โป๊ปฟรานซิส : พระสันตะปาปาผู้เปี่ยมด้วยความรัก และวิสัยทัศน์ที่ทันสมัย

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเปิดศักราชใหม่ให้กับคริสตจักร

พระองค์ทรงแรงบันดาลใจมากมายให้กับผู้คนด้วยการท้าทายประเพณี

และมาตราฐานของคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิก”

สิ่งแวดล้อม การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ การทำแท้ง และการรักเพศเดียวกันได้กลายเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงอย่างมากในปัจจุบัน ซึ่งคอยท้าทาย ‘ความเชื่อ’ อยู่เรื่อยมา หากคุณเป็นผู้นำความเชื่อของโลก คุณจะทำอย่างไร? นี่สิ่งที่มวลชนตั้งคำถามอยู่เงียบ ๆ ต่อผู้นำคริสตจักรของโลก

พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอนาคตเสมอมา ตั้งแต่แรกเริ่ม พระองค์ทรงตระหนักถึงความจำเป็นในการเปลี่ยนแปลงภายในคริสตจักรคาธอลิก ซึ่งสูญเสียความไว้วางใจจากหลาย ๆ คนในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ทำให้พระองค์รับรู้ได้ว่าถึงเวลาแล้วที่จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นซึ่งเป็นการเปิดยุคสมัยใหม่อย่างไม่เป็นทางการของพระสันตะปาปา

“ถ้าใครสักคนที่เป็นเกย์(คนรักเพศเดียวกัน)และแสวงหาพระเจ้า อีกทั้งยังมีความปราถนาดี ใครล่ะจะตัดสินพวกเขาได้” พระสันตะปาปาทรงตอบเมื่อถูกถามถึงรสนิยมทางเพศของบาทหลวง 

คำตอบดังกล่าวทำให้ผู้ที่ยึดมั่นในประเพณีของคริสตจักรคาธอลิกลังเล แต่ทว่ากลับสร้างแรงบันดาลใจมากมายให้กับผู้คนที่เหลือ ซึ่งมองว่ากฎหมายที่ลงโทษคนที่รักเพศเดียวกันนั้น ‘ไม่ยุติธรรม’ แนวคิดดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงวิสัยทัศน์ของพระสันตะปาปาฟรานซิสสำหรับอนาคตของคริสตจักร

ไม่เพียงเท่านั้นพระองค์ยังท้าทายแนวคิดเดิม โดยทรงสนับสนุนให้บรรดานักบวชสร้างพื้นที่ภายในคริสตจักรสำหรับชาวคาทอลิกที่หย่าร้างและแต่งงานใหม่อีกด้วย

“มอบความเข้าใจ ความสบายใจ และการยอมรับ” แก่ผู้ที่เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว “แทนที่จะกำหนดกฎเกณฑ์โดยตรงที่ทำให้ผู้คนรู้สึกถูกตัดสินและถูกทอดทิ้ง” พระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าว 

แม้ว่าพระองค์จะทรงเรียกตนเองว่าเป็น ‘ไดโนเสาร์’ เมื่อพูดถึงคอมพิวเตอร์ แต่พระสันตะปาปาก็ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมออนไลน์มากมาย เปิดตัววาติกันสู่ยุคดิจิทัล เชื่อมต่อกับสาวกของพระองค์อีกหลายล้านคนทั่วโลก และนี่คือเรื่องราวเหล่านั้น

การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ

ในปี 2015 พระสันตะปาปาฟรานซิสร่างตราสารฉบับแรกที่เน้นเฉพาะด้านสิ่งแวดล้อมในชื่อ “Laudato Si” ซึ่งเป็นคำเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างกว้างขวาง โดยพระองค์ทรงยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศภาพอากาศนั้นเป็นวิกฤตทั้งทางสังคมและสิ่งแวดล้อม 

พร้อมกับทรงเน้นย้ำว่าผลที่ตามมานั้นจะตกอยู่กับคนที่ยากจนมากที่สุด ซึ่งในปีเดียวกันนั้นเอง 195 ประเทศได้ร่วมกันลงนามในข้อตกลงปารีส โดยมีผู้นำโลกอย่างน้อย 10 ประเทศที่ได้อ้างถึงคำพูดของพระสันตะปาปาในระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์

“ก่อนที่พระสันตะปาปาฟรานซิสจะดำรงตำแหน่ง การเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศก็ถูกมองว่าเป็นประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางวิทยาศาสตร์ แต่สิ่งที่พระราชสาสน์ของพระองค์ทำคือการกำหนดให้เรื่องนี้กลายเป็นประเด็นทางจิตวิญญาณ” บาทหลวงเจมส์ มาร์ติน (James Martin) ซึ่งเป็นบาทหลวงเยซูอิตและบรรณาธิการของ America Media บริษัทสื่อที่มีมุมมองแบบคาทอลิก กล่าว

“พระองค์เริ่มต้นจากจุดยืนที่ว่าพระเจ้าได้สร้างจักรวาล ได้สร้างโลก และนี่คือความรับผิดของเราในการดูแลจักรวาล” เขาเสริม พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเรียกร้องให้ชาวคาทอลิกทุกคนดำเนินการเพื่อปกป้องโลกซึ่งเป็น “การสร้างสรรค์ของพระเจ้า”

เมื่อ “Laudato Si” ได้รับการตีพิมพ์ มันก็กลายมาเป็นส่วนหนึ่งของคำสอนในคริสตจักรอย่างเป็นทางการและถาวร ซึ่งได้ระบุผลที่ตามมาของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างชัดเจน ตั้งแต่การสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงการขาดแคลนน้ำ และการล่มสลายของสังคม

“พระองค์ได้กล่าวไว้ในสารตรา ‘Laudato Si’ ว่า ในขณะที่มนุษย์กำลังสร้าง ‘กองความสกปรกมหาศาล’ เราก็มีความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงวิถีทางและ ‘ร้องเพลงไปพร้อมกับเรา’ ได้เช่นกัน ซึ่งหมายความว่าเราควรต่อสู่เพื่อไม่ให้ความยินดีของความหวังถูกพรากไปจากเรา” แดน มิสเลห์ (Dan Misleh) ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการบริหารของ Catholic Climate Covenant กล่าว 

อย่างไรก็ตาม ตราสาร ‘Laudato Si’ ก็นำไปสู่การโต้เถียงในทันทีด้วยเช่นกัน หลายคนไม่พอใจที่องค์พระสันตะปาปาเปลี่ยนให้ประเด็นทางการเมืองนี้ไปเป็นประเด็นทางจิตวิญญาณ แต่พระสันตะปาปาฟรานซิสไม่ยอมแพ้ พระองค์ได้กล่าวอีกครั้ง

“ขอให้เรายุติการเยาะเย้ยที่ขาดความรับผิดชอบนี้ ที่พยายามนำเสนอประเด็นนี้ว่าเป็นเพียงเรื่องทางนิเวศวิทยา ‘สีเขียว’ หรือความโรแมนติกอย่างแท้จริง ซึ่งมักถูกผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจครอบงำเสียที” พระองค์กล่าวใน ‘Laudato Si’ ฉบับที่ตามมาปี 2023 

คำสอนของ ‘Laudato Si’ สะท้อนไปถึงชาวคาธอลิกทั่วโลก สถาบันคาธอลิกหลายแห่งเลิกใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในช่วงหลายปีหลังจากมีการเผยแพร่ และสาวกหลายคนก็ได้ร่วมทำงานในภูมิภาคลุ่มน้ำแอมะซอนมาอย่างยาวนาน 12 ปี 

รักเพศเดียวกัน

ในเดือนกรกฎาคม 2013 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตอบอย่างโด่งดังว่า “ถ้าใครสักคนที่เป็นเกย์และแสวงหาพระเจ้า อีกทั้งยังมีความปราถนาดี ใครล่ะจะตัดสินพวกเขาได้” เมื่อทรงถูกถามเกี่ยวกับบาทหลวงที่เป็นเกย์ 

พร้อมกับเสริมว่าผู้คนไม่ควรถูกละเลยเพราะรสนิยมทางเพศของพวกเขา แต่สามารถเข้าร่วมกับสังคมได้ อย่างไรก็ตามแม้คริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกจะกล่าวว่าผู้คนที่เป็น LGBTQ+ ควรได้รับความเคารพและไม่ควรถูกเลือกปฏิบัติ แต่ก็ยังคงยืนกรานว่า ‘ผิดปกติในตัวเอง’ 

ต่อในเดือนมกราคม 2023 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสว่า “การเป็นเกย์ไม่ใช่ความผิด” และทรงเรียกกฎหมายที่ทำให้คนรักเพศเดียวกันเป็นสิ่งผิดกฎหมายว่า “ไม่ยุติธรรม” ในการสัมภาษณ์พิเศษกับเอพี แต่ก็ทรงเน้นย้ำเช่นกันว่าคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกถือว่าสิ่งนั้นเป็นบาป 

พระองค์ยังคงเดินหน้าทำงานด้านนี้ต่อไป ในเดือนตุลาคมปีเดียวกัน สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสได้ทรงลงนามในเอกสารที่ระบุว่า บุคคลข้ามเพศสามารถรับบัพติศมาเป็นคาทอลิก และทำหน้าที่เป็นพ่อแม่ทูนหัวได้ภายใต้สถานการณ์บางอย่าง 

และไม่กี่เดือนต่อมา พระองค์ก็ได้ประกาศอีกครั้งว่าบาทหลวงสามารถอวยพรคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันได้ ทว่า สหภาพเพศเดียวกันยังคงถูกกีดกันจากหลายแห่งแม้จะมีคำสั่งมาก็ตาม

“มีหลายครั้งที่ผู้คนขอพรโดยสมัครใจ ไม่ว่าจะเป็นในการแสวงบุญ ที่ศาลเจ้า หรือแม้แต่บนถนนเมื่อพวกเขาพบกับบาทหลวง” ตามข้อความประกาศ “พรดังกล่าวมีไว้สำหรับทุกคน ไม่มีใครควรถูกกีดกันจากพรเหล่านี้”

ทั้งนี้ยังเสริมด้วยว่า พรดังกล่าวไม่ควรให้พร้อมกับพิธีแต่งงาน และไมา่สามารถให้พรได้โดยใช้ “เครื่องแต่งกาย ท่าทาง หรือคำพูดที่เหมาะสมกับงานแต่งงาน” 

การทำแท้ง 

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงยึดมั่นเสมอมาว่า “การทำแท้งเป็นการฆาตกรรม” และเป็น “บาปมหันต์” โดยคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกคัดค้านขั้นตอนดังกล่าวอย่างเคร่งครัดในทุกกรณี

อย่างไรก็ตามในเดือนกันยายน 2015 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงประกาศว่าคริสตจักรนิกายโรมันคาธอลิกจะอนุญาตให้บาทหลวงทั่วโลกสามารถให้อภัยโทษสำหรับการทำแท้งได้ แต่ต้องเป็นบาทหลวงที่ได้รับอนุญาตเป็นพิเศษเท่านั้นที่สามารถทำเช่นนั้นได้ 

ต่อมาในเดือนกันยายน 2021 นักข่าวถามสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสว่านักการเมืองที่สนับสนุนการทำแท้งควรสามารถเข้ารับศีลมหาสนิทระหว่างพิธีมิซซาได้หรือไม่ ซึ่งมีจุดเริ่มต้นจากการถกเถียงว่าประธานาธิบดีโจ ไบเดนและแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทั้งคู่นับถือนิกายโรมันคาธอลิกและสนับสนุนสิทธิในการทำแท้ง ควรถูกห้ามเข้ารับศีลมหาสนิทหรือไม่

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงตอบว่าพระองค์ไม่ต้องการพูดกับสหรัฐอเมริกาโดยตรง แต่ต้องการพูดถึง “หลักการ” 

“หากเรามองประวัติศาสตร์ของคริสตจักร เราจะเห็นว่าทุกครั้งที่บรรดาสังฆราชไม่ทำตัวเหมือนคนเลี้ยงแกะเมื่อต้องจัดการกับปัญหา พวกเขาจะยึดมั่นกับชีวิตทางการเมืองในประเด็นทางการเมือง” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัส และทรงเสริมว่าพระองค์ไม่เคยปฏิเสธใครให้ศีลมหาสนิท

ต่อมาไม่นานนักในเดือนพฤษภาคม 2023 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเขียนจดหมายที่ยืนยันจุดยืนของคริสตจักร นั่นก็คือการต่อต้านการปฏิสนธิในหลอดแก้วและการคุมกำเนิดแบบเทียม แต่สนับสนุนการรับเลี้ยงบุตรบุญธรรม พร้อมกับเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคาธอลิกศึกษาแนวทางทางเลือกอื่น ๆ สำหรับผู้ที่กำลังต่อสู่กับภาวะมีบุตรยาก

ในคำประกาศที่พระองค์ทรงเห็นชอบเมื่อเดือนมีนาคม 2024 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเรียกร้องให้ยุติการปฏิบัติการอุ้มบุญอีกครั้ง โดยเปรียบเทียบว่าเป็น ‘การค้ามนุษย์’ และทรงโต้แย้งว่าผู้คนไม่มี ‘สิทธิในการมีบุตร’ เพราะแนวทางดังกล่าวไม่เข้ากับหลักการ “เคารพศักดิ์ศรีของเด็กในฐานะผู้รับของขวัญแห่งชีวิต”

“เด็กคือของขวัญเสมอ และไม่เคยเป็นพื้นฐานของสัญญาทางการค้า” พระองค์ตรัส 

พลังของผู้หญิง

ในด้านนี้ พระสันตะปาปาฟรานซิสทรงแตกตางอย่างมากจากผู้นำคนก่อน ๆ โดยพระองค์ทรงแต่งตั้งอธิการบดีของเขตปกครองและประธานรัฐบาลของนครรัฐเป็นผู้หญิงคนแรก อีกยังทรงแตกต่างเลขาธิการเป็นผู้คนแรก และรองเลขาธิการที่เป็นผู้หญิงอีกหลายคน 

ซึ่งสอดคล้องกับมุมมองของพระองค์และนักบวชหลายคนว่า ผู้หญิงเป็นคนที่จัดการได้ดีกว่าผู้ชายโดยเฉพาะในเรื่องด้านของรัฐบาลและเศรษฐกิจ ทำให้สัดส่วนผู้หญิงที่ทำงานในวาติกันภายใต้การนำของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 17 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 24 ในปี 2019 

สำหรับในศาสนกิจเองก็เช่นกัน แม้ว่าพระองค์จะทรงคัดค้านการบวชสตรีเป็นบาทหลวงหรือตำแหน่งมัคนายกอย่างแข็งกร้าวและบ่อยครั้ง แต่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเปิดบทบาทศาสนกิจให้กับผู้หญิงอย่างเป็นทางการหลายบทบาท

ในปี 2021 พระองค์ทรงอนุญาตให้สตรีได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการเป็นผู้อ่านคำเทศน์และผู้ช่วยนักบวชเป็นครั้งแรก ททว่าก็ยังคงมีการโต้เถียงกันภายในคริสตจักรตามมาอย่างยาวนานและ ‘รุนแรง’

“ในคริสตจักร คุณไม่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆ จากวันหนึ่งไปอีกวันหนึ่งได้ แต่คุณต้องใช้เวลาหลายปี” เอลิซาเบตตา ปิเก้ (Elisabetta Piqué) นักข่าวชาวอาร์เจนตินา เพื่อนเก่าแก่ของฟรานซิสและภริยาของเจอราร์ด โอคอนเนลล์ ผู้สื่อข่าวของอเมริกาประจำวาติกัน กล่าว 

แม้จะมีการโต้เถียงมากมาย แต่ก็ต้องถือว่าพระสันตะปาปาฟรานซิสประสบความสำเร็จในการนำพลังของผู้หญิงเข้ามาภายในคริสตจักร ทว่าความก้าวหน้าของผู้หญิงในวาติกันจะดำเนินต่อไปอย่างไรหลังการสิ้นพระชนน์ ก็เป็นเรื่องที่ต้องจับตามองต่อไป 

“ความรักแบบคริสตชนไม่ใช่การขยายผลประโยชน์แบบรวมศูนย์ที่ค่อย ๆ ขยายออกไปยังบุคคลและกลุ่มอื่น ๆ … ความรักแบบออร์โดอามอริสที่แท้จริงซึ่งต้องมีการส่งเสริมนั้น คือสิ่งที่เราค้นพบได้จากการใคร่ครวญถึงอุปมาเรื่อง ‘ผู้ใจบุญ’ อยู่เสมอ นั่นคือการใคร่ครวญถึงความรักที่สร้างภราดรภาพที่เปิดกว้างสำหรับทุกคนโดยไม่มีข้อยกเว้น” สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสตรัสในจดหมายของพระองค์ถึงบรรดาพระสังฆราช

สืบค้นและเรียบเรียง

วิทิต บรมพิชัยชาติกุล

ที่มา

https://www.nationalgeographic.com

https://www.nytimes.com

https://www.americamagazine.org

https://19thnews.org

https://www.npr.org

https://abcnews.go.com


อ่านเพิ่มเติม : พระสันตะปาปาฟรานซิส พระประมุขแห่งนครรัฐวาติกัน สิ้นพระชนม์ด้วยพระชนมายุ 88 พรรษา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.