ปราการมองไม่เห็นที่แบ่งเขาแบ่งเรา

ปราการมองไม่เห็นที่แบ่งเขาแบ่งเรา

ความจริงข้อหนึ่งที่เกิดขึ้นทั่วโลกคือ ผู้คนอยู่ร่วมกันอย่างราบรื่นมาเป็นสิบๆ ปี หรือกระทั่งเป็นร้อยๆ ปีข้ามเส้นแบ่งทางเชื้อชาติ ศาสนา หรือวัฒนธรรม แต่แล้วจู่ๆ ใบหน้าที่คุ้นเคยกลับกลายเป็น “พวกเขา” หรือ “พวกศัตรู” หรือ “คนอื่น” และในความขัดแย้งระหว่างกลุ่ม ความเป็นปัจเจกจะมลายหายไป ความเข้าอกเข้าใจจะเหือดแห้งไปสิ้น  เช่นเดียวกับความไว้เนื้อเชื่อใจ

การแบ่งเขาแบ่งเราสามารถเกิดขึ้นได้ระหว่างกลุ่มคนเลี้ยงสัตว์และชาวไร่ในไนจีเรียหรือระหว่างคนท้องถิ่นโดยกำเนิดกับผู้อพยพในฝรั่งเศสหรือในสหรัฐอเมริกา สถานการณ์เหล่านี้มีความแตกต่างกันอยู่มาก  และความแตกต่างก็เป็นเรื่องสำคัญ ทว่ารากฐานร่วมของปัญหาก็เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน นั่นคือ ผู้คนทุกหนแห่งมี “ความคลั่งอัตลักษณ์” ดังคำกล่าวของจอห์น ทูบี นักจิตวิทยาวิวัฒนาการ เราทุกคนล้วนอดไม่ได้ เราถูกกำหนดมาแต่กำเนิดให้แบ่งแย่งระหว่าง “พวกเรา” กับ “พวกเขา” และเราหลีกเลี่ยงไม่ได้ (บางครั้งโดยไม่รู้ตัว) ที่จะเอนเอียงมาทางฝ่าย “พวกเรา” โดยเฉพาะเมื่อรู้สึกมีภัยคุกคาม

ใกล้กับเมืองโจฮันเนสเบิร์ก ประเทศแอฟริกาใต้ ทางหลวงสายหนึ่งตัดผ่านและแยกสองชุมชนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง คือย่านพริมโรสที่มีคนผิวขาวชนชั้นกลางอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ กับนิคมมาโกสที่เหล่าคนงานเหมืองทอง ตกงานย้ายเข้ามาอาศัยในช่วงทศวรรษ 1990 ลูกบ้านเกือบทั้งหมดของนิคมนี้เป็นคนผิวดำ

แน่นอนว่ามนุษย์มีลักษณะนิสัยนี้ร่วมกับสิ่งมีชีวิตอื่นๆ จำนวนมาก ตั้งแต่มดไปจนถึงปลาแซลมอนและลิง แต่สิ่งที่สัตว์อื่นๆ แทบไม่มีทางทำคือ  การเปลี่ยนการรับรู้และการกระทำของกลุ่ม วิหคและหมู่ภมรล้วนอยู่แต่ในเผ่าใครเผ่ามัน  ขณะที่ชาวยูโกสลาเวียกลายเป็นชาวโครแอต เซิร์บ และบอสเนีย ที่ลุกขึ้นมาห้ำหั่นกันได้ มีแต่มนุษย์เท่านั้น เช่นชนเผ่าฮูตูและชนเผ่าทุตซี ที่ตัดสินใจว่าจะไม่เป็นเพื่อนร่วมชาติกันอีกต่อไป หลังจากอาศัยในแผ่นดินเกิดเดียวกันอย่างสันติมาหลายร้อยปี

ขณะเดียวกันความสามารถของเราในการเปลี่ยนการรับรู้ก็ยังพอเป็นความหวังอยู่บ้าง เพราะเอื้อให้คนสามารถเปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดไปในทิศทางที่เปิดกว้างมากขึ้น ยุติธรรมมากขึ้น และสันติสุขมากขึ้นได้ ในไนจีเรียและที่อื่นๆ ทั่วโลก ชุมชนต่างๆ ที่แตกแยกเพราะความขัดแย้งระหว่างกลุ่มกำลังหันหน้าเข้าหากันมากขึ้นโดยอาศัยความช่วยเหลือจากแหล่งที่น่าประหลาดใจ  นั่นคือบรรดานักวิทยาศาสตร์ผู้ศึกษาความรู้สึกนึกคิดและจิตใจของผู้คนว่าเหตุใดผู้คนจึงแบ่งเขาแบ่งเรา?

เจ้าหน้าที่ตำรวจในสังกัดกรมตำรวจเมืองสโปเคน ซึ่งมีนิก บริกส์รวมอยู่ด้วย พัฒนาทักษะต้านความลำเอียงโดยอาศัยการฝึกด้วยเหตุการณ์จำลองที่มหาวิทยาลัยวอชิงตันสเตตในเมืองสโปเคน เหตุการณ์จำลองที่เหมือนจริงช่วยฝึกเจ้าหน้าที่หน้าที่ตำรวจให้เลือกใช้เบาะแสชี้นำที่แท้จริง ไม่ใช่ใช้เบาะแสแบบเหมารวม เมื่อต้องตัดสินใจว่าจะต้องใช้กำลังระดับอาจถึงแก่ชีวิตหรือไม่

 

ผมเป็นเสือดาว

เจย์ แวน แบเวล นักประสาทวิทยาศาสตร์ สังกัดมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก ผู้ศึกษาเรื่องอัตลักษณ์กลุ่ม จำแนกผมเป็นสมาชิกกลุ่มเสือดาวเมื่อฤดูร้อนปีที่ผ่านมา  ระหว่างที่ผมนอนอยู่ในเครื่องสแกนเอฟเอ็มอาร์ไอ (functional magnetic resonance imaging: fMRI) ใกล้กับสำนักงานของเขา ทีมงานให้ผมดูภาพถ่ายใบหน้าจำนวนหนึ่งซึ่งประกอบไปด้วยชายหนุ่มผิวขาว 12 คน และชายหนุ่มผิวดำ 12 คน เครื่องสแกนติดตามกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองของผมระหว่างที่ผมเชื่อมโยงบุคคลเหล่านั้นกับอัตลักษณ์กลุ่มต่างๆ ความที่ถูกเลี้ยงดูและเติบโตขึ้นในสหรัฐฯ ผมจึงอยู่กับการจำแนกเชื้อชาติในประเทศของผมมาตลอดชีวิต ดังนั้นผมจึงทำกิจกรรมหนึ่งที่อยู่ในการทดลองได้ไม่ยาก  นั่นคือการจัดแต่ละใบหน้าเข้ากลุ่มตามสีผิว ไม่ผิวดำก็ผิวขาว อย่างไรก็ตาม ผมต้องทำการจัดหมวดหมู่อีกชุดหนึ่งด้วย  ผมได้รับการบอกกล่าวว่า เหล่าชายหนุ่มในภาพเป็นสมาชิกของทีมใดทีมหนึ่ง คือทีมเสือกับทีมเสือดาว  ภาพที่ฉายขึ้นบนจอบอกให้ผมรู้ว่า ใครอยู่ทีมไหน และป้อนรายละเอียดให้ผมเรื่อยๆ จนผมเข้าใจอย่างชัดเจน แต่ปรากฏว่าผมไม่ใช่ผู้สังเกตที่เป็นกลาง ทีมทดลองบอกกับผมว่า ผมเป็นทีมเสือดาว

ภารกิจที่ผมทำระหว่างการสแกนสมอง (ซึ่งยึดตามการทดลองที่แวน แบเวลและทีมของเขาทำเมื่อปี 2008) เอื้อให้แวน แบเวลเปรียบเทียบกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสมองผมระหว่างที่มันทำงานอยู่ อันดับแรกคือขณะจำแนกอัตลักษณ์กลุ่มซึ่งคุ้นเคยและมีผลต่อเนื่อง (คือเชื้อชาติในอเมริกา) ต่อมาก็คือขณะจำแนกอัตลักษณ์กลุ่มที่ไม่มีความหมายอะไรในเชิงผลลัพธ์

เช่นเดียวกับสมองของคนอื่นๆ ในการทดลองจริง สมองผมสว่างเรืองขึ้นในบริเวณต่างกันไปขึ้นอยู่กับว่าขณะนั้นผมกำลังรับรู้ใบหน้าของคนในกลุ่มตัวเอง (ซึ่งในกรณีผมคือสมาชิกทีมเสือดาว) หรือใบหน้าของคนนอกกลุ่ม (ทีมเสือ)  ยกตัวอย่างเช่น  สมองส่วนออร์บิโทฟรอนทัลคอร์เท็กซ์ (orbitofrontal cortex) ของผม ซึ่งเป็นบริเวณของสมองที่เชื่อมโยงกับความชื่นชอบ สว่างวาบมากขึ้นมากกว่าเมื่อผมเห็นใบหน้าของคนในกลุ่มตัวเอง ไม่ต่างกับที่เกิดขึ้นในสมองส่วนฟิวซิฟอร์มไจรัส (fusiform gyrus) ซึ่งเป็นบริเวณของสมองที่เชื่อมโยงกับการประมวลอัตลักษณ์ใบหน้า

ที่ด่านตรวจ 300 ใกล้กับเมืองเบทลิเฮม ชาวปาเลสไตน์จากเขตเวสต์แบงก์เข้าแถวรอการตรวจสอบเพื่อผ่านเข้าไปยังเขตอิสราเอล บางคนปีนขึ้นกำแพงเพื่อแซงคิว คนงานนับพันคนอดทนฝ่าฟันความยากลำบากรายวันนี้เพื่อแลกกับงานที่ให้ค่าแรงสูงกว่าในอิสราเอล ความแตกต่างด้านโอกาสทางเศรษฐกิจมักตอกย้ำการแบ่งแยกบนพื้นฐานของศาสนา ชาติพันธุ์ หรือการอ้างสิทธิ์เหนือดินแดนกับคู่อริให้เลวร้ายลง

การทดลองดังกล่าวรวมทั้งการทดลองทำนองเดียวกันอื่นๆ อีกหลายสิบชิ้นในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา ล้วนยืนยันถึงข้อเท็จจริงสำคัญหลายประการที่บ่งชี้ว่า สมองของมนุษย์นั้นมี “ความคลั่งอัตลักษณ์” มากเพียงใด  ประการหนึ่งคือผลการสแกนเผยให้เห็นว่า  การรับรู้และอารมณ์ของเราที่มีต่อคนกลุ่มต่างๆ เกิดขึ้นนอกเหนือภาวะตระหนักรู้หรือการควบคุมของเรา  ผมไม่มีความลำเอียงไปทางคนผิวขาวมากกว่าคนผิวดำในระดับจิตรู้สำนึก กระนั้น  หากผมไม่ได้รับการบอกล่าวว่า  ผมเป็นทีมเสือดาว  ก็เกือบจะมั่นใจได้เลยว่า  ผมคงเผยความเอนเอียงไปทางใบหน้าคนขาวมากกว่าใบหน้าคนดำออกมาโดยไม่รู้ตัวเป็นแน่  แต่ที่ผมไม่ทำเช่นนั้นแสดงถึงการค้นพบสำคัญอีกข้อหนึ่งในงานวิจัยของ แวน แบเวล นั่นคือ อัตลักษณ์ทีมชุดใหม่สามารถเข้าไปแทนที่อัตลักษณ์ชุดเดิมๆในความคิดของเราได้อย่างง่ายดายยิ่ง ทั้งหมดที่แวน แบเวิลต้องทำก็แค่บอกผมว่า  ใบหน้าทั้งหมดแบ่งออกเป็นสองทีม และแจ้งให้ทราบว่า ผมอยู่ทีมไหน เท่านั้นก็เพียงพอแล้วสำหรับสมองของผมที่จะเอนเอียงไปทางทีมเสือดาวมากกว่าทีมเสืออย่างชัดเจน และรวดเร็วพอๆ กับตอนจำแนกคนผิวดำกับคนผิวขาวออกจากกันในยามปกติทั่วไป

ผลการสแกนสมองสะท้อนข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งเกี่ยวกับความชอบรวมฝูงของมนุษย์ (human groupishness) กล่าวคือ  เรามีเรดาร์อันเฉียบคมคอยเรียนรู้ว่า รอบตัวเรานั้นคนกลุ่มไหนสำคัญต่อเรา กลุ่มไหนที่เราเป็นสมาชิกอยู่  เรดาร์ตัวนี้ทำงานอยู่ตลอดเวลา  แม้ขณะนั่งอยู่สบายๆ ท่ามกลางอัตลักษณ์ทางเชื้อชาติ ศาสนา ชนชาติ และอัตลักษณ์อื่นๆของเรา  จิตใจของเราก็ยังตื่นตัวมองหาความเป็นไปได้ที่จะสร้างพันธมิตรใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา

ไม่ใช่เรื่องยากที่จะเข้าใจได้ว่า เหตุใดมนุษย์จึงวิวัฒน์ไปในทางที่ต้องเอาใจใส่ทีมของตัวเอง รวมทั้งตำแหน่งแห่งที่ของตนในทีมนั้นๆ การพึ่งพาอาศัยกันเป็นกลยุทธ์การอยู่รอดที่สมเหตุสมผล สำหรับสิ่งมีชีวิตที่บอบบาง เอะอะโวยวาย ไม่มีอาวุธอะไรมากมายติดตัวมาแต่กำเนิด การใช้ชีวิตอยู่รวมกันเป็นหมู่เหล่าคือใบเบิกทางสู่การอยู่รอด ซึ่งก็คือเหตุผลที่ทำไมไพรเมตส่วนใหญ่จึงอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อันที่จริง ไม่มีสังคมมนุษย์แห่งใดเลยที่ปราศจากเส้นแบ่งอันชัดเจนที่จำแนกคนหลายหมู่เหล่าออกจากกัน

เรื่อง  เดวิด เบอร์เรบี

ภาพถ่าย  จอห์น สแตนเมเยอร์

 

อ่านเพิ่มเติม

สีผิวที่แตกต่าง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.