ในการเฉลิมฉลองวันพระราชสมภพครบรอบ 50 ปี กษัตริย์ผู้ปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์องค์สุดท้ายแห่งทวีปแอฟริกา พระองค์ทรงเปลี่ยนชื่อประเทศจาก สวาซิแลนด์ เป็น “เอสวาตินี” ซึ่งมีความหมายว่า “ดินแดนแห่งชาวสวาซี”
สมเด็จพระราชาธิบดี อึมสวาติที่ 3 แห่งสวาซิแลนด์ ทรงระบุว่าผู้คนนอกแอฟริกามักสับสนชื่อประเทศสวาซิแลนด์กับสวิสเซอร์แลนด์ และด้วยความที่ทั้งสองประเทศนี้เองก็มีหลายสิ่งที่คล้ายคลึงกัน ไม่ว่าจะเป็นการเป็นประเทศเล็กๆ ที่ไม่ติดทะเล มีภูเขาในประเทศมากมาย อย่างไรก็ดีเอสวาตินีที่ตั้งอยู่ชายแดนตะวันออกของประเทศแอฟริกาใต้นั้นมีขนาดเล็กกว่ามาก โดยเทียบกันแล้วประเทศนี้เล็กกว่ารัฐนิวเจอร์ซีย์เสียอีก
แตกต่างจากสวิสเซอร์แลนด์ที่ปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตย สมเด็จพระราชาธิบดี อึมสวาติที่ 3 ขึ้นครองบัลลังก์ตั้งแต่ปี 1986 ต่อจากพระราชบิดา สมเด็จพระราชาธิบดีซอบูซาที่ 2 ผู้ปกครองประเทศนาน 82 ปี ปัจจุบันกษัตริย์ของเอสวาตินีมีพระชายารวม 15 พระองค์ ในขณะที่ Alain Berset ประธานาธิบดีสวิสเซอร์แลนด์มีภรรยาเพียงแค่ 1 คน
การเปลี่ยนชื่อประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่และยุ่งยากพอควร เงินตราทั้งหมดที่ใช้ในประเทศต้องถูกเปลี่ยน รวมไปถึงเอกสารและหัวจดหมายของรัฐบาล ป้ายทะเบียนรถยนต์ ยูนิฟอร์มของทหารไปจนถึงเครื่องแบบของนักกีฬา ตลอดจนสายการบินสวาซิแลนด์ แอร์ไลน์ด้วย แต่รายสุดท้ายคงไม่ยุ่งยากนักเพราะมีเครื่องบินเพียงลำเดียว
ทำไมต้องเปลี่ยนชื่อประเทศด้วย?
สมเด็จพระราชาธิบดีแห่งสวาซิแลนด์ทรงเรียกชื่อประเทศของพระองค์ว่า “เอสวาตินี” มาหลายปีแล้ว อีกทั้งยังใช้คำนี้ในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติ อย่างไรก็ตามไม่มีใครคาดคิดว่าพระองค์จะเปลี่ยนชื่อประเทศในตอนนี้ ซึ่งประชาชนมองว่าควรจะนำเม็ดเงินไปใช้แก้ปัญหาทางเศรษฐกิจมากกว่า
สำหรับประเทศอื่นๆ เหตุผลในการเปลี่ยนก็ไม่ต่างจากเอสวาตินี เพื่อให้ได้ชื่อที่ดีกว่าในการแสดงออกถึงอัตลักษณ์ของผู้คนในประเทศ นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมสาธารณรัฐเช็ก ถึงต้องการประชาสัมพันธ์ให้คนเรียกว่า “เช็กเกีย” ดูเหมือนว่าการมีชื่อเรียกเพียงคำเดียวจบ จะทำให้การโปรโมทตนเองบนเวทีระดับโลกเป็นเรื่องง่ายกว่า สาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐสโลวัก สองประเทศนี้ค่อนข้างใหม่สำหรับประชาคมโลก เกิดขึ้นหลังจากเชโกสโลวาเกียแตกในปี 1993 ในขณะที่คำว่าเช็กเกียเพิ่งจะถูกใช้อย่างเป็นทางการเมื่อปี 2016 ที่ผ่านมา
ในการเปลี่ยนชื่อประเทศเมื่อเร็วๆ นี้ เคปเวร์ดี ประเทศหมู่เกาะจำนวน 10 เกาะ ทางตอนกลางของมหาสมุทรแอตแลนติก ที่มีประชากรราว 5 แสนคน ก็เพิ่งเปลี่ยนชื่อเป็น “การ์บูเวร์ดี” เมื่อปี 2013 โดยเป็นชื่อเดิมที่ชาวโปรตุเกสเคยตั้งให้ในปี 1444 ซึ่งหมายความว่า ผ้าคลุมไหล่สีเขียว
สำหรับเรื่องราวการเปลี่ยนชื่อประเทศที่ซับซ้อนที่สุดต้องยกให้ยูโกสลาเวีย อดีตประเทศในคาบสมุทรบอลข่านนี้ก่อตั้งขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และในปี 1929 ได้เปลี่ยนชื่อเป็นราชอาณาจักรยูโกสลาเวีย หลังสงครามโลกครั้งที่สองพรรคคอมมิวนิสต์เข้าควบคุมและเปลี่ยนชื่อเป็นสหพันธ์สาธารณรัฐประชาชนยูโกสลาเวีย ต่อมาในปี 1963 เปลี่ยนชื่ออีกครั้งเป็น สหพันธ์สาธารณรัฐสังคมนิยมยูโกสลาเวีย
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียตและความขัดแย้งภายในส่งผลให้ยูโกสลาเวียแตกในปี 1992 กลายมาเป็นประเทศเซอร์เบีย, โครเอเชีย, บอสเนียและเฮอร์เซโกวีนา, สโลเวเนีย, มาเซโดเนีย และมอนเตเนโกร โดยสาธารณรัฐคอซอวอ ซึ่งเคยเป็นหนึ่งในจังหวัดของเซอร์เบียได้แยกตัวเป็นเอกราชเมื่อปี 2008
สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโกเองก็เคยถูกเรียกว่า เสรีรัฐคองโก ในระหว่างการครอบครองของพระเจ้าเลออปอลที่ 2 แห่งเบลเยียม ช่วงปี 1885 – 1908 จากนั้นก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น เบลเยียมคองโก ตามมาด้วย Congo-Leopoldville และในที่สุดหลังประกาศอิสรภาพในปี 1960 ก็ได้ชื่อใหม่ว่า สาธารณัฐคองโก และอีกไม่กี่ปีต่อมาก็เปลี่ยนเป็น สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก ต่อมาในปี 1971 Mobutu Sese Seko ผู้นำเผด็จการเคยตั้งชื่อประเทศนี้ว่า สาธารณรัฐซาอีร์ จากชื่อแม่น้ำสายหลักของคองโก จนกระทั่ง Mobutu ลงจากอำนาจในที่สุดประเทศนี้ก็ได้ชื่อ สาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก กลับคืนมาในปี 1997
เรื่อง Stephen Leahy
ยังมีประเทศอื่นๆ อีก
ราชอาณาจักรกัมพูชา >> สาธารณรัฐเขมร >> กัมพูชาประชาธิปไตย >> กัมพูชา (1991)
เฟรนซ์ โซมาลีแลนด์ >> Territory of the Afars and the Issas >> จิบูตี (1977)
หมู่เกาะกิลเบิร์ต >> คิริบาส (1979)
โปรตุกีส ติมอร์ >> ติมอร์ตะวันออก >> ติมอร์-เลสเต (2002)
เยอรมัน เซาท์เวสต์ แอฟริกา >> เซาท์เวสต์ แอฟริกา >> นามีเบีย (1990)
อัปเปอร์วอลตา >> บูร์กินาฟาโซ (1984)
อ่านเพิ่มเติม