Art of Anatomy กายวิภาคศาสตร์ ศิลปะแห่งร่างกาย และการเรียนรู้ความงามของสัดส่วนมนุษย์

Art of Anatomy กับ “กายวิภาคศาสตร์” วิชาที่อยู่ตรงกลางพอดีระหว่างศิลปะกับวิทยาศาสตร์ การสร้างความสมดุลระหว่างความสวยงามและความจริงจึงเป็นเรื่องของการเรียนรู้ ไปพร้อมกับความท้าทายระหว่างลงมือทำ

กายวิภาคศาสตร์​ (Anatomy) ในความรับรู้ของผู้คนคือวิชาพื้นฐานของสายแพทย์ที่จะต้องเรียนรู้โครงสร้างร่างกายของมนุษย์ในเชิงหน้าที่การทำงาน และอีกมุมมองหนึ่ง กายวิภาคศาสตร์ คือศาสตร์ที่นำพาศิลปินไปค้นหาความงามตามธรรมชาติของร่างกายมนุษย์ เพื่อสร้างสรรค์เป็นผลงานศิลปะต่อไป

“กายวิภาคฯ เป็นวิชาที่ดูแค่รูปอย่างเดียวไม่ได้ จำเป็นต้องมีคนอธิบายด้วยว่าทำไมรูปนี้ถึงเป็นแบบนี้” คุณอาร์ต – วรรณฤทธิ์ กะรินทร์​ อาจารย์ และผู้ก่อตั้ง Art of Anatomy ห้องเรียนกายวิภาคฯ สำหรับศิลปะ เล่าให้เราฟังถึงความสำคัญของวิชากายวิภาคศาสตร์ต่องานศิลปะ “หลายครั้งคนที่เป็นสายวาดหรือปั้น อาจจะไม่มั่นใจกับวิชานี้ เพราะมันอิงกับหลักวิทยาศาสตร์ กลัวว่าวาดออกมาแล้วผิดหรือเปล่า เขาต้องการคนสักคนหนึ่งมาพิสูจน์ว่าที่เขาวาดมันถูกต้องนะ แล้วถ้าไม่ถูกต้อง มันไม่ถูกตรงไหน”

“เราก็ต้องอธิบายว่า ด้วยความที่กายวิภาคฯ มันอยู่ตรงกลางระหว่างวิทย์กับศิลป์ มันเป็นธรรมดาของโลก ถ้าเน้นไปทางความเป็นจริงและความถูกต้องทางวิทย์มาก ก็อาจจะสูญเสียความสวยงามบางอย่างในเชิงของศิลปะ อย่างรูปแกะสลักหินดาวิด (ผลงานโดย มีเกลันเจโล) เป็นตัวอย่างที่ดีที่แสดงการต่อรองกันระหว่างความเป็นวิทย์ของกายวิภาคฯ กับความสมบูรณ์แบบของศิลปะ ศิลปินจะพยายามบาลานซ์ระหว่างความสวยกับความจริง ความเป็นวิทย์กับความเป็นศิลป์ แล้วทำหน้าที่สรุป เชื่อโยง ประมวลความรู้ เพื่อหาจุดสมดุลของทั้งสองศาสตร์”

 

Anatomy for Art : กายวิภาคศิลป์ เพื่อการสร้างสรรค์

คุณอาร์ตให้นิยามของวิชากายวิภาคศาสตร์ สำหรับความงามทางฟากฝั่งศิลปะเอาไว้ว่า เป็นกายวิภาคฯ ที่เน้นในเรื่องความสวยงาม มากกว่าเรื่องความถูกต้องในแบบกายวิภาคฯ ทางการแพทย์ ความท้าทายของศิลปินจึงเป็นเรื่องของการค้นหาว่า อวัยวะแต่ละส่วนมีสุนทรียศาสตร์และความงามเฉพาะตัวอย่างไร

“กายวิภาคฯ ของหนังสือวาดรูปกับหนังสือแพทย์ บางอย่างแทบไม่ตรงกันเลย เพราะสมัยก่อนตอนมีการเริ่มศึกษากายวิภาคฯ สำหรับการวาดภาพ มีส่วนที่เกิดจากการศึกษาของศิลปินเพื่อทำงานศิลปะด้วย เป็นศิลปินที่มาเลาะเปิดแล้วสเก็ตช์กันเอง หลังจากองค์ความรู้ถูกถ่ายทอดต่อกันมาเรื่อยๆ สายวิทย์และสายศิลป์ก็เริ่มแยกจากกันไปอย่างชัดเจน หนังสือกายวิภาคฯ สำหรับศิลปะที่ขายกันในปัจจุบันก็จะเป็นสูตรของศิลปะไปเลย อย่างพวกมุมกระดูก อาจจะไม่ได้ตรงกันขนาดนั้น แต่ก็ยังคงพื้นฐานทางการแพทย์อยู่”

ความท้าทายอีกประการของการเรียนการสอนวิชากายวิภาคฯ​ สำหรับศิลปะ คือการสร้างความประนีประนอมระหว่างภาษาแบบแพทย์กับศิลปะ “อะไรที่มันเป็นเนื้อหาวิชาการของสายนี้ เราเอาตรงกลางไว้ และวิชานี้เรียนเป็นภาษาไทยค่อนข้างยาก ด้วยชื่อเฉพาะของกล้ามเนื้อหรือกระดูก หรือชื่อเฉพาะที่บอกเล่าการเชื่อมโยงของแต่ละส่วน จึงเป็นอีกปัญหาหนึ่งของวิชา”

นักเรียนส่วนใหญ่ที่เข้ามาเรียนในคอร์ส เป็นศิลปินสายวาดรูป วาดคาแร็กเตอร์ เกม ทำงานปั้น หรือแม้แต่คนในวงการแพทย์ที่ชอบวาดรูปก็มาลงเรียนคอร์สนี้เช่นกัน

“คนอยากมาเรียนกายวิภาคฯ เพื่อสรรหาความถูกต้องของการวาดรูป แต่จริงๆ แล้ววิชากายวิภาคฯ มันเรียนไปเพื่อดัดแปลง ศิลปินก็ควรจะเอาความรู้นี้ไปดัดแปลงให้เข้ากับงานของตัวเอง มีคำพูดหนึ่งของอาจารย์ต่างประเทศที่ผมชอบมาก เขาบอกว่า ศิลปินเป็นผู้ที่ถ่ายทอดธรรมชาติของโลกนี้ในรูปแบบของตน แล้วผมก็จะบอกว่า เรียนกายวิภาคฯ มันคือ เราไม่ได้เรียนเพื่อเอาความเป๊ะนะ เราเรียนเพื่อไปดัดแปลงให้เป็นงานของตัวเอง เพราะว่าในโลกของงานศิลปะมันมีหลากหลายสไตล์มากๆ”

ห้องเรียนปัจจุบันแบ่งเป็น 3 วิชาหลัก ได้แก่ Anatomy – วิชาของร่างกาย กล้ามเนื้อ กระดูก, Figure Drawing – วิชาวาดหุ่นมนุษย์ และ Portrait – วิชาวาดภาพใบหน้ามนุษย์ โดยเฉลี่ยคอร์สละ 8 ครั้ง ครั้งละ 4 ชั่วโมง และด้วยความที่เนื้อหาเยอะมาก นักเรียนจึงสามารถกลับมาเรียนทวนได้ตลอดชีวิต

 

จากหน้ากระดานสู่การสอนออนไลน์​

ภาพจาก นิทรรศการ SILPA : TRANSFORM กาย-วิพากษ์ โดยหอศิลป์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

ภาพจำของ Art of Anatomy ที่ทำให้ผู้คนทึ่ง และทำให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง คือภาพวาดกายวิภาคฯ สีสันสดใสบนกระดานดำขนาดมหึมา เบื้องหลังคือพัฒนาการของการเรียนการสอนจากในห้องเรียน สู่ยุคการระบาดของโควิดที่ต้องปรับตัวเป็นการสอนแบบออนไลน์

“สำหรับห้องเรียนออนไลน์ แทบไม่มีปัญหาเลย เพราะว่าเป็นวิชาเล็กเชอร์อยู่แล้ว ต่อให้นั่งในคลาส มันก็คือดูผมวาดแล้วพูดไปด้วยวาดไปด้วย มันก็แค่เปลี่ยนไปดูหน้าจอเท่านั้นเอง ก็เลยไม่มีปัญหา”

จากห้องเรียนแรกสุดที่ใช้กระดาษขนาดยักษ์ติดตั้งกับผนัง มาสู่การใช้กระดานดำกับสีพาสเทลตามคำแนะนำของอาจารย์ต่างประเทศ “พอรูปขนาดใหญ่ เราต้องวาดให้เร็วตามที่เราพูด คนจะโฟกัสที่ผมมากกว่ารูปบนกระดาน เพราะมีความเคลื่อนไหว“ จึงเปลี่ยนมาสู่การใช้เครื่องฉายสไลด์ที่สร้างสมาธิในการเรียนให้กับนักเรียน จนปัจจุบันที่เป็นการเรียนแบบออนไลน์เนื่องมาจากสภาวการณ์ของโควิด-19

“พอเป็นออนไลน์ ก็ต้องมีวิธีคิดแบบออนไลน์ เพราะว่าเวลาเรียนออนไลน์ คู่แข่งเราไม่ใช่คนในประเทศ เพราะทั้งโลกก็เป็นออนไลน์เหมือนกัน เท่ากับว่าคนที่เรียนออนไลน์กับเรา ก็สามารถเรียนกับใครก็ได้ในโลก เมื่อมีการเปรียบเทียบแล้ว อะไรจะทำให้เราดีกว่าเค้านอกจากเนื้อหา นั่นก็คือโปรดักชั่นในการสอน”

สิ่งที่ทำให้โปรดักชั่นเป็นข้อสำคัญ ก็เพราะเกี่ยวข้องโดยตรงกับการสร้างสมาธิให้ผู้เรียนจดจ่ออยู่กับบทเรียนตรงหน้า การแก้ปัญหาในจุดเล็กน้อย เพื่อให้ได้เสียงที่ชัดเจน หรือแสงบนจอที่ไร้เงา จึงช่วยให้การเรียนการสอนเป็นมืออาชีพมากยิ่งขึ้น

“ผมถามอาจารย์ต่างประเทศว่าอะไรที่สำคัญกับการสอนออนไลน์ เขาบอกว่าเสียง สำคัญกว่ารูป เพราะถ้าเสียงดี มันทำให้การสอนเป็นมืออาชีพ การเรียนการสอนตลอดช่วงเวลาต้องไหลลื่นไปทั้งหมด เราก็เลยลงทุนกับไมค์ เครื่องจูนเสียงให้ดีไปเลย อีกเรื่องก็คือภาพ เราต้องวาดต้องสาธิต เพราะฉะนั้นต้องหาวิธีแก้ปัญหาด้วยการจัดไฟ ให้บนกระดาษไม่มีเงาอยู่เลย และความละเอียดสูง เพื่อให้ผู้เรียนได้โฟกัสกับเนื้อหาโดยตรง”

ในส่วนของวิชาที่ต้องใช้โมเดลหรือหุ่นนิ่งตัวอย่าง อย่างวิชาวาดภาพหุ่นมนุษย์ จากเดิมที่ในห้องเรียนใช้การวาดจากแบบของหุ่นนิ่งหรือนายแบบ ต้องเปลี่ยนมาเป็นการสแกนหุ่นนิ่ง แล้วส่งเป็นลิงค์ให้ผู้เรียนสามารถเลือกมุมกล้อง จัดเซ็ตติ้ง จัดการองค์ประกอบได้เอง

“โปรแกรมเหล่านี้ช่วยชดเชยการไม่ได้มาเรียนจริงในห้องได้ และระหว่างเรียน ถ้ามีสมาร์ทโฟนอีกเครื่อง ก็สามารถหมุนโมเดลพร้อมกันไปด้วยได้ เพราะอนาคตก็มองไกลไปถึงการใช้ VR ในการเรียน จึงลงทุนกับการใช้งานเทคโนโลยีสำหรับการเรียนการสอน”

 

วิชาที่เติมทักษะให้กับศิลปิน

จนถึงวันนี้ คลาสนี้เข้าสู่ปีที่ 9 แล้ว พร้อมกับการสร้างศิลปินผู้วาดภาพสิ่งมีชีวิตทั้งคนและสัตว์ด้วยความเข้าใจที่มากกว่าเพียงการจดจำเช่นในอดีต เช่นเดียวกับ คุณป๋อ ศิลปินนักวาดภาพประกอบที่เข้ามาเรียนห้องเรียนของคุณอาร์ต เพื่อเพิ่มทักษะให้กับผลงานของตัวเอง

“ที่มาเรียนคลาสนี้เพราะอยากเรียนรู้ให้เข้าใจ และต่อไป ถ้าเข้าใจมากขึ้น แน่นอนว่ามันพัฒนาการวาดไปได้เอง มาเรียนเพื่ออัพเกรดสกิลตัวเอง ถ้าเราทำได้ดีขึ้นก็คือดีกว่ามาตรฐานของเราเองขึ้นไปอีก เป็นการอัพมูลค่าให้กับงานของตัวเองมากขึ้น”

“พอมาเรียน มันเกิดความเข้าใจจากสิ่งที่เราเคยจดจำ ถ้าถามว่ายากไหม ยากนะ แต่คุณอาร์ตก็ค่อยๆ สอนให้เข้าใจ ช่วงแรกจะทฤษฏีเยอะ ต้องตั้งใจมากๆ แต่พอเริ่มวาดไปด้วยกันแล้ว เราได้ Learning by Practicing ก็ค่อยๆ เข้าใจมากขึ้น นอกจากนั้นก็คุณอาร์ตก็ยังแทรกเทคนิคหลายๆ อย่าง เช่น การวาดให้เป็นธรรมชาติ การใช้เส้นสายเชื่อมต่ออวัยวะแต่ละส่วน ซึ่งช่วยให้จำง่าย เข้าใจง่าย”

คุณป๋อเป็นนักเรียนที่เคยเรียนในห้องเรียนจริงแล้ว ครั้งนี้เธอกลับมาเรียนทบทวนอีกครั้งในห้องเรียนออนไลน์ นั่นทำให้เธอได้มองเห็นพัฒนาการของการเรียนการสอนที่เติบโตมากขึ้น “การเรียนแบบออนไลน์ดีเลยนะ เพราะสามารถได้เห็นเต็มตามากๆ มีเทคนิค การเอาโปรแกรมมาช่วย การหมุนมุมให้ดู ปิดกล้ามเนื้อให้ดูข้างใน เราก็เห็นภาพได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องแค่จินตนาการ แต่มีอุปกรณ์ในการเรียนมาช่วยสนับสนุนในการทำความเข้าใจได้มากขึ้น”

นอกจากความรู้ในทางกายวิภาคฯ ที่ช่วยเติมความมั่นใจในงานวาดให้คุณป๋อมากยิ่งขึ้น การได้เรียนในห้องเรียนนี้ยังช่วยมอบมุมมองทางศิลปะกับความงามของร่างกายมนุษย์ให้กับเธอได้อีก

“กายวิภาคฯ เป็นเรื่องสไตล์แต่ละคน เหมือนศิลปินแต่ละคนที่เอาตัวอย่างมาโชว์ ทุกคนมีสไตล์การทำกายวิภาคฯ เป็นของตัวเอง เอาหลักสรีระมาบวกกับมุมมองทางศิลปะที่ต่างกัน มันเลยทำให้เกิดความรู้สึกว่า ทุกคนที่วาดรูปไม่มีถูกผิด มันเป็นเรื่องของศิลปะ เราเริ่มผูกพันกับมัน ผูกพันอยู่กับการวาดและเอกลักษณ์ของเรา”

“ไม่ใช่แค่วาดได้เพราะจำได้ แต่เพราะวาดด้วยความเข้าใจจริงๆ”

 

Art of Anatomy
http://artofanatomy-thailand.com/
www.facebook.com/artofanatomy.thailand

 

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์, Art of Anatomy


อ่านเพิ่มเติม โรงเรียนกำเนิดวิทย์ โรงเรียนวิทยาศาสตร์ที่มุ่งสร้างนักวิจัย เพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรม

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.