การเดินทางของชาวจีนโพ้นทะเลแห่งชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน

อดีต ปัจจุบัน และอนาคตของชาวจีนโพ้นทะเลแห่งชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน แม้กาลเวลาได้พรากสิ่งที่เคยมีอยู่ ทว่ารากแห่งชีวิตของความเป็นชาวจีนในไทยยังถูกส่งต่อรุ่นแล้วรุ่นเล่า

แปดโมงเช้าของวันจันทร์ที่แสนธรรมดาในตำบลบางหลวง อำเภอบางเลน จังหวัดนครปฐม เสียงเพลงชาติดังขึ้น เคล้าลมเย็นบางๆ ของเดือนกุมภาพันธ์ ทำให้เครื่องแบบนักเรียนสีขาวถูกคั่นด้วยแจ็กเกตหลากสี และพลันที่เสียงร้องเพลงชาติจบลง บทสวดมนต์จากเด็กนับร้อยก็ดังขึ้น ถึงตรงนี้ดูเหมือนว่าพล็อตเรื่องว่าด้วยกิจกรรมหน้าเสาธงใกล้ปิดฉาก ถ้าไม่มีเสียงภาษาจีนขึงขังดังผ่านลำโพงแทรกขึ้นมา 

“เหล่าซือกำลังอบรม” ครูท่านหนึ่งบอกกับผู้มาเยือน ราวกับได้ยินความสงสัยในใจ

“โรงเรียนจะให้เหล่าซือพูดอบรมกับนักเรียนหน้าเสาธงทุกวันอังคารกับวันพฤหัสฯ แต่สัปดาห์นี้พิเศษหน่อยเพราะใกล้สอบจึงอบรมกันตั้งแต่วันจันทร์ สิ่งที่เหล่าซือย้ำในวันนี้คือ ใครยังไม่เริ่มอ่านหนังสือสอบก็เริ่มได้แล้ว และสำหรับนักเรียนมัธยมปลายก็อยากให้มุ่งมั่น จริงจัง เพราะเป็นช่วงเวลาสำคัญสำหรับเตรียมตัวเรียนต่อในระดับสูงขึ้นไป” 

อันที่จริง ครูท่านนี้ก็ถูกเรียกว่า “เหล่าซือ” (老师) เช่นกัน คำคำนี้ในภาษาจีนกลางแปลความหมายได้ว่าครู หรืออาจารย์ ทั้งยังเป็นคำยกย่องผู้อาวุโสที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางอีกด้วย 

บนบอร์ดประชาสัมพันธ์โรงเรียนเจี้ยนหัว ระบุชื่อไทยของเธอว่า อาจารย์วรรณนา ลาภทรงสกุล หัวหน้าวิชาการภาษาจีน แผนกมัธยม หรือที่เรียกกันในโรงเรียนว่า “เฉินเหล่าซือ” แปลว่า อาจารย์แซ่เฉิน นอกจากเป็นการยกย่องในหน้าที่แล้ว ยังสื่อถึง “แซ่ (นามสกุล)” เดิมของเธอ หนึ่งในลูกชาวจีนแต้จิ๋วที่เกิดและเติบโตในตำบลบางหลวงนี้

โรงเรียนเจี้ยนหัวตั้งอยู่บ้านบางหลวงริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำนครชัยศรี ในอดีตเคยเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าเชื่อมระหว่างคลองบางหลวงไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี และจังหวัดสมุทรสาคร อีกทั้งพื้นที่รอบๆ ท่าเรือ และใกล้เคียงยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยทั้งชาวไทย ชาวจีน มาตั้งถิ่นฐานเป็นชุมชน  

เมื่อชาวจีนจำนวนมากรวมตัวเป็นชุมชน สิ่งหนึ่งที่ตามมาคือการสร้างโรงเรียน ตามแนวคิดปรัชญาขงจื๊อที่พยายามรักษาอัตลักษณ์ของชาวจีนโพ้นทะเลให้คงอยู่สืบต่อรุ่นสู่รุ่น โรงเรียนในชุมชนนี้จะเปิดการสอนวิชาต่างๆ โดยใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลักเทียบเท่าภาษาไทย อีกทั้งยังสอนประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมจีนควบคู่ไปด้วย 

ในอดีตการเปลี่ยนแปลงการปกครองของจีนและของไทย ส่งผลกระทบต่อการเรียนการสอนภาษาจีนในไทยเป็นระยะ จนกระทั่งเมื่อต่างฝ่ายต่างเข้าใจกันมากขึ้น ภาษาจีนจึงเป็นที่ยอมรับไทยมากขึ้น  และหลังจากจีนได้เข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อ พ.ศ. 2544  กระทรวงศึกษาธิการก็สนับสนุนให้สถาบันการศึกษาต่างๆ เปิดการเรียนการสอนภาษาจีน และวิชาเอกภาษาจีน เพราะเล็งเห็นโอกาสทางเศรษฐกิจในอนาคต 

อาจารย์วรรณนา หรือเฉินเหล่าซือ เล่าถึงรูปแบบการเรียนการสอนในสมัยก่อนให้ผมฟังว่า  “ถ้าให้เปรียบเทียบความอิสระในการศึกษาของวันนี้กับสมัยที่เหล่าซือเรียนเมื่อ 40-50 ปีก่อน มันเทียบกันไม่ได้เลย โรงเรียนจีนในช่วงนั้นมีหนังสือเรียนไม่กี่เล่มที่กระทรวงศึกษาธิการอนุญาตให้ใช้ ส่วนการอนุญาตให้ครูอาสาจากจีนเข้ามาสอนในไทยก็เข้มงวดมาก ต่างจากวันนี้ที่อิสระมากกว่า”

พีระวัฒน์ ค้าธัญเอกมงคล ผู้รับใบอนุญาตและผู้จัดการโรงเรียนเจี้ยนหัว ชี้ให้ผมดูภาพอากง (ปู่) ของเขาในหนังสือที่ระลึกเล่มหนึ่งของโรงเรียน สิ่งที่เห็นคือภาพถ่ายของกลุ่มคนหนุ่มผมสั้น นั่งและยืนเรียงหน้ากระดาน โดยมีอาคารไม้ชั้นเดียวเป็นฉากหลัง

เขาบอกว่า นี่คือกลุ่มผู้ก่อตั้งโรงเรียนเมื่อ 100 ปีก่อน และทั้งหมดคือลูกหลานจีนแต้จิ๋วที่บรรพบุรุษเดินทางจากแผ่นดินใหญ่มาตั้งรกรากที่ตำบลบางหลวง

“มีทั้งพ่อค้า คนใช้แรงงาน ชาวไร่ชาวนา เจ้าของโรงสี รวมตัวกันทำโรงเรียน ในนามมูลนิธิโรงเรียนเจี้ยนหัวเราสร้างอาคารเรียนชั้นประถมที่แรกติดกับตลาดบางหลวง พอโรงเรียนเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นก็ขยายหลักสูตร และสร้างอาคารเรียนขึ้นอีกแห่งห่างจากที่เดิมประมาณสามกิโลเมตร ก่อนจะย้ายนักเรียนชั้นมัธยมมาที่นี่เมื่อ พ.ศ. 2559”

ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงในหลายบริบท โรงเรียนจีนในวันนี้ไม่ได้มีเพียงเด็กไทยเชื้อสายจีนในชุมชนเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักเช่นในอดีตอีกต่อไป ปัจจุบัน เด็กกลุ่มนี้มีจำนวนเพียงร้อยละ 30 ของนักเรียนเท่านั้น ที่เหลือเป็นเด็กที่ครอบครัวทำธุรกิจกับชาวจีนและมีมุมมองว่า การเรียนภาษาจีนจะเป็นโอกาสที่ช่วยให้บุตรหลานประสบความสำเร็จในชีวิตได้

ลำน้ำท่าจีนที่ไหลคดเคี้ยวลงสู่อ่าวไทย ณ บ้านท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร มองดูคล้ายมังกร เป็นที่มาของนาม “เล่งเกียฉู่” หรือ “บ้านลูกหลานมังกร” และยังสอดคล้องกับประวัติศาสตร์ของพื้นที่บริเวณนี้ซึ่งเคยเป็นท่าเรือมีคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานสืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
การเชิดสิงโตและแป๊ะยิ้มเป็นศิลปะการแสดงแบบจีนเพื่อความเป็นมงคล โชคลาภ และปัดเป่าสิ่งชั่วร้าย ปัจจุบันยังคงพบเห็นได้ตามชุมชนชาวจีน เช่น ขบวนแห่งานศาลเจ้าแม่เบิกไพรที่อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม
แปลงเกษตรยกร่องริมน้ำเป็นเทคนิคการทำเกษตรที่ชาวจีนโพ้นทะเลนำมาเผยแพร่ในไทย ด้วยการขุดร่องดินเพื่อจัดการน้ำในแปลงผักให้เหมาะสมและเพียงพอ จึงสามารถเปลี่ยนพื้นที่ริมฝั่งทั้งใกล้ไกลให้สามารถเพาะปลูกได้ทุกฤดูกาล

ศาลเจ้าและโรงเจ หลักฐาน การเติบโตของชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน

ระหว่างหาข้อมูลเตรียมสำรวจลุ่มน้ำท่าจีน นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมท่านหนึ่งบอกผมว่า ทุกจังหวัดในไทยล้วนมีประชากรไทยที่สืบเชื้อสายจากจีนโพ้นทะเลแทบทั้งนั้น สังเกตได้จากการก่อตั้งศาลเจ้าและโรงเจตามชุมชน นั่นเพราะเมื่อคนจีนประสบความสำเร็จในชีวิต มีฐานะทางการเงินดีขึ้น ก็มักสร้างสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจ สิ่งที่ตนเคารพบูชาขึ้น 

ตอนที่ไปสำรวจตำบลบางหลวง ผมเห็นศาลเจ้าอาม่า (เจ้าแม่ทับทิม) โรงเจบ้วนฮกตั้วซึ่งเป็นเหมือนศูนย์กลาง   ของชุมชนบางหลวง  เช่นเดียวกับครั้งที่ไปสำรวจชุมชนตลาดน้ำดอนหวาย จังหวัดนครปฐม ผมก็เห็นศาลเจ้าแม่เซ่งเนี้ย (เพ็คเล่งตึ้ง) ใกล้ทางเข้าตลาด จะว่าไปตลอดการสำรวจชุมชนเลียบแม่น้ำท่าจีน ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดสมุทรสาคร หรือจังหวัดสุพรรณบุรี สิ่งหนึ่งที่เห็นว่าไม่เคยขาดหายไปในแต่ละชุมชน ก็คือศาลเจ้าขนาดเล็กบ้างใหญ่บ้างแตกต่างกันไป 

จักกาคม มหิสรากุล ผู้ตรวจตราสอดส่องศาลเจ้า และผู้จัดการโรงเจเปาเก็งเต๊งงิ้วราย อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม พาผมไปชมหลักฐานการก่อตั้งโรงเจเมื่อกว่า 160 ปีก่อนของที่นี่ เขาอธิบายความสัมพันธ์ของแม่น้ำท่าจีนกับชาวจีนโพ้นทะเลซึ่งเป็นประหนึ่งถนนแห่งชีวิตให้ฟังว่า 

“สายน้ำแห่งนี้ให้ทั้งอาชีพเลี้ยงปากท้อง เป็นเส้นทางหลักของการคมนาคมขนส่ง และค้าขาย ที่ตั้งของโรงเจในวันนี้ ก็คือชุมชนย่อยของเหล่ากรรมกรจีนใช้แรงงานริมแม่น้ำ 

“ชาวจีนได้อัญเชิญพระพุทธรูป พระโพธิสัตว์ เจ้าแม่กวนอิม เทพเจ้าที่นับถือ และนำผงธูปจากสถานที่ศักดิ์สิทธิ์จากแผ่นดินใหญ่ติดตัวมาด้วยเพื่อสักการบูชา เมื่อชีวิตก้าวหน้าก็ตั้งศาลเจ้าและโรงเจไว้เพื่อยึดเหนี่ยวจิตใจ สืบสานประเพณี และปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรม ความกตัญญูต่อบรรพบุรุษ ตามความเชื่อในลัทธิเต๋า และขงจื๊อ”

การตั้งถิ่นฐานชุมชนริมแม่น้ำท่าจีน

แม่น้ำท่าจีนเป็นลำน้ำสาขาแยกจากแม่น้ำเจ้าพระยาที่จังหวัดชัยนาท บริเวณปากคลองมะขามเฒ่า จึงมีชื่อเรียกว่า “แม่น้ำมะขามเฒ่า” เมื่อไหลผ่านจังหวัดใดก็มีชื่อเรียกไปตามพื้นที่นั้น จังหวัดสุพรรณบุรีเรียก “แม่น้ำสุพรรณบุรี”  จังหวัดนครปฐม เรียก “แม่น้ำนครชัยศรี” และเมื่อลงสู่อ่าวไทยที่บ้านท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร ก็เรียก “แม่น้ำท่าจีน”

นักวิชาการหลายคนสันนิษฐานว่า ที่มาของชื่อแม่น้ำท่าจีนคงเรียกตามความสำคัญของสถานที่ที่แม่น้ำสายนี้ไหลลงสู่อ่าวไทย ด้วยในอดีต บ้านท่าจีน จังหวัดสมุทรสาคร เป็นเมืองชายทะเลฝั่งอ่าวไทย มีท่าเทียบเรือขนาดใหญ่สำหรับขนถ่ายสินค้า  มีชาวจีนโพ้นทะเลมาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือนี้จำนวนไม่น้อย และตั้งถิ่นฐานเกิดเป็นชุมชนชาวจีนขึ้นมา 

บ่ายวันที่ไปสำรวจชุมชนบ้านท่าจีน ผมยืนอยู่ริมฝั่งวัดใหญ่จอมปราสาท  ตำบลท่าจีน อำเภอเมืองสมุทรสาคร จังหวัดสมุทรสาคร เห็นสภาพวิหารเก่าแก่ซึ่งถูกกั้นเป็นพื้นที่อนุรักษ์ มองออกไปเห็นเรือขนส่งสินค้ายังจอดเทียบท่า เพื่อลำเลียงสิ่งของขึ้นลง ผมนึกภาพว่า ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นตรงหน้าไม่น่าจะต่างจากความเป็นไปตลอดช่วงหลายร้อยปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปและมองเห็นได้ชัดเจน น่าจะเป็นอาคารบ้านเรือนสมัยใหม่กับบรรดาผู้คนแปลกหน้าต่างถิ่นที่เดินทางเข้าสู่ชุมชนด้วยเหตุผลต่างกันไป 

ตลอดความยาวราว 315 กิโลเมตรของแม่น้ำท่าจีนที่ไหลผ่านที่ราบลุ่มภาคกลางตอนล่างมากถึงสี่จังหวัด เกิดลำคลองสาขามากมาย จึงไม่เพียงเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการเพาะปลูก และการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนของผู้คนมากมายเท่านั้น แต่ยังทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีนมีโอกาสติดต่อสัมพันธ์กับดินแดนรอบข้างด้วย ทำให้เป็นหนึ่งในดินแดนที่มีบทบาทสำคัญทั้งในแง่เศรษฐกิจ และวัฒนธรรมประเพณีมายาวนาน

การศึกษาเรื่อง “ประวัติศาสตร์สังคมของชุมชนในลุ่มน้ำท่าจีน” พ.ศ.2532 โดย ผศ.สุภาภรณ์ จินดามณีโรจน์ ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ในขณะนั้น) ได้ศึกษาจากการค้นคว้ารวบรวมเอกสารราชการท้องถิ่นและเอกสารที่บันทึกโดยชาวต่างชาติ ระบุตอนหนึ่งว่า บริเวณลุ่มน้ำท่าจีนมีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เพราะเป็นส่วนสำคัญของศูนย์อำนาจคือ กรุงเทพฯ ติดต่อถึงกันโดยพื้นที่ราบแม่น้ำต่อเนื่องกัน เป็นแหล่งผลประโยชน์และรายได้ของกรุงเทพฯ เช่น ส่วย ค่าผูกปี้ แรงงาน อากร ค่านา อากรค่าน้ำ อากรสัมพัตสร อากรจันอับ ภาษีโรงเรือน ภาษีร้านค้า 

“ปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อการอพยพของคนจีนโพ้นทะเลเข้ามาในเมืองไทย ช่วงก่อนสมัยรัตนโกสินทร์จนถึงพุทธศักราช 2453 คือ การที่รัฐไทยเปิดโอกาสให้คนจีนอพยพเข้ามาได้อย่างอิสระ ไม่จำกัดจำนวน ไม่ต้องเข้ารับเกณฑ์แรงงาน หรือต้องสังกัดเจ้านายเหมือนคนไทย สามารถทำการค้า ลงหลักปักฐานที่ใดก็ได้ และยังแต่งงานกับหญิงไทยได้ 

ในช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ชาวจีนได้อพยพเข้าไปลุ่มแม่น้ำท่าจีนมากขึ้น ส่วนใหญ่เข้าไปใช้แรงงาน พอมีทุนจึงซื้อของแลกเปลี่ยนเร่ขาย สะสมทุนเป็นพ่อค้าคนกลางแลกซื้อข้าว เป็นนายอากร เจ้าของโรงฝิ่น เจ้าของโรงสี  เจ้าของร้านค้าในตลาดเลียบลุ่มน้ำท่าจีน เช่น ตลาดสามชุก ตลาดเก้าห้อง  จังหวัดสุพรรณบุรี  ตลาดน้ำดอนหวาย จังหวัดนครปฐม”

รองศาสตราจารย์ ดร.ศิริเพ็ญ อึ้งสิทธิพูนพร อาจารย์ประจำหลักสูตรภาษาศาสตร์ของสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เปรียบให้เห็นภาพชัดๆ ว่า การอพยพของชาวจีนในลุ่มน้ำท่าจีนก็ไม่ต่างอะไรจากชาวจีนที่เยาวราช สำเพ็ง นั่นคือพวกเขานั่งเรือมาจากเมืองจีน บางคนเลือกตั้งถิ่นฐานที่กรุงเทพฯ แต่ก็มีไม่น้อยเลือกที่จะ  ไปต่อ พวกเขามีแม่น้ำเป็นเส้นทางหลักในการเดินทาง และลุ่มแม่น้ำท่าจีนก็คือหนึ่งในพื้นที่ซึ่งชาวจีนได้รวมตัวกันตั้งถิ่นฐานตลอดริมสองฝั่งแม่น้ำ

“มีบันทึกว่า ชาวจีนที่ทำกินริมแม่น้ำท่าจีนทำอาชีพหลากหลายตามความถนัด เช่น จีนแต้จิ๋วส่วนใหญ่มีชื่อเสียงด้านการค้าขายและธุรกิจ ก็จะทำการค้า ขายของ ทำตลาด จีนฮกเกี้ยนมีความเชี่ยวชาญด้านการเกษตร และการประมง  จีนกวางตุ้งเชี่ยวชาญในธุรกิจการเงินและการธนาคาร การทำอาหาร จีนแคะ หรือจีนฮากกา ก็จะถนัดเรื่องเพาะปลูก ทำเกษตรและงานฝีมือ เช่น ช่างทำรองเท้า ช่างตัดเสื้อ ช่างกลึง ทำรางน้ำ 

กลุ่มคนจีนที่ว่านี้แต่ละกลุ่มจะมีภาษาเฉพาะของตัวเอง แต่ด้วยความที่คนจีนแต้จิ๋วมีจำนวนมากที่สุด ภาษาที่ใช้  เป็นส่วนใหญ่จึงเป็นภาษาจีนแต้จิ๋ว”

ราว 70 ปีที่แล้ว วิถีชีวิตของคนจีนริมน้ำต้องพึ่งพาแม่น้ำลำคลองเป็นเส้นทางสัญจรหลัก แต่เมื่อมีการตัดถนนตั้งแต่ ราว พ.ศ. 2500 เป็นต้นมา การเดินทางก็เปลี่ยนจากเรือมาเป็นรถยนต์มากขึ้น ขบวนแห่เทพเจ้าก็เช่นกัน
ศาสตร์การแพทย์แผนจีนที่ใช้สมุนไพรปรุงตำรับยาเพื่อบรรเทาอาการ รักษาโรค และบำรุงร่างกาย เป็นอีกศาสตร์ความรู้สำคัญที่คนจีนโพ้นทะเลนำติดตัวมา และถ่ายทอดแก่ลูกหลานสืบต่อมาจนปัจจุบัน

ลูกหลานชาวจีนริมน้ำในวันนี้

วิมล เอี่ยวพัฒนพงศ์ ประธานชุมชนตำบลบางกระทึก อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม ชาวจีนโพ้นทะเลรุ่นที่สาม จะอายุครบ 68 ในปีนี้ ชื่อเดิมคือ ชุงลั้ง แซ่เอี๊ยว ครอบครัวของเธอเดินทางมาไทยตั้งแต่รุ่นอากง เธออาศัยในชุมชนตลาดดอนหวายตั้งแต่เกิด เท่าที่จำความได้ ตลาดน้ำดอนหวายเมื่อ 60 ปีก่อน คือป่าหวายใกล้แม่น้ำ มีคนจีนอาศัยเป็นกลุ่มก้อน  และในยุคนั้นใช้ภาษาจีนเป็นภาษาหลักในการสื่อสาร 

“เราเป็นจีนแต้จิ๋ว อยู่บ้านเตี่ยก็จะพูดจีนผสมไทย แต่ตอนคนรุ่นอากงยังอยู่ ถ้ามาตลาดก็จะพูดจีนตลอด พอรุ่นเตี่ยก็จะน้อยลงไปบ้างเพราะเริ่มส่งลูกเข้าเรียนโรงเรียนไทยแล้ว เราเองก็พอฟังได้ พูดคำง่ายๆ ได้ เพราะเรียนโรงเรียนไทยจนจบ ม.ศ.3  จากนั้นก็ออกมาช่วยที่บ้านขายยาจีนที่มีคนล่องเรือมาส่งจากกรุงเทพฯ แต่ก็เลิกไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ลูกหลานก็ไม่ได้ทำต่อ”

บำราศ บัญชรมาศพรรณ อายุ 69 ปี เจ้าของร้านเป็ดพะโล้นายหนับ ตลาดน้ำดอนหวาย ตอบคำถามของผมแทบจะทันทีว่า “บรรพบุรุษเรามาจากซัวเถา ซึ่งเป็นพื้นที่หนึ่งในเมืองแต้จิ๋ว มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน เราอยู่ในชุมชนนี้ตั้งแต่เกิด ก่อนหน้านี้ครอบครัวใช้ภาษาจีนสื่อสารทั้งหมด กระทั่งถึงรุ่นตัวเองถึงได้เรียนภาษาไทย เพราะมีลูกค้าส่วนใหญ่เป็นคนไทย การใช้ภาษาจีนจึงค่อยๆ ลดน้อยถอยลง”

หากตลาดน้ำดอนหวายคือโรงละคร แผงค้าอันแสนคึกคัก และการสนทนาโหวกเหวกตามแบบฉบับบรรยากาศในตลาดก็น่าจะเป็นฉากหลัก มีพ่อค้าแม่ขายและคนซื้อเป็นนักแสดงนำ ขณะที่ท่าเรือหลังตลาดก็น่าจะเป็นที่นั่งของคนทำงานเบื้องหลังที่คอยกำกับความเป็นไปของละครโรงนี้ 

แม้เวลาจะเลยผ่านนับหลายสิบปี ตลาดน้ำดอนหวายทุกวันนี้ยังตั้งบนพิกัดเดิมไม่ต่างจากอดีต และประเพณีดั้งเดิมของคนจีนในชุมชนตลาดยังถูกสืบต่อ “ไม่เคยขาด” ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลบ๊ะจ่าง เชงเม้ง สารทจีน การไหว้เจ้าแม่เซ่งเนี้ย 

สิ่งที่เปลี่ยนไปน่าจะเป็นวงล้อของกาลเวลาค่อยๆ พาคนรุ่นอากง-รุ่นเตี่ยจากไป โดยหมุนคนรุ่นลูกรุ่นหลานเข้ามาแทนที่ บางส่วนไม่ลังเลที่จะสานต่อสิ่งที่บรรพบุรุษทำกันมา แต่ก็มีไม่น้อยที่ยังลังเลว่า จะเอาอย่างไรต่อ เมื่อต่างก็มีเป้าหมายต่างออกไป

“ลูกไปเรียนที่กรุงเทพฯ จบมาก็ทำงานบริษัท ลูกคนเล็กเรียนเมืองนอก ตอนนี้เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยแล้ว คงไม่ถนัดค้าขายแบบนี้” เจ้าของร้านค้าคนหนึ่งในตลาดดอนหวายบอกผม พลางชี้ไปที่รูปถ่ายหมู่ของคนในครอบครัว

อนาคตของชาวจีนริมน้ำ

ที่ริมแม่น้ำท่าจีน ปรีชา รักซ้อน ศิลปินชาวสุพรรณบุรี เจ้าของแกลเลอรีจากอาคารโรงสี “1984+1” แนะนำให้ผมแวะไปหอชมเมืองสุพรรณบุรี  เพราะที่แห่งนั้นน่าจะทำให้ผมเห็นภาพรวมของเมืองได้กว้างขึ้น

เหมือนกับหลายๆ เมืองที่มีแหล่งท่องเที่ยว พวกเขามักสร้างอาคารสูงไว้ชมทัศนียภาพจากมุมสูงอย่างรอบด้าน ด้านหนึ่งผมมองเห็นอุทยานมังกรสวรรค์ และพิพิธภัณฑ์ลูกหลานพันธุ์มังกร แลนด์มาร์กขนาดใหญ่ที่สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองความสัมพันธ์ไทย-จีนครบ 20 ปี เมื่อ พ.ศ. 2539  ขณะที่ใกล้ๆ กันมีศาลเจ้าพ่อหลักเมืองในวิหารเก๋งจีน 

ส่วนอีกด้าน ผมมองเห็นวัดและอาคารทรงไทยกระจายตัวสลับอาคารบ้านเรือนทั้งเก่าและใหม่ โดยแม่น้ำท่าจีนแทรกตัวไหลผ่านเมืองจากด้านหนึ่งสู่อีกด้าน คล้ายตรอกซอยที่ไม่ใหญ่ไม่เล็ก ทำหน้าที่เชื่อมการไปมาหาสู่ของคนทั้งสองฝั่งอย่างไม่เคยบกพร่องมานานนับร้อยปี

แกลเลอรี่ 1984+1 ของปรีชา เดิมก็คือโรงสีบูรณะกิจอยู่ติดแม่น้ำท่าจีนเช่นกัน เขาเดินนำผมไปที่อาคารโรงไม้อายุไม่น้อยกว่า 70 ปี พร้อมที่เล่าให้ฟังว่า 

“คนแถวนี้เรียกโรงสีครอบครัวผมว่า โรงสีกุฎีทองเพราะอยู่ใกล้วัดกุฎีทอง เกิดมาก็มีโรงสีนี้แล้ว บ้านอยู่ที่นี่ พ่อแม่ก็ทำงานที่นี่ ส่วนผมก็เล่นกับลูกคนงานไทยบ้าง จีนบ้าง แต่เรายังเด็กก็ไม่ได้สนใจอะไร”

ปีนี้ปรีชาอายุ 40 ปี  เขาคือศิลปินผู้พยายามเปลี่ยนโรงสีเก่าให้เป็นที่แสดงงานศิลปะ แม้ทุกวันนี้ กลุ่มอาคาร ปล่องควัน และอุปกรณ์แปรรูปข้าวเปลือกขนาดยักษ์ยังคงตั้งตระหง่าน แต่เขาก็ตัดสินใจยุติกิจการโรงสีแห่งนี้แล้ว และปล่อยพื้นที่ให้คนอื่นเช่าแทน 

“ปู่วางให้พ่อเข้ามาช่วยทำงานในโรงสีตั้งแต่พ่อยังเรียนอยู่ ม.3 จนจบ ม.6 และพ่อก็ไม่ได้เรียนต่อ แต่พอถึงรุ่นผม พ่อไม่ได้บังคับว่าต้องทำ อีกอย่างพี่ชายผมเขาก็สนใจเรื่องนี้ และทำโรงสีของตัวเองด้วย มันเลยคล้ายมีตัวแทนครอบครัวที่ทำกิจการนี้แล้ว 

ปรีชาจบการศึกษาจากคณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เคยทำงานในนิตยสารฉบับหนึ่งที่กรุงเทพฯ ก่อนจะกลับสุพรรณฯ เมื่อสิบปีก่อน ถึงตรงนี้ผมคิดว่า การศึกษาน่าจะเป็นปัจจัยแรกๆ ที่ทำให้ความเป็นจีนในแต่ละครอบครัวต่างไปจากเดิม รวมทั้งมีความสนใจที่แตกต่างจากคนรุ่นพ่อแม่

“ถ้ามองย้อนกลับไป แค่การเรียนอย่างเดียวคงไม่พอที่จะทำให้พ่อมอบอิสระให้กับผมได้ขนาดนี้ ผมคิดว่าคือการ ที่ผมเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่ตัวเองเลือก ซื่อสัตย์ตรงไปตรงมากับสิ่งที่ทำอย่างที่พ่อสอน ยึดมั่นทำแบบที่คนรุ่นปู่รุ่นพ่อทำ เพียงแต่สิ่งที่ผมเลือก ไม่ได้เป็นสิ่งเดียวกับที่บรรพบุรุษทำมาก่อน”

ครูฝึกสอนจากมหาวิทยาลัยในมณฑลกุ้ยโจว ประเทศจีน ถ่ายภาพคู่กับผนังกระเบื้องขนาดใหญ่ที่โรงเรียนเจี้ยนหัว จังหวัดนครปฐม ผนังนี้แสดงทั้งแผนที่และเพลงชาติจีน สอดคล้องกับความตั้งใจในการถ่ายทอดวัฒนธรรมจีนแก่เยาวชนในท้องถิ่น

ความเป็นจีนของคนในละแวกนี้เปลี่ยนไปอย่างไร? อย่างแรกผมคิดถึงคำบอกเล่าของลูกหลานคนจีนโพ้นทะเลในย่านตลาดเก่า ซึ่งพวกเขาบอกว่า ลูกหลานชาวจีนปัจจุบันมีไม่น้อยที่ไม่สืบทอดกิจการต่อ และบางส่วนย้ายถิ่นฐานไปเกือบหมด คำตอบส่วนหนึ่งที่ได้เป็นเพราะการเจริญเติบโตของเมือง ทำให้สภาพชุมชนจีนดั้งเดิมเริ่มไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตปัจจุบันอีกต่อไป  เช่น ต้องการลดความเสี่ยงจากการอาศัยใกล้แม่น้ำที่น้ำมักหนุนสูงเข้าบ้าน ต้องการที่อยู่อาศัยที่เดินทางเข้าออกง่าย จอดรถยนต์ได้ง่ายกว่า หรือตั้งอยู่ใกล้แหล่งงาน และโรงเรียน เป็นต้น 

วิถีทำมาหากินที่สืบทอดกิจการต่อมาก็จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับยุคสมัย ตัวอย่างเห็นได้ชัดจาก   “ธุรกิจโต๊ะจีน” 

ประพฤติ อรรฆธน ประธานชมรมธุรกิจโต๊ะจีนจังหวัดนครปฐม บอกว่า ทุกวันนี้ ธุรกิจจัดเลี้ยงโต๊ะจีนแพร่หลายมากขึ้น และไม่ได้จำกัดเฉพาะคนจีน หรือคนไทยเชื้อสายจีนอีกต่อไป 

จากเดิมที่อาหารบนโต๊ะจีนเป็นอาหารจีนล้วนๆ จำนวนอาหารและชนิดอาหารต้องสื่อถึงความเป็นมงคล เช่น เมนูปลาสื่อถึงความอุดมสมบูรณ์ เส้นบะหมี่หรือก๋วยเตี๋ยวสื่อถึงอายุที่ยืนยาว ปัจจุบัน ผู้ประกอบการโต๊ะจีนบางร้านก็ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับรูปแบบการกินอาหารและรสชาติที่ถูกปากคนไทยมากขึ้น เช่น เสิร์ฟข้าวผัดแทนบะหมี่ เสิร์ฟต้มยำแทนที่ซุปน้ำข้น เสิร์ฟผลไม้แทนของหวาน

จากการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพสู่ความเปลี่ยนแปลงในเรื่องวิธีคิด เรื่องที่เด่นชัดที่สุดคือ แนวคิดการทำธุรกิจแบบ “กงสี” ที่ดำเนินการโดยสมาชิกในครอบครัว ชาวจีนรุ่นใหม่จำนวนน้อยปรับตัวไปสู่การบริหารงานแบบ Family Holding Company หมายถึง บริษัทครอบครัวที่จัดตั้งขึ้นภายใต้หลักกฎหมายหุ้นส่วนและบริษัท 

หากจะกล่าวว่า ธุรกิจกงสีแบบดั้งเดิมปรับตัวไปสู่การเป็นธุรกิจครอบครัวแบบมืออาชีพก็ไม่ผิดนัก เพราะแนวทางนี้สร้างความเป็นธรรมมากกว่าการรวมอำนาจที่เถ้าแก่ การมี Family Holding จะกำหนดชัดถึงบทบาทในธุรกิจ ไม่จำกัดที่ใครคนใดคนหนึ่ง ทั้งยังเป็นสิทธิ์ของลูกหลานแต่ละคนที่จะวางแผนสืบทอดภายใต้สัดส่วนหุ้นของตัวเอง

ร้านค้าจำนวนไม่น้อยในตลาดสามชุก ตลาดเก่าแก่อายุกว่าร้อยปีในจังหวัดสุพรรณบุรี มีการปรับเปลี่ยนประเภทสินค้าที่จำหน่ายไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับแนวคิดการทำธุรกิจที่เปลี่ยนผ่านตามผู้สืบทอดกิจการจากรุ่นสู่รุ่น
สถาปัตยกรรมไทย-จีนภายในศาลเจ้าพ่อหลักเมืองจังหวัดสุพรรณบุรี สะท้อนถึงความภาคภูมิใจของชุมชนไทย-จีน ปัจจุบัน ลูกหลานชาวจีนจำนวนไม่น้อยมีบทบาทในแวดวงราชการและการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและระดับชาติ

ณ พื้นที่ลุ่มน้ำท่าจีน หากจะมีสิ่งใดที่กาลเวลายังไม่สามารถลบเลือนไปได้ ตั้งแต่จุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน สิ่งนั้น น่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ลึกเข้าไปมากกว่าวิถีความเป็นอยู่ นั่นคือความรัก-ความศรัทธา

จักกาคม ลูกหลานชาวจีนโพ้นทะเล เชื่อมั่นและศรัทธามาตลอดว่า หน้าที่ผู้จัดการโรงเจเปาเก็งเต๊งงิ้วรายที่สืบทอดตั้งแต่รุ่นเหล่ากงจนถึงตัวเองเป็นรุ่นที่สี่ คือโชคชะตาในฐานะลูกหลานชาวจีนคนหนึ่ง

 “ความเชื่อที่เข้มข้นก่อให้เกิดศรัทธา และศรัทธาทำให้เกิดความศักดิ์สิทธิ์ ผมเชื่อว่าความศักดิ์สิทธิ์และความห่วงใยขององค์เทพเจ้าจะยังคงอยู่กับลูกหลานตลอดไป ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน”

ชาวจีนในลุ่มน้ำนี้คงไม่ต่างจากชุมชนอื่นๆ ที่มีการเปลี่ยนแปลงจากรุ่นสู่รุ่น และทุกๆคนต่างมีหน้าที่นำพาตัวเอง และสมาชิกในครอบครัวให้ประสบความสำเร็จ จากกรรมกรและเกษตรกรในรุ่นแรก ผลิดอกออกผลสู่การเป็นผู้ประกอบการ นักธุรกิจ เปลี่ยนคนจีนโพ้นทะเลสู่คนไทยเชื้อสายจีน เป็นพลเมืองโลก และกระจายไปตามที่ต่างๆ

“ที่แห่งนี้ (แม่น้ำท่าจีน) คือ รากเหง้าของเรา โรงเจหรือศาลเจ้า คือหนึ่งในรากที่บอกว่า เราคือใคร บรรพบุรุษของเรามาจากไหน มีเป้าหมายที่จะแสดงความกตัญญู หรือตอบแทนแผ่นดินบรรพบุรุษอย่างไร หากวันนี้ ลูกหลานจะต้องจากบ้านไปทำงานต่างประเทศ ต้องเรียนภาษาอังกฤษให้ชำนาญแทนภาษาจีน ไปมุ่งหาความสำเร็จยังที่ต่างๆ 

“เมื่อวิถีปัจจุบันเป็นเช่นนี้ ผมเชื่อว่า อากง อาม่า ท่านเข้าใจ แต่เมื่อใดที่ลูกหลานมองกลับมา เขาจะรู้ว่า รากของเขาอยู่ตรงไหน ซึ่งโรงเจหรือศาลเจ้าจะทำหน้าที่นั้น นั่นคือรอให้ใครสักคนมองกลับมา แล้วเห็นว่ารากฐานในชีวิตเกิดขึ้น ณ ที่แห่งใด”

โรงสีข้าวริมฝั่งแม่น้ำหลายแห่งจำต้องปิดตัวลง เมื่อระบบขนส่งทางถนนเข้ามาแทนที่ “1984+1” เป็นหนึ่งในโรงสีข้าวดั้งเดิม ในจังหวัดสุพรรณบุรีที่ได้รับการแปลงโฉมเป็นแกลเลอรี เพื่อบอกเล่าเรื่องราวริมแม่น้ำท่าจีนผ่านงานศิลปะ
ท่าเรืองิ้วรายที่ในอดีตเคยคึกคักไปด้วยการขนส่งสินค้า พ่อค้าแม่ค้า และเกษตรกร ทุกวันนี้กลับเงียบเหงาเหลือเพียง คนรุ่นเก่าที่ยังอาศัยอยู่ในชุมชน ขณะที่ลูกหลานส่วนใหญ่ตัดสินใจย้ายไปอาศัยและทำงานในเมืองเพราะสะดวกสบายมากกว่า

จากปลายฤดูหนาวต้นเดือนกุมภาพันธ์ ถึงฤดูร้อนตอนสิ้นเดือนเมษายน 2568 ที่ได้สำรวจชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน เป็นช่วงเวลาของเทศกาลวันเช็งเม้ง หรือประเพณีไหว้บรรพบุรุษของชาวจีนพอดี ผมพบเจอคนรุ่นอายุ 40-55 ปีจำนวน        ไม่น้อย ซึ่งถือได้ว่าเป็นคนรุ่นกลางที่ทันสัมผัสกลิ่นอายความเป็นจีนโพ้นทะเลจากคนรุ่นอากงอาม่า ขณะเดียวกันก็มีโอกาสอบรมสั่งสอนสมาชิกใหม่ในครอบครัวรุ่นที่ความเป็นจีนลดน้อยถอยลงไป ตามการเปลี่ยนผ่านของรุ่นคน 

คำถามที่พวกเขามักได้ยินจากบรรดาลูกหลานเชื้อสายจีนรุ่นใหม่ นั่นคือ “เราไหว้รูปเหล่ากงเหล่าม่าอยู่กับบ้านได้ไหม ทำไมต้องนั่งรถไปไหว้ไกลๆ”

เรื่อง อรรถภูมิ อองกุลนะ   

ภาพถ่าย ปิติวัฒน์ อังวัฒนพานิช


อ่านเพิ่มเติม : เสียงกลองและศรัทธา มองพลังวัฒนธรรมเคิร์ดผ่านพิธีกรรมอายุพันปี

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.