Ya Kaka และ Hauwa หัวเราะคิกคักให้กับภาพสตรีทอาร์ทที่หัวมุมถนนสายหนึ่ง บนเกาะแมนฮัตตัน เด็กสาวสวมชุดสีสันสดใสคลุมด้วยเสื้อกันหนาวตัวโคร่งอีกชั้น พวกเธอกำลังร่นรมย์กับช่วงเวลาอิสระที่ได้เป็นตัวของตัวเอง หลังหนีรอดจากเงื้อมือของกลุ่มก่อการร้ายหัวรุนแรงชาวมุสลิมที่น่าหวาดหวั่นที่สุดในไนจีเรียมาได้ “โบโกฮาราม”
“เราไม่เคยคิดมาก่อนว่าเราจะมีวันนี้ได้” Ya Kaka กล่าวถึงการเดินทางไม่คาดฝันที่พาเธอมายังสหรัฐอเมริกา เธอสวมหมวกที่พิมพ์ข้อความว่า “Washington, D.C.” ตัวหมวกประดับด้วยพู่สีขาว “ฉันไม่คิดเลยว่าจะรอดมาได้” เธอกล่าว
Ya Kaka และ Hauwa ไม่เคยรู้จักกันมาก่อน แต่ทั้งคู่เผชิญกับฝันร้ายจากโบโกฮาราม และต้องการช่วยเหลือเด็กสาวที่รอดชีวิตหรือยังคงตกเป็นตัวประกันเหมือนกัน การเดินทางบอกเล่าประสบการณ์เลวร้ายที่เธอทั้งคู่เจอมาพาพวกเธอออกจากเมืองไมดูกูรี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย มายังเกาะแมนฮัตตัน ด้วยความร่วมมือจาก Too Young To Wed องค์กรไม่แสวงผลกำไร เด็กสาวได้พบกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลและเจ้าหน้าที่จากยูเอ็นในฐานะทูตคนสำคัญที่ช่วยสร้างความตระหนักถึงภัยคุกคามจากโบโกฮาราม รวมถึงกระตุ้นให้หน่วยงานระหว่างประเทศให้ความช่วยเหลือแก่บรรดาผู้ได้รับผลกระทบจากกลุ่มก่อการร้ายนี้
“ฉันรู้ว่าฉันทิ้งเพื่อนร่วมชะตากรรมอีกหลายพันคนไว้ในป่า และอีกหลายพันคนตามท้องถนนของไมดูกูรี” Ya Kaka กล่าว “สิ่งที่ดีที่สุดที่ฉันทำได้คือส่งเสียงให้โลกรู้ว่าเกิดอะไรขึ้น”
สองคนจากพันคนที่รอดมาได้
โบโกฮารามสร้างวีรกรรมให้ทั่วโลกต้องหันมาสนใจในปี 2014 เมื่อพวกเขาลักพาตัวเด็กสาวจำนวน 276 คน จากโรงเรียนกินนอนในเมืองชิบอค ของไนจีเรีย ก่อให้เกิดแคมเปญและแฮชแทก #BringBackOurGirls ขึ้นบนโลกออนไลน์ ทว่าในความเป็นจริงแล้ว โบโกฮารามออกอาละวาดและคุกคามชีวิตของชาวไนจีเรียมาตั้งแต่ปี 2009 ปฏิบัติการก่อการร้ายของพวกเขาส่งผลให้ประชาชนราว 2.5 ล้านคนต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น มากกว่า 20,000 คนเสียชีวิต และอีกหลายพันคนถูกลักพาตัวไป โบโกฮารามจับเด็กผู้หญิงเหล่านี้ไปเพื่อแต่งงานและใช้บำเรอกาม เพื่อที่ว่าเด็กๆ ที่เกิดจากเด็กสาวที่ถูกลักพาตัวนี้จะได้กลายมาเป็นสมาชิกรุ่นใหม่ของโบโกฮาราม
กุมภาพันธ์ ปี 2018 โบโกฮารามเรียกความสนใจจากประชาคมโลกได้อีกครั้ง เมื่อพวกเขาลักพาตัวเด็กหญิงรอบใหม่จำนวน 110 คน จากเมืองดับชี ทางตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรีย
Ya Kaka อายุ 15 ปี ในตอนที่นักรบของโบโกฮารามโจมตีหมู่บ้านเธอ ในปี 2014 เธอถูกลักพาตัวไปพน้อมกับน้องชายวัย 6 ขวบและน้องสาววัย 5 ขวบ ที่ ณ ตอนนี้ยังคงไม่ทราบชะตากรรม
Hauwa อายุ 14 ปี ในตอนที่โบโกฮารามถล่มบ้านของเธอเพื่อตามหาตัวพี่ชาย พวกเขาหาไม่พบจึงขอตัว Hauwa ไปเป็นเจ้าสาวแทน พ่อของเธอปฏิเสธ โบโกฮารามจึงฆ่าพ่อและแม่เลี้ยงของเธอ ก่อนที่จะลักพาตัวเธอมา
ทั้งคู่ถูกพาไปยังค่ายที่ตั้งอยู่ในป่า Sambisa ของไนจีเรีย เธอถูกบังคับให้แต่งงานและถูกข่มขืนซ้ำแล้วซ้ำเล่าโดยสามีตัวเองและสมาชิกโบโกฮารามคนอื่นๆ ในค่าย ซึ่ง Ya Kaka บรรยายว่าปฏิบัติต่อเธอเหมือนเป็นทาส
ปัจจุบัน Ya Kaka และ Hauwa อายุ 19 และ 18 ปี ตามลำดับ Ya Kaka เล่าว่าช่วงเวลาอันขมขื่นของเธอยาวนานมากกว่าหนึ่งปี ส่วนของ Hauwa นานประมาณ 9 เดือน พวกเธอคิดถึงบ้านและอาหารดีๆ “ฉันเห็นพ่อตัวเองโดนฆ่าตายและตามมาด้วยแม่เลี้ยง” Hauwa กล่าว “ฉันคิดเสมอว่าแม่จะอยู่ที่ไหน? จะรู้ไหมว่าเกิดอะไรขึ้นกับฉัน? แล้วแม่จะรู้สึกยังไง?”
และก็ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ที่กระตุ้นให้พวกเธอหนีออกมาจากขุมนรก
ในหมู่บ้านของ Ya Kaka เมื่อใครสักคนให้กำเนิดลุูก เธอจะได้สิทธิพิเศษสามารถว่างเว้นจากความรับผิดชอบที่ต้องทำได้ เพื่อดูแลลูก แต่ไม่ใช่กับในค่ายของโบโกฮาราม เธอได้รับการปฏิบัติเช่นทาสและได้กินอาหารเพียงน้อยนิด และเมื่อคลอดลูกออกมา เธอคิดอย่างเดียวว่าจะต้องหนีออกไปจากที่นี่ให้ได้ เธอพบกับเด็กหญิงอีกสามคนที่คิดแบบเดียวกัน ทั้งหมดจึงวางแผน “พวกเธอพูดว่า เราต้องหนี หนีไปให้ได้” Ya Kaka กล่าว “จากนั้นเพียงสองสามวันต่อมา เราก็หนีจริงๆ”
ส่วน Hauwa เล่าว่าเธอเริ่มวางแผนที่จะหนีก็ตอนที่ร่างกายส่งสัญญาณว่าเธอใกล้จะคลอดลูก เธอไม่สามารถคลอดลูกในค่ายได้ เพราะจะไม่มีใครช่วยเธอ “ฉันรู้ว่าถ้าคลอดลูกในนั้นต้องตายแน่ๆ” เธอกล่าว “ต้องหนีอย่างเดียว”
โศกนาฏกรรมซ้ำสอง
เด็กสาวทั้งคู่ใช้เวลาหลายสัปดาห์รอนแรมในป่ากว่าจะเจอที่ปลอดภัย น่าเศร้าที่ทารกไม่สามารถรอดชีวิตได้ ชะตากรรมต่อมาที่พวกเธอต้องเจอหลังหลบหนีจากโบโกฮารามมาได้แล้วกลับพบว่าครอบครัวไม่ยอมรับ หรือไม่ก็ไม่มีครอบครัวรอพวกเธออีกแล้ว พวกเธอเดินเตร็ดเตร่ไปทั่วเมืองอย่างไม่มีจุดหมายปลายทาง พร้อมด้วยเสื้อผ้าที่ขาดรุ่งริ่ง ทั้งยังไม่สามารถกลับเข้าไปใช้ชีวิตเช่นเดิมในสังคมได้ เมื่อถูกตราหน้าว่าเป็นเจ้าสาวของโบโกฮาราม ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่านี่คือโศกนาฏกรรมซ้ำสอง ซึ่ง Hauwa เล่าเรื่องราวให้ฟังเมื่อเดินทางไปถึงเมืองไมดูกูรี
Hauwa บอกเล่าถึงวิธีที่ผู้คนเลือกปฏิบัติต่อเธอตามท้องถนน เมื่อรู้ว่าเธอคือ “เจ้าสาวของโบโกฮาราม” พวกเขาพูดจาถากถาง เยาะเย้ย หลายชุมชนไม่ให้การต้อนรับด้วยความกลัวว่าภรรยาของกลุ่มก่อการร้ายเหล่านี้อาจโดนล้างสมองไปแล้ว และอาจจุดระเบิดฆ่าตัวตายได้ทุกเมื่อ ในขณะที่ Ya Kaka เองเผชิญชะตากรรมไม่ต่างกัน
ทั้งคู่ขอความช่วยเหลือจากองค์กร Too Young To Wed เพื่อให้พวกเธอได้ชีวิตใหม่คืนมา ทางองค์กรมอบสิ่งของที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตและส่งพวกเธอให้เข้าศึกษาต่อในโรงเรียน
โปรดช่วยเหลือเจ้าสาวโบโกฮาราม
เวลาผ่านไปไม่กี่ปี ทั้ง Ya Kaka และ Hauwa เปลี่ยนจากเหยื่อผู้รอดชีวิตมาเป็นผู้ให้ความสนับสนุนช่วยเหลือ ด้วยการแบ่งปันประสบการณ์เลวร้ายที่เกิดขึ้น เรื่องราวจากพวกเธอกระตุ้นให้ผู้คนหันมาสนใจและช่วยเหลือเด็กสาวคนอื่นๆ ที่ยังคงต้องทนทุกข์ ในบ้านเกิดที่เธอจากมา Hauwa เล่าว่าไม่มีใครอยากฟังเรื่องของเจ้าสาวโบโกฮาราม แต่ที่สหรัฐอเมริกานั้นแตกต่าง พวกเธอได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นตลอดจนความเห็นใจ และภาคภูมิใจในสิ่งที่พวกเธอทำ
สำหรับเด็กสาวแล้ว เนื้อหาในสารที่พวกเธอกำลังส่งออกไปนั้นง่ายดาย: บางครั้งการเปลี่ยนอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่นการเปลี่ยนเสื้อผ้าก็ช่วยผู้รอดชีวิตจากโบโกฮารามได้มากแล้ว นอกจากนั้นการศึกษายังเป็นสิ่งสำคัญ หากบรรดาเด็กสาวผู้รอดชีวิตมีโอกาสได้กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้ง “พวกเธอจะหาวิธีเลี้ยงปากเลี้ยงท้องตัวเองได้” Ya Kaka กล่าว ซึ่งองค์กร Too Young To Wed เป็นผู้ออกทุนการศึกษาให้แก่ทั้งคู่ และพวกเธอคาดหวังว่าในอนาคตจะได้เป็นนักกฎหมายหญิง
แม้กระทั่งตอนนี้ เด็กสาวจากเมืองดับชีก็ยังคงต้องการความช่วยเหลือ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งที่ตัดขาดภูมิภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไนจีเรียออกจากประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยความรุนแรง
“ยังมีอีกหลายคนที่ติดอยู่ในค่าย” Hauwa กล่าว “พวกเขาจะไม่ได้ออกมาแบบเป็นๆ”
ตลอดเวลาที่พวกเธออยู่ในสหรัฐฯ เด็กสาวได้รับคำชื่นชมซึ่งจะบันดาลความกล้าหาญให้แก่พวกเธอในการต่อสู้ต่อไป “คำพูดเหล่านั้นช่วยให้เราเข้มแข็งขึ้น” Hauwa กล่าว “ที่เรากล้าหาญเช่นนี้ก็เพราะเราเชื่อว่าโลกยังไม่ทอดทิ้งเราค่ะ” Ya Kaka กล่าวเสริม
เรื่อง Alexandra E. Petri
ภาพถ่าย Stephanie Sinclair
อ่านเพิ่มเติม
เมื่อเกิดในอัฟกานิสถาน เด็กหญิงบางคนเลือกใช้ชีวิตในร่างเด็กชาย