ใกล้วันหวยออก ป้าอ้วน ศิวณัฐ รัชตดำรงรัตน์ ต้องคอยบอกให้คนที่อยากได้เลขเด็ดจากเธอไปบนบาน “พระเจ้าทันใจ”ด้วยธูปสามดอก แล้วเขย่ากระบอกเสี่ยงเซียมซีหาเลขเอาเอง “เบื่อค่ะ มีแต่คนมาขอหวย ฉันไม่ได้ใบ้หวยนะคะ” เธอบอกด้วยนํ้าเสียงหงุดหงิด นับจากวันที่เราพูดคุยกัน เธอถูกหวยติดกัน 29 งวดจนกลายเป็นข่าวดัง ป้าอ้วนตกเป็นเป้าของขบวนนักแสวงโชคที่แห่มาเยือนวัดพระธาตุดอยคำซึ่งตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงใหม่ราวสิบกิโลเมตร เธอเป็นคณะกรรมการวัดและช่วยทางวัดจำหน่ายวัตถุมงคลในซุ้มใกล้ ๆ กับศาลาประดิษฐานพระเจ้าทันใจ พระพุทธรูปเก่าแก่อายุกว่า 500 ปี
ป้าอ้วนเชื่อว่า “โชคลาภ” ที่เธอได้รับมาจากอำนาจศักดิ์สิทธิ์ของพระเจ้าทันใจและ “เสบียงบุญ” ที่ สะสมมาหากคืนไหนฝัน วันรุ่งขึ้นเธอจะตีความเรื่องราวในฝันออกมาเป็นตัวเลข โดยอาศัยตำราทำนายที่อ่านเป็นประจำ “เห็นคนตายก็เป็นศูนย์ ดอกบัวนี่เป็นเก้าอยู่แล้ว ที่รู้เพราะชอบอ่านค่ะ ของพวกนี้ต้องศึกษา” ป้าอ้วนว่าที่ผ่านมา เธอเคยให้เลขเด็ดกับคนที่แวะเวียนมาเยือน แต่ระยะหลังต้องปฏิเสธ พอกันที “เค้าบ่นว่าซื้อเลขป้าอ้วนไม่เคยถูกเลย ทำไมป้าอ้วนถูกเอา ๆ หาว่าป้าอ้วนหลอกลวง ไปซื้อเลขมาโปรโมตวัด ฉันจะทำอย่างนั้นทำไม เค้าไม่เห็นนี่ว่าฉันเล่นยังไง” เธอบ่น “แล้วเล่นยังไงครับ” ผมถาม ป้าอ้วนเดินไปที่โต๊ะทำงาน ไขลิ้นชัก ควักลอตเตอรี่ปึกใหญ่ขึ้นมาวางบนโต๊ะ คลี่เป็นแผง ผู้คนที่ผ่านไปมาเหลือบตามอง “นี่ตรวจแล้วไม่ถูก นี่ยังไม่ได้ตรวจ นี่อีกเยอะ” เธอพลิกทีละปึก “ฉันเล่นงวดละหลายหมื่น บางทีก็เป็นแสน นี่ไง โอกาสมันก็ต้องเยอะ” เธอไม่วายเหน็บว่า เวลาไม่ถูกรางวัลไม่เห็นมีใครมาทำข่าว “ทำไมชอบเล่นหวย” ผมถามต่อ “ก็ฉันชอบท้าทาย” เธอดูผ่อนคลายลง “เวลาฝันแล้วเอามาตีเป็นเลข ก็ได้ลุ้นว่าจะถูกไหม มันท้าทายดีนะคุณ”
ตามที่มีบันทึก หวยบนแผ่นดินสยามมากับคนจีนโพ้นทะเล (ซึ่งเล่นมาตั้งแต่ครั้งอยู่ที่ประเทศจีน เป็นการพนันทายป้ายแผ่นไม้ บนนั้นเขียนเป็นรูปดอกไม้ชนิดต่าง ๆ เลยเรียกกันติดปากว่า “ฮวยหวย” แปลว่า “ชุมนุมดอกไม้”) ในสมัยรัชกาลที่ 3 ช่วงที่เศรษฐกิจฝืดเคือง ผู้คนไม่จับจ่ายใช้สอยและนำเงินไปซ่อนในไหฝังดิน รัชกาลที่ 3 จึงโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งโรงหวยขึ้นในเดือนยี่ ปีมะแม พ.ศ. 2375 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจตามคำกราบบังคมทูลของคหบดีจีนรายหนึ่ง
โรงหวยยุคนั้นออกรางวัลโดยใช้แผ่นป้ายเขียนอักษรไทย 34 ตัว เรียกว่าหวย ก.ข. ออกวันละหนึ่งครั้ง โรงหวยสร้างรายได้ให้รัฐมากพอ ๆ กับสร้างนักพนันหวยซึ่งติดกันงอมแงม มีเจ้ามือหวยเถื่อนตามต่างจังหวัดเกิดขึ้นมากมาย จนล่วงเข้าสู่สมัยรัชกาลที่ 5และรัชกาลที่ 6 จึงเริ่มทยอยยกเลิกอากรทั้ง “บ่อน” และตามมาด้วยยกเลิกอากร “โรงหวย” ช่วงรอยต่อก่อนปิดฉากยุคโรงหวย เป็นห้วงเวลาของอิทธิพลตะวันตกบนแผ่นดินสยาม และเป็นครั้งแรกของการออกสลากกินแบ่ง เฮนรี อาลาบาสเตอร์ ข้าราชการอังกฤษในราชสำนักไทย ผู้ถวายงานใกล้ชิดพระบาทสมเด็จพระจลุ จอมเกล้าเจ้าอยู่หัวบันทึกไว้ในวันที่ 20 กันยายน พ.ศ. 2417 ซึ่งตรงกับวันเฉลิมพระชนมพรรษาของสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ฝ่ายทหารมหาดเล็กได้เชื้อเชิญบรรดาพ่อค้าฝรั่งให้นำสินค้าหรือข้าวของแปลก ๆ มาจัดแสดงนิทรรศการ “โรงมุเซียม” ระหว่างการขนส่งสินค้าเกิดแตกหักหลายชิ้น ทางฝ่ายผู้จัดงานนึกเห็นใจ จึงเปิดโอกาสให้พ่อค้าฝรั่งเหล่านั้นออกตั๋ว “ลอตเตอรี่” ตามแบบยุโรป เพื่อให้คนซื้อได้เสี่ยงโชครับเป็นของหรือเงินรางวัล นับจากนั้น ธรรมเนียมการออกสลากกินแบ่งก็ดำเนินเรื่อยมา ส่วนมากเป็นไปเพื่อระดมทุนให้สาธารณกุศล ในสมัยรัชกาลที่ 6 มีการออกสลากเสือป่าล้านบาท ราคาใบละหนึ่งบาทจำนวนล้านฉบับ (งวดหนึ่งโดนผู้ดูแลการออกสลากโกงรางวัลเสียเอง กลายเป็นข่าวเกรียวกราว)
ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 7 มีการออกลอตเตอรี่รัฐบาลสยามชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปจากนโยบายลดเงินรัชชูปการ (เงินที่จ่ายเพื่อไม่ต้องเกณฑ์ทหาร) สลากกินแบ่งทำหน้าที่ระดมทุนได้ดี จนกระทั่งรัฐบาลเห็นชอบจัดตั้งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลขึ้นใน พ.ศ. 2482 เพื่อระดมเงินจากการออกสลากเป็นรายได้รัฐบาลอีกทางหนึ่ง
ตลาดลอตเตอรี่ที่อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย เช้าวันที่ 21 ตรงกับวันศุกร์และวันพระ ลานจอดรถละลานตาไปด้วยรถยนต์สารพัดชนิด สองฝั่งถนนหลวงมีรถจอดเรียงเป็นแถวยาว ควันไฟลอยโขมงมาจากตลาดนัดข้าง ๆ ใต้โรงเรือนหลังคาสูงตรงนั้น ผู้คนเบียดเสียด ส่งเสียงอื้ออึงต่อรองต่อราคา สินค้าบนแผงไม่ใช่ของที่เราพบเห็นกันตามตลาดนัด หากเป็นลอตเตอรี่ทั้งนั้น มีทั้งแบบเป็นเล่ม (100 คู่) และแยกขาย ในราคาขายส่งให้พ่อค้า
แม่ขายรายย่อยที่มาจับจ่ายเพื่อนำไปขายต่อ ในตู้กระจกหลายใบมีเงินสดปึกหนาวางอยู่ตลาดแห่งนี้จะคึกคักทุกวันที่ 4-6 และ 19-21 ของทุกเดือน พ่อค้าแม่ค้าลอตเตอรี่จะเดินทางจากกรุงเทพฯมาขายที่นี่ด้วยตัวเอง ตลาดค้าส่งแบบนี้นอกจากแถวสนามบินนํ้า จังหวัดนนทบุรี และสี่แยกคอกวัว ซึ่งอยู่ใกล้กับสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลทั้งที่ใหม่และที่เดิมแล้ว ก็มีที่อำเภอวังสะพุงนี้อีกแห่งเดียวที่เป็นแหล่งกระจายลอตเตอรี่สู่ภูมิภาค
มูลค่าของลอตเตอรี่ขึ้นอยู่กับความนิยมตัวเลขในช่วงนั้น ข่าวสารบ้านเมืองเป็นเชื้อฟืนชั้นดีที่ช่วยเพิ่มมูลค่าให้ลอตเตอรี่บางเลข ราคาขึ้นลงตามอุปสงค์และอุปทานไม่ต่างจากสินค้าโภคภัณฑ์ คนเล่นสนุกกับข่าวสารบ้านเมืองขณะที่คนขายก็สนุกกับมูลค่าที่เพิ่มขึ้น
วัตถุประสงค์แรกเริ่มของการออกลอตเตอรี่ในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก มักเป็นการระดมทุนเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมทางสังคมที่งบประมาณรัฐลงไปไม่ถึง แต่ลอตเตอรี่ในประเทศไทยมักถูกมองว่าเป็นเครื่องมือหาผลประโยชน์โดยเฉพาะในภาคการเมือง รัฐบาลยุคหนึ่งเคยนำหวย “ใต้ดิน” ขึ้นมาอยู่ “บนดิน” นัยหนึ่งคือนำเงินนอกระบบมาเป็นรายได้ให้รัฐบาล และอีกนัยหนึ่งคือทอนกำลังพวกนอกกฎหมายและทลายอิทธิพลเงินจากหวยบนดินในรัฐบาลยุคนั้นไม่ต้องผ่านระบบคลัง รัฐบาลจึงสามารถนำเงินไปใช้จ่ายในโครงการต่าง ๆ ได้อย่างคล่องตัว ส่วนมากเน้นไปที่การตั้งกองทุนการศึกษาและพัฒนาชนบท แน่นอนว่าเป็นการสร้างคะแนนนิยมไปในตัว
ทว่านโยบายนั้นก็มีอีกมุมหนึ่ง เมื่อถูกฝ่ายคัดค้านชี้ว่าเป็นการนำเงินจาก “อบายมุข” ไปใช้เป็นเครื่องมือหาเสียง อีกทั้งเงินนั้นยังเอื้อต่อการทุจริตเรื่องราวบานปลายใหญ่โตกระทั่งศาล “บั่นคอ” รัฐบาลชุดนั้นเป็นการปิดฉากหวยบนดิน จนกลายเป็นของร้อนที่ไม่มีใครกล้ายุ่งเกี่ยวอีก (แม้หลายรัฐบาลอยากทำใจจะขาด) ทุกวันนี้ รัฐบาลได้รายได้จากลอตเตอรี่งวดละประมาณ 1,657 ล้านบาท เงินก้อนนี้วิ่งเข้าไปรวมกับเงินอื่น ๆ ในคลัง ก่อนนำไปจัดสรรตามลำดับความสำคัญของนโยบายแต่ละรัฐบาล แต่ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ จากศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ไม่เห็นด้วย และชี้ว่า ระบบนี้ทำให้กองทุนต่าง ๆ ที่ควรได้รับงบประมาณมากขึ้น เช่น เรื่องวัฒนธรรม คนชรา กีฬา ผู้พิการ และคนด้อยโอกาส ไม่มีโอกาสได้รับงบประมาณที่ควรจะได้
“เราอยากให้เป็นสลากเพื่อสังคมค่ะ ไม่ใช่เพื่อการหารายได้ให้รัฐบาล” เธอยกตัวอย่างระบบสลากกินแบ่งในประเทศอังกฤษที่รายได้ร้อยละ 28 นำเข้ากองทุนจัดสรรเงินรายได้เพื่อสาธารณประโยชน์ มีคณะกรรมการกำกับดูแลว่าจะนำเงินไปใช้อย่างไร และเปิดโอกาสให้ประชาชนลงประชามติว่าต้องการให้นำเงินไปช่วยเหลือสาธารณประโยชน์ด้านใดเสียงเรียกร้องให้ปฏิรูปสลากกินแบ่งรัฐบาลดังมานานแล้ว ดร.นวลน้อยชี้ว่า แม้แต่การแก้ปัญหาสลากเกินราคาสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลยังแก้ไม่ได้
“ถ้าผลิตสินค้าออกมาแล้วปล่อยให้ขายเกินราคา นั่นย่อมสะท้อนความล้มเหลวของการจัดการทั้งหมด นี่คือสินค้าของรัฐนะคะ” ขณะที่หวยใต้ดินเป็นเหมือนวิญญาณอมตะ ว่ากันว่าวงการหวยใต้ดินมีเงินหมุนเวียนมากกว่าแสนล้านบาท คนเล่นมากกว่า 20 ล้านคน และมีสารพัดกลเกมให้ได้ลุ้น ทั้งการลุ้นเลขสามตัวหน้ารางวัลที่หนึ่ง การแทงเลขเดี่ยว การให้เครดิตแทงก่อนจ่ายทีหลัง ไปจนถึงโปรโมชั่นลดราคาหวยใต้ดินเป็นระบบการพนันแบบอัตราต่อรอง ซึ่งเจ้ามือจะมีความเสี่ยงระหว่าง “รวยไปเลย” กับ “เจ๊งไปเลย” นักสังคมศาสตร์ชี้ว่า หวยใต้ดินมองได้หลายมิติ ทั้งกิจกรรมทางสังคมของแม่บ้าน การลงทุน และกิจกรรมนันทนาการ การช่วงชิงหวยใต้ดินให้กลับขึ้นมาอยู่บนดินอีกครั้งเป็นแนวคิดที่รัฐบาลทุกสมัยจับตามอง แต่อุปสรรคคือความโปร่งใส
“ทุกวันนี้หวยใต้ดินอยู่ได้เพราะประชาชนคิดว่าเลขออกโดยรัฐ เจ้ามือไม่เกี่ยว” ดร.นวลน้อยบอก เธอเล่าถึงผลสำรวจหนึ่งที่ชี้ว่า ประชาชนเกินกว่าครึ่งเชื่อว่าการออกรางวัลมี “เลขล็อก” เหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นจริงมาแล้วสองงวด “จริงหรือไม่จริงอันนี้ไม่รู้นะคะ แต่เมื่อภาพลักษณ์เสียไปแล้ว พอมาทำหวยบนดินก็จะไม่ประสบความสำเร็จอีกแน่ ๆ ค่ะ”
กลางเดือนมกราคมก่อนหวยออกหนึ่งวัน ลานจอดรถของวัดพระธาตุดอยคำคลาคลํ่าไปด้วยรถยนต์จากทั่วสารทิศ ทุกครั้งที่มีรถถอยเข้าซองจอด บรรดาพ่อค้าแม่ขายลอตเตอรี่จะกรูกันเข้าไปช่วยอำนวยความสะดวกพร้อมกับยื่นสลากกินแบ่งรัฐบาลที่เลขท้ายสองตัวตรงกับทะเบียนรถคันนั้น ๆ หรืออย่างน้อยก็ใกล้เคียง “ที่นี่ลอตเตอรี่ขายดีมากครับ มีเท่าไรก็ไม่พอขาย” สมนึก สุธรรมา บอก “ผมเคยไปมาทั่วประเทศแล้วครับที่ไหนดัง เราจะไปที่นั่น” เขายิ้ม สมนึกเป็นชาวอำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย ขายลอตเตอรี่มากว่า 20 ปีแล้ว เขาขับรถมากับญาติและเพื่อนบ้านจากอำเภอวังสะพุงกว่า 8 ชั่วโมงเพื่อมาขายลอตเตอรี่ที่เชียงใหม่ตั้งแต่ยอดดอยถึงริมทะเล
เราจะพบคนขายลอตเตอรี่ได้ทุกที่ แต่ข้อสงสัยแรก ๆ ของผมคือ ทำไมคนขายลอตเตอรี่ส่วนใหญ่จึงมาจากจังหวัดเลย “ผมคิดว่าเพราะลอตเตอรี่ต้องใช้เงินลงทุนเยอะ การจะชวนใครไปขายก็ต้องรู้จักกันก่อนในระดับหนึ่งครับ” บรรพตให้ความเห็น “แต่เท่าที่ผมรู้ คนที่ไปขายคนแรกมาจากตำบลทรายขาว กลับมามีบ้านมีรถ เลยชวนญาติพี่น้องไปกัน” เขาหมายถึงตำบลทรายขาว อำเภอวังสะพุง จังหวัดเลย (ผมตามหาบุคคลที่ว่าไม่พบ บางคนลงความเห็นว่าเขาอาจเสียชีวิตไปแล้ว) แต่ที่แน่ ๆ เขาคงเป็นคนแรก ๆ ที่แผ้วถางเส้นทางสายลอตเตอรี่ในฐานะ “ทางลัดช่วยให้เซลล์แมนชนบทลืมตาอ้าปากได้” และเป็นต้นแบบหรือโมเดลการขายลอตเตอรี่ในปัจจุบัน
ยกตัวอย่างเช่นหากคุณมีเงินทุนสักก้อนหนึ่ง (ไม่ได้หยิบยืมมา) การลงทุนซื้อลอตเตอรี่สักชุดจากตลาดขายส่งมาขายต่อเป็นวิธีง่ายที่สุด แน่นอนเงินลงทุนค่อนข้างสูงนั่นคือความเสี่ยงที่คุณเลือกเอง ถ้าโชคดีก็ได้กำไรร้อยละ 25-30 แต่หากไม่มีเงินมากนัก คุณคงต้องพึ่งพาเถ้าแก่นั่นคือคนที่มีฐานะสักหน่อยในชุมชน เขาจะไปรับลอตเตอรี่จำนวนมากจากตลาดค้าส่งมาจัดชุดให้คุณขาย โดยที่คุณยังไม่ต้องควักเงินสักบาท คุณอาจจะรับมาสักสิบเล่ม (1,000 คู่) ในราคาหนึ่ง (ผมตีให้คู่ละ 95 บาท) และนำไปบวกเพิ่มในอีกราคาหนึ่ง (เช่นคู่ละ 110 บาท) เถ้าแก่จะมีรถรับ-ส่ง รวมถึงที่พักในจังหวัดที่คุณไปขายบางรายอาจมีข้าวปลารายวันให้ด้วย หลังการขายในแต่ละวัน คุณต้องทยอยจ่ายค่าลอตเตอรี่ที่ขายได้ให้เถ้าแก่จนครบหนี้ และส่วนที่เหลือคือกำไรของคุณ โดยเฉลี่ย ถ้าคุณขายหมดเกลี้ยง 1,000 คู่ กำไรคู่ละ 15 บาท ก็เท่ากับ 15,000 บาทต่องวด เดือนหนึ่งขายได้สองงวดเท่ากับ 30,000 บาท “เป็นรายได้ที่คนจบแค่ ป.4 หรือป.6 หาไม่ได้หรอกครับ” บรรพตบอก
แต่เอาเข้าจริงการขายลอตเตอรี่ไม่ใช่งานที่ใครก็ทำได้ บรรพตบอกว่า “เหมือนชวนคนไปหาปลาในหนองเดียวกันย่อมได้ปลาไม่เท่ากัน” ในกรณีที่คุณขายลอตเตอรี่ไม่หมดไม่มีใครรับซื้อคืน คุณต้องเก็บส่วนที่เหลือไว้เอง แล้วความหวังเดียวก็คือลุ้นให้หนึ่งใน “ของเหลือ” เหล่านั้นถูกรางวัลบ้างเพื่อนำมาจ่ายหนี้ นี่เป็นผลจากนโยบายของสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลที่ไม่รับซื้อคืนลอตเตอรี่ แน่นอนกรณีนี้ทำให้สำนักงานสลากฯ ลอยตัวและได้เงินเต็มเม็ดเต็มหน่วยในแต่ละงวด แต่สำหรับพ่อค้าแม่ขายรายย่อยแล้ว นี่คือแรงกดดันและทำให้หนี้สินเพิ่มขึ้น
ละมัย พันเงิน เป็นแม่ค้าอีกคนที่รับลอตเตอรี่จากเถ้าแก่มาขาย งวดไหนขายไม่หมด (และไม่ถูกรางวัล) หนี้จะทบกับของเก่าที่ค้างอยู่ บวกด้วยดอกเบี้ย เธอหยิบลอตเตอรี่ปึกหนึ่งออกมาให้ดูพร้อมใบเสร็จรับเงิน งวดนี้เธอรับมา 5 เล่ม หรือ 500 คู่ (เล่มละ 9,400 บาท) คิดเป็นเงิน 47,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยจากเงินค้างเก่าอีก 705 บาท (เธอไม่แน่ใจว่าเท่าไร) “ไม่แน่ใจค่ะ แต่เค้าเขียนมาอย่างนี้ก็ต้องหาไปจ่ายเขา” เธอบอก ไม่กี่เดือนก่อน ละมัยเพิ่งเสียสามีคู่ทุกข์คู่ยากไปจากอุบัติเหตุรถชนระหว่างไปขายลอตเตอรี่ที่จังหวัดชลบุรี ขณะที่นงนุช พันเงิน ลูกสาวของเธอ ก็แยกทางกับสามี ส่วนหลานชายเลิกเรียนกลางคัน
“พอแม่ไม่ค่อยได้อยู่กับเค้า ก็เป็นอย่างนี้แหละค่ะ” นงนุชบอก แม้ว่าอาชีพขายลอตเตอรี่จะเป็นความหวังของคนชนบท แต่เหรียญอีกด้านหนึ่งช่างน่าสะพรึง โครงสร้างสังคมชนบทส่วนหนึ่งเปลี่ยนไปเพราะลอตเตอรี่ ในช่วงขายลอตเตอรี่ เกือบทุกหมู่บ้านในจังหวัดเลยจะเงียบเหงา มีเพียงผู้เฒ่าและเด็กเล็ก เป็นที่รู้กันว่าการหย่าร้าง ชู้สาว หนี้สิน การพนัน ติดเหล้า อุบัติเหตุไปจนถึงการฆ่าตัวตาย มีอัตราค่อนข้างสูงในหมู่คนขายลอตเตอรี่ แรงกดดันจากหนี้สินและสิ่งล่อใจทำให้หลายคน “หลุด” จนกู่ไม่กลับ ที่หมู่บ้านของละมัยมีคนกินยาฆ่าหญ้าตายเพื่อหนีหนี้สิน ละมัยบอกว่า “ไม่รู้สิคะทำอย่างอื่นก็ไม่ได้แล้ว คงต้องขายลอตเตอรี่ไปเรื่อย ๆ ที่ดินทำกินเราก็ไม่มี ผู้ชายบ้านนี้ก็ไม่มีแล้ว”
เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย บัณฑิต โชติสุวรรณเ
เรียบเรียงจากสารคดี “เรื่องไม่ (ลับ) ในวงหวย” ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ภาษาไทย ฉบับเดือนมีนาคม 2558
หมายเหตุ ระบบการจัดสรรโควตาหวยและการแก้ไขปัญหาลอตเตอร์รีขายเกินราคาได้รับการแก้ไขและยกเครื่องใหม่โดยรัฐบาล คสช. นับตั้งแต่สารคดีเรื่องนี้ได้รับการตีพิมพ์
อ่านเพิ่มเติม