เมืองไทยในอดีต: “ดินแดนเสรีชนแห่งเอเชีย”
เมืองไทยในอดีต: “ดินแดนเสรีชนแห่งเอเชีย”
เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี หลังตีพิมพ์สารคดีเกี่ยวกับเมืองไทยเรื่องแรกๆ อาทิ การคล้องช้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ก็กลับมาเยือนสยามประเทศอีกครั้งด้วยการตีพิมพ์สารคดีเรื่อง “ดินแดนเสรีชน” แห่งเอเชีย หรือ “Land of the Free” In Asia ในนิตยสารฉบับเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1934 โดยเป็นผลงานของนักเขียนและช่างภาพมากฝีมือผู้ใช้ชีวิตอยู่ในสยามนานหลายปีอย่างดับเบิลยู. โรเบิร์ต มัวร์ ผู้เขียนตระเวนเดินทางไปทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ เก็บภาพวิถีชีวิตทั้งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองทั้งเหนือใต้ ภาพผู้คนหลากเชื้อชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงวัดวาอาราม สถาปัตยกรรม และงานพระราชพิธีต่างๆ นับเป็นสารคดีสมบูรณ์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้ชาวตะวันตกรู้จักกับสยามประเทศ ข้อความหลายตอนสะท้อนความเป็นไปของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว
เรื่องและภาพถ่าย: ดับเบิลยู. โรเบิร์ต มัวร์
“สยามเป็นบ้านของผมตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมเดินทางตระเวนไปทั่วราชอาณาจักรที่น่าสนใจแห่งนี้ ผมพบว่า สยามยังคงมีมนตร์เสน่ห์แห่งดินแดนตะวันออก แต่ก็แฝงแง่มุมอันหลากหลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความทันสมัย แม้จะเปิดรับและหล่อหลอมอิทธิพลจากตะวันตก สยามยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ได้ จึงมีน้อยประเทศนักที่สามารถอวดความขัดแย้งอันมีสีสันได้เช่นนี้”
“คุณสามารถเดินทางไปเยือนสยามด้วยพรมวิเศษของสายการบินอย่าง IMPERIAL AIRWAYS, KLM และ AIR FRANCE จากลอนดอน อัมสเตอร์ดัม หรือมาร์เซย์ โดยใช้เวลาแค่สัปดาห์เศษเพราะสยามเป็นเหมือนชุมทางของการเดินทางทางอากาศในดินแดนตะวันออกไกล หรือไม่ก็เลือกเดินทางโดยทางเรือมาลงที่ปีนัง สิงคโปร์ หรือฮ่องกง เพราะกรุงเทพฯ นั้นเชื่อมต่อกับปีนังทางรถไฟ กับฮ่องกงทางเรือเดินสมุทร และกับสิงคโปร์ทั้งสองทาง”
เมืองไทยในอดีต: ล้านนาเมื่อวันวาน
“ในฐานะเมืองหลวง กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองเก่า หากมีอายุมากกว่ากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพียงไม่กี่ปี สะพานพระรามหนึ่ง [สะพานพุทธยอดฟ้า] ที่เพิ่งสร้างใหม่ทอดยาวตัดกับฉากหลังที่เป็นวัดวาอารามสีสันสดใสและร้านรวง ริมแม่น้ำ สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ และเฉลิมฉลองการสถาปนาเมืองหลวงแห่งนี้ครบ 150 ปี…. ตลอดระยะเวลาดังกล่าว กรุงเทพฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวและความเปลี่ยนแปลงมากมาย ปัจจุบันมีประชากรราว 550,000 อาศัยอยู่ที่นี่”
“จีนเต็มบ้าน แขกเต็มเมือง: “ผมรู้สึกทึ่งที่เห็นร้านรวงของชาวจีนอยู่ทั่วไป และชาวจีนก็พบเห็นได้ทั่วทุกหนแห่งในกรุงเทพฯ ผมไปเยือนย่านไชน่าทาวน์ และถิ่นฐานของชาวอินเดียที่แวดล้อมไปด้วยร้านรวงขายสินค้าจำพวกผ้า อัญมณี และของที่ระลึก…. หลังจากรู้จักคุ้นเคยกับสยามนานพอ ผมก็พอรู้เหตุผลของการที่พบเห็นคนต่างชาติเหล่านี้ ตลอดหลายร้อยปี ชาวสยามไม่ค่อยสนใจทำมาค้าขาย และปล่อยให้กิจการเหล่านี้อยู่ในมือของคนต่างชาติ ชาวสยามมากกว่าร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร และส่วนใหญ่ของที่เหลือก็มักเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับงานราชการ มีเพียงร้อยละสองที่ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรม”
เมืองไทยในอดีต : ไพร่ฟ้าสามัญชน
“วัดวาอารามหลากสีสัน: “แม้ถนนหนทางสายหลักๆ ในกรุงเทพฯ อาจไม่มีอะไรน่าสนใจมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชดเชยได้อย่างดีคือวัดวาอารามอันงดงาม ภายในขอบขัณฑสีมาของวัด ชาวสยามอวดทักษะงานศิลป์ที่มีอย่างเหลือเฟือและแสดงออกซึ่งความรักในสีสัน สุดสัปดาห์แล้วสุดสัปดาห์เล่าที่ผมตระเวนไปตามวัดต่างๆ หลายครั้งผมกลับไปเยือนวัดเดิมๆ พร้อมเลนส์ถ่ายภาพสีเพื่อมองหามุมใหม่ๆ หรือไม่ก็ค้นพบสิ่งที่ไม่เคยพบเห็น…. ในฐานะเมืองพุทธ ตัวเลขทางการระบุว่า สยามมีวัดมากกว่า 16,500 วัดและมีพระสงฆ์ราว 127,000 รูป”
“หลุมพรางภาษา: “ระหว่างที่ผมสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในวิทยาลัยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ผมก็เป็นนักเรียนไปด้วย ถ้านั่นคือสิ่งที่คุณอยากจะเรียกความพยายามของผมที่จะหยั่งลึกเข้าสู่ความซับซ้อนทางภาษาของสยาม ครูคนแรกของผมมักพูดขณะเคี้ยวหมากไปด้วย ผมต้องคอยมองฟันดำๆและปากแดงๆ ของเธอเปล่งคำพูดออกมา แล้วพยายามแยกแยะให้ออกว่าเป็นเสียงใดในวรรณยุกต์ห้าเสียง ยกตัวอย่างคำศัพท์อย่าง ‘kao’ อาจแปลได้หลายอย่าง ตั้งแต่ ‘ข่าว’ ‘ภูเขา’ ‘สีขาว’ ‘ข้าว’ ‘เขา’ [ผู้ชาย] ‘เข่า’ หรือ ‘เข้า’”
ชมภาพถ่าย “เมืองไทยในอดีต” เพิ่มเติม
เมืองไทยในอดีต : สารคดีเกี่ยวกับเมืองไทยเรื่องแรกในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก
© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.