บันทึกภาษาให้ทันก่อนสิ้นสูญ

บันทึกภาษาให้ทันก่อนสิ้นสูญ

ณ อาคารที่อยู่อาศัยระหว่างย่านบรูคลินและควีนส์ คือสถานที่ตั้งของ Gottscheer Hall ป้ายประกาศที่ติดอยู่ด้านหน้าเขียนเอาไว้ว่าสถานที่แห่งนี้รับจัดงานแต่งงานและอีเว้นต่างๆ ที่ด้านในประดับประดาด้วยภาพถ่ายของผู้ชนะการประกวด “Miss Gottschee” เมื่อหลายสิบปีก่อน “คุณต้องรู้ภาษาถึงจะชนะได้” Alfred Belay วัย 92 ปีกล่าว พลางชี้ไปที่ภาพของลูกสาวเขาที่ชนะการประกวดในทศวรรษ 1980 ทุกวันนี้ในการประกวดแต่ละปี ปรากฏว่ามีผู้เข้าแข่งขันเพียงคนเดียวเท่านั้น

Belay แวะเวียนมายัง Gottscheer Hall อย่างสม่ำเสมอ นับตั้งแต่เขาเดินทางมาถึงสหรัฐอเมริกาเมื่อ 60 ปีก่อน จากนั้นในละแวกนี้ก็เต็มไปด้วยผู้อพยพจากภูมิภาค Gottschee ซึ่งปัจจุบันกลายมาเป็นที่ราบสูงของประเทศสโลวาเนีย พวกเขาพูดภาษาเยอรมันแบบชาว Gottschee หรือที่เรียกกันว่าภาษา Gottscheerisch ปัจจุบัน Belay เป็นหนึ่งในไม่กี่พันคนที่ยังคงพูดภาษานี้ได้ และในทุกเทศกาลคริสต์มาสเขาจะกล่าวอวยพรเป็นภาษาอายุ 600 ปีนี้ ที่มีเพียงไม่กี่คนที่เข้าใจความหมาย

Belay และน้องสาวของเขา Martha Huntter วัย 83 ปี อนุญาตให้ Daniel Bogre Udell วัย 26 ปี บันทึกวิดีโอขณะที่สองพี่น้องสนทนากันในภาษาดั้งเดิม และเมื่อ Bogre Udell ตั้งกล้องเสร็จ ทั้งคู่ก็พ่นภาษาลึกลับในกลุ่มเจอร์แมนิกที่แสนจะเข้าใจยากออกมาอย่างน้ำไหลไฟดับ

 

ความหลากหลายของภาษา

การได้ยินภาษาแปลกๆ หายากในย่านควีนส์ของมหานครนิวยอร์ก ไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับ Bogre Udell ตัวเขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มีชื่อว่า Wikitongues แค่ในรัศมีระยะ 10 ไมล์ของนครนิวยอร์ก ก็มีภาษาที่ผู้คนพูดกันมากถึง 800 ภาษาแล้ว แต่สัดส่วนนี้คิดเป็นเพียง 10% จากภาษาทั้งหมดทั่วโลกที่ประมาณกันว่ามีราว 7,099 ภาษา และภารกิจขององค์กรนี้คือการบันทึกภาษาที่มีทั้งหมดไว้ก่อนที่จะสิ้นสูญและหายไปตามกาลเวลา

Bogre Udell พูดได้สี่ภาษา เขาได้พบกับ Frederico Andrade ที่พูดได้ถึงห้าภาษา ในโรงเรียน Parsons เมื่อปี 2014 พวกเขาตัดสินใจเปิดตัวโปรเจคที่เกิดจากความทะเยอทะยานของทั้งคู่ในการรวบรวมภาษาทั่วโลกเอาไว้ ณ ตอนนี้พวกเขารวบรวมได้ 350 ภาษาแล้ว และในสิ้นปีนี้คาดว่าจะรวมได้ทั้งหมด 1,000 ภาษา ซึ่งคุณผู้อ่านสามารถฟังตัวอย่างได้ผ่าน ช่องทางออนไลน์

“เมื่อมนุษย์สูญเสียภาษาใดภาษาหนึ่งไป นั่นหมายถึงการสูญเสียความหลากหลายในด้านศิลปะ, ดนตรี, วรรณกรรมและวัฒนธรรมอื่นๆ ด้วย” Bogre Udell กล่าว “มิเกล เดอ เซอร์วันเตสจะยังประพันธ์งานได้หรือไม่ ถ้าไม่ได้ใช้ภาษาสเปน? หรือบียอนเซ่จะร้องเพลงได้เหมือนเดิมไหมถ้าไม่ใช้ภาษาอังกฤษ?”

ในช่วงปี 1940 ถึง 2010 มีภาษาที่สูญหายหรือเรียกกันว่ากลายเป็นภาษาตายไปแล้วจำนวน 230 ภาษา ข้อมูลจาก UNESCO Atlas ทุกวันนี้หนึ่งในสามของภาษาทั้งหมดทั่วโลกมีผู้ใช้เหลือน้อยกว่าพันคน และทุกๆ สองสัปดาห์จะมีภาษาตายเกิดขึ้นเพิ่มอีกหนึ่งภาษา นั่นทำให้นักวิชาการคาดการณ์กันว่าในอีกศตวรรษหน้า ราว 50 – 90% ของภาษาในวันนี้จะหายไป

อย่างไรก็ตามในบางกรณีเจตจำนงทางการเมืองและการจดบันทึกอย่างละเอียดก็สามารถช่วยภาษาที่ตายแล้วให้กลับมาได้ เช่นภาษาฮีบรูที่เคยสูญหายไปในช่วงก่อนศตวรรษที่ 4 ก่อนคริสต์กาลถึงทศวรรษที่ 1800 หรือภาษาคาตาลันที่กลับมานิยมอีกครั้งในช่วงทศวรรษที่ 1970 เพราะรัฐบาล หรือกรณีภาษาของชนเผ่าไมอามี ในรัฐโอคลาโฮมา ที่ผู้พูดคนสุดท้ายเสียชีวิตไปแล้วเมื่อ 40 ปีก่อน แต่ภาษานี้สามารถกลับมาได้อีกครั้งในปี 2001 โดยนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยไมอามี ในโอไฮโอที่ศึกษามันอีกครั้ง ทุกวันนี้อินเตอร์เน็ตมีส่วนมากในการช่วยเชื่อมโยงผู้คนที่พูดภาษาหายากให้เข้าถึงคนอื่นๆ รวมไปถึงบรรดานักวิจัยและนักวิชาการ หรือแม้กระทั่งการแชทข้อความเองก็มีส่วนช่วยอนุรักษ์ภาษาไว้ แม้ว่าภาษานั้นๆ จะไม่มีรูปแบบการเขียนก็ตาม

ต่อให้ไม่มีบันทึกหรือไม่ทราบถิ่นที่ผู้คนใช้ภาษานั้นๆ แต่ Wikitongues สามารถรวบรวมภาษาที่ใกล้สูญสิ้นเหล่านี้ได้ ด้วยความร่วมแรงร่วมใจจากบรรดาอาสาสมัครทั่วโลกใน 40 ประเทศ ที่ช่วยบันทึกวิดีโอของเจ้าของภาษาตัวจริง ในบทสนทนาที่ให้ความแตกต่างของรูปประโยคอดีต ปัจจุบัน และอนาคต นอกจากนั้นพวกเขายังถูกขอให้เล่าถึงประสบการณ์ในวัยเด็ก หรือเรื่องราวโรแมนติก ถกเถียงถึงเป้าหมายชีวิตและความฝันอีกด้วย เพื่อให้ได้อารมณ์ของผู้สื่อสารออกมา

ยกตัวอย่างอาสาสมัครท่านหนึ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศวานูอาตู บนหมู่เกาะทะเลใต้แปซิฟิกพบเข้ากับภาษาที่นักภาษาศาสตร์เองก็ไม่เคยศึกษามาก่อน อาสาสมัครอีกท่านหนึ่งตามรอยภาษาเก่าไปจนเจอลูกหลานของชาวไอนุ ชนพื้นเมืองในญี่ปุ่นที่แยกตัวอย่างโดดเดี่ยวมานาน นั่นทำให้ภาษาของพวกเขายังคงเอกลักษณ์และไม่ได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่น

ทว่าเป้าหมายของ Wikitongue ยิ่งใหญ่กว่าการแค่เก็บรวบรวมบันทึก พวกเขามีแผนที่จะเปิดให้ผู้คนทั่วไปที่สนใจได้เรียนรู้ภาษาใกล้สูญเหล่านี้ด้วย แม้ว่าบรรดาเจ้าของภาษาจะเสียชีวิตไปแล้วก็ตาม ด้วยแอพพลิเคชั่น Poly ที่เอื้อให้ผู้ใช้งานสร้างพจนานุกรมภาษาขึ้นมาทั้งในรูปแบบของตัวอักษร, เสียง และวิดีโอ

 

ชาวไอนุนั่งเรียงรายให้ถ่ายภาพในทศวรรษ 1880 นักภาษาศาสตร์ระบุว่าพวกเขาไม่พบภาษาใดในโลกที่คล้ายคลึงกับภาษาของชาวไอนุ
ภาพถ่ายโดย Pump Park Vintage Photography/Alamy

คำที่หายไป

เมื่อไม่นานมานี้ หนึ่งในสองคนสุดท้ายที่พูดภาษา Saami ซึ่งเป็นภาษาถิ่นของทุ่งหญ้าสเต็ปในรัสเซียเพิ่งจะเสียชีวิตไปก่อนที่จะได้บันทึกวิดีโอกับ Wikitongue และพวกเขาประมาณกันว่าในอีก 5 ปีข้างหน้านี้จะมีอีกราว 500 ภาษาที่หายไปจากโลก

การประหัตประหารทางการเมือง, การขาดการอนุรักษ์ไปจนถึงโลกาภิวัฒน์ เหล่านี้คือปัจจัยที่ทำให้ความหลากหลายของภาษากำลังน้อยลงเรื่อยๆ ในช่วงศตวรรษที่ 20 รัฐบาลในหลายประเทศบังคับใช้ภาษาแก่ชนพื้นเมือง รู้หรือไม่ว่าตั้งแต่ยุโรปเข้ามาตั้งรกรากในออสเตรเลีย มีภาษาของชาวอะบอริจินสูญหายไปแล้วถึง 100 ภาษา และตลอด 50 ปีที่ผ่านมา เมื่อจีนผนวกทิเบตเข้าเป็นส่วนหนึ่งของตนหลายสิบสำเนียงภาษาต้องล้มหายไป ซึ่งจากผลการศึกษาใหม่เผยให้เห็นว่าการบีบบังคับใช้ภาษาส่งผลกระทบต่อผู้ใช้ตั้งแต่สุขภาพไปจนถึงการเข้าสังคม เช่น ในโรงเรียน

แต่การปราบปรามภาษาชนพื้นเมือง หาใช่ภัยคุกคามที่รุนแรงที่สุด “ภาษาส่วนใหญ่ทุกวันนี้ที่สูญหายไปไม่ใช่เพราะการประหัตประหาร แน่นอนว่าอาจเกิดในบางพื้นที่ แต่สาเหตุจริงๆ มาจากการที่ภาษานั้นๆ ไม่สามารถใช้อะไรได้ในชีวิตประจำวัน” Andrade กล่าว สิ่งนี้เกิดจากปัจจัยอื่นๆ เช่นการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ หรือการพัฒนาของเมืองที่กลืนกินชนบท ส่งผลให้ชาวบ้านต้องเรียนรู้ภาษาใหม่ในการติดต่อสื่อสารกับคนกลุ่มใหม่ เพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง

“การสูญสิ้นของภาษามันค่อยๆ ลุกลามเหมือนมะเร็งครับ ไม่ได้ล้มหายในพริบตาเหมือนยิงปืน”

ชาวเยอรมันในภูมิภาค Gottschee โพสต์ท่าถ่ายภาพในปี 1936 หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ผู้อยู่อาศัยหลายพันคนที่พูดภาษา Gottscheerisch ย้ายไปยังอเมริกา ทุกวันนี้เหลือผู้พูดภาษานี้ได้เพียงน้อยนิด
ภาพถ่ายโดย Sueddeutsche Zeitung Photo/Alamy

 

แด่คนรุ่นใหม่ในอนาคต

ใน Gottscheer Hall ทั้ง Belay และ Hutter ดูบุคลิกเปลี่ยนไปเมื่อได้พูดภาษาบ้านเกิด พวกเขายังร้องเพลงในภาษา Gottscheerisch ซึ่งเป็นเพลงกล่อมเด็กที่พวกเขายังคงจดจำได้ และทุกวันนี้เยอรมันเองยังคงสอนเพลงนี้ในห้องเรียนและในโบสถ์

ปี 1941 ภูมิภาค Gottschee ถูกยึดโดยอิตาลี ประชาชนถูกย้ายไปอาศัยยังค่ายพัก และในอีกสี่ปีต่อมา Gottscheer Relief Association ก็เปิดประตูต้อนรับผู้อพยพจาก Gottschee ที่เดินทางมาแสวงหาชีวิตใหม่ที่ดีกว่าในนิวยอร์ก ซึ่ง Hunter ยังจำได้ว่าในช่วงทศวรรษ 1950 ในละแวกที่เขาอยู่มีสมาชิกจากบ้านเกิดมากเสียจนเขาแทบไม่ได้ฝึกภาษาอังกฤษ

บรรดาผู้อพยพเหล่านี้สื่อสารกันด้วยภาษาบ้านเกิดก็จริง แต่พวกเขาเลี้ยงลูกหลานให้โตมากับภาษาอังกฤษ และเมื่อเวลาผ่านไป 60 ปี นี่เป็นครั้งแรกที่ Belay เริ่มต้นคุยกับหลานๆ ด้วยภาษา Gottscheerisch อย่างไรก็ตามสถานะของมันยังคงจัดอยู่ในภาษาที่ใกล้จะสาบสูญ

บนเส้นทางของภาษานี้ Gottscheerisch เป็นภาษาที่ไม่ค่อยมีรูปแบบการเขียน กระบวนการเรียนรู้ด้วยการฟังและจำยังคงมีมาจนถึงปี 1994 จนกระทั่งเมื่อ Hunter ตีพิมพ์พจนานุกรมคำศัพท์ 1,400 ซึ่งใช้เวลารวบรวมกว่า 5 ปีออกมา และเรียกได้ว่าเป็นพจนานุกรมอังกฤษ – Gottscheerisch เล่มแรก

“แต่เดิม Gottscheerisch ถูกเชื่อกันว่าไม่ใช่ใครก็จะเรียนได้ จึงไม่มีใครสนใจอยากเรียน” Hunter กล่าว “แต่ทุกภาษาสามารถเรียนรู้ได้ ฉันจึงคิดว่าหากภาษาเก่านี้ต้องตายลง จะไม่มีใครได้รู้อะไรเกี่ยวกับมันเลย”

“วิธีนี้เด็กๆ จะได้เรียนรู้มัน” Belay กล่าวเสริม

“ไม่เช่นนั้น เมื่อถึงวันข้างหน้าที่พวกเขาไม่พูดภาษานี้กันแล้ว” Hunter กล่าว “หากใครคนใดคนหนึ่งพูดขึ้นมาว่าบรรพบุรุษของพวกเราเคยพูดภาษานี้ เด็กๆ คงไม่เข้าใจว่ามันคือภาษาอะไรเป็นแน่”

เรื่อง Nina Strochlic

 

อ่านเพิ่มเติม

หากออเจ้าย้อนเวลาได้จริงจะคุยกับคุณพี่รู้เรื่องไหม?

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.