สรุปประเด็น ‘ทรัมป์’ ประกาศ-ลงนามคำสั่ง เตรียมพาอเมริกาสู่ยุคทอง

ไม่นานหลังเข้าพิธีสาบานตน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามยกเลิกคำสั่งของรัฐบาลไบเดน 78 ข้อ และนำสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส รวมถึงข้อกำหนดต่างๆที่น่าติดตามถึงแนวทางของสหรัฐต่อจากนี้

“ยุคทองของอเมริกากำลังจะเริ่มต้นขึ้นในตอนนี้”  คือส่วนหนึ่งของคำปราศรัยจาก ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ หลังพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐอเมริกา เมื่อคืนวันจันทร์ที่ 21 มกราคม 2568 ตามเวลาในประเทศไทย โดยคำปราศรัยนี้ ทรัมป์ประกาศชัดเจนว่า จะให้ความสำคัญกับอเมริกาเป็นลำดับแรก และยุคขาลงของอเมริกาได้สิ้นสุดลงแล้ว จากนี้ไปอเมริกาจะแข็งแกร่งและยิ่งใหญ่กว่าเดิม

ถ้อยคำที่ประธานาธิบดีคนใหม่สื่อสารกับคนทั้งโลก ได้สรุปแนวทางปฏิบัติที่เขาวางแผน ตั้งแต่เรื่องการย้ายถิ่นฐาน นโยบายพลังงาน อัตลักษณ์ทางเพศ ซึ่งภายหลังการปราศรัย ทรัมป์ได้ลงนามเซ็นเอกสารยกเลิกนโยบายของรัฐบาลชุดเดิมและแสดงถึงท่าทีกับนโยบายที่จะเกิดขึ้นท่ามกลางการจับตาของผู้คนทั่วโลก ซึ่งสรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

ออกจากข้อตกลงปารีส

หลังจบการปราศรัย โดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อ ยกเลิกนโยบายของรัฐบาลโจ ไบเดน จำนวน 78 ฉบับ โดยหนึ่งในคำสั่งสำคัญคือ การเริ่มกระบวนการถอนสหรัฐ ออกจาก “ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ซึ่งเป็นข้อตกลงสำคัญของนานาชาติ โดยทรัมป์ต้องการมุ่งดำเนินการตามแผนงานด้านพลังงานที่ครอบคลุม ซึ่งเน้นที่การเพิ่มการผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิล

นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ทรัมป์ออกจากข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะเขาเคยตัดสินใจออกมาแล้วในสมัยแรก แล้วไบเดนก็กลับเข้ามาก่อนที่ทรัมป์จะตัดสินใจเอาออกอีก

ข้อตกลงปารีสว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศนั้น เป็นข้อตกลงที่ลงนามร่วมกันเกือบ 200 ประเทศ ให้อยู่ภายใต้กรอบเดียวกันเพื่อแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส และพยายามไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเมื่อเทียบกับช่วงก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ทั้งนี้การมีคำสั่งฝ่ายบริหารดังกล่าว ทรัมป์ยังได้ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารอีกฉบับ เพื่อเป็นการแจ้งไปยังองค์การสหประชาชาติทราบถึงการตัดสินใจดังกล่าวด้วย

ผู้ชุมนุมชูป้ายเสียดสีทรัมป์ ระหว่างการประท้วง Climate Strike ในวันที่ 20 กันยายน 2019 ที่กรุงวอชิงตัน ดีซี ก่อนการประชุมเร่งด่วนเพื่อภูมิอากาศของสหประชาชาติเมื่อปี 2019 (UN Climate Action Summit 2019) ภาพถ่ายโดย Eli Wilson, Shutterstock

ออกจากองค์การอนามัยโลก (WHO)

ทรัมป์ได้วิจารณ์การทำงานของ WHO มาเป็นเวลานาน และเคยประกาศจะถอนตัวมาแล้ว จากการที่การระบาดของโควิด-19 ยังแพร่กระจาย นั่นเพราะเขามองว่า WHO มีการจัดการที่ล้มเหลว นอกจากนั้น ยังระบุถึงการถูกเรียกร้องเงินชดเชยอย่างไม่เป็นธรรมจาก WHO อีกด้วย

รายงานข่าวบอกว่า คำสั่งทรัมป์ระบุว่า รัฐบาลจะทบทวน, เพิกถอน และแทนที่ ยุทธศาสตร์ความมั่นคงสุขภาพโลกฉบับปี 2567 ของรัฐบาลไบเดน โดยเร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่งนั่นหมายความว่า คำสั่งพิเศษของทรัมป์จะหยุดการโอนย้ายงบประมาณจากรัฐบาลสหรัฐฯ ให้แก่องค์การอนามัยโลกทั้งหมด รวมทั้งเรียกตัวและมอบหน้าที่ใหม่ให้แก่เจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางกับพนักงานที่ทำงานกับ WHO อย่างไรก็ตาม ก่อนที่สหรัฐฯ จะสามารถออกจากองค์การอนามัยโลกได้ต้องได้รับการอนุมัติจากสภาเสียก่อน นอกจากนั้นสหรัฐฯ ต้องมอบทุนให้แก่ WHO ในปีงบประมาณปัจจุบันให้ครบตามสัญญา

ยกเลิกสถานะพลเมืองโดยกำเนิด

มีรายงานว่า ทรัมป์ลงนามคำสั่งฝ่ายบริหารเพิ่มเติม โดยมีประเด็นเกี่ยวกับคำนิยามของคำว่า “พลเมืองโดยกำเนิด” และอีกฉบับคือ “การประกาศภาวะฉุกเฉินระดับชาติ” (National emergency) ในพื้นที่ชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

โดยประเด็นนี้ประธานาธิบดีลงนามในคำสั่งให้หน่วยงานของรัฐบาลกลางปฏิเสธการให้สิทธิพลเมืองโดยกำเนิดแก่บุตรของพ่อแม่ซึ่งเป็นผู้อพยพที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือผู้ถือวีซ่าชั่วคราว นอกจากเรื่องนี้ ทรัมป์ยังขับเคลื่อนโทษ สำหรับผู้อพยพอย่างผิดกฎหมายซึ่งก่อเหตุฆาตกรรมเจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายสหรัฐ โดยมีคำสั่งให้กระทรวงยุติธรรมใช้โทษประหารชีวิตสำหรับผู้อพยพที่เข้าข่ายนี้

ขณะเดียวกันทรัมป์ประกาศว่าจะเริ่มโครงการเนรเทศครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของอเมริกา” โดยจะเริ่มตั้งแต่วันแรกที่เขากลับสู่ทำเนียบขาว คาดว่าทรัมป์จะประกาศภาวะฉุกเฉินด้านชายแดน และสั่งการให้ทหารตรึงกำลังตามแนวชายแดนทางตอนใต้ของสหรัฐฯ

คำสั่งว่าด้วยความหลากหลายและเพศสภาพ

เป็นข่าวมาแล้วก่อนหน้า และทำให้ทั่วโลกตั้งคำถามเรื่องสิทธิเสรีภาพที่เกิดขึ้นต่อจากนี้ โดยรายงานข่าวระบุว่า จากนี้ไปสหรัฐอเมริกาจะให้การยอมรับบุคคลเพียง 2 เพศ คือ ชาย-หญิง เท่านั้นซึ่งเป็นสิ่งที่แก้ไขเปลี่ยนแปลงไม่ได้ (unchangeable) ขณะที่ลงนามคำสั่งบริหารยกเลิกนโยบายต่างๆ ที่มุ่งส่งเสริมความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ และปกป้องสิทธิของกลุ่มคนเพศหลากหลาย LGBTQ+ โดยคำสั่งดังกล่าวกำหนดให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้คำว่า “เพศ” (sex) แทนคำว่า “เพศสภาพ” (gender) และให้เอกสารระบุตัวตนที่ออกโดยหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งรวมถึงหนังสือเดินทางและวีซ่า ต้องอ้างอิงกับสิ่งที่เรียกว่า “การจำแนกประเภททางชีวภาพที่แก้ไขไม่ได้ของบุคคลว่าเป็นชายหรือหญิง”

ประชาชนเข้าร่วม Pride Parade ประจำปีที่ Greenwich Village นิวยอร์กซิตี้ สิ่งนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นในยุคสมัยของทรัมป์ ภาพถ่ายโดย lazyllama, Shutterstock

ชะลอการแบน TikTok

กฎหมายแบนติ๊กต๊อก (TikTok) มีผลบังคับใช้แล้วเมื่อวันที่ 19 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งมีผลให้ในอเมริกาแบนการใช้งานและอัพเดตแอปพลิเคชั่นติ๊กต๊อกในสหรัฐ หลังเลยเส้นตายที่ขีดไว้ให้ไบต์แดนซ์ (ByteDance) ขายกิจการของติ๊กต๊อกในสหรัฐ ไม่อย่างนั้นจะถูกแบนในสหรัฐ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวผ่านโดยสภาคองเกรสและลงนามโดยอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน เมื่อปีที่แล้ว จากความกังวลว่ารัฐบาลจีนอาจใช้ติ๊กต๊อกในการสอดแนมสหรัฐ

อย่างไรก็ตามหลัง TikTok ต้องถูกยกเลิกการใช้งานในสหรัฐฯไม่กี่ชั่วโมง เมื่อทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดี แอปพลิเคชั่นดังกล่าว ก็กลับมาใช้ได้ตามปกติ ตามคำสั่งของทรัมป์ที่ขยายเวลาให้บริษัทแม่ของ TikTok หาเจ้าของใหม่ในสหรัฐฯ ให้ได้ภายใน 75 วัน มิเช่นนั้นก็จะถูกแบนเช่นเดิม

มีรายงานว่า เรื่องของการยกเลิกแบน TikTok ในสหรัฐฯเป็นหนึ่งในคำสั่งบริหารแรกๆของเขา ที่ทรัมป์รีบลงนามทันทีหลังรับตำแหน่ง เพื่อให้ระงับการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

ปลดผู้บริหาร TSA

สื่อต่างประเทศหลายสำนักรายงานตรงกันว่า เดวิด เพโคสเก้ หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยการขนส่ง (TSA) ยืนยันว่า เขาต้องออกจากตำแหน่งหลังการมาของทรัมป์

ก่อนหน้านี้ ทรัมป์แต่งตั้งเพโคสเก้ อดีตผู้บัญชาการหน่วยยามฝั่งสหรัฐ ให้ดำรงตำแหน่งหัวหน้า TSA เมื่อปี 2017 ในช่วงดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีวาระแรกของเขา ซึ่งเพโคสเก้ได้รับการยืนยันให้ดำรงตำแหน่งเป็นสมัยที่สองเป็นเวลาห้าปีในปี 2022 ภายใต้การนำของอดีตประธานาธิบดีโจ ไบเดน หน่วยงานนี้มีพนักงานประมาณ 60,000 คนและเจ้าหน้าที่ทำหน้าที่คัดกรองผู้โดยสารที่สนามบินมากกว่า 400 แห่งในสหรัฐ แต่เมื่อทรัมป์กลับเข้าสู่ตำแหน่งก็มีรายงานตรงกันว่า หัวหน้าสำนักงานความปลอดภัยการขนส่งรายนี้ต้องถูกสั่งให้ออกจากตำแหน่งไป

เปลี่ยนชื่ออ่าวเม็กซิโก เป็นอ่าวอเมริกา

ในวันสาบานตนเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่ 47 โดนัลด์ ทรัมป์ ย้ำถึงความตั้งใจที่จะเปลี่ยนชื่อ ’อ่าวเม็กซิโก’ (Gulf of Mexico) ให้เป็น ‘อ่าวอเมริกา’ (Gulf of America) โดยให้เหตุผลว่าชื่อนี้เหมาะสมกว่าซึ่งสะท้อนชัดว่า ทรัมป์จะเอาอเมริกาเป็นศูนย์กลาง  โดยนอกจากอ่าวเม็กซิโก ยังมีการเปลี่ยนชื่อยอดเขาเดนาลีในรัฐอลาสกา ซึ่งเป็นยอดเขาที่สูงสุดในประเทศ กลับมาเป็นชื่อยอดเขาแมคคินลีย์ เพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปได้เฉลิมฉลองมรดกของวีรบุรุษอเมริกัน ทั้งนี้ แม้ทรัมป์จะออกคำสั่งฝ่ายบริหารเพื่อเดินหน้าเปลี่ยนชื่อ แต่ในทางปฏิบัติ คำสั่งดังกล่าวอาจมีผลแค่ภายในเอกสารของสหรัฐฯ เท่านั้น โดยที่ประเทศอื่นๆ ไม่มีข้อผูกพันที่จะต้องใช้ชื่อตามนี้

อภัยโทษ 1,500 คน คดีโจมตีอาคารรัฐสภาเมื่อปี 2021

จากเหตุการณ์เมื่อ 6 มกราคม 2021 ที่มีผู้ชุมนุมก่อเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภาสหรัฐฯ โดยอัยการตั้งข้อหาผู้ต้องสงสัยกว่า 1,580 คน และตัดสินคดีแล้วกว่า 1,270 คน ทรัมป์ได้ประกาศนิรโทษกรรมทั้งหมดเรียบร้อยแล้ว เรียกได้ว่าเป็นการยุติคดีทั้งหมดที่เกี่ยวข้องอย่างสิ้นเชิง

นโยบายด้านเศรษฐกิจและพลังงาน

ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ลงนามคำสั่งเพื่อก่อตั้งหน่วยงานที่เรียกว่า “กระทรวงประสิทธิภาพรัฐบาล” (Department of Government Efficiency – Doge) ซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นกระทรวงอย่างเป็นทางการ

เช่นเดียวกับนโยบายด้านเศรษฐกิจและพลังงานการยกเลิกนโยบาย Green New Deal และข้อบังคับยานยนต์ไฟฟ้า การสนับสนุนการผลิตพลังงานในประเทศ เช่น น้ำมันและก๊าซ  การประกาศส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารโดยจะนำธงชาติสหรัฐไปปัก ที่เขาเคยพูดไว้ในการปราศรัยอื่นๆ ทั้งนี้ยังวิสัยทัศน์ระยะยาวและเป้าหมายแห่งอนาคต การ ส่งนักบินอวกาศไปดาวอังคารและฟื้นฟูอุตสาหกรรมภายในประเทศ

“สหรัฐจะกลับมาเป็นประเทศที่เติบโตอีกครั้ง หนึ่งในประเทศที่มีความมั่งคั่ง  ยกระดับความคาดหวัง และนำแผนของเราไปสู่ขอบฟ้าใหม่ที่งดงาม เราจะดำเนินตามโชคชะตาอันยิ่งใหญ่เพื่อไปสู่ดวงดาว โดยปล่อยนักบินอวกาศอเมริกันขึ้นไปปัก ‘ธงชาติสหรัฐ’ บนดาวอังคาร” หนึ่งในการปราศรัยที่แสดงถึงบทบาทของอเมริกาในฐานะชาติผู้นำที่ทรงพลัง

ทั้งหมดคือข้อสรุปที่สื่อต่างรายงานตรงกัน ภายหลังจากโดนัลด์ ทรัมป์ ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นครั้งที่ 2 ท่ามกลางการตีความถึงสุนทรพจน์ที่เน้นย้ำถึงการทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อย่างเต็มภาคภูมิ

อ้างอิง

https://www.cbsnews.com

https://www.whitehouse.gov


อ่านเพิ่มเติม : โดนัลด์ ทรัมป์ ฉลองพิธีรับตำแหน่งประธานาธิบดี ด้วยการลงนามถอนสหรัฐฯ ออกจากข้อตกลงปารีส

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.