กลิ่นและสีของเส้นสายสีเหลืองขมิ้นที่ทาลงบนมือและใบหน้าของเจ้าสาว พร้อมด้วยแถบสีแดงของผงชาดที่ทาลงบนหนังศีรษะ คือหลักฐานที่บ่งชี้ว่าพิธีแต่งงานได้เกิดขึ้นแล้ว เจ้าสาวในพิธีนี้ยังเด็กเกินไปที่จะเข้าใจความหมายของการแต่งงาน ในขณะเดียวกันก็โตพอที่จะเข้าใจได้ว่าบรรดาผงเครื่องเทศที่แต่งแต้มตามตัวเธอนั้นมีความหมายว่าอย่างไร
เหล่านี้คือสิ่งที่ Saumya Khandelwal ช่างภาพหญิงจากรอยเตอร์วัย 27 ปี ในนิวเดลี ได้ยินมาจากเด็กสาวหลายคนในเมืองสาวัตถีที่ชีวิตไม่ได้โชคดีเช่นเธอ Khandelwal เกิดในเมืองลัคเนา โลกที่แตกต่างจากเมืองสาวัตถีอย่างสิ้นเชิง เธอและเพื่อนๆ เติบโตขึ้นมาด้วยความเข้าใจว่าการแต่งงานในวัยเด็กคืออะไร มันเกิดขึ้นเสมอในอินเดียและไม่ใช่แค่เฉพาะกับคนที่พวกเธอรู้จักเท่านั้น อีกทั้งไกลออกไป 120 ไมล์ ที่ชายแดนเนปาล เด็กหญิงวัย 8 ขวบก็ถูกครอบครัวของพวกเธอบังคับให้แต่งงานเช่นกัน
ปี 2015 Khandelwal เดินทางไปกลับระหว่างกรุงนิวเดลีและรัฐอุตตรประเทศ เพื่อบันทึกภาพของบรรดาเจ้าสาววัยเด็ก “ถ้าฉันเกิดในสาวัตถี หนึ่งในเจ้าสาวเหล่านั้นคงเป็นฉัน” เธอกล่าว
ในทางเทคนิคแล้ว การแต่งงานในวัยเด็กถือเป็นเรืองผิดกฎหมายในอินเดีย ปี 1929 รัฐบาลอินเดียผ่านกฎหมายห้ามจัดงานแต่งงานแก่เด็กสาวที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี และเด็กหนุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปี กฎหมายดังกล่าวได้รับการเขียนขึ้นใหม่อีกครั้งในปี 2006 ระบุเพิ่มเติมว่าบรรดาครอบครัวที่อนุญาตหรือสนับสนุนให้มีการจัดงานแต่งงานจะเผชิญกับบทลงโทษจำคุก 2 ปี โดยไม่มีเงื่อนไข
แม้ว่าอัตราการแต่งงานในวัยเด็กจะลดลงมากในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา แต่อินเดียก็ยังคงเป็นประเทศที่มีเจ้าสาวที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะมากที่สุดในโลก เฉลี่ย 1 ใน 4 ของผู้หญิงอินเดียแต่งงานตั้งแต่อายุ 18 ปี รายงานจากองค์กร Girls Not Brides และเกือบครึ่งของผู้หญิงอินเดียทั้งหมดแต่งงานตั้งแต่อายุก่อน 18 ปี รายงานจากสหประชาชาติ
ในตอนที่ Khandelwal ตัดสินใจหันกล้องถ่ายภาพไปหาเจ้าสาวเหล่านี้ เธอคาดหวังว่าสาเหตุหลักของการบังคับให้ลูกสาวแต่งงานน่าจะมาจากธรรมเนียมความเชื่อหรือการปกครองแบบพ่อเป็นใหญ่ในบ้าน แต่สิ่งที่เธอพบคือปัจจัยของการแต่งงานกลับมาจากความยากจน, การขาดการศึกษา ไปจนถึงปัญหาอื่นๆ ในชีวิต
ที่เมืองสาวัตถี Khandelwal ถามแม่ของเจ้าสาววัยเด็ก ผู้เคยผ่านประสบการณ์ถูกครอบครัวบังคับให้แต่งงานเช่นเดียวกันว่า เหตุใดจึงเลือกให้ลูกสาวเผชิญชะตากรรมเช่นตนเอง? ผู้เป็นแม่ตอบว่าเธอคาดหวังว่าชีวิตลูกสาวจะไม่เป็นเช่นนี้เหมือนกัน แต่ในความเป็นจริงชีวิตมีทางเลือกไม่มากนัก สามีของเธอเป็นแรงงานที่รับค่าจ้างรายวัน ในขณะที่เธอและลูกๆ หารายได้ด้วยการเก็บฟืนขาย ครอบครัวนี้หาเช้ากินค่ำวันต่อวัน ดังนั้นแล้วมันจึงดีกว่าถ้าจะให้ลูกสาวแต่งงานก่อนที่อะไรๆ จะแย่ไปกว่านี้ “ถ้าพรุ่งนี้เราสูญเสียบ้านทั้งหลังไปจากน้ำท่วม เราก็จะไม่มีอะไรจะมอบให้ลูกสาวเราสำหรับเป็นสินสอดทองหมั้น” เธอกล่าว
Khandelwal พบว่าหลายครอบครัวมองลูกสาวของพวกเขาไม่ต่างจากหนี้สิน เธอมีโอกาสได้พบกับ Muskaan (ชื่อสมมุติเพื่อความเป็นส่วนตัว) พี่สาวของน้องสาวอีก 2 คน ซึ่ง Khandelwal เดินทางไปเยี่ยมเยียนบ่อยครั้ง “ฉะนั้นแล้วเท่ากับว่าบ้านนี้จะมีหนี้สินเป็นสามเท่า จากสินสอดทองหมั้นที่พวกเขาต้องจ่ายให้แก่เจ้าบ่าว” ช่างภาพหญิงกล่าว บางครอบครัวรอจนกว่าได้เวลาที่ลูกสาวต้องย้ายไปอยู่กับสามี จึงค่อยให้ออกจากโรงเรียน แต่สำหรับ Muskaan แล้ว เธอถูกจับแต่งงานตั้งแต่อายุ 14 ปี และตอนนั้นพ่อของเธอก็ห้ามไม่ให้ไปโรงเรียนทันที แต่ให้อยู่บ้านเพื่อเรียนรู้วิธีการปรุงอาหารและดูแลบ้านช่องแทน
หลังการแต่งงานของ Muskaan ช่างภาพหญิงเดินทางไปเยี่ยมเธออีกครั้ง เพื่อถามความรู้สึก “สิ่งที่เธอพูดมันน่าผิดหวังมาก” Khandelwal กล่าว “เธอบอกว่าไม่มีความรู้สึกอะไรกับเรื่องนี้ เพราะยังไงสิ่งนี้ก็ต้องเกิดขึ้น” มันสะท้อนความรู้สึกไร้ที่พึ่งและสิ้นหวังจากเด็กสาวเหล่านี้มาก พวกเขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าลูกผู้หญิงก็สามารถมีการมีงานมีอาชีพได้
เจ้าสาวส่วนมากมีชีวิตที่โดดเดี่ยวหลังแต่งงาน ในหมู่บ้านเล็กๆ ไม่มีงานอื่นให้ทำ ดังนั้นแล้วคนหนุ่มจึงเดินทางเข้าเมือง นั่นทำให้สามีภรรยาต้องติดต่อกันผ่านทางโทรศัพท์ “คุณจะคาดหวังว่าเด็กวัย 15 ปีจะเข้าใจเกี่ยวกับความสัมพันธ์หรือการแต่งงานมากแค่ไหน?” Khandelwal กล่าว “พวกเขาไม่มีความรู้ ไม่มีเงิน และยังเด็กเกินไปที่จะมีลูก นี่มันวงจรอุบาทที่ไม่มีวันสิ้นสุด”
หลังใช้เวลาสองปีครึ่งไปกับการเก็บภาพถ่ายของเจ้าสาววัยเด็ก ในเมืองสาวัตถี Khandelwal พบเห็นเด็กสาวถูกจับแต่งงานมากมาย แมักระทั่งในเมืองหลวงอย่างกรุงนิวเดลี ในอนาคตเธอมีแผนที่จะโฟกัสไปที่ชุมชนเพื่อแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาทำนั้นผิดกฎหมายอย่างไรบ้าง
เรื่อง Nina Strochlic
ภาพถ่าย Saumya Khandelwal
อ่านเพิ่มเติม