มองสงขลาผ่านสถาปัตยกรรม ศาลเจ้า-วัด-มัสยิด การผสมผสานทางวัฒนธรรมในความเปลี่ยนแปลง

จังหวัดสงขลา กำลังขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร จากความโดดเด่นของต้นธารแหล่งทรัพยากรอาหารทะเล มีความหลากหลายในพื้นที่ สิ่งนี้คืออิทธิพลจากความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม

สงขลา กำลังขับเคลื่อนสู่การเป็นเมืองสร้างสรรค์ของยูเนสโก (UNESCO) ด้านอาหาร จากความโดดเด่นของต้นธารแหล่งทรัพยากรอาหารทะเล มีความหลากหลายในพื้นที่ สิ่งนี้คืออิทธิพลจากความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรม (ไทย จีน มุสลิม) ที่มีการผสมผสานวัฒนธรรม-ประเพณีที่มีความหลากหลายมามากกว่า 200 ปี

ศาลเจ้า ตึกแถวและสถาปัตยกรรมจีนโบราณ มนต์เสน่ห์ใหม่จากอาคารเก่าแก่

สงขลา คืออีก 1 เมืองของไทยที่มีประวัติศาสตร์น่าสนใจ หากกล่าวถึงเรื่องอัตลักษณ์แห่งสถาปัตยกรรมเมืองเก่าทางภาคใต้ หลายคนอาจนึกถึงสถาปัตยกรรมชิโน-โปรตุกิสในจังหวัดภูเก็ตขึ้นมาก่อน แต่ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความสวยงามของเมืองเก่าสงขลากลายมาเป็นอีกจุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ จากเดิมที่เมื่อมาสงขลา เกือบทุกคนจะมุ่งหน้าไปที่หาดใหญ่ แต่วันนี้ผู้คนจำนวนมากแห่กันมาเยือนตัวเมืองแห่งนี้แทน

ศาลเจ้ากวนอู ถนนนางงาม สงขลา ศาลเจ้า ตึกแถวและสถาปัตยกรรมจีนโบราณ มนต์เสน่ห์ใหม่จากอาคารเก่าแก่

ย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลามีจุดเด่นอยู่ที่สถาปัตยกรรมการก่อสร้างรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่ได้รับการผสมผสานศาสตร์แห่งเชิงช่างโบราณ เสน่ห์ที่หลอมรวมวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม และตะวันตก ซึ่งในพื้นที่ย่านเมืองเก่าสามารถแบ่งสถาปัตยกรรมออกได้เป็น 4 ชนิด คือ ตึกแถวแบบจีนดั้งเดิม ตึกแถวแบบจีนพาณิชย์ ตึกแถวแบบจีนสมัยใหม่ และ ตึกแถวแบบสงขลาดั้งเดิม หรือ ชิโน-ยูโรเปี้ยน โดยย่านเมืองเก่าสงขลาถือว่าได้รับอิทธิพลด้านสถาปัตยกรรมจากจีนมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นอาคารยุคก่อน-หลังสงครามโลก ไปจนถึงยุคร่วมสมัย

อาคารแบบ ชิโน-ยูโรเปี้ยน คือลักษณะทางสถาปัตยกรรมที่ประดับตกแต่งด้วยลวดลายแบบจีนและยุโรปผสมกันคล้ายกับรูปแบบที่เรียกว่าชิโนโปรตุกิสซึ่งพบมากที่ภูเก็ต แต่ที่สงขลาจะไม่มีทางเดินใต้อาคารที่เรียกว่า หงอคากี่ ส่วนเหมือนกับอาหารเก่าในภูเก็ตคือ จะมีช่องเปิดกลางอาคารและเป็นที่ตั้งของบ่อน้ำ หรือ มีโซนบ่อนํ้าในหลังบ้าน เกือบทุกหลัง ซึ่งในอดีตน้ำดื่มในตัวเมืองมีรสจืดสะอาดจนสามารถดื่มได้

ย่านเมืองเก่าจังหวัดสงขลามีจุดเด่นอยู่ที่สถาปัตยกรรมการก่อสร้างรูปแบบอาคารบ้านเรือนที่ได้รับการผสมผสานศาสตร์แห่งเชิงช่างโบราณ เสน่ห์ที่หลอมรวมวัฒนธรรมทั้งไทย จีน มุสลิม และตะวันตก

นอกจากนี้ ยังมีศาลเจ้าจีนอีกหลายแห่งในตัวเมือง ทั้ง ศาลเจ้าพ่อหลักเมือง ศาลเจ้าแบบเก๋งจีนโบราณสมัยรัตนโกสินทร์ และ ศาลเจ้ากวนอูสงขลา ตั้งอยู่บนถนนนางงาม และสร้างขึ้นเมื่อปี 2538 พร้อมกันทั้งสองแห่ง เหล่านี้สะท้อนว่า ไม่เฉพาะหาดใหญ่ ตัวเมืองสงขลาเองก็มีอิทธิพลของลักธิขงจื้อที่แข็งแรง มีชาวไทยเชื้อสายจีนจำนวนมากอาศัยอยู่มานานหลายรุ่น โดยปัจจุบันวิถีชีวิตของชาวไทยเชื้อสายจีนในสงขลาก็ยังคงยึดโยงกับศาลเจ้า ตั้งแต่ ศึกษาเล่าเรียน ใช้จัดเทศกาล-ประเพณีต่างๆ เป็นศูนย์กลางของชุมชน เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาทำบุญและสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์ รวมถึงล่าสุดที่กลายมาเป็น 1 ในแลนด์มาร์คด้านการท่องเที่ยวของเมือง

คลื่นความนิยมด้านการท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมก้อนแรกที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวมาสู่สงขลาคือ ศิลปะแนวสตรีทอาร์ต 14 ภาพ สถาปัตยกรรมอันงดงามที่สะท้อนภาพเมืองทำการค้าอันรุ่งเรืองและบอกเล่าวิถีชีวิตของชาวสงขลาในอดีต หลังจากนั้นกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนมากก็ร่วมกันบูรณะอาคารเก่าแก่ในถนน 3 เส้นอย่าง ถนนนางงาม ถนนนครใน ถนนนครนอก ให้กลายเป็น โรงแรม ร้านอาหาร ร้านกาแฟ ร้านหนังสือ ร้านสินค้าแฟชั่น บาร์ เบเกอรี่ ร้านเครื่องหอม พิพิธภัณฑ์ และ สถานที่จัดแสดงงานศิลปะ เมื่อหลอมรวมกับ บ้านเรือนของชาวจีนฮกเกี้ยนที่มีอายุ 150 – 180 ปีในสงขลา ร้านค้า ร้านอาหาร ในพื้นที่ ตัวเมืองสงขลาก็กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่คึกคักขึ้นมาในระยะเวลาไม่นาน

คุณปกรณ์ รุจิระวิไล นักออกแบบและผู้ร่วมก่อตั้ง a.e.y.space พื้นที่แสดงงานศิลปะและกิจกรรมเกี่ยวกับเมืองสงขลา ชาวไทยเชื้อสายจีนชาวสงขลา กล่าวถึงการพัฒนาของตัวเมืองสงขลาว่า จุดแข็งของที่นี่คือภาคเอกชนแข็งแรง มีกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพกลับมาพัฒนาบ้านเกิดมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโควิด19 จนทำให้สงขลากลายเป็นเมืองแห่งโอกาสของคนรุ่นใหม่

จากที่ผ่านมา ตัวเมืองสงขลาถูกมองข้าม เพราะมีทำเลที่ตั้งไม่ดีเท่าหาดใหญ่เมืองท่าเศรษฐกิจที่อยู่ระหว่างกลางระหว่างหลายจังหวัด ขณะที่ตัวเมืองสงขลาเป็นทางแยกออกมา มีทางเข้าออกเฉพาะที่ไม่เชื่อมโยงกับจังหวัดอื่นๆ คนที่จะมาที่นี่ต้องตั้งใจเดินทางเข้ามาจริงๆ ไม่ใช่ทางผ่านแล้วแวะได้ง่ายๆ เหมือนหาดใหญ่ แต่ตอนนี้ทุกอย่างเริ่มเปลี่ยนไป ตลาดกิมหยง ย่านการค้าชื่อดังในอดีตของหาดใหญ่กำลังอยู่ในภาวะซบเซา สวนทางกับย่านเมืองเก่าสงขลาที่คลาคล่ำไปด้วยนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ

ทั้งนี้ การที่สงขลามีการออกแบบผังเมืองออกมาดีเป็นอันดับต้นๆ ของภาคใต้ ประสบการณ์การเดินเที่ยว ใช้สกู๊ตเตอร์ หรือ ปั่นจักรยาน จึงง่ายมากๆ ที่นี่นักท่องเที่ยวแทบจะไม่ต้องเสียค่ารถในการเดินทางเหมือนเมืองอื่นๆ เพราะถนนสายหลักทั้ง 3 เส้นเชื่อมโยงกันหมด แค่ลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอย เจอร้านท้องถิ่น ชมวิถีชีวิตชาวบ้านก็สนุกแล้ว

สำหรับความโดดเด่นอีกอย่างของเมืองเก่าสงขลา คุณปกรณ์ ให้มุมมองว่า นอกจากวัตถุดิบชั้นเลิศ สิ่งที่สุดซ่อนตัวอยู่ในอาหารสงขลาคือการหลอมรวมทั้งความเป็นจีน ไทย มุสลิม และตะวันตก เอาไว้อย่างกลมกลืน หลายเมนูหาทานที่อื่นไม่ได้ เช่น ข้าวไส้กรอกหน่ำเด่า ก๋วยเตี๋ยวหนังหมู ข้าวยำสงขลา ขนมหวัก ขนมบอก ขนมปาดา ขนมบูตู ขนมกรอก ขนมไข่เตาถ่าน ไอศกรีมยิว สังขยาไหหลำร้านฮับเซ่ง ข้าวสตูว์ร้านเกียดฟั่ง และ ยำมะม่วงเบาทรงเครื่อง ผัดต้มยำแห้ง ของร้านแต้เฮียงอิ้ว ร้านอาหารจีนแต้จิ๋วอายุกว่า 80 ปี เป็นต้น

อย่างไรก็ตามมีสิ่งที่ กังวลเกี่ยวกับการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็วคือ การจัดการกับเอกลักษณ์แห่งเคหสถานร่วมสมัยของสงขลา อาคารเก่าแก่ในพื้นที่ตัวเมืองสงขลาเริ่มกลับมามีมูลค่ามากขึ้น ทำให้มีการซื้อขายอาคารหลายแห่งในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งบางครั้งเจ้าของใหม่ไม่ได้มีความรู้เรื่องคุณค่าของสถาปัตยกรรมเก่าแก่ซึ่งควรอนุรักษ์ไว้ จนมีอาคารโบราณบางแห่งถูกทุบทิ้งไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อเมืองกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว แน่ว่าการไหลบ่าของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติที่เข้ามาอาจมากจนทำลายคนสงบของชุมชน รวมถึงความคับแคบของถนนในตัวเมืองที่มีทางเท้าน้อยหรือบางจุดไม่มีทางเท้าเลย สุ่งเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ เพราะไม่ได้มีการปิดถนน สิ่งเหล่านี้อาจเกิดเป็นปัญหาได้หากทางเจ้าหน้าที่เทศบาลไม่ได้เข้ามาจัดระเบียบอย่างเหมาะสม

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ศูนย์รวมใจชาวพุทธเมืองสงขลาที่มีอายุกว่า 400 ปี

แม้ว่าสถาปัตยกรรมจีนจะมีจำนวนมากในตัวเมืองสงขลา แต่ถัดจากถนนนางงามมาไม่ไกล ที่ถนนไทรบุรี วัดมัชฌิมาวาสวรวิหารตั้งตระหง่านอยู่มาก่อนศาสนสถานอื่นๆ ซึ่งวัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร หรือ วัดกลาง คือวัดใหญ่และสำคัญที่สุดในจังหวัดสงขลา สร้างขึ้นตั้งแต่ตอนปลายอยุธยา เดิมมีชื่อว่า วัดยายศรีจันทร์ ซึ่งที่นี่มีความเก่าแก่ถึง 400 ปี

วัดแห่งนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส คราวเสด็จเมืองสงขลาเมื่อ พ.ศ. 2431 ตัววัดมีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายโบสถ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แต่มีขนาดเล็กกว่า สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่ ร่วมกับช่างประจำเมืองสงขลา ส่วนประดับของเครื่องบนหรือหลังคา มีช่อฟ้า แต่ไม่มีนาคสะดุ้ง หน้าบันด้านหน้าเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร

วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ศูนย์รวมใจชาวพุทธเมืองสงขลาที่มีอายุกว่า 400 ปี

ส่วนด้านหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ รอบโบสถ์มีเสารองรับชายคาโดยรอบ ระหว่างช่องเสาด้านนอกเป็นรูปจำหลักบนหินเรื่องสามก๊ก ประตูหน้าต่างมีซุ้มมงกุฎประดับอยู่ด้านนอก น่าชม พระอุโบสถ สร้างสมัยรัชกาลที่ 1 เป็นศิลปะประยุกต์ไทย-จีน ภายในมีภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ยังอยู่ในสภาพสมบูรณ์ซึ่งเขียนด้วยสีฝุ่น โดยเป็นภาพเกี่ยวกับเทพชุมนุม พุทธประวัติ ทศชาติชาดก และชีวิตความเป็นอยู่ของชาวไทยและจีนในภาคใต้ เช่น ภาพท่าเรือสงขลาที่หัวเขาแดง ที่มีการค้าขายกันคึกคัก

ย้อนกลับไปหลายร้อยปี พุทธศาสนาบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลาเกิดความรุ่งเรืองสืบทอดต่อเนื่องถึงปัจจุบัน หลังเมืองท่าสิงขระนครล่มสลาย ชาวบ้านจำนวนหนึ่งได้พัฒนาพื้นที่ฝั่งแหลมสนจนกลายเป็นเมืองสงขลา โดยมีทั้งชาวไทยพุทธ ชาวจีนฮกเกี้ยน และชาวไทยมุสลิม เข้ามาตั้งรกรากอาศัยอยู่ร่วมกันมายาวนานจนถึงทุกวันนี้ หลักฐานหนึ่งที่ชุดเจนที่สุดคือ ชุมชนเก้าเส้ง วิถีชีวิตพหุวัฒนธรรมชาวไทยพุทธและมุสลิม ที่สะท้อนผ่าน วัดที่อยู่บนเขา ซึ่งด้านล่างเป็นเรือประมงของชาวไทยมุสลิม ก่อนที่ต่อมาจะมีการย้ายเมืองสงขลามาฝั่งบ่อยาง เนื่องจากชาวบ้านประสบปัญหาขาดแคลนนํ้าจืดในช่วง พ.ศ. 2379 และถูกพัฒนากลายเป็นตัวเมืองสงขลาในปัจจุบัน

อนึ่ง ในด้านการปกครอง สงขลายุคแรกสมัยอาณาจักรซิงกอร่า ถูกปกครองโดยรัฐสุลตานสงขลา (เมืองสงขลา-หัวเขาแดง) ก่อนที่ยุคถัดมา เมืองสงขลาฝั่งแหลมสนกับบ่อยาง เจ้าเมืองทั้งหมดจะเป็นชาวจีนที่อพยพมาตั้งรกรากที่นี่ กระทั่งในยุคหลังที่มีการยกระดับเป็นจังหวัดสงขลา นอกจาก พระยาวิเชียรคีรี หรือ ชม ณ สงขลา ที่ได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดคนแรก ซึ่งมีเชื้อสายจีนแล้ว ตั้งแต่ พระยาศรีธรรมศุภราช (เจริญ จารุจินดา)เข้ามารับตำแหน่งผู้ว่าราชการสงขลาคนที่ 2 ใน พ.ศ. 2445 เมืองแห่งนี้ก็เริ่มมีผู้ปกครองเป็นชาวไทยพุทธอย่างต่อเนื่อง ทำให้ในตัวเมืองสงขลามีวัฒนธรรมไทยเด่นชัดขึ้นมาในช่วงหลัง ดูได้จาก ขนมไทยหายากที่ได้รับความนิยมในเมืองสงขลาจนถึงปัจจุบันอย่าง ทองเอก สัมปันนี เสน่ห์จันทร์ ดาราทอง (จ่ามงกุฏ) ทองหยิบ และ ทองหยอด เป็นต้น

ในส่วนของ วัดมัชฌิมาวาสวรวิหาร ถูกควบรวมเข้าเป็นหนึ่งในเขตเมืองเก่า เพราะเป็นสถาปัตยกรรมที่เก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในพื้นที่ ซึ่งนอกจากความเป็นศาสนสถานแล้ว ภายในวัดยังมี 2 สถานที่สำคัญ คือ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติมัชฌิมาวาส ที่เก็บรักษาเอกลักษณ์อันทรงคุณค่าทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น และ ศาลาฤาษี มีภาพจิตรกรรมเขียนด้วยสีฝุ่นบนผนังปูนมีรองพื้น เป็นภาพฤาษีดัดตนตามตำราแพทย์แผนโบราณ มีบางตอนเหมือนกับภาพฤาษีดัดตนที่วัดโพธิ์ฯ กรุงเทพมหานคร

มัสยิดบ้านบน ชุมชนมุสลิมแดนใต้ที่ประกอบอาชีพประมงพื้นบ้านมาหลายชั่วอายุคน

มัสยิดบ้านบน หรือ มัสยิดอุสาสนอิสลาม มีประวัติศาสตร์ยาวนานและสถาปัตยกรรมที่สวยงาม ตั้งอยู่ถนนพัทลุง เทศบาลนครสงขลา เคยเป็นมัสยิดกลางประจำจังหวัดมีสถาปัตยกรรมไทยและจีนประยุกต์ ถูกสร้างขึ้นใน พ.ศ. 2390 โดยช่างชุดเดียวกันกับที่เกณฑ์ไปสร้างวัดมัชฌิมาวาสหรือวัดกลาง ตรงกับรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานพระราชทรัพย์ให้ขณะที่ทรงแวะเข้าเมืองสงขลาระหว่างเดินทางไปชวา โดยบุคคลที่เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างมัสยิดนี้คือโต๊ะหมัดและโต๊ะหมะ ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังพระราชทานเครื่องตกแต่งภายในอีก เช่น โคมระย้า หลังจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานโคมไฟสีเขียวซึ่งเป็นเครื่องสังเค็ดในงานพระเมรุในหลวงรัชกาลก่อน และมีการบูรณะซ่อมแซมมัสยิดเรื่อยมา

มัสยิดบ้านบน หรือ มัสยิดอุสาสนอิสลาม ถนนพัทลุง สงขลา

แม้จะมีสัณฐานคล้ายอุโบสถของวัดในพระพุทธศาสนาแต่ก็ไม่ขัดต่อหลักการในศาสนาอิสลามแต่อย่างใด ส่วนหออาซานเดิมมีลักษณะเดียวกันกับหอระฆังในวัดพุทธเช่นกัน แต่ภายหลังได้ถูกต่อเติม เช่น ขยายปีกสองข้าง และสร้างโดมรูปหัวหอมบนหออาซาน ซึ่งภายหลังได้มีการสร้างมัสยิดกลางดิย์นุลอิสลาม ถนนลพบุรีราเมศวร์ ตำบลคลองแห อำเภอหาดใหญ่ มัสยิดอุสาสนอิสลามจึงลดบทบาทเป็นมัสยิดประจำชุมชนไป

ชุมมัสยิดบ้านบนมีวัฒนธรรมที่แข็งแรงพอสมควร แต่ก็ไม่ได้เป็นพื้นที่เคร่งครัดเหมือนกับพื้นที่ชุมชนที่มีคนศาสนาอิสลามจำนวนมากบางแห่งในไทย โดยรอบมีการขายอาหารและขนมของชาวมุสลิมจำนวนมาก มีร้านที่มีชื่อเสียงอย่าง ร้านบ้านกับตันข้าวมันแกงไก่ ร้านข้าวมันไก่ไข่ฮาลาล ไพจิตต์ก๋วยเตี๋ยวเนื้อ และร้านโรตีกับร้านนํ้าชาต่างๆ ซึ่งมีลูกค้าเป็นนักท่องเที่ยวหลายเชื้อชาติ เช่นเดียวกับตลาดบ้านบนที่เป็นตลาดฮาลาลก็มีอาหารอร่อยมากมายที่พร้อมต้อนรับผู้คนทุกศาสนา ขณะที่บริเวณใกล้เคียงก็มีร้านอาหารอีสานที่ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านอาหารจีน ร้านขนมไทย เปิดขายอยู่ได้อย่างกลมกลืน แบบต่างความเชื่อ แต่ก็เคารพในความต่างของวิถีชีวิต

ด้าน ไข่ครอบ เมนูอร่อยอัตลักษณ์ท้องถิ่นของสงขลาก็เกิดจากภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดกันมานานกว่า 100 ปีจากครอบครัวชาวประมงมุสลิมแถบริมทะเลสาบสงขลาที่เก็บไข่แดงที่เหลือจำนวนมากจากการใช้ไข่ขาวย้อมด้ายเนื้ออวน แห กัดวางปลา ไม่ให้เน่าเสีย (เดิมเรียกว่า ไข่ดอง) จนล่าสุดกลายเป็นสินค้า GI และเป็น 1 ใน Soft Power ของจังหวัดสงขลา

สตรีทอาร์ทในจังหวัดสงขลา

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในพื้นที่เมืองเก่าสงขลา สิ่งที่ชาวมุสลิมดั้งเดิมกังวลคือเรื่องการอนุรักษ์และฟื้นฟูมัสยิดบ้านบนและชุมชนโดยรอบ ซึ่งอาจได้รับความสำคัญไม่เท่าชุมชนชาวจีนและชาวไทย โดยแม้ว่ามัสยิดบ้านบนจะตั้งอยู่บริเวณแยกถนนนางงามและถนนพัทลุง แต่กลับยังไม่ได้ถูกรับการรวมเข้ากับเขตเมืองเก่าตามที่เทศบาลระบุ ทั้งๆ ที่สถาปัตยกรรมมัสยิดบ้านบนมีความงดงาม รวมถึงมีเอกลักษณ์ที่โดดเด่นไม่เหมือนใคร

ตัวเมืองสงขลากำลังเติบโตท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ แน่นอนว่าสิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องดี เมื่อเทียบกับหลายจังหวัดที่วัยรุ่นคนหนุ่มสาวพากันบายหน้าย้ายถิ่นฐานไปกรุงเทพฯหรือหัวเมืองใหญ่ ในทางกลับกัน สงขลาดึงดูดให้ชาวสงขลาหรือแม้แต่คนต่างถิ่น อยากเข้ามาลงหลักปักฐาน แต่ทั้งหมดนี้ย้อมสร้างผลกระทบต่อเสน่ห์และความเป็นเมืองสงขลาดั้งเดิม หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่าการเติบโตคั้งใหม่จะมีสิ่งใดสูญหายไปบ้าง น่าสนใจว่าทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะร่วมมือกันจัดการให้เมืองเก่าสงขลาพัฒนาอย่างสร้างสรรค์ สมดุล และยั่งยืนได้อย่างไร

 

สืบค้นและเรียบเรียง : สิทธิโชติ สุภาวรรณ์ 

ภาพ : นายสิงห์

อ่านเพิ่มเติม สำรวจ ทะเลสาบสงขลา ลากูนใหญ่ที่สุดในอาเซียน ลุ่มน้ำมรดกทางวัฒนธรรมของไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.