เมืองไทยในอดีต: “ดินแดนเสรีชนแห่งเอเชีย”

เมืองไทยในอดีต: “ดินแดนเสรีชนแห่งเอเชีย”

เวลาผ่านไปกว่า 20 ปี หลังตีพิมพ์สารคดีเกี่ยวกับเมืองไทยเรื่องแรกๆ อาทิ การคล้องช้างในสมัยรัชกาลที่ 5 และพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว นิตยสาร เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ก็กลับมาเยือนสยามประเทศอีกครั้งด้วยการตีพิมพ์สารคดีเรื่อง “ดินแดนเสรีชน” แห่งเอเชีย หรือ “Land of the Free” In Asia ในนิตยสารฉบับเดือนพฤษภาคม ค.ศ 1934 โดยเป็นผลงานของนักเขียนและช่างภาพมากฝีมือผู้ใช้ชีวิตอยู่ในสยามนานหลายปีอย่างดับเบิลยู. โรเบิร์ต มัวร์ ผู้เขียนตระเวนเดินทางไปทั่วประเทศตั้งแต่เหนือจรดใต้ เก็บภาพวิถีชีวิตทั้งในเมืองหลวงอย่างกรุงเทพฯ และหัวเมืองทั้งเหนือใต้ ภาพผู้คนหลากเชื้อชาติ กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไปจนถึงวัดวาอาราม สถาปัตยกรรม และงานพระราชพิธีต่างๆ นับเป็นสารคดีสมบูรณ์ชิ้นหนึ่งที่ช่วยให้ชาวตะวันตกรู้จักกับสยามประเทศ ข้อความหลายตอนสะท้อนความเป็นไปของสยามในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่องและภาพถ่าย: ดับเบิลยู. โรเบิร์ต มัวร์

“สยามเป็นบ้านของผมตลอด 7 ปีที่ผ่านมา ระหว่างที่ผมเดินทางตระเวนไปทั่วราชอาณาจักรที่น่าสนใจแห่งนี้ ผมพบว่า สยามยังคงมีมนตร์เสน่ห์แห่งดินแดนตะวันออก แต่ก็แฝงแง่มุมอันหลากหลายที่สะท้อนให้เห็นถึงความทันสมัย แม้จะเปิดรับและหล่อหลอมอิทธิพลจากตะวันตก สยามยังคงสามารถรักษาเอกลักษณ์ของตนไว้ได้ จึงมีน้อยประเทศนักที่สามารถอวดความขัดแย้งอันมีสีสันได้เช่นนี้”

อาทิตย์อัสดงเขตร้อนอาบไล้วัดอรุณ: “ปรางค์ประธานสูง 73 เมตรและปรางค์บริวารทั้งสี่ของวัดอรุณราชวราราม (หรือวัดแจ้ง) ประดับตกแต่งด้วยเครื่องกระเบื้อง ท่ามกลางแสงทองยามเย็น แสงอาทิตย์ยามเช้า หรือแสงจันทร์นวลตา นี่คือสถานที่อันเป็นหมุดหมายสำคัญแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ”
งานเทศกาลที่พระเจดีย์สูงใหญ่ที่สุดในสยาม: “พระเจดีย์สูงใหญ่กว่าตึก 30 ชั้นที่จังหวัดนครปฐมประดับตกแต่งด้วยกระเบื้องดินเผาเงางามยามต้องแสงอาทิตย์ ต้นไม้ใหญ่สองข้างทางได้รับการตัดแต่งเป็นรูปกรวยสวยงาม
ขบวนพยุหยาตราทางสถลมารค: “ขบวนเสด็จพระราชดำเนินเคลื่อนผ่านพระบรมมหาราชวังและวัดพระศรีรัตนศาสดารามซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพระราชพิธีต่างๆ ทหารอัญเชิญเครื่องประกอบพระราชอิสริยยศนำหน้าขบวน
หนักมือไปหน่อย: “เพื่อความสดชื่นเย็นสบาย ชาวสยามนิยมประแป้งบนใบหน้าและเรือนร่างหลังอาบน้ำมาหมาดๆ”
อาบเหงื่อต่างน้ำ: “การแยกข้าวเปลือกออกจากรวงด้วยการตีหรือฟาดรวงข้าวกับตะกร้าสานใบมหึมาที่เห็นอยู่นี้เป็นภาพที่พบเห็นในแถบมณฑลพายัพหรือจังหวัดทางภาคเหนือของสยาม ในพื้นที่อื่นๆมักทำกันบนลานโดยใช้แรงงานควายหรือไม่ก็แรงงานคน”

 

พ่อค้าชาวจีนชั่งเนื้อขายให้ลูกค้า: “ชาวสยามยึดมั่นในคำสอนทางพุทธศาสนาว่าด้วยการไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต แต่นั่นคงไม่ใช่ปัญหาสำหรับพ่อค้าจีนรายนี้และคนอื่นๆ ที่ทำมาค้าขายทั้งในเรือและบนบก”
เกวียนอีสาน: “ก่อนหน้าการตัดทางรถไฟมายังดินแดนที่ราบสูงติดกับดินแดนอินโดจีนของฝรั่งเศส ชาวไร่ชาวนาสยามต้องพึ่งพาพาหนะอย่างเกวียนเทียมวัวทั้งเพื่อเดินทางและส่งพืชผลไปขายยังตลาด เมื่อถึงฤดูฝน ทางเกวียนก็มักกลายสภาพไปจนไม่ต่างอะไรจากบ่อโคลน”

“คุณสามารถเดินทางไปเยือนสยามด้วยพรมวิเศษของสายการบินอย่าง IMPERIAL AIRWAYS, KLM และ AIR FRANCE จากลอนดอน อัมสเตอร์ดัม หรือมาร์เซย์ โดยใช้เวลาแค่สัปดาห์เศษเพราะสยามเป็นเหมือนชุมทางของการเดินทางทางอากาศในดินแดนตะวันออกไกล หรือไม่ก็เลือกเดินทางโดยทางเรือมาลงที่ปีนัง สิงคโปร์  หรือฮ่องกง เพราะกรุงเทพฯ นั้นเชื่อมต่อกับปีนังทางรถไฟ กับฮ่องกงทางเรือเดินสมุทร และกับสิงคโปร์ทั้งสองทาง”

ระหัดวิดน้ำกำลังเป็นรูปเป็นร่าง: “ระหัดวิดน้ำที่ทำจากไม้ไผ่นี้จะผันน้ำเข้าสู่ที่นาในหน้าแล้งระหว่างเดือนพฤศจิกายนถึงพฤษภาคม เราพบเห็นสิ่งประดิษฐ์จากภูมิปัญญาชาวบ้านนี้ได้ทั่วไปในภาคเหนือของสยาม”

 


เมืองไทยในอดีต: ล้านนาเมื่อวันวาน


 

พระเอกขี่ม้าขาว: “เมื่อไรที่ท่อนซุงเริ่มไหลมากองรวมกัน ควานช้างจะบังคับช้างให้ช่วยลากออกมาเพื่อไม่ให้กีดขวางทางน้ำ บ่อยครั้งที่น้ำหลากในหน้าฝนทำให้ท่อนซุงและขยะไหลมากองรวมกันจนอาจเป็นอันตรายต่อสะพานสมัยใหม่แห่งนี้ที่จังหวัดลำปาง”
สุขใจริมน้ำยามเย็น: “ผู้เขียนและช่างภาพเดินทางล่องแม่น้ำปิงจากเชียงใหม่สู่ปากน้ำโพ ในภาพเรือจอดค้างแรมใกล้เกาะแก่งแห่งหนึ่ง ธงบนหลังคาคือธงสยามเคียงคู่กับธงชาติสหรัฐฯ”

 

เลือดนักสู้แดนสยาม: เส้นเชือกที่ทำจากฝ้ายใช้รัดมือและต้นแขนทำหน้าที่คล้ายนวม ผู้เข้าแข่งขันสามารถใช้กำปั้น ศอก และเท้า โจมตีส่วนต่างๆ ของร่างกายคู่ต่อสู้ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น พิธีไหว้ครูนับว่าน่าดูชม ทว่าการแข่งขันชกมวยส่วนใหญ่ในตอนนี้ประยุกต์ใช้กฎเกณฑ์แบบทางตะวันตก

“ในฐานะเมืองหลวง กรุงเทพฯ ไม่ใช่เมืองเก่า หากมีอายุมากกว่ากรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เพียงไม่กี่ปี สะพานพระรามหนึ่ง [สะพานพุทธยอดฟ้า] ที่เพิ่งสร้างใหม่ทอดยาวตัดกับฉากหลังที่เป็นวัดวาอารามสีสันสดใสและร้านรวง ริมแม่น้ำ สร้างขึ้นเพื่อเชื่อมสองฝั่งแม่น้ำ และเฉลิมฉลองการสถาปนาเมืองหลวงแห่งนี้ครบ 150 ปี…. ตลอดระยะเวลาดังกล่าว กรุงเทพฯ ผ่านร้อนผ่านหนาวและความเปลี่ยนแปลงมากมาย ปัจจุบันมีประชากรราว 550,000 อาศัยอยู่ที่นี่”

พระยาแรกนากับข้าบริพาร: “ชาวสยามเฉลิมฉลองฤดูปลูกข้าวและเก็บเกี่ยวด้วยพิธีกรรมอันเก่าแก่ ซึ่งกษัตริย์มักเสด็จฯ ทรงเป็นประธานในพิธี เช่น พระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญอย่างที่เห็นในภาพ คนตรงกลางคือพระยาแรกนา”

“จีนเต็มบ้าน แขกเต็มเมือง: “ผมรู้สึกทึ่งที่เห็นร้านรวงของชาวจีนอยู่ทั่วไป และชาวจีนก็พบเห็นได้ทั่วทุกหนแห่งในกรุงเทพฯ ผมไปเยือนย่านไชน่าทาวน์ และถิ่นฐานของชาวอินเดียที่แวดล้อมไปด้วยร้านรวงขายสินค้าจำพวกผ้า อัญมณี และของที่ระลึก…. หลังจากรู้จักคุ้นเคยกับสยามนานพอ  ผมก็พอรู้เหตุผลของการที่พบเห็นคนต่างชาติเหล่านี้ ตลอดหลายร้อยปี ชาวสยามไม่ค่อยสนใจทำมาค้าขาย และปล่อยให้กิจการเหล่านี้อยู่ในมือของคนต่างชาติ ชาวสยามมากกว่าร้อยละ 80 เป็นเกษตรกร และส่วนใหญ่ของที่เหลือก็มักเกี่ยวข้องไม่ทางตรงก็ทางอ้อมกับงานราชการ มีเพียงร้อยละสองที่ทำงานในแวดวงอุตสาหกรรม”

แผงขายผลไม้ในกรุงเทพฯ กับผลไม้แปลกตา: “ทุเรียนผลใหญ่มีหนามแหลม รสชาติหวานมัน แต่กลิ่นฉุน ชาวสยามขนานนามให้ว่า ‘ราชาแห่งผลไม้’ ส่วนมังคุดหรือ ‘ราชินีแห่งผลไม้’ มีเปลือกสีม่วงและเนื้อในสีขาวรสชาติหวานอร่อย ส่วนผลไม้สีแดงมีขนนั้นคือเงาะ ส่วนที่อยู่ข้างๆคือสละ ด้านบนทางขวาคือหมาก”

 


เมืองไทยในอดีต : ไพร่ฟ้าสามัญชน


 

แม่หญิงลาวระหว่างทางไปกาดเช้าที่เชียงราย: “ขณะที่พวกผู้ชายทำงานในท้องไร่ท้องนา ผู้หญิงชาวสยามดูแลงานบ้านและจับจ่ายข้าวของ ผู้ชายกลุ่มเดียวที่มักพบเห็นตามตลาดคือ พ่อค้าชาวจีนขายผักปลาและพ่อค้าอินเดียขายผ้า ผู้หญิงชาวบ้านมากมายเดินเท้าวันละหลายกิโลจากหมู่บ้านเพื่อหาบของไปขายที่ตลาด”

 

หลวงพ่อโตวัดอินทรวิหาร: “พุทธศาสนิกชนสามารถเดินขึ้นบันไดสูงชันไปจนถึงระเบียงหลังเศียรองค์พระ และสามารถชมทัศนียภาพมุมสูงของกรุงเทพฯ เนื่องจากชายไทยจำนวนมากนิยมบวชเรียนอย่างน้อยก็ช่วงหนึ่งของชีวิต สยามจึงได้ชื่อว่าเป็นดินแดนแห่งผ้ากาสาวพัสตร์”

“วัดวาอารามหลากสีสัน: “แม้ถนนหนทางสายหลักๆ ในกรุงเทพฯ อาจไม่มีอะไรน่าสนใจมากมายนัก แต่สิ่งหนึ่งที่ชดเชยได้อย่างดีคือวัดวาอารามอันงดงาม ภายในขอบขัณฑสีมาของวัด ชาวสยามอวดทักษะงานศิลป์ที่มีอย่างเหลือเฟือและแสดงออกซึ่งความรักในสีสัน สุดสัปดาห์แล้วสุดสัปดาห์เล่าที่ผมตระเวนไปตามวัดต่างๆ หลายครั้งผมกลับไปเยือนวัดเดิมๆ พร้อมเลนส์ถ่ายภาพสีเพื่อมองหามุมใหม่ๆ หรือไม่ก็ค้นพบสิ่งที่ไม่เคยพบเห็น…. ในฐานะเมืองพุทธ ตัวเลขทางการระบุว่า สยามมีวัดมากกว่า 16,500 วัดและมีพระสงฆ์ราว 127,000 รูป”

ยักษ์วัดแจ้งหรือวัดอรุณราชวราราม: นอกจากยักษ์หน้าตาประหลาดสองตนนี้ที่ดูราวกับออกมาจากตำนานทวยเทพอินเดียแล้ว ต้นไม้สูงใหญ่ยังได้รับการตัดแต่งจนดูแปลกตา เช่นเดียวกับลวดลายพรรณพฤกษาประดับบนหน้าบันและเรือนยอดล้วนทำจากเศษหรือชิ้นส่วนเครื่องเคลือบหลากสีสัน

“หลุมพรางภาษา: “ระหว่างที่ผมสอนวิชาวิทยาศาสตร์ในวิทยาลัยแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ ผมก็เป็นนักเรียนไปด้วย ถ้านั่นคือสิ่งที่คุณอยากจะเรียกความพยายามของผมที่จะหยั่งลึกเข้าสู่ความซับซ้อนทางภาษาของสยาม ครูคนแรกของผมมักพูดขณะเคี้ยวหมากไปด้วย ผมต้องคอยมองฟันดำๆและปากแดงๆ ของเธอเปล่งคำพูดออกมา แล้วพยายามแยกแยะให้ออกว่าเป็นเสียงใดในวรรณยุกต์ห้าเสียง  ยกตัวอย่างคำศัพท์อย่าง ‘kao’ อาจแปลได้หลายอย่าง ตั้งแต่ ‘ข่าว’ ‘ภูเขา’ ‘สีขาว’ ‘ข้าว’ ‘เขา’ [ผู้ชาย] ‘เข่า’ หรือ ‘เข้า’”   

สิบสองดรุณี: “พวกเธอเข้าเรียนที่โรงเรียนหมอสอนศาสนาในบางกอก เครื่องแบบสมัยใหม่อย่างกะโปรงที่พวกเธอสวมใส่กำลังมาแทนที่ผ้านุ่งแบบเก่าซึ่งทั้งหญิงชายชาวสยามนิยมสวมใส่”

ชมภาพถ่าย “เมืองไทยในอดีต” เพิ่มเติม

เมืองไทยในอดีต : สารคดีเกี่ยวกับเมืองไทยเรื่องแรกในเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.