ในหมู่บ้านฉุ่ยเฉวียนโกว ชาวบ้านแทบไม่ปริปากถึงคนตาย และไม่อาลัยอาวรณ์ เมื่อผมถามถึงวันคืนเก่าๆ ชาวบ้านจะบอกว่า “ที่นี่ลำบากยากแค้นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร” แล้วก็ปิดปากเงียบไปเสียเฉยๆ กำแพงเมืองจีนตั้งตระหง่านอยู่ไม่ห่างออกไป กระนั้น ซากปรักหักพังอันน่าตื่นตาตื่นใจเหล่านี้กลับไม่มีใครสนใจไยดี เมื่อปี 2001 ผมไปเช่าบ้านอยู่ในหมู่บ้านแห่งนี้ เหตุผลหนึ่งเพราะผมอยากรู้เรื่องประวัติศาสตร์ท้องถิ่น แต่ในไม่ช้าผมก็ตระหนักว่าอดีตกำลังกลายเป็นเพียงภาพอันเลือนราง ชาวบ้านที่นี่ก็ไม่ต่างจากชาวจีนรุ่นใหม่ที่สนใจอยู่แต่กับการแสวงหาโอกาสในปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นราคาพืชผลท้องถิ่นที่ถีบตัวสูงขึ้น หรือการเติบโตของโครงการก่อสร้างที่สร้างงานใหม่ๆในปักกิ่ง
แต่ละปีมีเพียงวันเดียวที่ชาวจีนหวนรำลึกถึงอดีต นั่นคือเทศกาลเช็งเม้งในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งมีการเฉลิมฉลองในหลากหลายรูปแบบตามท้องถิ่นต่างๆทั่วประเทศจีนมากว่าพันปีแล้ว ทว่าประเพณีเซ่นสรวงบูชาบรรพบุรุษมีมาช้านานกว่านั้น เมื่อกว่า 5,000 ปีก่อน หลายวัฒนธรรมในจีนตอนเหนือมีการสักการะผู้วายชนม์ด้วยพิธีกรรมที่มีระเบียบแบบแผนอันซับซ้อน ขนบธรรมเนียมเหล่านั้นยังคงเหลือเค้าลางให้เห็นอยู่บ้างในปัจจุบัน ช่วงปีแรกที่ผมพำนักในหมู่บ้านแห่งนี้ เมื่อถึงเทศกาลเช็งเม้ง ผมได้ติดตามเพื่อนบ้านไปทำพิธีเซ่นไหว้บรรพบุรุษของพวกเขาที่ฮวงซุ้ย
ประเพณีอนุญาตให้เฉพาะผู้ชายเท่านั้นที่สามารถประกอบพิธีได้ ทุกคนอยู่ในสกุลเว่ย์ ลูกหลานของสกุลนี้ราวสิบกว่าคนออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนรุ่งสาง หิ้วตะกร้าสานแบนๆกับแบกพลั่วมุ่งหน้าขึ้นเขาสูงชันด้านหลังหมู่บ้าน พวกเขาแทบไม่พูดคุยกันและไม่หยุดพักเลย หลังจากผ่านไป 20 นาที เราก็มาถึงสุสานประจำหมู่บ้านซึ่งตั้งอยู่บนยอดเขา มีมูนดินเรียงเป็นแถวอย่างเป็นระเบียบ แต่ละแถวบ่งบอกถึงคนแต่ละรุ่น พวกผู้ชายลงมือทำงานตรงแถวด้านหน้า โดยทำความสะอาดฮวงซุ้ยของญาติผู้ใหญ่ที่เพิ่งเสียชีวิตได้ไม่นาน ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่หรือลุงป้าน้าอา พวกเขาจัดแจงถางหญ้า โกยดินขึ้นมาพอกหลุม จัดวางเครื่องเซ่นไหว้อย่างเหล้าและบุหรี่ จากนั้นจึงเผาแบงก์กงเต๊กให้บรรพบุรุษเอาไปใช้ในปรโลก ธนบัตรพิมพ์ลายน้ำอ่านได้ความว่า “บริษัทธนาคารแห่งสวรรค์ จำกัด”
ชาวบ้านแต่ละคนจะให้ความสำคัญกับญาติผู้ใหญ่ใกล้ชิดของตนเป็นพิเศษ พวกเขาจะทำความสะอาดเป็นลำดับไปทีละแถวจากพ่อไปถึงปู่และปู่ทวด ความที่แทบทุกหลุมไม่มีป้ายบอกชื่อ ยิ่งพวกเขาทำงาน “ย้อนเวลา” ขึ้นไปทีละแถวๆมากเท่าใด ก็ยิ่งไม่แน่ใจว่าใครเป็นใคร ในที่สุดก็กลายเป็นว่าทุกคนช่วยกันคนละไม้คนละมือในแต่ละหลุม โดยไม่มีใครรู้ว่าร่างที่ฝังอยู่นั้นเป็นใคร หลุมศพสุดท้ายแยกไปอยู่ต่างหาก เป็นตัวแทนของคนรุ่นเทียด (พ่อหรือแม่ของทวด) “เหล่าจู่” หรือบรรพบุรุษ (ฝ่ายชาย) ชาวบ้านคนหนึ่งบอก ไม่มีชื่อเรียกอื่นสำหรับบรรพบุรุษต้นตระกูล เรื่องราวของพวกเขาล้วนถูกลืมเลือนไปตามกาลเวลา
กว่าพวกเขาจะเสร็จงาน แสงอาทิตย์ก็เรืองรองขึ้นเบื้องหลังยอดเขาทางทิศตะวันออก ชายคนหนึ่งอธิบายว่า มูนดินแต่ละมูนเป็นตัวแทนนิวาสสถานของผู้วายชนม์ และประเพณีท้องถิ่นกำหนดให้พวกเขาต้องประกอบพิธีเช็งเม้งให้เสร็จสิ้นก่อนฟ้าสาง เขาบอกว่า “ถ้าเราโกยดินกลบฮวงซุ้ยได้ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น ญาติในปรโลกจะมีบ้านหลังคามุงกระเบื้อง แต่ถ้าทำไม่ทัน พวกเขาคงได้แค่บ้านหลังคามุงจาก”
โลกทัศน์เรื่องความตายของชาวจีนนั้นน่าสนใจตรงที่เป็นการมองโลกในแง่ดี โลกนี้ไม่ใช่โลกที่บกพร่องร้ายแรง หากเป็นต้นแบบที่ดีพอสำหรับโลกหน้า
ชาวจีนมองชีวิตหลังความตายด้วยทรรศนะที่ชาวตะวันตกหลายคนเห็นว่าไม่ผิดแผกไปจากชีวิตบนโลก จีนสมัยโบราณมองโลกหน้าในเชิงปฏิบัตินิยม วัตถุนิยม กระทั่งมีลำดับชั้นทางสังคมเหมือนระบบราชการ ค่านิยมเหล่านี้สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนจากการค้นพบทางโบราณคดีในปัจจุบัน เมื่อมีการเปิดสุสานหลวง สิ่งที่มักพบเห็นก็คือการจัดระเบียบอย่างละเอียดถี่ถ้วนตามหมู่เหล่าและทรัพย์สมบัติมหาศาล
จนกระทั่งสมัยราชวงศ์ชางซึ่งรุ่งเรืองขึ้นทางตอนเหนือของจีนเมื่อราว 1600 ถึง 1045 ปีก่อนคริสตกาล เราจึงพบหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรว่าผู้คนในยุคนั้นมองชีวิตหลังความตายอย่างไร อักษรจีนเก่าแก่ที่สุดเท่าที่รู้จักกันจารึกไว้บนกระดูกเสี่ยงทายที่ทำจากกระดูกสะบักวัวและกระดองเต่า ซึ่งใช้ประกอบพิธีในราชสำนัก กระดูกเหล่านี้ถูกเผาให้แตกลายเพื่ออ่านทำนายโชคชะตา และเป็นวิธีติดต่อกับโลกที่มองไม่เห็น รวมทั้งเป็นการส่งข่าวไปยังบรรพบุรุษของสมาชิกราชวงศ์
เชื่อกันว่าผู้วายชนม์มีอำนาจมหาศาลต่อเหตุการณ์ประจำวันที่เกิดขึ้น บรรพบุรุษที่ไม่เป็นสุขสามารถบันดาลให้คนเป็นเจ็บป่วยหรือประสบเคราะห์กรรมได้ กระดูกเสี่ยงทายหลายชิ้นบ่งบอกว่ามีการบูชายัญมนุษย์เพื่อเอาใจวิญญาณไร้สุขเหล่านี้ ที่สุสานขนาดใหญ่แห่งหนึ่งในมณฑลเหอหนาน มีการขุดพบหลุมบูชายัญกว่า 1,200 หลุม ซึ่งส่วนใหญ่บรรจุยัญพลีที่เป็นมนุษย์ นักโบราณคดีคนหนึ่งเคยบอกผมว่า เขานับวิธีสังหารในพิธีกรรมบูชายัญสมัยราชวงศ์ชางได้ถึง 60 วิธี แต่เขาก็เตือนให้ผมระลึกไว้ด้วยว่า วิธีการเหล่านี้เป็นเรื่องของพิธีกรรม ไม่ใช่ฆาตกรรมหรือทารุณกรรม โลกทัศน์สมัยราชวงศ์ชางมองการบูชายัญมนุษย์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของระบบพิธีกรรมที่มีการจัดการอย่างเป็นระบบ
ส่วนคนตายนั้นเล่าก็ถูกครอบงำโดยกลไกทางสังคมอันใหญ่โตที่ไม่ต่างจากระบบราชการ พระนามที่ใช้เรียกจะเปลี่ยนไปหลังสิ้นพระชนม์เพื่อบ่งบอกสถานะใหม่ จุดประสงค์ของการบูชาบรรพบุรุษไม่ใช่เพื่อรำลึกถึงผู้วายชนม์เมื่อครั้งยังมีชีวิตอยู่ หากเป็นเรื่องของการเอาอกเอาใจคนตายผู้มีหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายอย่างชัดเจน
หลังจากราชวงศ์ชางล่มสลายเมื่อ 1045 ปีก่อนคริสตกาล ประเพณีการพยากรณ์ด้วยกระดูกเสี่ยงทายยังคงใช้สืบต่อมาในสมัยราชวงศ์โจวที่ปกครองจีนภาคเหนือจนกระทั่งศตวรรษที่สามก่อนคริสตกาล แต่การบูชายัญด้วยมนุษย์นั้นพบเห็นน้อยลงเรื่อยๆ และสุสานหลวงเริ่มใช้ หมิงชี่ หรือเครื่องเซ่นกำมะลอแทนข้าวของเครื่องใช้จริง เช่นเดียวกับตุ๊กตาดินเผาที่กลายเป็นตัวแทนของคนจริงๆ ตัวอย่างที่โด่งดังที่สุดคือสุสานทหารดินเผาซึ่งจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีนผู้ทรงรวบรวมประเทศให้เป็นปึกแผ่นเมื่อ 221 ปีก่อนคริสตกาล มีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น กองทัพที่ประกอบด้วยรูปปั้นทหารขนาดเท่าคนจริงจำนวนประมาณ 8,000 รูปนี้สร้างขึ้นเพื่อให้ติดตามไปรับใช้องค์จักรพรรดิในโลกหน้า
สุสานทหารดินเผาซึ่งจิ๋นซีฮ่องเต้ จักรพรรดิองค์แรกของจีนมีพระบรมราชโองการให้สร้างขึ้น ประกอบด้วยรูปปั้นทหารขนาดเท่าคนจริงจำนวนประมาณ 8,000 รูป สร้างขึ้นเพื่อให้ติดตามไปรับใช้องค์จักรพรรดิในโลกหน้า
ราชวงศ์ถัดมาคือราชวงศ์ฮั่น ได้ทิ้งมรดกไว้เป็นเครื่องเซ่นสังเวยซึ่งสำแดงแสนยานุภาพน้อยกว่า สุสานของจักรพรรดิฮั่นจิ่งตี้ซึ่งครองราชย์ระหว่าง 157 ถึง 141 ปีก่อนคริสตกาล บรรจุเครื่องเซ่นมากมายมหาศาลที่สะท้อนให้เห็นความจำเป็นในชีวิตประจำวัน เช่น รูปปั้นจำลองของหมู แกะ สุนัข รถม้า พลั่ว เลื่อย ขวานถากไม้ สิ่ว เตาไฟ และเครื่องชั่งตวงวัด ไม่เว้นแม้กระทั่งสัญลักษณ์ประจำตำแหน่งหรือตราประทับไว้ให้เหล่าอำมาตย์ในโลกหน้าได้ใช้งาน
ในวัฒนธรรมที่รุ่มรวยและเก่าแก่อย่างจีน ความต่อเนื่องเชื่อมโยงจากอดีตสู่ปัจจุบันนั้นไม่เคยเป็นเส้นตรง อีกทั้งอิทธิพลจากภายนอกนับไม่ถ้วนล้วนมีส่วนหล่อหลอมและเปลี่ยนแปลงโลกทัศน์เกี่ยวกับชีวิตหลังความตายของชาวจีน เมธีลัทธิเต๋าบางคนไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตาย ขณะที่พุทธศาสนาซึ่งเริ่มมีอิทธิพลต่อความคิดของชาวจีนมาตั้งแต่ศตวรรษที่สองได้นำแนวคิดเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดเข้ามาเผยแพร่ ส่วนความคิดเรื่องวิบากกรรมและชีวิตนิรันดร์ก็ซึมผ่านเข้ามาทางพุทธศาสนาและคริสต์ศาสนาเช่นกัน
กระนั้น อิทธิพลหรือร่องรอยหลายอย่างจากวัฒนธรรมยุคต้น เช่น ราชวงศ์ชางและราชวงศ์โจว ยังปรากฏให้เห็นตลอดระยะเวลาหลายพันปีที่ผ่านมา ชาวจีนยังคงบูชาบรรพบุรุษและจินตนาการถึงชีวิตหลังความตายในเชิงวัตถุนิยมและระบบชนชั้น ประสบการณ์เฉียดตายก่อให้เกิดตำนานยอดนิยมเรื่องเสมียนปลายแถวในปรโลกลงรายชื่อในบัญชีผู้วายชนม์ผิดพลาด จนเกือบเป็นสาเหตุของการตายก่อนเวลาอันควร หากไม่มีผู้พบความผิดพลาดเข้า
เดวิด ไคต์ลีย์ นักประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในเบิร์กลีย์ บอกผมว่า โลกทัศน์เรื่องความตายของชาวจีนนั้นน่าสนใจตรงที่เป็นการมองโลกในแง่ดี โลกนี้ไม่ใช่โลกที่บกพร่องร้ายแรง หากเป็นต้นแบบที่ดีพอสำหรับโลกหน้า เขากล่าวต่อว่า “ในตะวันตก ทุกอย่างเป็นเรื่องของการเกิดใหม่ การไถ่บาป และการช่วยให้รอด แต่ในประเพณีจีน พอตายไปแล้ว คุณก็ยังเป็นเหมือนที่เป็นอยู่นี่ละครับ”
ไคต์ลีย์เชื่อว่าโลกทัศน์แบบนี้สร้างเสถียรภาพให้สังคมจีน เขาบอกว่า “วัฒนธรรมที่มีการบูชาบรรพบุรุษย่อมเป็นวัฒนธรรมแบบอนุรักษนิยม เราจะไม่ชอบสิ่งใหม่ๆ เพราะนั่นเท่ากับเป็นการท้าทายบรรพบุรุษ”
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในประเทศจีนทุกวันนี้ ไม่มีอะไรที่เรียกว่าอนุรักษนิยมได้เลย แถมยังไม่ดูดำดูดีกับคนตายเสียด้วย บ่อยครั้งที่สุสานต้องหลีกทางให้โครงการก่อสร้างใหม่ๆ และชาวจีนชนบทจำนวนมากก็อพยพเข้ามาอยู่ในเมือง ทำให้ไม่สามารถกลับบ้านในช่วงเทศกาลเช็งเม้งได้ บางคนพยายามดูแลฮวงซุ้ยด้วยวิธีอื่น เช่น มีเว็บไซต์ให้ลูกหลานเข้าไปดูแล “ฮวงซุ้ยเสมือนจริง” แต่ในประเทศที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วเช่นนี้ การนึกถึงอดีตดูจะเป็นเรื่องยากเต็มที และขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างก็ค่อยๆสูญหายไป
เรื่อง ปีเตอร์ เฮสเลอร์ • ภาพถ่าย ไอรา บล็อก
อ่านเพิ่มเติม