การเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ลูฟวร์สามารถเปลี่ยนจากการชมศิลปะเป็นการท่องเที่ยวเชิงอาหารได้

พิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พิพิธภัณฑ์ชื่อดังในกรุงปารีสประกาศว่า โมนาลิซา กำลังจะย้ายเข้าไปอยู่ในห้องจัดแสดงของตัวเอง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะช่วยให้ผู้มาเยือนได้สัมผัสประสบการณ์การชมงานศิลปะในรูปแบบที่ต่างออกไป

การท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) กำลังได้รับความนิยมในช่วง 3-4 ที่ผ่านมา แต่ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ร้านอาหารและตลาด น่าสนใจว่าในพิพิธภัณฑ์เองก็สามารถสัมผัสกับการผจญภัยด้านอาหารได้เช่นกัน

ภาพ งานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา (ค.ศ. 1563) โดยศิลปินชาวอิตาลี เปาโล เวโรนีส ซึ่งเป็นภาพวาดที่ใหญ่ที่สุดในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ คืองานศิลปะชิ้นเอกที่ถูกมองข้าม ผลงานอันวิจิตรชิ้นนี้เสร็จสมบูรณ์ในศตวรรษที่ 16 ที่เมืองเวนิส ก่อนจะถูกกองทัพของนโปเลียนยึดมาและนำไปไว้ที่ฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1797 โดยเนื้อหาในภาพแสดงฉากที่พระเยซูกำลังอยู่ในงานเลี้ยงแต่งงาน หลังจากที่ทรงแสดงปาฏิหาริย์เปลี่ยนน้ำให้เป็นไวน์ได้สำเร็จ

ในปี 2025 เอมมานูเอล มาครง ประธานาธิบดีฝรั่งเศส ได้วางแผนโครงการฟื้นฟูยุคเรอเนซองส์ใหม่ให้กับพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ พร้อมมอบของขวัญชิ้นสำคัญที่สมควรได้รับมานานให้กับผลงานศิลปะระดับตำนานคือการที่ โมนาลิซา ผลงานชิ้นเอกของ เลโอนาร์โด ดาวินชี จะได้มีห้องจุดแสดงเป็นของตัวเอง

การย้ายที่ตั้งของ โมนาลิซา อาจจะเป็นข่าวใหญ่ที่ทุกคนพูดถึง แต่การปรับโฉมพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ในครั้งนี้ยังถือเป็นข่าวดีสำหรับผลงานศิลปะอื่นๆ ที่ถูกมองข้ามด้วย หนึ่งในนั้นคือภาพงานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา โดยภาพนี้ไม่เพียงแต่เป็นภาพวาดที่ใหญ่ที่สุดในลูฟร์ (732 ตารางฟุต หรือประมาณขนาดอพาร์ตเมนต์หนึ่งห้องนอนในปารีส) แต่ยังได้รับการยกย่องว่าเป็นภาพวาดอาหารที่งดงามที่สุดในยุคเรอเนซองส์อีกด้วย

แม้การย้ายโมนาลิซาจะยังไม่เกิดขึ้นจนกว่าจะถึงปี 2031 แต่เมื่อถึงเวลานั้น นักท่องเที่ยวก็จะมีทั้งเวลา พื้นที่ และความเงียบสงบเพียงพอที่จะได้ จ้องมองความงดงามอันแท้จริงในผลงานชิ้นเอกของ เปาโล เวโรนีส อย่าง งานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา

เอเลน ชิโอลิโน (Elaine Sciolino) นักเขียนที่เป็นหัวหน้าสำนักงานปารีสของ The New York Times เปิดเผยว่า ทุกครั้งที่จ้องมองภาพงานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา จะนึกถึงความอร่อยและความสุขที่ได้ค้นพบโลกแห่งอาหารในห้องจัดแสดงของพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ ผู้มาเยือนไม่จำเป็นต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะก็สามารถดื่มด่ำไปกับภาพของสตรอว์เบอร์รีสุกฉ่ำ หรือรู้สึกเพลิดเพลินกับภาพเขียนที่ถ่ายทอดมื้ออาหารแห่งความสุขได้

เพียงเดินเล่นไปตามพิพิธภัณฑ์ คุณไม่มีทางรู้เลยว่าจะได้พบกับวัฒนธรรมอาหาร อัตลักษณ์ ความเชื่อทางศาสนาและประเพณีต่างๆ ที่ข้ามกาลเวลามาให้ชม ซึ่งศิลปะเหล่านี้ซ่อนตัวอยู่ตามมุมต่างๆ อย่างที่ สตีเฟน เฮย์แมน เคยเขียนไว้ในการรีวิวหนังสือเกี่ยวกับอาหารและลูฟร์ว่า “หลังจากทนดูภาพนักบุญเซบาสเตียนถูกยิงด้วยลูกธนูถึง 500 ภาพแล้ว ใครบ้างล่ะที่จะไม่สดชื่นขึ้นมาเมื่อได้เห็นราสป์เบอร์รีเย้ายวนหรืออาร์ติโชกสุดสง่างามในภาพวาดอายุ 300 ปี?”

ดังนั้น หากจะเริ่มต้นทัวร์ที่ผสานทั้งการชื่นชมศิลปะชั้นเลิศและการลิ้มรสวัฒนธรรมแห่งการกินในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์ งานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา คือจุดเริ่มต้นที่ดีที่สุด

ภาพงานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา อาหารและตัวละครที่มีชีวิตชีวา

งานเลี้ยงแต่งงานที่เมืองคานา ถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญ เมื่อพระเยซูทรงกระทำปาฏิหาริย์ครั้งแรก ด้วยการเปลี่ยนน้ำให้กลายเป็นไวน์แต่ เปาโล เวโรนีเซ ได้ร่ายเวทมนตร์ขึ้นมาใหม่ โดยย้ายฉากหลังไปสู่พระราชวังหรูหราในนครเวนิส พร้อมเติมตัวละครมากมายที่แต่งกายด้วยเสื้อผ้าหลากสีสันจากยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาหรือเรอเนสซองส์

โต๊ะเลี้ยงฉลองในภาพสะท้อนความมั่งคั่งของเหล่าอาริสโตแครตแห่งเวนิส แก้วไวน์เนื้อบางใส ภาชนะทองคำและเงินแท้ บ่งบอกถึงความหรูหรา รายละเอียดอย่างผ้าเช็ดปากและการจัดวางเครื่องใช้บนโต๊ะ เล่าถึงความล้ำหน้าในวัฒนธรรมการกินของเวนิสเมื่อเทียบกับยุโรปเหนือในช่วงเวลาเดียวกัน

ขณะที่แขกเหรื่อกำลังเพลิดเพลินกับบทสนทนา อาหารคาวได้ผ่านพ้นไปแล้ว เหลือเพียงของหวานงดงามละมุนอยู่ตรงหน้า ลูกพลับฉ่ำหวาน องุ่นพวงแน่น อินทผลัม และขนมหวานเลอค่า ความงดงามของพิธีรีตองมีท่าทีของความเรียบร้อยจากตัวหญิงสาวที่ค่อยๆ ใช้ไม้จิ้มฟันเขี่ยเศษอาหารจากฟันอย่างสุภาพ

เบื้องหน้ามีบริกรเท้าเปล่าสวมเสื้อคลุมทองคำ ก้มตัวบรรจงเทไวน์ใหม่จากเหยือกหินแกะสลักขนาดใหญ่ลงในเหยือกเล็กข้างกาย ขณะที่พนักงานเสิร์ฟไวน์ยกแก้วทรงสูงขึ้นพินิจของเหลวสีแดงอันน่าอัศจรรย์

และ ณ ระเบียงกลาง ด้านบนพระเศียรของพระเยซู ชายผู้หนึ่งกำลังใช้มีดหั่นเนื้อแกะชิ้นโต ภาพของเขาแม้เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของฉาก แต่กลับแฝงนัยแห่งการสังเวยและการสิ้นพระชนม์ของพระคริสต์ในภายภาคหน้าไว้อย่างแยบยล

นอกจากนี้ ภาพดังกล่าวยังจำลองลำดับชั้นทางสังคม พิธีกรรม ความมั่งคั่ง การเมืองท้องถิ่น และพลังของพระเจ้า มาถักทอรวมกันผ่านมื้ออาหารอันยิ่งใหญ่ได้อย่างยอดเยี่ยมและสมบูรณ์

ดื่มดํ่ากับต้นธารอาหารเมดิเตอร์เรเนียนจากโลกตะวันออก

เมื่อคุณอิ่มเอมจากมื้ออาหารที่คานาแล้ว ขอเชิญตรงไปยังแผนกอียิปต์โบราณ เพื่อชมตัวอย่างแรกๆ ของสิ่งที่เราเรียกกันในปัจจุบันว่า อาหารเมดิเตอร์เรเนียน ที่ประกอบด้วยขนมปังสาลี ไวน์ น้ำมันมะกอก และชีส

ในห้อง 635 มี The stele of Princess Nefertiabet ภาพแกะสลักหินปูนทาสีจากสุสานของเจ้าหญิงเนเฟอร์ตียาเบต (Princess Nefertiabet) เจ้าหญิงผู้สวมชุดหนังเสือดาวยาวแนบเนื้อ เผยให้เห็นไหล่และแขนขวา เธอนั่งอย่างสง่างามโดดเดี่ยวบนบัลลังก์ มีโต๊ะเครื่องบูชาตั้งอยู่เบื้องหน้า บนโต๊ะเต็มไปด้วยแผ่นขนมปังขาวเรียงเป็นชิ้นตั้งตรง

เบื้องหลังของพระองค์ คือคลังเก็บอาหารและเครื่องดื่มสำหรับชีวิตนิรันดร์ ทั้งเนื้อวัว กวาง กวางป่า ตับ ห่าน เป็ด ปลา นกเขา เนื้อสัตว์ปีก ผลไม้ และธัญพืชหลากหลาย เสบียงอันมั่งคั่งเหล่านี้บ่งบอกถึงความเชื่อว่า เจ้าหญิงจะยังคงได้เสวยสุขจากอาหารแห่งโลกมนุษย์ต่อไปในชีวิตหลังความตาย

ขยับเวลาขึ้นมาเกือบหนึ่งพันปี หนึ่งในสมบัติล้ำค่าที่สุดของลูฟร์ได้แก่ แผ่นศิลาดำแห่งฮัมมูราบี ซึ่งสลักบทกฎหมายโบราณด้วยอักษรคูนิฟอร์ม ตั้งแสดงอยู่ในห้อง 227 โดยกษัตริย์ฮัมมูราบีแห่งบาบิโลน ไม่ได้เป็นเพียงผู้ร่างประมวลกฎหมายที่สมบูรณ์ที่สุดในโลกยุคโบราณเท่านั้น แต่ยังเป็นนักชิมตัวยงอีกด้วย โดยของหวานโปรดของพระองค์คือ ทาร์ตเนื้อไก่คู่นกกระทา ที่ปรุงรสจัดจ้านด้วยเครื่องเทศนานาชนิด

ในตู้กระจกของห้องเดียวกัน มีจานตื้นทรงกลมที่ทำจากดินเผาสีขาวอมเบจ ตกแต่งด้วยวงกลมสี่ชั้นล้อมรอบศูนย์กลาง ตรงกลางจานมีรอยบุ๋มเป็นรูปสัตว์สี่ตัวมีใบหูใหญ่ที่ดูคล้ายลาตัวเล็ก ๆ และอีกหกตัวมีหางชี้สูงที่อาจเป็นสุนัขป้ายกำกับสั้นๆ ว่า พิมพ์ทำขนมในครัว

วัตถุเรียบง่ายชิ้นนี้อาจดูไม่น่าตื่นตา แต่ปีที่ค้นพบกลับสะดุดใจ มันมีอายุราว 3,800 ปี ถูกขุดพบจากบริเวณที่ปัจจุบันคือซีเรียตะวันออก

พิมพ์ลายเหล่านี้ ไม่ว่าจะเป็นรูปสัตว์หรือสตรี ถูกใช้ในการทำขนมพายคาวและขนมเค้กหวานสำหรับราชสำนัก หลายคนอาจไม่ทราบว่า ชนชาวเมโสโปเตเมียโบราณผู้มีชื่อเสียงเรื่องไวน์ ยังเป็นผู้ผลิตเบียร์และไอศกรีมยุคแรกสุดของโลกอีกด้วย

ภาชนะอาหารแห่งประวัติศาสตร์

ในที่ที่อาณาจักรและราชวงศ์โบราณมิอาจดำรงอยู่ อุปกรณ์สำหรับรับประทานอาหารของพวกเขากลับเดินทางข้ามกาลเวลามาอยู่ที่ห้อง 527 ชุดช้อนส้อมที่สวยงามแห่งศตวรรษที่ 16 จากเกาะซีลอน (ปัจจุบันคือประเทศศรีลังกา) คือวัตถุลํ้าค่าทางประวัติศาสตร์ ตัวช้อนและส้อมสลักขึ้นจากคริสตัลหินใส ตกแต่งด้วยทับทิมฝังในทองคำ

ช้อนนับเป็นภาชนะรับประทานอาหารที่เก่าแก่ที่สุด ส่วนส้อมเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เกิดขึ้นใหม่กว่าในเวลานั้น ช่างฝีมือชาวซีลอนในยุคนั้นมักใช้งาช้างเป็นวัสดุหลัก แต่ในกรณีนี้เลือกใช้คริสตัลหินแทน อาจเพื่อเน้นถึงความหายากและสถานะอันสูงศักดิ์ของผู้ครอบครอง

เมื่อเดินอ้อมจากพื้นที่ปีกแห่งซาโมเทรซไปเพียงมุมเดียวก็จะพบกับ ห้องแกลเลอรีอะพอลโลที่เก็บรักษาเครื่องราชกกุธภัณฑ์ของฝรั่งเศส แกลเลอรีทองคำเลอค่าที่ถูกสร้างขึ้นโดยพระเจ้าหลุยส์ที่ 14 เพื่ออวดความโอ่อ่าของพระองค์เองนั้น ถูกขนานนามว่าเป็น กล่องอัญมณีที่งดงามที่สุดในโลก

แม้ว่าพระราชสมบัติเหล่านี้ส่วนใหญ่จะถูกขายทอดในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่ห้องโถงก็ยังเต็มไปด้วยเครื่องใช้บนโต๊ะอาหารอย่างหรูหรา ทั้งจาน ถ้วย และภาชนะที่ประดับด้วยทองคำ สลักขึ้นจากแร่หายากอย่าง ลาพิสลาซูรี อาเกต อะเมทิสต์ และหยก

สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงพิธีการรับประทานอาหารอันฟุ่มเฟือยแห่งแวร์ซายส์ หรือที่เรียกว่า แกรนด์ กูแวร์ พิธีการที่แทบจะเป็นเหมือนการแสดงละคร เนื่องจากเกือบทุกค่ำคืน พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 พร้อมด้วยพระราชินีและพระโอรสธิดา จะเสวยพระกระยาหารต่อหน้าสาธารณชน (ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับพระราชนัดดาของพระองค์ คือพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 ผู้ทรงโปรดเสวยพระกระยาหารตามลำพัง)

ภาชนะสำหรับอาหารก็มีบทบาทสำคัญในปีกศิลปะอิสลามของลูฟร์เช่นกัน ในบรรดาสิ่งของกว่า สามพันชิ้น ที่จัดแสดงอยู่ ได้แก่ จานเซรามิก ชามหยก ขวดแก้ว เหยือกโลหะ และอ่างทองเหลือง บนจานเซรามิกลึกสมัยศตวรรษที่ 16 ซึ่งตั้งอยู่ในห้อง 185 ของปีกเดนอง มีจารึกภาษาเปอร์เซียไว้ว่า “ขอให้จานนี้เต็มเปี่ยมอยู่เสมอ รายล้อมด้วยมิตรสหาย ไม่ขาดแคลนสิ่งใด และได้เสวยทุกสิ่งด้วยความสุข”

ด้วยลวดลายดอกไม้สีน้ำเงินและสีเหลืองแซมใบไม้เขียว จานใบนี้ดูจะเหมาะอย่างยิ่งสำหรับครัวชนบทที่มีบรรยากาศอบอวลด้วยความสดใส ห่างไกลจากความวุ่นวายของเมืองใหญ่

ความเชื่อมโยงของโลกศิลปะกับอาหาร

พิพิธภัณฑ์ลูฟร์เป็นสถานที่อันเหมาะสำหรับการครุ่นคิดถึงความคล้ายคลึงกันระหว่าง พ่อครัว กับ ศิลปิน ทั้งสองล้วนใช้มือเป็นเครื่องมือ เปลี่ยนวัตถุดิบธรรมดาให้กลายเป็นผลงานต้นฉบับ ทั้งสองต่างมีอุปกรณ์เฉพาะตัว พ่อครัวมีช้อนส้อมและมีดทำครัว ส่วนจิตรกรมีพู่กัน และประติมากรมีสิ่วและฆ้อน ทั้งสองต่างใส่ใจในสัดส่วน ไม่ว่าการปรุงซุปให้ออกกลมกล่อม หรือการเลือกเฉดสีแดงให้พอเหมาะแก่หลังคาในภาพวาด

แม้แต่ภาษาของศิลปะก็มีการหยิบยืมคำจากโลกของการกินดื่มอาหารอย่าง การเริ่มวาดภาพด้วยการทาแบ็กกราวด์บางๆ เรียกว่า maigre (ผอมบาง) จากนั้นจิตรกรจึงค่อยๆ เสริมเติมชั้นสีหนาแน่นขึ้น ซึ่งเรียกกันว่า gras (อ้วนหรือมัน)

ด้านสีสันโทนและเฉดสีในงานศิลปะชวนให้นึกถึงภาษาของห้องครัว สีที่เย็นหรือร้อน เปรี้ยวจัดหรือหวานละมุน ขม ซ่า หรือกลมกล่อม เมื่อภาพวาดเสร็จสมบูรณ์แล้ว ก็อาจให้ความรู้สึกได้หลากหลาย เช่น tendre (อ่อนโยน), mousseuse (ฟูฟ่อง) หรือ sèche (แห้งกร้าน)

คำโปรดของ เอเลน ชิโอลิโน คือคำว่า “croûte” ที่มีหลายความหมาย หนึ่งในนั้นคือ “ภาพวาดไร้ค่า” ที่เก่าเก็บจนผิวหน้าแข็งกระด้างและเสียหาย หากใครเรียกภาพวาดสักชิ้นว่า croûte นั่นหมายถึงว่ามันแย่เอามากๆ

ในยุคกรีกและโรมันโบราณ ศิลปินที่สามารถสร้างวัตถุธรรมดาอย่างแครอทหรือหม้อดินให้ดูมีชีวิตได้ จะถือเป็นผู้มีพรสวรรค์สูงสุด ทว่าในยุโรปศิลปะที่เน้นวัตถุธรรมดากลับถูกมองว่าไร้ค่า นานหลายศตวรรษ นักวิจารณ์จัดอันดับภาพวาดหุ่นนิ่ง (Still Life) ไว้ต่ำกว่าภาพภูมิทัศน์ ชีวิตประจำวัน ภาพเหมือนบุคคล และภาพประวัติศาสตร์

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่หลงใหลในโลกแห่งอาหาร คุณจะหลงรักภาพหุ่นนิ่งในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์อย่างแน่นอน ภาพหุ่นนิ่งส่วนใหญ่ของลูฟร์ถูกจัดไว้บนชั้นบนของปีกริเชอลิเยอและซุลลี พื้นที่ซึ่งมีผู้มาเยือนเบาบางที่สุดในหมวดงานจิตรกรรม แม้จะห่างไกลสายตานักท่องเที่ยว แต่ภัณฑารักษ์ของที่นี่ต่างเชื่อมั่นว่า นี่คือคลังสะสมงานศิลปะเกี่ยวกับอาหารที่ดีที่สุดแห่งหนึ่ง

ขนมปังบริโอช จักรวาลแห่งรสชาติในพิพิธภัณฑ์ลูฟร์

ปิดท้ายที่อีกห้องที่น่าสนใจคือห้อง 928 ที่จัดแสดงผลงานของ ฌ็อง-บาติสต์-ซีเมียง ชาร์แด็ง จิตรกรผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่ 18 ซึ่งเชี่ยวชาญการวาดหุ่นนิ่ง ในบรรดาผลงานเหล่านั้น มีทั้งลูกพีช ลูกแพร์ ถั่ว มะกอก องุ่น และทับทิม และหนึ่งในภาพที่โดดเด่น ได้แก่ The Brioche ภาพขนมปังบริโอช

จุดสนใจของภาพคือขนมปังก้อนกลมขนาดใหญ่ที่ยอดด้านบนไหม้เกรียมและเบี้ยวเอียง ราวกับว่าคนอบลืมขนมปังไว้ในเตานานเกินไป ดอกส้มหนึ่งช่อ เครื่องประดับมาตรฐานของพิธีแต่งงานถูกปักอยู่ที่ยอดขนมปังบริโอช ทางซ้ายมีหม้อใส่น้ำตาลทำจากพอร์ซเลนเนื้อละเอียดสีสดใส อวบอ้วน มีลวดลายดอกไม้ที่สื่อถึงเจ้าสาว

ภาชนะเปิดทางขวา เป็นขวดทรงเรียวยาวชวนให้นึกถึงสัญลักษณ์ทางเพศชาย ภายในบรรจุของเหลวสีเข้ม เบื้องหน้าบริโอช มีลูกพีชสุกสองผล คุกกี้สองชิ้น บิสกิตชิ้นเล็กหนึ่งชิ้น และเชอร์รี่สามลูก ทั้งหมดนี้ไม่ได้ซ่อนนัยยะทางเพศไว้เลยแม้แต่น้อย

ความสัมพันธ์ระหว่างอาหารกับศิลปะ ช่วยให้เราได้การเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของเวลา ผ่านการรับประทานอาหารและการสร้างงานศิลปะ โดยแสดงให้เห็นถึง ความเปราะบาง และ ความไม่แน่นอนของชีวิต ซึ่งการตีความศิลปะนั้น ไม่ใช่แค่ตีความสิ่งที่ตามองเห็น แต่ยังต้องสะท้อนถึงสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของมนุษย์อีกด้วย

 

สืบค้นและเรียบเรียง สิทธิโชติ สุภาวรรณ์

เรื่องโดย Elaine Sciolino

ที่มา

Nationalgeographic.com


อ่านเพิ่มเติม : ภาพโมนาลิซา ของ เลโอนาร์โด ดาวินชี มีกี่ภาพ อันไหนคือของจริง และแฝงรหัสลับหรือไม่ 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.