มีชัยพัฒนา โรงเรียนนวัตกรรมและทักษะชีวิต

มีชัยพัฒนา โรงเรียนนวัตกรรม เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม การเรียนรู้ซึ่งกันและกันระหว่างนักเรียน-โรงเรียน-ชุมชน

สมัยยังเรียนชั้นมัธยม กิจวัตรของการเรียนคงหนีไม่พ้นเข้าห้องเรียน รอพักเที่ยง แล้วเลิกเรียนกลับบ้าน โดยทั่วไป เรามองเห็นความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนกับโรงเรียนในฐานะที่เป็นแหล่งมอบการศึกษาให้กับนักเรียน ด้วยศักยภาพของโรงเรียนซึ่งมีทั้งทางด้านกายภาพ ในเรื่องอาคารสถานที่ และทางด้านองค์ความรู้พร้อมใช้เพื่อระดับการศึกษาที่สูงขึ้น

โรงเรียน มีชัยพัฒนา มองเรื่องราวเหล่านี้ในมุมกลับกัน จากทรัพยากรที่มีในมือของโรงเรียนจะถูกใช้งานอย่างไรให้ได้เต็มประสิทธิภาพ? จากนักเรียน มองออกนอกรั้วโรงเรียนไปถึงชุมชน พร้อมกับความตั้งใจที่อยากให้โรงเรียนแห่งนี้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของทุกคน

คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียนมีชัยพัฒนา

“ผมทำงานเรื่องการเปลี่ยนแปลง เป็น Change Maker ปรับตัวมาตลอด รวมถึงวันนี้ก็ประมาณ 50 ปีแล้ว” คุณมีชัย วีระไวทยะ ผู้ก่อตั้งและประธานโรงเรียน เล่าให้เราฟัง “มีอยู่ช่วงหนึ่ง เมื่อสัก 18 ปีก่อน ผมเริ่มหาทุนมาให้นักเรียนเป็นทุนการศึกษา ให้เงินไปก็คิดว่าดี แต่พอเข้าไปดูในรายละเอียดแล้ว มันไม่ได้มีอะไรที่ผมคิดว่าจะดีขึ้น มันเป็นวงจรที่ส่งเด็กกลับไปเข้าไปในระบบเดิม เราก็เลยเริ่มคิดว่าต้องหาระบบใหม่ สร้างระบบที่เป็นของเราเอง”

ระบบที่ว่า คือระบบการศึกษาที่เน้นทักษะชีวิตไปพร้อมกับทักษะอาชีพ เพื่อให้เด็กนักเรียนที่จบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาสามารถบริหารจัดการการใช้ชีวิต ด้วยจุดมุ่งหมายให้ครอบครัวและชุมชนมีคุณภาพชีวิตและรายได้ที่ดีขึ้น นี่แหละคือชีวิตจริงที่ทุกคนต้องเจอในอนาคต

 

โรงเรียนที่เชื่อในความสามารถของปัจเจกบุคคล

เรามีโอกาสได้ฟังการเล่าเรื่องโรงเรียนผ่านประสบการณ์จริงของนักเรียน 5 คน น้ำเสียงฉะฉานเต็มเปี่ยมด้วยความมั่นใจ บอกเล่าเรื่องราวของโรงเรียนประจำแห่งนี้ที่ทุกคนได้ใช้ชีวิตตลอดทั้งวันและทั้งเทอม

(จากซ้าย) วนิสา วรรณะใจ (วิว) ม.6, ภัทราวดี แคนสี (ทราย) ม.6, ภัทรานิษฐ์ ขาวสุข (เปรี้ยว) ม.4, ณิชาวีร์ นวลขาว (น้อยหน่า) ม.4 และ ทิพปภา ปันสุข (น้ำทิพย์) ม.4

แม้สถานที่ตั้งของโรงเรียนจะอยู่ที่อำเภอลำปลายมาศ​ จังหวัดบุรีรัมย์ แต่นักเรียนในโรงเรียนแห่งนี้มาจากหลากหลายภูมิภาคทั่วทั้งประเทศไทย โดยบทบาทการบริหารจัดการโรงเรียนในหลายด้าน รวมไปถึงการคัดเลือกครูและนักเรียนแรกเข้า เป็นหน้าที่ของนักเรียนในโรงเรียนทั้งหมด ด้วยความคิดที่ว่าโรงเรียนต้องเป็นของนักเรียนทุกคน

“หนูรู้จักโรงเรียนนี้จากรุ่นพี่ที่แนะนำผ่านผู้ปกครองค่ะ” น้องทรายเริ่มต้นเล่า “ตอนแรกที่มาเยี่ยมชมโรงเรียนพร้อมกับผู้ปกครอง เห็นรุ่นพี่ทำเกษตรกันอยู่ รุ่นพี่เขาก็ยกมือไหว้สวัสดีพ่อแม่ ซึ่งหนูไม่เคยเจอนักเรียนที่ไหนทำแบบนี้ เลยประทับใจตั้งแต่แรก พอชมบรรยากาศ ได้ยินรุ่นพี่เล่าให้ฟังถึงเรื่องการพัฒนาตัวเองและทักษะด้านต่างๆ เลยอยากลองมาใช้ชีวิตในโรงเรียนประจำแบบไม่มีพ่อแม่ดู”

ส่วนน้องวิว น้องน้อยหน่า และน้องน้ำทิพย์ จากจังหวัดน่าน รู้จัก โรงเรียนมีชัยพัฒนา ผ่านทางโครงการ School-BIRD (School-Based Integrated Rural Development) ซึ่งเป็นโครงการที่นักเรียนของโรงเรียนมีชัยฯ​ ออกไปทำกิจกรรมพัฒนาคุณภาพชีวิตและทักษะอาชีพให้กับชาวบ้านและชุมชน โดยใช้โรงเรียนเป็นศูนย์กลาง จนเกิดเป็นโครงการนำร่อง ขยายไปกว่า 22 จังหวัดทั่วประเทศ อย่างที่เป็นแรงจูงใจให้น้องน้อยหน่ามาเรียนที่นี่ “เพราะคุณยายปลูกผัก เลยอยากนำเกษตรหรือนวัตกรรมใหม่ๆ จากโรงเรียนกลับไปพัฒนาที่บ้าน”

“โรงเรียน มีชัยพัฒนา มาทำโครงการ School-BIRD ที่โรงเรียน ทำแปลงเกษตร ให้ความรู้ เลยทำให้รู้จักกับรุ่นพี่ ซึ่งพอรู้ว่าโรงเรียนใช้การจ่ายค่าเทอมด้วยการทำความดีช่วยเหลือสังคมคนละ 400 ชั่วโมง และปลูกต้นไม้คนละ 400 ต้นต่อปี ก็ยิ่งเป็นจุดที่สนใจมาก เพราะนอกจากจะช่วยประหยัดแล้ว โรงเรียนยังสอนทักษะชีวิตและทักษะอาชีพแบบที่ไม่เคยเห็นโรงเรียนไหนสอน” น้องวิวเล่า

น้องน้ำทิพย์ช่วยเสริมว่า “พอเห็นพี่วิวมาเรียนก่อนแล้วเล่าให้ฟัง ก็เลยอยากมาเรียนตาม เพราะเห็นการสอนที่ได้ลองทำอะไรด้วยตัวเอง ได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม ก็รู้สึกว่ามุมมองของตัวเองเปลี่ยนไป ไม่ได้เลือกมองผ่านปัญหาไปเฉยๆ แต่ลงมือแก้ไขปัญหาด้วย อนาคตจึงอยากเป็นนักธุรกิจที่นำกำไรจากธุรกิจกลับมาช่วยเหลือผู้คนในชุมชนที่ตัวเองอยู่”

เช่นเดียวกันกับน้องเปรี้ยวที่มีพี่สาวเรียนอยู่ที่นี่ และได้เห็นความเปลี่ยนแปลงในตัวพี่ที่มองเห็นหลายอย่างในมุมมองกว้างขึ้น บวกกับบรรยากาศของโรงเรียนท่ามกลางธรรมชาติ “บรรยากาศโรงเรียนทำให้รู้สึกสบาย ไม่ได้กดดันเหมือนโรงเรียนอื่น” ทำให้เธอตัดสินใจมาเรียนที่นี่ได้ไม่ยาก

 

โรงเรียนนวัตกรรม : การศึกษาบูรณาการกับชีวิต

ความหมายของคำว่า ‘นวัตกรรม’ ในด้านการศึกษาของโรงเรียน มีชัยพัฒนา คือการจัดหลักสูตรที่เน้นการเสริมสร้างศักยภาพของตัวนักเรียน ทั้งการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลาง และการจัดการศึกษารูปแบบพิเศษที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของโรงเรียน อย่างการเน้นการฝึกทักษะการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม (Social Entrepreneur) เพื่อเตรียมพร้อมให้นักเรียนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและคุณภาพชุมชนโดยไม่ละทิ้งบ้านเกิดของตัวเอง

นักเรียนที่นี่จะได้สำรวจศักยภาพของตัวเอง ไปพร้อมกับการศึกษาจากโครงงาน (Project-Based Learning) ผ่านการพัฒนากิจกรรมที่มีอยู่แล้ว อย่างธุรกิจทางการเกษตร เงินออมเงินกู้สำหรับทำธุรกิจในโรงเรียน ร่วมกันกับการริเริ่มกิจกรรมใหม่จากความสนใจและความช่างสังเกต จนเกิดเป็นโครงการที่เอื้อประโยชน์ต่อสังคมและสร้างความเท่าเทียมทั้งในโรงเรียนและแลกเปลี่ยนกับโรงเรียนต่างๆ ทั่วประเทศ อย่างการออกแบบแปลงฝึกเกษตรสำหรับผู้นั่งรถเข็น หรือศูนย์ปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ โรงเรียนโสตศึกษา สุรินทร์

“มุมมองการศึกษาแบบโรงเรียนมีชัยฯ ต้องเปิดโอกาสให้นักเรียนไปได้หลายอย่างตามที่เขาสนใจ” คุณมีชัยเล่า “ความเก่งไม่มีแค่เรื่องเดียว ระหว่างเรียนหนังสือในโรงเรียน เขาก็ได้จัดการบริหารภายในเป็นไปจนถึงเป็นผู้ตรวจสอบการใช้เงินด้วย หรือการสร้างระบบเศรษฐกิจย่อยๆ ในโรงเรียนให้เขาได้เรียนรู้ อย่างการทำอาหารว่างขายในโรงเรียน เพราะเราเชื่อในศักยภาพของเด็ก เด็กทำอะไรได้เยอะ”

เราจึงมองเห็นความเป็นผู้นำหรือนวัตกรในตัวนักเรียนในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ด้วยการปูพื้นฐานเบื้องต้นผ่านทักษะการใช้ชีวิต แล้วลงมือปฏิบัติเองพร้อมกับค้นคว้าหาความรู้เพิ่มเติมในเรื่องที่สนใจ

“ผมพยายามให้เขาคิดว่า มันไม่มีอะไรอยู่กับที่ แล้วเราสามารถเข้าไปเปลี่ยนได้ทั้งหมด แต่ให้เรียนรู้วิธีเปลี่ยนว่าควรจะทำอย่างไร อย่างเช่นการเข้าไปในชุมชน อย่าไปถามว่า เขามีปัญหาอะไร แต่ต้องไปทำความรู้จักฝากเนื้อฝากตัว แล้วเชิญผู้ใหญ่มาดูที่โรงเรียน มาดูว่าบ้านเราเป็นอย่างไร เขาก็จะอุ่นใจและอยากมาร่วมมือกันพัฒนา แล้วมีส่วนไหนที่เราอยากทำให้ชุมชนดีขึ้น เพราะโรงเรียนก็จำเป็นต้องเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับทุกคนในชุมชนเช่นเดียวกัน”

 

จากแปลงเกษตร สู่เศรษฐกิจชุมชน

แปลงเกษตรคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราวหลากหลายในโรงเรียน เพราะจากแปลงเกษตร จากความคิดสร้างสรรค์ที่หลากหลาย จากความสนใจที่แตกต่าง นำไปสู่ปลายทางที่การสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงให้กับชุมชน ผ่านหัวใจของการเป็นผู้ประกอบการเพื่อสังคม

จุดเริ่มต้นนักเรียนที่นี่จะได้ลงมือทำแปลงเกษตรเป็นของตัวเอง จากแปลงส่วนนี้ขยายความคิดของนักเรียนออกได้หลากหลาย ตั้งแต่การทดลองคิดทำแปลงเกษตรที่แก้ไขข้อจำกัดหรือปัญหาที่ตัวเองค้นพบ อย่างการทำแปลงในยางรถยนต์ การปลูกผักไร้ดินในลำไผ่ การปลูกผักข้างรั้วในขวดน้ำใช้แล้ว และยังคิดต่อเนื่องให้กับบุคคลอื่นในสังคม อย่างการทำแปลงฝึกเกษตรสำหรับผู้นั่งรถเข็น และถูกนำไปใช้งานจริงในโรงเรียนพันธมิตรทุกภูมิภาค

แปลงผักไม่ได้หยุดเพียงแค่การปลูกผัก แต่ยังมองในมิติที่รอบด้านมากกว่า ตั้งแต่การทำสหกรณ์ เงินออมและเงินกู้ยืมสำหรับทำธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ของการทำการเกษตรที่ใช้พื้นที่น้อย น้ำน้อย แรงงานน้อย แต่มีรายได้ดี ไปจนถึงการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ออกจำหน่าย ซึ่งทั้งนักเรียน ผู้ปกครอง และสมาชิกในชุมชนสามารถเรียนรู้และใช้บริการเหล่านี้ โดยมีโรงเรียนเป็นศูนย์กลาง

ทั้งหมดนี้ เกิดจากเป้าหมายสำคัญของโรงเรียน คือการทำแปลงเกษตรเพื่อขจัดความยากจน พัฒนาคุณภาพชีวิต และดำรงชีวิตในชุมชน​ โดยไม่ต้องละทิ้งบ้านเกิดและครอบครัว

 

สร้างคนดี สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี และขจัดความยากจน

วิสัยทัศน์ของโรงเรียนที่กว้างออกไปมากกว่าการสร้างบุคลากรที่มีคุณภาพของประเทศแล้ว สำคัญคือจะต้องช่วยเหลือผู้ปกครองของนักเรียนให้หลุดพ้นจากความยากจนด้วย

“เหตุผลที่เป็นโรงเรียนประจำ เพราะเด็กจะได้รู้จักหลายจังหวัด หลายวัฒนธรรม หรือแม้กระทั่งต่างประเทศ รู้จักความหลากหลาย อย่างที่ผมบอกเขาว่า ต้องการให้เค้ารู้จัก Fruit Salad ไม่ใช่ผลไม้แบบเดียว – ที่นี่เป็นโรงเรียนประจำสำหรับผู้ปกครองด้วย” คุณมีชัยเสริม

ซึ่งกรอบการพัฒนาของโรงเรียนไม่เพียงจำกัดเฉพาะในชุมชนรายรอบ หรือโรงเรียนพันธมิตรเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องไปกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) ที่ทางโรงเรียนได้เป็นศูนย์กลางในการขับเคลื่อน SDGs สำหรับโรงเรียนไทยในชนบทและการพัฒนาชุมชน ตามหัวเรื่องที่ว่า ‘เด็กๆ คืออนาคต’ เพื่อมุ่งเน้นบทบาทของเยาวชนและชุมชนให้มีส่วนร่วมในการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของโรงเรียนมีชัยพัฒนา ก็เป็น 17 ข้อตามที่สหประชาชาติกล่าวไว้ แต่เราบวกเพิ่มเข้าไปอีก 4 คือ การเห็นอกเห็นใจและการแบ่งปัน การสร้างสังคมที่เคารพกฎหมาย การยกย่องความซื่อสัตย์และขจัดคอร์รัปชั่น และการสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว

“เราก็เลยมองว่า ถ้าอยากจะทำให้สังคมดีขึ้น วิธีที่ดีที่สุดคือทำผ่านโรงเรียน เพราะนอกจากมีนักเรียนแล้ว ยังมีที่ดิน มีอาคาร มีน้ำ มีไฟ มีครู มีผู้อำนวยการ มีชุมชนอยู่รอบ น่าจะไปได้ดี ที่กำลังดำเนินการอยู่ทำได้ดีมาก ตอนนี้เรากำลังขยายต่อในเรื่องสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และรายได้ให้กับผู้สูงอายุ และบทบาทของผู้หญิงในหมู่บ้านต่อไป”

หากพูดถึงการวัดเป้าหมายความสำเร็จสำหรับนักเรียนโรงเรียนมีชัยพัฒนาแล้ว อาจไม่ได้อยู่ที่สัดส่วนในการเข้าเรียนต่อมหาวิทยาลัย แต่คือการที่เด็กทุกคนรู้จักตัวเองเป็นอย่างดี

นักเรียนบางคนที่นี่ก็ ใช้เวลาช่วง Gap Year ออกไปค้นหาตัวเอง หรือบางคนที่เรียนต่อมหาวิทยาลัยก็พร้อมที่จะเรียนรู้และตอบปัญหา เพราะหลักสูตรของเราสอนทุกเรื่องในชีวิต อย่างกฎหมาย รากฐานประชาธิปไตย หรือการแบ่งปัน ความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ซึ่งนี่เป็นจุดสำคัญที่ทำให้เป็นคนดี และมีความสุข”

ท้ายที่สุดเราถามถึงปลายทางความเป็นเลิศของนักเรียนโรงเรียนนี้

“ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์” คุณมีชัยตอบ

“คำว่าสมบูรณ์ก็คือไม่ต้องมีอะไรวิเศษ หวือหวา ดีทุกด้าน ซ้ายก็ได้ขวาก็ได้ ทุกทิศทาง เป็นความเหมาะสมที่ดีได้ ไม่ต้องเป็นเลิศในเรื่องไหนเลย แต่มีความเหมาะสมอย่างยั่งยืน กลิ้งไปไหนได้อย่างดี และสมบูรณ์ในเรื่องที่ตัวเองปรารถนา

 

โรงเรียนมีชัยพัฒนา – Bamboo School
ที่อยู่ : 186 หมู่ที่ 13 ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ 31130
โทร : 08-9949-6539
เว็บไซต์ : www.mechaipattana.ac.th

 

 

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพถ่ายบุคคล เอกรัตน์ ปัญญะธารา

 


อ่านเพิ่มเติม 42 Bangkok โรงเรียนทางเลือกสาย IT ที่ขับเคลื่อนความเท่าเทียมทางการศึกษา

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.