่แห่งนี้  โดยเราได้ทำงานร่วมกับกรมศิลปากร ผู้เชี่ยวชาญด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและนักโบราณคดี เพื่อให้ที่นี่เป็น “หมุดหมายแรก” ที่จะต้อนรับทุกคนเข้าสู่ วัน แบงค็อก

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อกบอกเล่าถึงเรื่องราวของวิทยุโทรเลข ซึ่งเป็นการสื่อสารไร้สายในยุคเริ่มต้นของไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2456 พร้อมทั้งจัดแสดงโบราณวัตถุต่าง ๆ ที่ขุดค้นพบในบริเวณพื้นที่ โดยสิ่งเหล่านี้สะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตรวมถึงประวัติความเป็นมา คุณค่า และความสำคัญของพื้นที่ตั้งแต่ครั้งอดีตจนถึงปัจจุบัน และเชื่อมโยงไปสู่ศักยภาพและโอกาสของพื้นที่ในอนาคต นำเสนอเรื่องราวผ่านเทคนิคที่ทันสมัย สร้างความน่าสนใจให้กับผู้เข้าชมทุกเพศทุกวัย อีกทั้งยังเป็นแหล่งข้อมูลสำคัญสำหรับผู้ที่สนใจศึกษาประวัติศาสตร์และสถาปัตยกรรม

ไฮไลต์สำคัญของนิทรรศการถาวรที่จัดแสดงในเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก แบ่งออกเป็น 4 โซนหลัก ๆ เพื่อนำเสนอเรื่องราวความเป็นมาของย่านวิทยุ-พระราม 4 และอาคารสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดง ซึ่งเป็นหมุดหมายสำคัญของความทันสมัยในอดีต

ในพิธีเปิด เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก อย่างเป็นทางการ ยังมีการเสวนาในหัวข้อ “111th Anniversary of the Saladaeng Radiotelegraph Station: Preserving the Past, Inspiring the Future” โดยผู้ร่วมเสวนาประกอบด้วย จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย ในฐานะผู้แทนโครงการ วัน แบงค็อก มนัชญา วาจก์วิศุทธิ์ สถาปนิกชำนาญการพิเศษ สำนักสถาปัตยกรรม กรมศิลปากร วทัญญู เทพหัตถี สถาปนิกอนุรักษ์  กษมา เกาไศยานนท์ นักโบราณคดี และนันทกานต์ ทองวานิช ภัณฑารักษ์ ฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก มาร่วมแบ่งปันเรื่องราวและกระบวนการต่าง ๆ เกี่ยวกับการนำสถานีวิทยุโทรเลขศาลาแดงกลับมาสร้างใหม่เป็น เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก

คุณปณต สิริวัฒนภักดี (ที่ 3 จากขวา) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ ลิมิเต็ด และคุณจรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย (ซ้ายสุด) ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายกลยุทธ์การสร้างแบรนด์ และผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ วัน แบงค็อก นำทีมร่วมพิธีเปิดเดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก

งานเสวนาพูดถึงประสบการณ์ของแต่ละท่าน ตั้งแต่การทำงานวันแรก บทเรียนต่าง ๆ ที่ได้รับจากการขุดค้น ตลอดจนการวางแนวทางการอนุรักษ์ และสานต่อประวัติศาสตร์สู่อนาคตผ่านนิทรรศการในรูปแบบร่วมสมัย  ซึ่งในปี พ.ศ. 2559 ที่ วัน แบงค็อก เริ่มดำเนินการพัฒนาโครงการ ทีมงานได้ค้นพบฐานรากของอาคารสถานีวิทยุโทรเลขและเสาวิทยุ จึงได้ร่วมมือกับกรมศิลปากรในการขุดค้นทางโบราณคดี และอนุรักษ์โครงสร้างฐานรากและเสาส่งสัญญาณวิทยุ รวมถึงโบราณวัตถุกว่า 1,500 ชิ้นที่ขุดค้นพบในบริเวณนี้ ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของผู้คนในอดีตและการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ ตั้งแต่ยุคที่ดินผืนนี้ยังเป็นทุ่งนา จนกลายเป็นพื้นที่ของทหารเรือและต่อมาเป็นโรงเรียนเตรียมทหารและสนามมวยเวทีลุมพินี ก่อนจะพัฒนามาเป็นโครงการ วัน แบงค็อก ในปัจจุบัน

เดอะ ไวร์เลส เฮาส์ วัน แบงค็อก เปิดให้บริการทุกวัน ไม่มีค่าเข้าชม ตั้งแต่เวลา 10.00 น. – 20.00 น.


อ่านเพิ่มเติม : One Bangkok Experiential Pavilion โมเดลสร้างคุณภาพชีวิตเพื่อเมืองที่ยั่งยืน ในงาน SX 2024

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.