NEWTON Sixth Form School โรงเรียนที่เป้าหมายและอุปนิสัยต้องเดินทางไปด้วยกัน

NEWTON Sixth Form School โรงเรียนที่การศึกษา คือมรดกของมนุษย์ที่ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น จากครูอาจารย์สู่ลูกศิษย์ จากองค์ความรู้สู่การประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง

‘มีการศึกษาจำนวนมากที่แสดงให้เห็นว่า โรงเรียนที่ดีมักมีความแตกต่างจากโรงเรียนที่ไม่ดีในแง่ทัศนคติของครูและนักเรียน ซึ่งหมายถึงบรรยากาศของโรงเรียนนั่นเอง’

วลีนี้มาจากประโยคแรกของหนังสือ โรงเรียนที่ดี (Good Schools) โดย นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ Headmaster ของ The Newton Sixth Form School  ‘ครูและบุคลากรส่วนใหญ่ในโรงเรียนที่ดี มักมีทัศนคติและพฤติกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมุ่งใฝ่สัมฤทธิ์มากขึ้น’

 

นายแพทย์ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ Headmaster ของ The Newton Sixth Form School

คุณหมอธีระเกียรติ ร่วมกันกับ คุณธานินทร์ เอื้ออภิธร CEO พร้อมกับทีมงานผู้คร่ำหวอดสายงานด้านการศึกษามาเป็นเวลายาวนาน และเข้าใจถึงปัญหาการศึกษาของเด็กไทยตั้งแต่ภาพกว้างไปจนถึงระดับปัจเจกบุคคล สร้างสรรค์หลักสูตรการศึกษาที่มุ่งเน้นการสร้างความสุขและการเรียนรู้ที่มีคุณภาพสูงรอบด้านสำหรับนักเรียนไทย ครอบคลุมทั้งเรื่องเนื้อหาสาระไปจนถึงการสร้างอุปนิสัยที่ดี ทั้งหมดนี้คือปรัชญาที่โรงเรียนใช้เป็นแนวทางในการสร้างสรรค์การเรียนการสอนในแบบฉบับออกนอกกรอบอย่างที่เราเคยชิน

‘บรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี ครูที่ดี และนักเรียนที่ดี’ สามองค์ประกอบสำคัญที่ทำให้นักเรียนประสบความสำเร็จได้อย่างใจฝัน

 

Time Matters : จัดสรรเวลาอย่างมีคุณภาพ

“School ในภาษากรีกแปลว่า Leisure หรือเวลาว่าง” คุณหมอเท้าความตั้งแต่ความหมายของคำว่าโรงเรียน “การมาโรงเรียนจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้มนุษย์ได้เรียนรู้ ซึ่งโรงเรียนก็เป็นพื้นที่ส่งต่อมรดกของมนุษย์ที่บรรพชนค้นพบ ไม่ว่าจะเป็นวิทยาศาสตร์ คุณธรรม ภูมิปัญญา ให้กับลูกศิษย์ ขณะเดียวกันลูกศิษย์เองก็ต้องประยุกต์ความรู้เหล่านี้ให้เข้ากับตัวเอง และปลูกฝังนิสัยของการเรียนรู้และส่งมอบต่อเช่นนี้ให้กับคนรุ่นถัดไป นี่คือความหมายแบบง่ายของการศึกษา”

จากรากฐานความหมายของการศึกษา ต่อยอดมาเป็นคำถามให้กับทีมงานผู้ก่อตั้งโรงเรียนที่ว่า แล้วอะไรคือมรดกที่เราควรจะส่งมอบ?

“การเรียนที่ดีคือการทำให้มนุษย์คนหนึ่งเติบโตนะ คือการที่เรามีความคาดหวังที่สูง เรากำหนดว่าเด็กต้องมีฝัน ต้องไปถึงที่ฝันให้ได้ แต่ปัญหาของทั้งหมดคืออยากไปถึงที่ฝัน แต่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดี เราก็กลับมาคิดต่อว่า สมมติเขาจะไปเป็นหมอ มันต้องเรียนหนักขนาด 7-8 วิชา สอบหนักๆ ไหม? คำตอบคือไม่จำเป็น อย่างที่อังกฤษเขาก็เรียนวิทยาศาสตร์ไม่กี่ตัว ไม่ได้แปลว่าความเป็นมนุษย์จะหายไป ความเป็นคนไม่ได้ฝึกจากการเข้าห้องเรียนหรือไปเรียนวิชาสังคม เราเลยกล้าที่จะตัดวิชาที่ไม่สำคัญออก”

 

Sixth Form คือหลักสูตรการศึกษาแบบอังกฤษที่ NEWTON เลือกใช้สำหรับนักเรียนที่นี่ “เรามีมรดกของโลกอยู่แล้ว ก็คือการศึกษาแบบอังกฤษ ซึ่งเขาจะมีคนที่นั่งออกแบบหลักสูตร และคิดถึงว่าเด็กในแต่ละยุคจะเรียนหรือทำอะไรบ้าง มีการอัพเดทตลอด รวมทั้งการสนับสนุนและวิธีสอน ผมเลยเลือกใช้ระบบแบบอังกฤษ”

หากกล่าวให้เห็นภาพ Sixth Form ก็คือชื่อเรียกระดับชั้นมัธยมปลายของอังกฤษ​ ซึ่งประกอบไปด้วย Year 12 และ 13 สำหรับเตรียมความพร้อมให้กับนักเรียนที่ต้องการเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย หลังจากจบการศึกษาภาคบังคับที่ Fifth Form ในระดับชั้นมัธยมต้น (Year 11)

สำหรับ Sixth Form ของที่นี่แบ่งสายการเรียนออกเป็น 3 สายใหญ่ๆ ให้เด็กๆ เลือกโฟกัส และสามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความสนใจที่เปลี่ยนไป ได้แก่ สายแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ สายวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์และเอไอ สายบริหารธุรกิจและมนุษยศาสตร์ โดยมีทักษะแกนกลางที่ความเป็นมนุษย์ การสื่อสาร ความเป็นผู้นำ และคุณภาพชีวิตที่ดีของนักเรียนทุกคน

“เราอยากให้เด็กได้เจอคนที่เก่งๆ ใช้เวลาที่เป็นประโยชน์ และครูที่นี่ต้องรู้จักกับเด็กดี เพราะปรัชญาของเราคือ เรามาหาลูกศิษย์ อยากให้เขาได้เป็นมนุษย์ที่ดี เก่ง และมีความเป็นผู้นำ”

 

High Expectation : อย่ากลัวที่จะฝันไกล

จากซ้าย : น้องกิมไน้ – กุลนภัสสร์ สัมพันธ์เวชกุล, น้องนินจา – ธัญญ์สิริ ประดิษฐผลเลิศ และ น้องอันอัน – ธนทัต พิศาลคุณากิจ

 

“ตอนนั้นอยู่ในช่วงที่หนูกำลังตัดสินใจว่าจะเรียนต่ออะไร ซึ่งพออยากเรียนต่อหมอ ส่วนใหญ่ก็แนะนำให้ต้องเรียนแบบไทย แต่ลึกๆ หนูอยากไปเรียนต่อนอก เพราะหนูเคยไปแลกเปลี่ยนต่างประเทศแล้วรู้สึกว่า นอกจากได้เรียนรู้วัฒนธรรม หนูยังต้องพึ่งพาตัวเองมากๆ หนูเลยอยากหาที่ที่หนูสามารถไปต่อได้” น้องนินจา – ธัญญ์สิริ ประดิษฐผลเลิศ​ เริ่มต้นเล่าความฝันของเธอให้เราฟัง “พอหนูเห็นกิมไน้ย้ายมาเรียนที่นี่ หนูก็เลยลองมา Open House แล้วสุดท้ายก็มาเรียนที่นี่”

น้องกิมไน้ – กุลนภัสสร์ สัมพันธ์เวชกุล เพื่อนรักของน้องนินจาที่ย้ายเข้ามาอยู่ที่นี่ก่อน เธอเลือกเข้ามาเรียนที่นี่ด้วยความฝันที่อยากเป็นจิตแพทย์ และเมื่อได้พูดคุยกับคุณหมอ พร้อมกับได้เห็นการบรรยายหลักสูตรการเรียน ก็ทำให้เธอไม่ลังเลจะย้ายโรงเรียนทันทีในสัปดาห์ถัดมา

“ตอนนั้นหนูคิดว่าความสามารถของหนู เป็นไปได้ไกลมากที่สุด คือ หมอ จุฬาฯ เรื่องหนึ่งที่หนูเหมือนกับนินจาก็คืออยากเรียนต่างประเทศเหมือนกัน พอดีกับเพื่อนคุณแม่แนะนำโรงเรียนนี้มา หนูเลยไปงาน Open House และคุณหมอมอบความหวังกับการเรียนให้หนูมากๆ โดยเฉพาะกับเรื่อง Personalised Education (การจัดการเรียนรู้ตามศักยภาพของบุคคล) หนูเลยย้ายมาโรงเรียนนี้เลยค่ะ”

ส่วนของ น้องอันอันธนทัต  พิศาลคุณากิจ แม้การมาเรียนที่นี่ของเขาจะเกิดจากสถานการณ์โควิดที่ทำให้เขาไปเรียนต่อมัธยมปลายที่อังกฤษไม่ได้อย่างที่วางแผนไว้ แต่การได้เข้ามาเรียนนี่นับเป็นประสบการณ์ครั้งสำคัญที่ทำให้ได้ค้นพบกับตัวเองในมุมมองที่แตกต่างออกไป

“ที่ผมวางแผนไว้ว่าอยากทำอาชีพหมอ ผมมองว่าเป็นอาชีพที่สมเหตุสมผลที่สุดในการให้ เพราะเป็นการให้โอกาสสำหรับชีวิตคน ซึ่งผมที่มาจากโรงเรียนไทยเลยก็มองว่า ระบบการเรียนที่ NEWTON เหมือนมาช่วยแก้ปัญหาเดิมๆ จากที่เคยเจอจากโรงเรียนในระบบ”

 

น้องๆ เริ่มต้นเข้าเรียนที่นี่เมื่อราว 1-2 ปีก่อน แต่ภายในช่วงเวลานี้กับการศึกษาที่ NEWTON ได้ชวนให้เด็กๆ ตั้งคำถามกับการเรียน และพิจารณาการเรียนในมิติที่ลึกขึ้นกว่าเดิม มากกว่าเพียงการอ่านเพื่อเตรียมสอบให้ไปถึงฝั่งฝันเท่านั้น

“หนูรู้สึกว่าตัวเองตั้งคำถามมากขึ้น” น้องนินจาเล่า “รู้สึกว่า เมื่อก่อนก็เรียนไปเพราะอยากได้เกรด เข้ามหาวิทยาลัย แต่ตอนนี้รู้สึกคิดลึกขึ้นว่า จะเข้ามหาวิทยาลัยทำไม ทำไมถึงต้องเลือกมหาวิทยาลัยนี้ บางครั้งหนูก็คิดว่าหนูเลือกมหาวิทยาลัยนี้เพราะหนูอยากเท่ อยากมีชื่อมหาวิทยาลัยนี้ในใบสมัคร แต่สุดท้ายหนูก็รู้สึกว่าจริงๆ แล้วชีวิตเราไม่ได้ต้องการอะไรมาอวดคนอื่นเลย เพราะสุดท้ายเราก็รู้อยู่เต็มใจว่าเราเป็นใคร และเราเกิดมาเพื่ออะไร”

ความเปลี่ยนแปลงในตัวน้องกิมไน้ จากทัศนคติเดิมที่วางเป้าหมายที่การเรียนเพื่อไปถึงฝั่งฝันเท่านั้น “แต่วันนี้ทุกวันที่เรียน หนูรู้สึกว่าหนูเข้าใจคนอื่นมากขึ้น แล้วพยายามเห็นใจคนอื่นมากขึ้น ที่นี่เขาพยายามกระตุ้นให้เราตั้งคำถามมากขึ้น ความเชื่อที่หนูเคยมี หนูก็ได้กลับมาประเมินใหม่ว่า เอ๊ะ ทำไมถึงเชื่อแบบนี้ มันทำให้สิ่งที่เราคิดได้รับการขัดเกลา และเราก็ได้ต่อยอดสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วขึ้นไปอีก”

“อันรู้สึกว่าคำถามหลักของที่นี่มันไม่ใช่ What (อะไร) How (อย่างไร) แต่มันคือ Why (ทำไม)” น้องอันอันเสริม “ทางโรงเรียนก็พัฒนาทักษะหลากหลายให้เรา อย่างเช่น ทักษะด้านธุรกิจเราก็มีคลาส Leadership (ความเป็นผู้นำ) และพอเรารู้ว่าอยากจะเรียนอะไรและต้องสอบวิชาไหนบ้าง เราก็ไม่ต้องไปเรียนสิ่งที่ไม่จำเป็นต่อเรา”

 

Max Planner คือเครื่องมือที่ช่วยให้นักเรียนสามารถสังเกตและวางเป้าหมายในชีวิตตั้งแต่เรื่องเล็กๆ อย่างการใช้ชีวิตประจำวัน เพื่อฝึกการจัดสรรเวลา และสร้างคุณภาพชีวิตระหว่างการเรียน “มันได้เห็นตารางของตัวเองว่า เราวางแผนเวลาพักผ่อน เวลาติวเพิ่มขึ้น แทนที่จะนอนดูหนังเยอะแบบเมื่อก่อน มันทำให้ใช้เวลาได้คุ้มค่าและก็มีความสุขกับตัวเองมากๆ ค่ะ” น้องกิมไน้เล่า

“สำหรับหนู หนูรู้สึกว่าหนูตรงข้ามกับคนอื่นค่ะ” น้องนินจาแชร์ประสบการณ์ของตัวเอง “คือแทนที่หนูจะเรียนเพิ่ม หนูใช้เวลาให้ตัวเองมีความสุขมากขึ้น สุดท้ายหนูก็เลยเรียนรู้ว่า เขาบอกว่าเวลาสำคัญใช่ไหมคะ แต่บางครั้ง การที่จะไปให้ถึงเร็วที่สุดคือการดึงตัวเองให้ช้าลงนิดนึง จากที่เคยกดดันว่าตัวเองจะทำไม่ได้ ซึ่งตรงนี้พี่ซุปเปอร์ไวเซอร์ก็ช่วยได้เยอะมากๆ ค่ะ”

ในส่วนของน้องอันที่เป็นช่วงเวลาของการค้นหาตัวเอง “ของอัน ก่อนหน้านี้คือเครียดมาก ม.5 แล้ว แต่ตัวเองอยากจะเบนเข็มเป็นหมอ จะทันไหมนะ ต้องสอบอะไรบ้างแล้วกดดันตัวเอง แล้วพอวางเวลาดีๆ ก็เห็นว่ายังเหลือเวลาที่พักได้ ถ้าทำจริงๆ เราก็ทำได้ มันคือการวางแผนการใช้เวลา 24 ชั่วโมงให้คุ้มค่าที่สุด”

 

Good Environment, Good Teachers and Good Students : บรรยากาศดี ครูดี เพื่อนดี

ภาพแรกที่ทุกคนเห็นหลังจากผ่านประตูเข้าโรงเรียน คืออัฒจรรย์ขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่ตรงกลาง จุดนี้ออกแบบเพื่อเป็นศูนย์รวมที่ดึงเด็กๆ เข้ามาอยู่ร่วมกัน ทำกิจกรรมร่วมกัน และสัมผัสความอบอุ่นของครอบครัวในโรงเรียนร่วมกัน เพราะบรรยากาศการเรียนรู้ที่ดี เริ่มตั้งแต่สิ่งแวดล้อมของการเรียนที่ดี อย่างที่คุณหมอเล่าให้เราฟัง

“ข้อแรกสำคัญที่สุดของการเลือกทำเลกลางเมืองแบบสยามที่นี่ เพราะเราอยู่กลางเมือง ครูเก่งๆ ดีๆ ก็อยู่ในเมือง และกลางเมืองก็เป็นจุดศูนย์กลางที่ทุกคนมารวมกันได้จากทั่วสารทิศ การเลือกทำเลตรงนี้ก็ถูกออกแบบมาแล้วเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงได้แบบเท่าเทียมกัน โรงเรียนที่ดีไม่ใช่แค่ตัวตึก แต่คือคน ต้องดูสะอาดสวยงาม อย่างที่นี่เป็นอาคารและพื้นที่สาธารณูปโภคต่างๆ ก็แชร์กันใช้กับสาธารณะ ตรงนี้จะช่วยกำหนดวิธีคิดที่รับผิดชอบต่อสังคมให้กับเด็กได้ด้วย”

ครูที่เก่งและครูที่ดีในนิยามของ NEWTON จะต้องรักการเรียนการสอน และเข้าใจเด็กเป็นอย่างดี “ทุกคนที่หน้างานสอนอะไรต้องเดินไปพร้อมกับเด็ก ต้องไปสอบ การที่ครูไปสอบคือต้องรู้ว่านักเรียนลำบากอย่างไร และต้องเชื่อในสิ่งที่ตัวเองกำลังสอนอยู่ ซึ่งก็เป็นวิธีการทดสอบว่าครูสอนได้ตรงประเด็นแล้วหรือยัง”

 

ในส่วนของการเรียนจากฟากฝั่งนักเรียน เกรดตลอดทั้งเทอมจะมาจากการประเมิน 4 ด้าน ได้แก่ การเอาใจใส่ในห้องเรียน งานที่มอบหมายให้ทำ อุปนิสัย และผลสอบ เพราะเชื่อว่าองค์ประกอบทั้งหมดนี้เป็นผลมาจากมิติของการเรียนรู้แบบรอบด้านตลอดรายวิชาอย่างแท้จริง

“ที่นี่เรารับเด็กแบบไม่สอบเข้านะ ทุกรายสัมภาษณ์กับผมและ CEO ทั้งหมด ตอนนี้น่าจะสัมภาษณ์มาแล้ว 600-700 คนเป็นอย่างต่ำ” คุณหมอบอก “ผู้ปกครองทุกคนต้องผ่าน Open House ทั้งหมด ต้องเข้าใจปรัชญาของโรงเรียน แล้วก็มีให้ทดลองเรียนด้วย เพราะ NEWTON มาหาลูกศิษย์ เราก็มีหน้าที่ต้องหาครูที่ดีให้กับเขา ถ้าถามว่าเราเตรียมอะไรให้เด็ก เราเตรียมหลักสูตรที่ดี ครูที่ดี แล้วผู้บริหารก็ทำงานกับหน้างานทั้งครูและนักเรียนอย่างใกล้ชิด ทำให้เด็กอุ่นใจ เราจะไม่ทิ้งให้เขาโดดเดี่ยวแน่นอน เพราะสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เด็กๆ พูดเองเลยว่า ที่นี่เป็นเหมือนบ้านหลังที่สองของเขาจริงๆ”

 

ความสำเร็จของนักเรียนในนิยามของ NEWTON จึงเป็นมากกว่าเรื่องของการศึกษา แต่คือการเป็นคนดีและส่งคืนให้กับสังคม คุณหมอนิยามง่ายๆ ว่า “เด็กที่นี่ต้องมีน้ำยาและมีน้ำใจ”

“ถ้าถามผมว่า การวัดความสำเร็จวัดอย่างไร มันไม่ได้วัดแค่นามธรรม รูปธรรมก็ต้องสำเร็จ นามธรรมก็ต้องสำเร็จ เข้ามหาวิทยาลัยได้ตามที่ฝัน หรือการทำโครงการอย่างการปรับปรุงเว็บไซต์ให้มูลนิธิเด็ก หรือการทำละครเพื่อนำรายได้ไปช่วยน้ำท่วม พอร์ทโฟลิโอพวกนี้ไม่ได้ทำเพื่อให้รับรองว่าเก่ง แต่เป็นการทำเพื่อฝึกนิสัยว่าเราจะต้องส่งต่อสู่สังคมจริงๆ และตัวเราก็มีความสามารถในการที่จะส่งต่อนั้นด้วย มีทั้งความรู้และลงมือทำจริง”

 

ช่วงวันปีใหม่ที่ผ่านมา บรรยากาศที่โรงเรียนแห่งนี้จึงคึกคักไปด้วยผู้ปกครองและของขวัญมากมายที่แบ่งปันให้กับเพื่อนร่วมโรงเรียน “มีอาม่าท่านหนึ่งน่ารักมาก แกทำกระเป๋ามาแจกนักเรียนทั้งโรงเรียนเลย ซึ่งผมประหลาดใจมากที่ว่า การตอบรับของสังคมดี ซึ่งสาเหตุคิดว่าเพราะสังคมขาดเรื่องนี้ ผู้ปกครองที่เข้ามาบอกว่าใช่เลย ก็แสดงว่าเรามาถูกทางแล้ว”

“เราต้องเปลี่ยนการศึกษาไม่ให้เป็นการค้าขายวิชา เรามาสร้างมนุษย์ อันนี้ที่สำคัญ” คุณหมอกล่าวสรุป

 

The NEWTON Sixth Form School
https://newton.ac.th
อีเมล : info@newton.ac.th

 

Newton Junior Campus (Year 4-7)
สยามสแควร์ ซอย 6
โทร. 06-5998-6513, 06-5998-6527

 

Newton Senior Campus (Year 8-13)
อาคาร SiamScape ชั้น 11 และ กำลังขยาย campus ที่ ชั้น 9 และ 9A
โทร. 06-5429-2454, 06-5998-6486, 06-5998-6510

 

Essence Campus (สำหรับนักเรียนหลักสูตรไทย)
อาคาร SiamScape ชั้น 15 และ 12
โทร. 06-3323-7069, 06-3323-7050

 

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์, The NEWTON Sixth Form School

 


อ่านเพิ่มเติม โรงเรียนมีชัยพัฒนา การเรียนรู้ทักษะชีวิตผ่านการลงมือปฏิบัติ และปฏิสัมพันธ์กับชุมชน

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.