“เมื่อคนไม่ทิ้งบ้าน ย่านก็ไม่ร้าง” ความหวังเล็กๆ ที่พยายามรักษาคนและย่าน “ตลาดน้อย” ไว้ด้วยกัน

“ในวันที่หลาย ๆ ย่านของกรุงเทพเดินทางมาถึง “จุดเปลี่ยนผ่าน”

ไม่ว่าจะการมาถึงของรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน ทางพิเศษ คอนโดมีเนียม

ห้างสรรพสินค้า คอมมูนิตี้มอลล์ แม้กระทั่งการสร้างสวนสาธารณะ

เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ให้คนเมือง”

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้นอกจากจะทำให้สภาพกายภาพของพื้นที่ หรือย่านเปลี่ยนไปจากเดิมแล้ว ยังมักจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของผู้คนในพื้นที่ หรือย่านตามมาด้วย ไม่ว่าจะคนเดิมย้ายออกไป หรือคนใหม่ๆ ย้ายเข้ามา

“ตลาดน้อย” เป็นอีกย่านหนึ่งในกรุงเทพที่สุ่มเสี่ยงต่อการเปลี่ยนผ่านที่ว่า เพราะมีปัจจัยเชื้อเชิญหลายอย่างประกอบกัน ไม่ว่าจะด้วยทำเลที่พื้นที่ด้านหนึ่งอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พื้นที่อีกด้านเชื่อมต่อย่านเยาวราช หรือไชน่าทาวน์ และใช้เวลาเดินทางไม่ถึง 10 นาทีก็ถึงสถานนีรถไฟใต้ดินหัวลำโพง หรือขับรถไม่ถึง 20 นาทีก็ถึงสยามแล้ว 

แม้ไม่รู้ว่า วันหนึ่งชุมชนแห่งนี้จะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใด แต่กลุ่มคนเล็กๆ ภายใต้ชื่อ “กลุ่มปั้นเมือง” ก็ตั้งใจจะรักษาความเป็นย่านและวิถีชีวิตตามแบบฉบับตลาดน้อยไว้ให้ได้มากที่สุด 

แลนด์มาร์กล่าสุดของตลาดน้อยที่ประกอบขึ้นจากอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์เก่า สะท้อนธุรกิจเซียงกงที่เคยรุ่งเรืองในอดีต

ย้อนอดีตตลาดน้อย

“เดี๋ยวขับตรงไปแล้วจอดก่อนถึงวงเวียนหุ่นยนต์สีเหลืองก็ได้ค่ะ” 

ฉันบอกคนขับแท็กซี่ เมื่อมองเห็นหุ่นยนต์บัมเบิลบี(Bumblebee) แลนด์มาร์กประจำตลาดน้อยที่ยืนตระหง่านอยู่หน้าวัดแม่พระลูกประคำ (กาลหว่าร์) จุดเด่นของหุ่นเหล็กตัวนี้ไม่ใช่เพียงการใช้อะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์เก่ามาประกอบเข้าด้วยกันเท่า นั้น แต่ทุกชิ้นส่วนที่ว่ายังช่วยสะท้อนให้เห็นภาพ “เซียงกง” ธุรกิจขึ้นชื่อของตลาดน้อยในอดีตได้เป็นอย่างดี 

“ผมเกิดและเติบโตที่ตลาดน้อย สมัยก่อนทุกๆ เช้าเราจะตื่นขึ้นมาพร้อมกับเสียงพูดคุยดังล้งเล้งๆ เหมือนคนทะเลาะกัน แต่จริงๆ แล้วก็แค่พูดคุยกันธรรมดา เสียงเรือใหญ่วิ่งผ่าน เสียงรถเครื่องวิ่งส่งของ เสียงตอกเหล็กโป๊กเป๊กๆ จากโรงเหล็กที่มีอยู่เกือบทุกตรอก เสียงคนงานเคาะแยกชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ออกจากกัน กลิ่นน้ำมันเครื่องเก่าลอยมาตามลม พื้นตรอกบางตรอกก็มีน้ำมันเครื่องหยดทับถมกันหนาเป็นนิ้วๆ ฝนตกทีก็ลื่นไปหมด” คำบอกเล่าของ คุณโจ – จุฤทธิ์ กังวานภูมิ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มปั้นเมืองที่เรามีนัดกันในวันนี้ ทำให้จินตนาการถึงภาพตลาดน้อยในอดีตได้ไม่ยาก

คุณโจ – จุฤทธิ์ กังวานภูมิ ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่มปั้นเมือง

“จะว่าไปสภาพแวดล้อมที่นี่ในอดีตก็ไม่ได้ดีเท่าไหร่หรอก ก่อนผมเกิดพื้นที่นี้โตมาจากการเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้ามาก่อน จาก นั้นก็เป็นเซียงกง ดังนั้นก็จะมีคนใช้แรงงานมาอยู่มาหางานทำกันที่นี่เยอะมากๆ รอบๆจะมีทั้งบ้านไม้ บ้านตึก เพิงสังกะสี ปลูกชิด ๆ ปะปนกันบนที่เช่า แต่ถ้าเป็นบ้านตึกดีๆ หรือบ้านไม้สวยๆ ก็จะเป็นที่มีเจ้าของ

“ต่อมาชุมชนของพวกเราก็ค่อยๆ พัฒนาขึ้น เพราะคนในก็เริ่มเติบโตขึ้น มีงาน มีเงิน บางคนมีกิจการ พวกบ้านไม้ก็ค่อยๆ หายไปหมด แล้วก็มีตึกแถว แฟลต ห้องเช่าขึ้นมาแทน แต่สักสามสิบกว่าปีก่อนก็ยังมีพวกติดยาอยู่ตามท่าน้ำ หรือบางมุมในชุมชน มันเลยทำให้ตอนเด็กๆ พ่อแม่ไม่ค่อยอยากให้เด็กออกไปเล่นแถวท่าน้ำ หรือไม่ก็กลัวลูกตกน้ำตาย 

ด้วยสภาพแวดล้อมประกอบกับการเป็นย่านเก่าที่ยากต่อการขยับขยายพื้นที่จึงทำให้ตลาดน้อยเริ่มไม่ตอบโจทย์คนบางกลุ่ม เช่นรุ่นคุณโจ ที่บางส่วนตัดสินใจย้ายออกไปอยู่ที่อื่น ที่กว้างขวางขึ้น สามารถจอดรถได้สะดวก พื้นที่สะอาด และดูปลอดภัยกว่า เช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจและค่านิยมทางวัฒนธรรมที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้หลายอาชีพดั้งเดิมในตลาดน้อยเริ่มไม่ตอบโจทย์ตลาด หลายคนจึงตัดสินใจเลิกกิจการ ย้ายออกไป หลายคนหันมาปรับเปลี่ยนอาชีพใหม่ คุณโจเสริมต่อว่า 

เหล่าคนงานในธุรกิจเซียงกงซึ่งปัจจุบันเหลือให้เห็นไม่กี่แห่ง กำลังแยกชิ้นส่วนอะไหล่อย่างแข็งขัน ท่ามกลางกลิ่นและคราบน้ำมันเครื่องเก่า ร่องรอยความรุ่งเรืองของเซียงกงในอดีต

“ยกตัวอย่าง ธุรกิจเซียงกงที่ระยะหลังๆ มีการผลิตอะไหล่และชิ้นส่วนรถยนต์ที่ราคาไม่แพงออกมาจำหน่ายมากขึ้น ของมือสองจึงได้รับความนิยมน้อยลง อาชีพตีเหล็ก ตีสมอเรือ สมัยก่อนที่นี่ขึ้นชื่อมาก มีโรงตีเหล็กมากมาย แต่ปัจจุบันตลาดน้อยก็เหลือช่างตีเหล็กอยู่แค่คนเดียวเพราะคนรุ่นใหม่ไม่มีใครทำงานนี้กันแล้ว อีกทั้งระบบอุตสาหกรรมก็ตอบโจทย์ลูกค้าได้รวดเร็วกว่า อาชีพทำธูป พับกระดาษไหว้เจ้าที่สมัยก่อนนิยมมาก แต่ถึงตอนนี้คนก็ไหว้เจ้าน้อยลงกว่าก่อน ไม่ว่าด้วยเหตุผลของกลิ่นอายวัฒนธรรมที่จางลง หรือปัญหาเรื่อง PM 2.5” 

แม้การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวคุณโจจะมองว่า “มันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป อยู่ที่มันตอบโจทย์ชีวิต หรือไม่ตอบโจทย์เท่านั้นเอง” แต่เขาเองก็อดกังวลไม่ได้ว่า หากวันหนึ่งมีอุกาบาตแห่งการเปลี่ยนแปลงลูกใหญ่ตกลงมาในย่านตลาดน้อย เหมือนที่เกิดกับย่านอื่นๆ ในกรุงเทพ จะเป็นอย่างไร 

บรรยากาศบางส่วนในตลาดน้อยที่ชี้ให้เห็นความแออัดของบ้านเรือน

“ด้วยปัจจุบันตลาดน้อยยังมีคนเก่าคนแก่อยู่มากถึง 60-70% พวกเราจึงตั้งใจทำกลไกบางอย่างเพื่อให้พื้นที่นี้เปลี่ยนแปลงตามที่ควรจะเป็น เพราะวันหนึ่งถ้าพื้นที่นี้จะเปลี่ยนไป อย่างน้อยๆ ก็อยากให้มาจากการตัดสินใจของคนในพื้นที่เองว่า เขาเลือกที่จะปามันทิ้งไป เลือกที่จะเปลี่ยนแปลงมันเอง หรือเลือกที่จะถือมันไว้เหมือนเดิม ดีกว่ามีคนจัดแจงเลือกให้เสร็จสรรพ” 

Mission การรักษาย่านต้องควบคู่ไปกับการรักษาคน

ถ้าเราสามารถลบทุกคนออกไปจากย่าน แล้วเอาผู้คนที่อื่นมาใส่ในย่านแทนเหมือนเล่นเกมส์  จริงอยู่ว่า ชื่อสถานที่ก็ยังคงเดิม ตำแหน่งในแผนที่ก็ยังคงเดิม แต่เชื่อว่า กิจกรรมในย่านของผู้คนที่เราเอามาใส่ใหม่นั้นอาจจะไม่เหมือนเดิมก็ได้ คุณโจจึงคิดว่า 

“กระบวนการอนุรักษ์พื้นที่ไม่ว่าย่านที่อยู่อาศัย การค้า ควรควบคู่ไปด้วยกันกับการรักษาคนเก่าแก่ในย่านไว้ นอกจากนี้เรายังต้องรักษาคนรุ่นลูกรุ่นหลานให้ยังอยู่ที่นี่ต่อไปให้มากขึ้น ยิ่งถ้าหากเราสามารถดึงคนที่ย้ายออกไปแล้ว ให้กลับเข้ามาได้ยิ่งดี”   

ซากรถยนต์เก่าซึ่งคงอยู่คู่ตลาดน้อยมานานปี ปัจจุบันกลายเป็นอีกแลนด์มาร์กเด่นที่นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่ต้องมา “เช็กอิน”

งานของกลุ่มปั้นเมืองจึงเริ่มด้วยการพบปะพูดคุยกับคนในย่าน เพื่อให้เห็นมิติหลายๆ อย่างที่ชุมชนมีร่วมกัน เช่น ความผูกพัน ความภาคภูมิใจ ตลอดจนปัญหา ก่อนจะนำไปสู่การวางแผนพัฒนาย่าน อย่างไรก็ตาม การจะขับเคลื่อนแต่ละโครงการให้สำเร็จนั้นจำเป็นต้องทำให้ชุมชนรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของ และการเห็นประโยชน์ที่มีร่วมกัน เพื่อนำมาสู่ความร่วมมือในที่สุด

“เราเริ่มจากการจับมือกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น  สำนักงานเขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพมหานคร กรมเจ้าท่า เพื่อปรับสภาพแวดล้อมให้น่าอยู่ สะอาด ปลอดภัย สะดวกสบาย สามารถอยู่อาศัยได้จริง เช่น สร้างพื้นที่กิจกรรมชุมชน ทำพื้นที่สีเขียว การจัดการเรื่องทางเท้า การจัดการเรื่องขยะ ไฟส่องสว่าง 

“จากนั้นก็สร้างกิจกรรมการเรียนรู้ในชุมชนด้วยการจัดนิทรรศการสะท้อนวัฒนธรรมท้องถิ่น ประเพณีในชุมชนที่ภาคภูมิใจ เช่น เทศกาลกินเจ หง่วนเซียว บะจ่าง ไหว้พระจันทร์ แล้วเชิญชวนให้คนในชุมชนมาถ่ายทอดความรู้ มาลงมือทำอะไรร่วมกัน เช่น มาไหว้ด้วยกัน มาทำด้วยกัน หรือมาจัดเวิร์คช็อปสอนคน

ส่วนหนึ่งของสตรีทอาร์ทในตลาดน้อย หลากสีสันหลากสไตล์ อีกตัวช่วยในการดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในย่าน

“พอทำกิจกรรมเหล่านี้ไปเรื่อยๆ คนเริ่มรู้จักตลาดน้อยมากขึ้น มันจะโยงใยไปกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นรวมทั้งการพัฒนากิจกรรมทางเศรษฐกิจเดิมให้ไปต่อได้ด้วย ถ้าเขาขายของได้ดีขึ้นก็จะช่วยรักษากิจการให้อยู่ต่อไปได้ ไม่จำเป็นต้องดิ้นรนออกไปทำงานที่อื่น และนั่นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยรักษาความดั้งเดิมทั้งคนทั้งย่านให้อยู่ต่อไปได้”

และเพื่อให้เห็นภาพกิจการเก่าแก่ในย่านตลาดน้อย คุณโจจึงพาฉันเดินไปยังร้านเหล่านั้นเพื่อให้เห็นภาพและเข้าใจจริงๆ  อย่างร้านแรกที่จะพาไปนั้นก็เกือบปิดกิจการมาหลายครั้ง แต่พอร้านเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้นก็ทำให้ขายดีขึ้น ลูกหลานก็มีกำลัง ใจที่จะสืบทอดรับช่วงร้านต่อไปจนวันนี้

ร้านขนมเปี๊ยะเฮียบเตียง เจ้าตำรับขนมหวานแบบจีนแห่งตลาดน้อย

เรามาถึงซอยเจริญกรุง 20 มีตึกแถวขนาดสองข้างทาง ช่วงกลางซอยเป็นที่ตั้งของร้านขนมเปี๊ยะโบราณอายุร้อยกว่าปีเป็นร้านเล็กๆ ขนาดเพียงหนึ่งคูหา ด้านบนมีป้ายสีแดงหม่นๆ เขียนด้วยภาษาไทยว่า “เฮียบเตียง” กำกับท้ายต่อด้วยภาษาจีนในชื่อเดียวกันที่เขียนด้วยสีทองทั้งหมด

ตู้กระจกเล็ก ๆ หน้าร้านเฮียบเตียงที่ยังคงทำหน้าที่ “โชว์” ขนมหวานแบบจีนหลากหลายชนิด เชิญชวนให้ผู้มาเยือนไม่พลาดที่จะซื้อกลับไปลิ้มลองความอร่อย

วันนี้ประตูเหล็กยืดของร้านยังคงปิดอยู่พร้อมป้ายแขวนว่า  “สนใจซื้อขนมติดต่อที่เบอร์ xxx-xxx-xxxx ” ฉันกดเบอร์ติดต่อทันที ระหว่างรอเจ้าของเบอร์ที่ว่ากลับมาที่ร้าน ป้ายเล็กๆ หน้าร้านก็บอกเล่าเรื่องราวของร้านให้รู้ว่า ร้านนี้ไม่ได้โดดเด่นแค่ขนมเปี๊ยะเท่านั้นแต่ยังเป็นเจ้าตำรับขนมหวานหลายชนิด ที่โด่งดังสุดเห็นจะเป็นขนมเจเปี๊ยะ ขนมเปี๊ยะชิ้นเล็กสีขาว ทอดจนแป้งด้านนอกกรอบฟูลงตัวกับไส้ถั่วเหลืองนุ่ม อิ่วก้วย ขนมหน้าตาคล้ายกะหรี่ปั๊บที่แป้งกรอบนอกนุ่นในกำลังดี 

เจ้ากิจการคนแรกคือ คุณทวดคาง้อ แซ่อึ้ง ซึ่งเดินทางมาจากจากเมืองจีน และเริ่มทำขนมขายตั้งแต่มีการตัดถนนเจริญกรุงขึ้น รุ่นต่อมาคือ อากงเอี่ยม แซ่ตั้ง ผู้เป็นเขย ได้สืบทอดกิจการ ปรับสูตรขนมจากสูตรแต้จิ๋วเป็นแบบฉบับของตัวเอง ปัจจุบันร้านเฮียบเตียงดำเนินกิจการโดยทายาทรุ่นที่ 4 ที่ตั้งใจอยากสืบทอดสูตรการทำขนมหวานแบบจีนของอากงไว้

ประตูเหล็กยืดของร้านก็เปิดออกก็เผยให้เห็นขนมเปี๊ยะและขนมหวานแบบจีนราว 5-6 ชนิดเรียงรายในตู้กระจก ผนังด้านข้างร้านเต็มไปด้วยกล่องกระดาษที่ยังมีดีไซน์แบบดั้งเดิมทำให้ร้านขนมแห่งนี้ดู “เก๋า” และมีเสน่ห์อย่างประหลาด พี่ผู้ชายวัยกลาง คน ทายาทรุ่นที่ 4 ไม่รีรอที่จะเช็ดมือด้วยผ้าสะอาด แล้วหยิบขนมขึ้นมาเรียงใส่กล่องทีละชิ้นๆ ตามแบบฉบับของร้านให้ดู พร้อมเล่าสั้น ๆ ว่า

“ทุกวันนี้เราทำขนมชนิดต่างๆ ตามออเดอร์ และทำเผื่ออีกนิดหน่อยพอให้วางขายหน้าร้านเท่านั้น ไม่ได้ขายออนไลน์ ที่เราทำไม่มากเพราะเราอยากขายให้หมดในเวลาไม่นาน ลูกค้าจะได้กินขนมที่สด ใหม่ และอร่อยตามแบบฉบับอากง”

ขนมหวานแบบจีนหลากหลายชนิดแข่งกันอวดโฉมในกล่องกระดาษทรงสี่เหลี่ยมของร้านที่มีดีไซน์เป็นเอกลักษณ์

ไม่มีใครรู้ว่า จะมีทายาทรุ่นที่ 5 สืบทอดกิจการต่อหรือไม่ เพราะเมื่อลองจินตนาการถึงงานเตรียมแป้ง นวดแป้ง กวนถั่ว ฟักเพื่อทำไส้ขนม ทอดขนม และอบขนม ดูจะไม่ใช่งานเบาๆ หรือง่ายๆ เลย หากวันหนึ่งที่ชื่อของเฮียบเตียงต้องหายไปจากตลาดน้อยจริงๆ ก็คงน่าใจหายไม่น้อย  

ร้านเบาะไหว้เจ้าเฮงเสง สินค้าแฮนด์เมดที่ทำด้วยใจ

คุณโจพาฉันเดินต่อไปยังท้ายซอยเจริญกรุง 20 เลี้ยวไปยังซอยวานิช 2 ผ่านตึกแถวที่มีกิจการการค้าหลายอย่างเคล้ากับกลิ่นน้ำมันเครื่องเก่าของเซียงกง และหนึ่งในนั้นมี “ร้านเฮงเส็ง” ตั้งอยู่ 

แม้ภายนอกร้านเล็กๆ นี้จะดูไม่ได้โดดเด่นอะไร แต่เมื่อก้าวเข้าไปภายในร้าน ฉันกลับพบว่าที่นี่เหมือนพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิตก็ไม่ผิดนัก นอกจากจากจะมีจักรเย็บผ้าโบราณ อุปกรณ์เย็บผ้า ตู้โชว์แบบโบราณที่มีหมอนสีสันสดใสวางเรียงรายอยู่หลายใบแล้ว ที่โดดเด่นกว่าใครก็ต้องป้ายสแตนดี้หญิงชราชาวจีนที่อยู่ในอิริยาบถกำลังเย็บเบาะใบเขื่องอยู่ 

พี่เจี๊ยบสาธิตการเย็บเบาะไหว้เจ้าขนาดใหญ่ให้ดู ปัจจุบันสินค้าทุกชิ้นในร้านเล็กๆ นี้ยังคง “ทำด้วยมือ” เกือบทุกขั้นตอน

พี่เจี๊ยบ –วิมล เหลืองอรุณ ทายาทรุ่นที่ 3 ต้อนรับฉันและคุณโจด้วยสีหน้ายิ้มแย้ม พร้อมกับเล่าให้ฟังว่า 

“ที่เห็นเย็บหมอนอยู่นั่นคือ อาม่าของพี่เอง ส่วนพี่เป็นรุ่นที่ 3 แล้ว รุ่นแรกเป็นอากงที่ลงเรือมาจากเมืองจีน (ช่วงสมัยรัชกาลที่ 5) พร้อมกับนำอาชีพช่างเย็บผ้ามาตั้งตัวที่นี่ด้วย  แต่สมัยนั้นอากงจะทำแค่เย็บมุ้งและหมอน  พอรุ่นที่ 2 จะเป็นคุณแม่ อาม่าเมี่ยวลั้ง แซ่อิ๊ว เริ่มเย็บที่นอนยัดนุ่น เบาะสี่เหลี่ยมใส่เก้าอี้ และเบาะไหว้เจ้า อย่างหลังนี้เกิดจากการสังเกตเห็นว่า คนจีนเวลาไปไหว้เจ้าต้องคุกเข่าลงกับพื้น ถ้ามีอะไรรองทั้งเข่าและมือเวลากราบก็ดี จะได้ไม่เจ็บ 

“ราวสิบกว่าปีที่แล้วแม่เริ่มทำไม่ไหว ก็อยากจะเลิกกิจการ แม่เลยมาถามพี่ว่า อยากสานต่อไหม เพราะเค้าเสียดายที่ร้านยังมีลูกค้าอยู่ แล้วก็ไม่มีใครทำร้านแบบเราแล้วด้วย ตัวพี่เองก็ชอบงานพวกนี้อยู่แล้วบวกกับมีพื้นฐานตัดเย็บเสื้อผ้าอยู่ด้วยก็เลยตัด สินใจเข้ามาสานต่อ ซึ่งต้องใช้เวลาเรียนรู้จากแม่นานเป็น 10 ปีเลยนะ 

“ขั้นตอนที่ยากสุดของการทำเบาะไหว้เจ้าคือ ตอนใส่นุ่นกับใยมะพร้าว นอกจากเราจะต้องเข้าไปอยู่ในห้องที่ปิดมิดชิดเพื่อไม่ให้มันกระจายซึ่งต้องอดทนกับความร้อนแล้ว เรายังใส่นุ่นกับใยมะพร้าวให้เบาะแข็งพอดีๆ และอยู่ทน จะใช้เครื่องจักรก็ไม่ดีเท่าน้ำหนักมือเราเอง  มาถึงในรุ่นของพี่ก็ยังคงเสน่ห์ดั้งเดิมของอากงและแม่ไว้ทั้งหมดคือ เป็นงานแฮนด์เมดทุกอย่าง ยกเว้นตอนเย็บประกอบตัวเท่านั้นที่ใช้จักรมาช่วย”

เพราะเป็นงานที่ทำด้วยมือจริงๆ ทุกครั้งที่ลงฝีเข็ม พี่เจี๊ยบจึงต้องใส่ปลอกนิ้วทั้งมือซ้ายและขวาเพื่อป้องกันนิ้วเจ็บ เมื่อต้องออกแรงดึงเข็มขึ้นแรงๆ

หลังจากที่คุณโจ และกลุ่มปั้นเมือง เข้ามาทำงานในชุมชนตลาดน้อยก็ช่วยให้ที่นี่มีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น มีการจัดการการท่องเที่ยว ส่งเสริมการค้าขายในชุมชน ที่สำคัญยังมีการประสานความร่วมมือกับศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ (TCDC) หรือสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ CEA (องค์การมหาชน) ในปัจจุบัน ก็สร้างความเปลี่ยนแปลงให้ทั้งร้านเฮียบเตียงและร้านเฮงเส็งหลายอย่าง 

“ตอนนั้นก็มีดีไซน์เนอร์เข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์กับเราถึง 2 คน เพื่อให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ก็ออกมาเป็นเบาะรองนั่งพิมพ์ลายดอกไม้หวานๆ  ปีต่อมาก็เริ่มทำเบาะเป็นรูปทรงดอกไม้หลายแบบ ทำหมอนอิง แต่ไม่ว่าจะทำแบบไหน เราก็ยังคงเย็บด้วยมือทั้งหมดและคงใช้ลายดอกโบตั๋นที่ไม่เพียงแค่เป็นดอกไม้มงคลของจีนเท่านั้น แต่ยังเป็นซิกเนเจอร์ของร้านเอาไว้ด้วย

“จากนั้นทาง CEA ก็มีการเอาสินค้าเราไปช่วงวางขายที่ร้าน Neighbourmart ไปรษณีย์กลางบางรัก กับ ICONCRAFT ไอคอนสยามด้วย เรียกว่า การเข้าร่วมกับ CEA ทำให้ร้านเราขายดีเพิ่มขึ้นไปอีก มีกลุ่มลูกค้าหลากหลายขึ้น” 

ถึงตรงนี้ฉันเริ่มอยากรู้ทิศทางต่อไปของร้านเฮงเส็ง ทั้งการตลาด การสืบทอดกิจการ พี่เจี๊ยบตอบแบบไม่ลังเลว่า 

“หมอน หรือเบาะใบหนึ่ง พี่จะใช้เวลาทำ 1 วัน เพราะเราต้องเย็บตัวในใส่นุ่นแล้วก็มาจับริมพวกนี้ที่ใช้เข็มเจาะทั้งหมด จากนั้นก็ต้องมาเย็บปลอกสีชมพูแล้วก็เย็บปลอกพลาสติกอีกชั้นเพื่อกันน้ำ กันผงธูปหล่นใส่ ส่วนแรงงานของร้าน ณ วันนี้ก็มีแค่พี่กับน้อง สาวเท่านั้นเพราะมันเป็นงานที่ทำยาก ต้องใช้ทั้งความอดทน และความละเอียดอย่างมาก นั่นจึงเป็นเหตุผลว่า ทำไมร้านเราจึงมีสินค้าขายเฉพาะหน้าร้านกับในเพจเท่านั้น 

“เอาเป็นว่า วันนี้ที่พี่ยังทำอยู่ตรงนี้ หมอน หรือเบาะแต่ละใบพี่ไม่ได้เน้นกำไรมากมาย แต่ที่ยังทำอยู่ก็เพราะรักในสิ่งนี้ และทำเพื่ออนุรักษ์ไม่ให้อาชีพของบรรพบุรุษมันตาย หรือหายไปเท่านั้นเอง ส่วนอนาคตข้างหน้า ก็น่าจะส่งต่อคนนอกที่สนใจอยากทำเพื่อ ให้อาชีพนี้มันยังคงอยู่ต่อไปได้ เพราะถึงพี่เองจะมีลูก แต่ก็รู้ว่า เค้าคงไม่ทำงานนี้หรอกเพราะเค้าไม่ถนัดเรื่องพวกนี้”  พี่เจี๊ยบปิดท้ายด้วยรอยยิ้มที่แสดงออกทั้งใบหน้า บ่งบอกถึงความรู้สึกที่มีต่องานนี้อย่างแท้จริง 

ฉันและคุณโจเดินกลับออกมาจากร้านเพื่อสำรวจตลาดน้อยกันต่ออีกนิด คุณโจแชร์มุมมองต่อว่า 

“หากจะเกิดการเปลี่ยนแปลงกับย่านตลาดน้อยขึ้นมาจริงๆ ก็น่าจะเป็นด้วยปัจจัยภายในของแต่ละครอบครัวเอง หรือแต่ละบุคคลมากกว่า อย่างบ้านริมน้ำหลังที่เห็นไกลๆ อาม่าเจ้าของบ้านอายุมากแล้ว ไม่ได้รวยมาก ไม่มีลูกหลาน ไม่มีกำลังในการดูแลรักษาบ้านเก่าซึ่งต้องใช้เงินหลายล้านบาท พอมีคนมาติดต่อขอซื้อก็จำเป็นต้องขายออกไป เขาคงคิดว่า กำเงินล้านไปซื้อบ้านใหม่หรือเช่าบ้านและเก็บที่เหลือไว้เลี้ยงตัวเองดีกว่า กรณีนี้ถ้าเป็นผมก็คงทำอย่างนั้นเหมือนกัน”

Hong Sieng Kong ฮงเซียงกง ร้านกาแฟสุดฮิปริมแม่น้ำเจ้าพระเยา มีที่มาจากการรีโนเวทอาคารจีนโบราณอายุกว่า 200 ปี และปรับที่ดินรกร้าง ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง

ส่วนประเด็นเรื่องเจนทริฟิเคชัน (Gentrification) ซึ่งหมายถึง การเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่โดยการเข้ามาของกลุ่มคนที่มีฐานะ

ทางเศรษฐกิจสูงกว่า ส่วนกลุ่มคนเดิมที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำกว่าตัดสินใจย้ายออกไป หนึ่งในเรื่องที่สังคมกังวลว่า จะเกิดกับตลาดน้อย คุณโจกล่าวว่า 

“เท่าที่สำรวจก็พบว่า กิจการใหม่ๆ ในย่าน ไม่ว่าจะร้านกาแฟ เครื่องดื่ม โฮสเทล ก็เป็นกิจการของลูกหลานคนในชุมชนเองที่แม้จะย้ายออกไปอยู่ที่อื่นแล้ว แต่วันหนึ่งก็ตัดสินใจกลับมาพัฒนาที่ดิน รีโนเวทตึกแถวมรดกของครอบครัวใหม่ ซึ่งตรงนี้ผมมองว่า น่าจะเป็น adaptive reuse มากกว่าที่จะเรียกว่าเจนทริฟิเคชัน 

“ส่วนตัวผมไม่รู้นะว่า ที่นี่จะเจนทริฟิเคชันไหม หรือจะมีเมื่อไหร่ แต่ที่กลุ่มปั้นเมืองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจับมือทำกันอยู่ทุกวันนี้ พวกเราก็แค่อยากชะลอชีวิตย่านตลาดน้อยไว้ให้นานที่สุด”    

เมื่อไหร่ที่เราไม่มีความผูกพันกับพื้นที่ พื้นที่นั้นก็เป็นเพียงแค่สินทรัพย์ที่มีไว้เฉยๆ ไม่ใช่บ้าน ไม่ใช่ย่านที่อยู่อาศัย แต่เมื่อไหร่ที่เรามองว่า “ที่นี่คือบ้าน” แล้ว พื้นที่นั้นก็จะเปี่ยมด้วยคุณค่า และคงเป็นเรื่องยากที่เราจะละทิ้งมันไป เหมือนอย่างที่ ป้าวรรณ ประธานชุมชนตลาดน้อย บอกกับฉันสั้นๆ หลังทักทายกันก่อนกลับว่า 

“คนอยู่ตลาดน้อย พวกเรารู้จักกันหมด อยู่มานานก็รักตลาดน้อย และเราก็จะไม่ย้ายไปที่อื่น”


เจนทริฟิเคชัน (Gentrification) คืออะไร

รูท กลาส (Ruth Glass) นักผังเมืองชาวเยอรมันได้ชื่อว่าเป็นผู้ประดิษฐ์คำว่า เจนทริฟิเคชัน (Gentrification) ขึ้นครั้งแรกใน ค.ศ. 1964 เพื่ออธิบายถึงปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงของเมืองในย่านนอตติงฮิลล์และอิสลิงตันของกรุงลอนดอน ซึ่งเดิมเป็นย่านที่อยู่อาศัยของกลุ่มคนมีรายได้น้อย ต่อมาเมื่อย่านได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นก็กลายเป็นว่า ชนชั้นกลางเข้ามาใช้พื้นที่แทน 

ส่วน รศ.ดร.บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แปลคำนี้ว่า Wการทําให้เป็นย่านผู้ดี” เพื่อชี้ให้เห็นการเปลี่ยนแปลงการใช้พื้นที่ของเมืองโดยกลุ่มคนที่มีชนชั้นดีกว่าแทนที่กลุ่มคนที่เป็นชนชั้นล่างกว่าซึ่งเคยใช้พื้นที่อยู่ก่อน

คำว่า เจนทริฟิเคชัน ถูกใช้อย่างแพร่หลายในหลายประเทศทั่วโลกตั้งแต่ช่วง ค.ศ.1990 เป็นต้นมาจนปัจจุบัน เพื่ออธิบายปรากฏารณ์ที่เกิดขึ้นในย่านสำคัญๆ ของเมือง หรือเมืองขนาดใหญ่ เช่น เช่น ย่านบรูคลินในรัฐนิวยอร์ก เมืองชิคาโก ในสหรัฐอเมริกา เมืองโตรอนโตในแคนาดา กรุงลอนดอนในสหราชอาณาจักร โดยกระบวนการเจนทริฟิเคชันในแต่ละแห่งก็มีรายละเอียดแตกต่างกันไป แม้แต่ในประเทศไทยเองก็เริ่มพบกระบวนการเจนทริฟิเคชันให้เห็นแล้วหลายที่ เช่น พื้นที่เกาะรัตนโกสินทร์ 

อ่านเพิ่มเติม 

เจนทริฟิเคชัน ปรากฏการณ์เปลี่ยนเมืองที่อาจ “ใกล้ตัว”เกินคาดคิด, นิตยสาร NATIONAL GEOGRAPHIC ปีที่ 25 ฉบับที่ 288 กรกฎาคม 2568; หน้า 38-63.

 

เรื่อง วรลักษณ์ ผ่องสุขสวัสดิ์ 

ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส


อ่านเพิ่มเติม : การเดินทางของชาวจีนโพ้นทะเลแห่งชุมชนลุ่มน้ำท่าจีน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.