สำรวจปรากฎการณ์หนังสือปลอม อาชญากรรมทรัพย์สินทางปัญญา ความเสียหายที่มากกว่าตัวเลข

‘หนังสือปลอม’ ปัญหาใหญ่ในวงการหนังสือกับกระบวนการละเมิดลิขสิทธิ์ระดับมืออาชีพ ซึ่งส่งผลเสียต่ออุตสาหกรรมหนังสือที่มากไปกว่าตัวเลข

420 ล้านบาท คือมูลค่าตลาดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติและสัปดาห์หนังสือนานาชาติครั้งล่าสุด ที่สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย รวบรวมไว้ตลอด 10 วัน (27 มีนาคม -8 เมษายน 2568)

ขณะที่มูลค่ารวมตลาดหนังสือในปี 2568 สุวิช รุ่งวัฒนไพบูลย์ นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า ในทั่วประเทศ มูลค่ารวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 17,500 ล้านบาท ซึ่งเติบโตขึ้นจากปี 2567 ที่มีมูลค่า 16,000 ล้านบาท และปี 2566 ที่ 15,000 ล้านบาท

“หลังโควิด-19 ตลาดหนังสือเล่มเฉลี่ยโตขึ้นปีละ 1,000 ล้านบาท ซึ่งปัจจัยส่วนหนึ่งที่ทำให้ตลาดกลับมาคึกคัก น่าจะเป็นเพราะนักอ่านกลุ่ม Gen Z หรือนักอ่านวัยรุ่นหน้าใหม่ ที่หันมาอ่านหนังสือการ์ตูน หนังสือนิยาย หนังสือ HOW -TO จิตวิทยาในรูปแบบหนังสือมากขึ้น ปัจจัยด้านการทำการตลาดของแต่ละสำนักพิมพ์ และแน่นอนว่าเมื่อตลาดโตขึ้นในทางกลับกันก็เป็นการตัดสินใจลงสนามของผู้ที่คิดจะผลิตสินค้าลอกเลียน” นายกสมาคมฯให้สัมภาษณ์กับ National Geographic ฉบับภาษาไทย เมื่อ 17 เมษายนที่ผ่านมา

งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ครั้งที่ 53 และสัปดาห์หนังสือนานาชาติ ครั้งที่ 23 โดยงานจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 27 มีนาคม -8 เมษายน 2568 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

วิวัฒนาการของการปลอมหนังสือ

ตั้งแต่ต้นปี เรื่องหนึ่งที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมาก ‘ธุรกิจหนังสือปลอม’ ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อได้ยินเรื่องนี้ หลายคนมักคิดว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะในอดีตสิ่งนี้เกิดขึ้นมาแล้วกับหนังสือเรียน Textbook ต่างประเทศซึ่งมีราคาสูง หนังสือหายาก ทว่าปัจจุบันการปลอมแปลงในปัจจุบันได้เปลี่ยนเป้าหมายมาเป็นหนังสือไทย โดยเลือกปกหนังสือที่ได้รับความนิยม เลือกช่องทางออนไลน์เป็นช่องทางจำหน่ายหลัก พร้อมกันนั้นใช้วิธีทำการตลาดด้านราคา โดยลดราคาลง 20-35% เพื่อดึงดูดผู้ซื้อ

องอาจ จิระอร ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ ตั้งข้อสังเกตว่า กลวิธีการผลิตหนังสือปลอมในปัจจุบัน ถูกทำอย่างมีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นการทำปกที่เคลือบเงา ปั๊มนูนตามแบบต้นฉบับ การจัดหน้าที่เป็นระเบียบ การเลือกคุณภาพกระดาษที่ใกล้เคียงกับหนังสือที่ออกจากสำนักพิมพ์ ซึ่งทั้งหมดหากไม่ได้เป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ หรือไม่ได้เป็นนักอ่านที่สัมผัสกระดาษอย่างเป็นประจำก็ยากจะพิจารณาด้วยการมอง

“ผมได้รับข้อมูลเพราะมีผู้อ่านแจ้งมา พอมาตรวจสอบเทียบกับหนังสือจริงก็คิดว่าน่าจะเป็นผู้กระทำการที่มีองค์ความรู้ด้านการทำหนังสือระดับหนึ่งเลย เขารู้วิธีเลือกกระดาษ รู้แหล่งซื้อ การเข้าเล่ม รายละเอียดในการทำหนังสือ ที่สำคัญคือมีเทคโนโลยีที่ดีในระดับหนึ่งที่ไม่ใช่ใครก็ทำได้”

“ถ้าวางใกล้กันและมองด้วยตาจะแทบแยกไม่ออกเลย บางเล่มมีความแตกต่างกันอยู่บ้าง เช่น หนังสือปลอมไม่มีหน้าเครดิตผู้จัดทำหนังสือ บางเล่มเอาโลโก้สำนักพิมพ์ออกและไม่ได้ใส่ หรือพิมพ์สัญลักษณ์สำนักพิมพ์เพนกวิน (Penguin Books) อันเป็นสำนักพิมพ์ใหญ่ที่ตีพิมพ์หนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คต่างประเทศ แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม”

ถึงตรงนี้ กล่าวได้ว่า เมื่อตลาดหนังสือยังพอไปได้ เกิดกลุ่มผู้อ่านใหม่ และยังมีกลุ่มหนังสือบางประเภทที่ติดตลาด เวลาเดียวกันนี้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์หนังสือเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า  ‘ของปลอมระบาด’ ในช่องทางออนไลน์ ที่ไม่ใช่ร้านสำนักพิมพ์โดยตรง หรือร้านหนังสืออิสระ ความปลอมที่ว่านี้แนบเนียนกว่าการลอกเลียนในอดีตมาก แต่ถึงเช่นนั้นแม้จะมีเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าแค่ไหน แต่เมื่อผู้อ่านได้ใช้เวลาอยู่กับมันและได้สังเกตทั้ง เนื้อกระดาษ, ขนาดตัวอักษร หรือความละเอียดเรียบร้อยต่างๆ จะพบมาตรฐานการผลิตที่หล่นหายไป ซึ่งจะพบการปลอมแปลงที่ไม่เหมือนกับหนังสือจากผู้ผลิตจริง

ธีรภัทร เจริญสุข ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมด้านหนังสือ คณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ กรรมการสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย ให้ความเห็นว่า ทราบข่าวการปลอมแปลงหนังสือมาสักระยะ และได้ส่งข้อมูลให้กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา โดยจะร่วมกับสำนักป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ และกองบัญชาการปรามปรามอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เพื่อสืบสวนหาต้นตอผู้ผลิต กวดขันตรวจจับการละเมิดลิขสิทธิ์วรรณกรรมและเรียกค่าเสียหายในการละเมิด ควบคู่กับการให้ผู้อ่านสังเกตแล้วแจ้งเบาะแส รณรงค์ให้ซื้อหนังสือจากสำนักพิมพ์ ร้านหนังสือ ผู้จัดจำหน่ายที่ได้รับการรับรอง

สิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันนี้ คือกระบวนการผลิตหนังสือปลอมมีเครื่องมือที่ทันสมัย ซึ่งสามารถผลิตของปลอมได้แนบเนียนแทบไม่ต่างจากของถูกลิขสิทธิ์ แต่ถึงเช่นนั้นก็มีข้อสังเกตว่า เมื่อทำได้แนบเนียนขนาดนี้ เหตุใดผู้ผลิตเลือกที่จะเอาเครี่องหมายการค้าสำนักพิมพ์ และหน้าแสดงการจดแจ้งการพิมพ์ออก เสมือนกับว่า คนกลุ่มนี้พยายามหลบเลี่ยงกฎหมายบางข้อ มีความรู้และอุปกรณ์เครื่องมือที่เชื่อมโยงกับการผลิตหนังสือโดยเฉพาะ จึงเชื่อว่าเป็นกลุ่มกระบวนการที่เชื่อมโยงกับอุตสาหกรรม

“เรารวบรวมหลักฐานและแจ้งไปยังผู้เกี่ยวข้องแล้ว และยังได้เตรียมหารือกับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) เพื่อให้เกิดการตรวจสอบหลากหลายด้าน เพราะเป็นไปได้ว่ากระบวนการนี้อาจเป็นองค์กรข้ามชาติ และเชื่อมโยงกับความมั่นคง”

หนังสือที่ถูกจำหน่ายจากผู้ผลิตโดยตรง (ซ้าย) กับหนังสือปลอมแปลง ซึ่งพิจารณาได้ยากหากมองด้วยตาเปล่า
(ขวา) หนังสือละเมิดลิขสิทธิ์ มักเอาตราสัญลักษณ์สำนักพิมพ์ออก
องอาจ จิระอร ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์
หน้าจดแจ้งการพิมพ์ ซึ่งผู้ผลิตหนังสือปลอมมักเอาออกไป
สัญลักษณ์สำนักพิมพ์เพนกวิน (Penguin Books) ในหนังสือปลอม แม้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันเลยก็ตาม

ความเสียหายที่มากกว่าตัวเลข

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีมูลค่าความเสียหายเท่าใด? คำถามนี้ในเชิงตัวเลขยังเป็นสิ่งที่คาดการณ์ยาก นั่นเพราะไม่มีใครทราบตัวเลขการพิมพ์และจำนวนการขายนอกระบบอย่างแท้จริง ต่างจากสำนักพิมพ์ทั่วไปที่จะส่งตัวเลขการพิมพ์ในแต่ละไตรมาสให้กับสมาคมฯ ทั้งนี้เพื่อรวบรวมข้อมูลการตลาด สำหรับการจัดกิจกรรมและพัฒนาวงการหนังสือต่อไป

จากการสำรวจสอบถามพบว่า การปรากฏของการปลอมแปลงหนังสือเกิดขึ้นครั้งแรกตั้งแต่ช่วงปี 2567 และพบมากขึ้นในช่วงปลายปี 2567 และต้นปีที่ผ่านมา มีหนังสือทั้งจากสำนักพิมพ์เล็กและใหญ่ เช่น อมรินทร์, Biblio, Prism Publishing และวีเลิร์น โดยจุดร่วมสำคัญของหนังสือกลุ่มนี้คือ การได้รับความนิยม

ทั้งนี้หนังสือที่ถูกปลอมขึ้นมาทั้งหมดเป็นหนังสือนิยาย จิตวิทยา How to ซึ่งขายได้ดีในตลาด เช่นหนังสือ ‘จิตวิทยาสายดาร์ก’ ของสำนักพิมพ์วีเลิร์น ซึ่งมีรายงานว่า ตัวเลขของหน้าร้านหนังสือปลอมบนแพลตฟอร์มออนไลน์ร้านหนึ่งระบุว่าปกเดียว ทำยอดขายไปได้หนึ่งพันกว่าเล่ม แม้หนังสือจริงจะขายได้กว่าหนึ่งแสนเล่ม เทียบเป็นอัตราส่วนเพียง 1% จากยอดขายในระบบทั้งหมด ถึงเช่นนั้นมันก็เป็นความเสียหายในระดับหลายแสนบาท

“กำไรต่อเล่มอาจจะไม่มาก เมื่อเทียบกับการปลอมในอดีต แต่เขาลงมาเล่นในตลาดที่แมสกว่า พิมพ์จำนวนเยอะขึ้น เพราะมีทุนด้านการพิมพ์ กระบวนการผลิตที่ดีในระดับหนึ่งแล้ว” คนในวงการหนังสืออธิบายภาพ

จีระวุฒิ เขียวมณี บรรณาธิการบริหารและผู้ก่อตั้งสำนักพิมพ์ Biblio ให้สัมภาษณ์ว่า มีหนังสือจากสำนักพิมพ์ Biblio 2 ปก ที่พบว่ามีการปลอมแปลง ได้แก่  ซ่อมแซมสุขที่สึกหรอ (Emotional First Aid) และ มหาศึกแห่งดูน ซึ่ง 2 เรื่องนี้ได้รับความนิยมที่สุด

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ จีระวุฒิ เปรียบว่าเสมือนคนในวงการหนังสือถูกก้อนอิฐเขวี้ยงใส่ซ้ำสอง หลังจากคนในอุตสาหกรรมหนังสือก่อนหน้านี้ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียน บรรณาธิการ พิสูจน์อักษร นักออกแบบหนังสือ คือกลุ่มอาชีพที่ค่อนข้างมีรายได้สูงมากอยู่แล้วเมื่อเทียบกับสินค้าทางวัฒนธรรมอื่น

“เมื่อเทียบกับสินค้าทางวัฒนธรรมอื่นๆ หนังสือถูกจัดความสำคัญลำดับท้ายๆอยู่แล้ว และกลุ่มอาชีพที่ทำงานสร้างสรรค์ในอุตสาหกรรมหนังสือก็ไม่ได้มีรายได้ที่ดีนัก ผู้ที่อยู่ได้ก็ต้องหาวิธีการที่จะเอาตัวรอดเฉพาะตัว เรียกว่ามันไม่ได้ง่าย และต้องพึ่งพาตัวเองสูง การที่ถูกกระบวนการปลอมแปลงหนังสือเข้าไปอีก เหมือนถูกก้อนอิฐเขวี้ยงซ้ำสอง หลังจากเดินอย่างไม่ค่อยมั่นคงในอุตสาหกรรมอยู่แล้ว”

องอาจ ที่ปรึกษาสายงานสำนักพิมพ์ในเครืออมรินทร์ กล่าวว่า เท่าที่ได้รับแจ้งและตรวจสอบ พบว่าหนังสือในเครืออมรินทร์โดนปลอมแปลงราว 19-23 ปก ซึ่งภายหลังจากทราบเรื่องได้ส่งหลักฐานไปที่แพลตฟอร์มออนไลน์ที่จัดจำหน่ายเพื่อให้ถอดร้านค้านั้นออกแล้ว จากนั้นได้ส่งหลักฐานไปที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย เพื่อดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

สิ่งที่ทำได้ ณ วันนี้มีเพียงเท่านี้ เพราะสำนักพิมพ์ไม่เหมือนค่ายเพลง ซึ่งมีมูลค่าสินค้าในราคาที่สูง มีศักยภาพในการต่อสู้ทางกฎหมายไม่มาก ถ้าจะต้องมีการดำเนินคดีเป็นเรื่องที่ต้องใช้เวลา ลงแรงและค่าใช้จ่าย ซึ่งในขั้นต้นนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องไปดำเนินการก่อน

ตัวอย่างหนังสือที่ถูกปลอมแปลงและเคยจำหน่ายในช่องทางออนไลน์

ท่ามกลางทางเลือกทางการอ่านที่มากขึ้น อีกด้านหนึ่ง ทุกสำนักพิมพ์ต่างทำงานอย่างหนักเพื่อคัดเลือกต้นฉบับและสร้างสรรค์กิจกรรมทางการตลาดเชิญชวนผู้อ่าน สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดผู้อ่านหน้าใหม่ เกิดความคึกคักในอาชีพที่เกี่ยวข้อง มีรายการพอดแคสต์ นักออกแบบหนังสือ นักออกแบบสินค้า Merchandise และของวัฒนธรรมการอ่านการเขียนได้ตื่นตัวขึ้น

การมีธุรกิจปลอมแปลงหนังสือ จึงคิดเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกการการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property) อย่างชัดเจน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของไทยในตลาดสินค้าลิขสิทธิ์ที่ร่วมกับต่างประเทศ และไม่ว่าองค์กรอาชญากรรมนี้จะถูกกระทำขึ้นในหรือนอกประเทศ น่าจับตาว่า การระบาดของหนังสือปลอมนี้จะไปไกลเพียงใด ซึ่งหากเรายังมองเป็นเรื่องไกลตัว ไม่มีการแก้ไขอย่างเป็นระบบ คลื่นของการปลอมแปลงลูกนี้อาจกลายเป็นพายุใหญ่ที่ทำลายผู้ประกอบการไทย และอาจนำไปสู่การผลิตสินค้าปลอมอื่นๆ ที่ทำได้มากไปกว่าหนังสือ

วิธีสังเกตหนังสือปลอม

หน้าปก

ของจริง : มีโลโก้สำนักพิมพ์

ของปลอม : ใช้โลโก้ของสำนักพิมพ์อื่นหรือเอาออก

กระดาษ

ของจริง : ใช้กระดาษคุณภาพดี และหมึกพิมพ์สีคมชัด

ของปลอม : เนื้อกระดาษใกล้เคียง มีบ้างที่ใช้กระดาษคุณภาพต่ำ หมึกพิมพ์ไม่คมชัด เหมือนถ่ายเอกสารมา

หน้าเครดิต

ของจริง : หน้าเครดิต การจดทะเบียน ชื่อผู้จัดพิมพ์ชัดเจน

ของปลอม : เลือกเอาหน้านี้ออก


 อ่านเพิ่มเติม : เสียงกลองและศรัทธา มองพลังวัฒนธรรมเคิร์ดผ่านพิธีกรรมอายุพันปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.