เราได้ยินคำว่า ‘เมืองไทยเป็นอู่ข้าวอู่น้ำ’ มาอย่างยาวนาน ด้วยอาชีพหลักเกษตรกรรมที่ทำให้ ‘ครัวของโลก’ กลายเป็นนโยบายผลักดันเศรษฐกิจของประเทศเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันที่สภาวการณ์ของโลกเปลี่ยนแปลงรุนแรงเกินความคาดเดา ทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม สังคม สงคราม และโรคระบาด
“เรากักตัวจากการเป็นกลุ่มเสี่ยงของโควิด-19 ก็ยังต้องทานข้าว โปรตีน เรายังต้องกินอยู่ใช้ชีวิตปกติ เพราะทุกอย่างอาศัยผลผลิตทางการเกษตร เพียงแต่การเกษตรบ้านเรายังขึ้นอยู่กับความแปรปรวนสภาพดินฟ้าอากาศที่ยากต่อการพยากรณ์ การเกษตรในอนาคตจึงต้องใช้เทคโนโลยีของทางวิศวกรรมมาเข้าใจความไม่แน่นอนของกระบวนการผลิต เพื่อความอยู่รอดของทุกคน” ผศ.ดร.อนัญญา เจริญพรนิพัทธ รองคณบดีกำกับงานวิชาการและต่างประเทศ คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เท้าความให้เราฟังถึงความสำคัญของเกษตรอัจฉริยะ
พัฒนาการและความก้าวหน้าทางด้านเกษตรกรรมที่ใช้นวัตกรรมเป็นเครื่องมือ จึงนำมาสู่การพัฒนาหลักสูตร Agrinovator เกษตรนวัตกร ที่มุ่งพัฒนาบัณฑิตให้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการผลิตเชิงลึกด้านการเกษตรควบคู่ไปกับการสร้างเครื่องมือทางวิศวกรรมศาสตร์
เกษตรกรรม + นวัตกรรม = เกษตรนวัตกร
“หลักสูตรนี้เหมือนเราสร้างคนสองคนอยู่ในตัวคนเดียวกัน คือ Agriculture (เกษตรกรรม) และ Innovation (นวัตกรรม) ผู้เรียนต้องเรียนทั้งสองคณะ ทั้งคณะเทคโนโลยีการเกษตรและวิศวกรรมศาสตร์ในเวลาเดียวกัน จึงเป็นหลักสูตรควบระดับปริญญาตรีสองปริญญา – วิทยาศาสตรบัณฑิต สาขาการจัดการสมาร์ตฟาร์ม และวิศวกรรมศาสตรบัณฑิต สาขาวิศวกรรมเกษตรอัจฉริยะ” อ.อนัญญาเริ่มต้นเล่า
“โจทย์ครั้งนี้คือการปลดล็อกประเทศไทย เพราะบ้านเรา อาชีพการเป็นเกษตรกรยากจน เพราะเกษตรกรใช้เทคโนโลยีไม่เป็น หรือไม่ก็ถูกหลอก ทำการเกษตรแบบเดิมมาตลอด ถ้าฝนแล้งน้ำแล้งก็สร้างระบบชลประทานแบบเท่าที่ทำได้ จนผลผลิตออกมาก็ไม่รู้ว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มหรือเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายได้อย่างไร เราคิดว่าถ้าประเทศไทยมีเกษตรกรหรือนักวิชาการเกษตรและวิศวกรรวมอยู่ในคนเดียวกัน คิดว่าเขาน่าจะตอบโจทย์เหล่านี้ได้ทั้งหมด นี่คือที่มาที่ทำให้เราก่อตั้งหลักสูตรนี้ขึ้น”
หลักสูตร Agrinovator ของ สจล. นับว่าเป็นหลักสูตรแรกและหลักสูตรเดียวของประเทศไทย ณ เวลานี้ ที่ผลิตบัณฑิตมีความรู้แบบสหวิทยาการ โดยมองปลายทางที่ความโดดเด่นในด้านเทคโนโลยี ครอบคลุมหัวเรื่อง Big Data, Robotics, IoT, AI เข้ามาใช้จริงในภาคการเกษตร จากข้อได้เปรียบของคณะวิศวกรรมศาสตร์ที่เป็นนักประดิษฐ์และสร้างเครื่องมือ กับคณะเทคโนโลยีการเกษตรที่รอบรู้พื้นฐานการเกษตรรอบด้านทั้งพืช สัตว์ และประมง
“คณะเทคโนโลยีการเกษตรก่อนหน้านี้เรามี 5 หลักสูตร ได้แก่ เทคโนโลยีการผลิตพืช เทคโนโลยีการผลิตสัตว์และวิทยาศาสตร์เนื้อสัตว์ นวัตกรรมการผลิตสัตว์น้ำและการจัดการทรัพยากรประมง พัฒนาการเกษตร และนิเทศศาสตร์เกษตร ซึ่งจุดอ่อนอีกอย่างในตอนนี้คือ เด็กสนใจเรียนเกษตรกันน้อยลง เราเลยมาคิดว่า เด็กในศตวรรษที่ 21 เขาอยากเรียนรู้เป็นเรื่องๆ (Module) แล้วก็ต้องมีความเชี่ยวชาญ สามารถประกอบอาชีพได้จริง โดยเฉพาะกับเรื่องเทคโนโลยีสมัยใหม่”
“ถ้าสมาร์ทโฟนที่ทุกคนมี สามารถเป็น Micro Controller ควบคุมการให้น้ำ การเปลี่ยนถ่ายน้ำ หรือตั้งเวลาในการให้อาหาร (Timer Autofeed) สำหรับให้อาหารสัตว์ ดูแลคุณภาพน้ำ หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ดึงเอาความแม่นยำในแบบวิศวกรรมมาเป็นเครื่องมือ แล้วสนับสนุนผู้เรียนว่า ถ้าอยากทำอะไรก็ไปให้สุด เราจึงต้องปรับทั้งวิธีคิด กระบวนการเรียนการทำงานให้เป็นระบบมากขึ้น เพราะโลกของการเกษตรหรือประมงไปไกลมากแล้ว เป็นทั้ง เกษตรอัจฉริยะ (Smart Agriculture), ประมงอัจฉริยะ (Smart Fisheries), เกษตรแม่นยำ (Precision Farming) หรือแนวคิดใหม่ๆ อาจจะมาล้ำกว่าอีกในอนาคต”
Outcome-Based Education การศึกษาที่เน้นผลลัพธ์ของการเรียนรู้
“อะไรที่เขาบอกว่าทำไม่ได้ มันควรจะทำได้” ผศ.ดร.ธงชัย พุฒทองศิริ คณบดีคณะเทคโนโลยีการเกษตร เล่าถึงเรื่องราวของหลักสูตร “อย่างโรงเรือนรูปแบบใหม่ เราก็พยายามสร้างให้ควบคุมสภาพต่างๆ ได้ ในอนาคตการผลิตก็น่าจะได้ประสิทธิภาพ ประสิทธิผลมากกว่าเดิม ก็มีสภาวะที่ต้องทำให้ได้ มันก็เป็นเรื่องความมั่นคงทางอาหารด้วย ถ้าวันหนึ่งโลกมันร้อนจนเลี้ยงปลาหรือทำการเกษตรไม่ได้ ผมว่ามันต้องกลับมาเรื่องนี้”
การเรียนการสอนของหลักสูตรโดยรวม เน้นในเรื่องการสร้างกลุ่มของทักษะ เพื่อสร้างบัณฑิตพร้อมใช้งานที่มีทั้ง Soft Skill – ทักษะในการดำรงชีวิต ติดต่อสื่อสาร และ Hard Skill – ทักษะวิชาชีพ ให้สามารถประกอบอาชีพได้ โดยทางเนื้อหาของฟากฝั่งวิศวกรรม จะเป็นเรื่องของกลศาสตร์ การเขียนแบบ การเขียนโปรแกรม โคดดิ้ง และการผลิตเครื่องมือ รวมเข้ากับเนื้อหาทางด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นน้ำที่หลักการผลิต การบริหารจัดการ จนถึงการเป็นผู้ประกอบการธุรกิจเกษตรอัจฉริยะ
อ.ธงชัยเพิ่มเติมอีกว่า “เราจะทำเกษตรที่ไม่ได้คิดแบบเดิม ความแตกต่างเป็นเรื่องของการคิดแบบครบวงจร เราควบรวมกลุ่มวิชาพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ เหลือแค่วิทยาศาสตร์ชีวภาพ วิทยาศาสตร์กายภาพรวมกันไว้ แล้วเลือกวิชาที่ผู้เรียนเกษตรใช้จริง ปรับให้มีแกนเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการเกษตรทั้งหมด เช่น มาตรฐานการผลิตและการจัดการฟาร์ม เศรษฐศาสตร์ การตลาดแผนธุรกิจ แล้วคิดว่าจะเอาเทคโนโลยีอะไรไปใช้ แต่พื้นฐานเราต้องไม่ลืม ในเรื่องของการปลูกพืช สัตว์ก็ต้องเลี้ยงเป็น แต่ใจความสำคัญที่เราเปลี่ยนไปจากคนอื่นก็คือ ต้องขายเป็น และใช้เทคโนโลยีได้”
นี่นำมาซึ่งการศึกษาภาคปฏิบัติที่ให้นักศึกษาเริ่มฝึกงานกับสถานประกอบการจริงตั้งแต่ชั้นปีที่ 2 เพื่อสร้างทักษะที่สามารถปฏิบัติงานได้จริง และเชื่อมโยงเด็กเข้าสู่อุตสาหกรรมจริง โดยมีบริษัทที่เป็นเครือข่ายทั้งในสายงานการเกษตร ผลิตภัณฑ์อาหาร รวมทั้งนวัตกรรม AI และ Robotics สำหรับการเกษตร ไปจนถึงชั้นปีที่ 4 ที่เป็น Project-based Learning นักศึกษาจะได้คิดค้นและสร้างสรรค์จริงผ่านโครงงานวิจัย (Project) ก่อนเรียนจบ
“เรามองว่า การพัฒนาต้องเริ่มต้นที่การศึกษา การสร้างคน” อ.อนัญญาเสริม “ในขณะเดียวกัน เราก็มีหลักสูตรเสริมทักษะ เพิ่มทักษะสำหรับเกษตรกร ทั้งเพื่อการสร้างอาชีพ หรือสะสมหน่วยกิตมาลงทะเบียนเรียนเป็นนักศึกษาของ สจล. ต่อไปก็ได้เช่นกัน”
เกษตรกรรมไทยในอนาคต
เราถามถึงเทรนด์ของการเกษตรยุคใหม่ “มันอาจจะมี 2 แนว คือเกษตรนวัตกรที่ต้องใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และเกษตรอินทรีย์ ที่อาจจะไม่ได้ใช้เทคโนโลยี แต่ต้องสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผู้ผลิต ไปพร้อมกับผู้บริโภคที่ได้ทานอาหารปลอดภัย เป็นเรื่องของอาหารปลอดภัย (Food Safety) และความมั่นคงทางอาหาร (Food Security)”
จากหลักสูตรตรงนี้เอง ทีมคณาจารย์จึงมองไปข้างหน้าไม่เพียงแต่กับการจัดการเรียนการสอนผ่านรายวิชาที่เน้นการปฏิบัติจริงและใช้งานในทางวิชาชีพได้จริง ‘ผลิตได้มาตรฐาน ใช้เทคโนโลยีเป็น ผลิตได้ขายเป็น’ แต่ยังมองถึงระยะยาวที่การผลิตบุคลากรทางการเกษตรแบบวงกว้างในระดับประเทศ
“ในช่วงประชาสัมพันธ์หลักสูตร เราได้พบกับผู้ทรงคุณวุฒิที่เป็นกรรมาธิการของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เสนอแนะให้จัดการศึกษาเพื่อยกระดับเกษตรกร แล้วเราก็คิดว่าถ้ามีโมเดลตั้งต้นที่ อบจ.ของทุกจังหวัดสนับสนุนทุนการศึกษาให้นักเรียนในจังหวัดของตัวเองได้เข้ามาเรียนหลักสูตรนี้ แล้วกลับไปคืนถิ่นให้จังหวัดตัวเอง เทคโนโลยีการเกษตรบ้านเราน่าจะไปได้ไกล”
อ.อนัญญาเล่าต่อ “ปัจจัยนอกประเทศและสภาวะของโลกก็มีส่วนอย่างมากเช่นกัน อย่างเมื่อประมาณสามสิบปีก่อน คนยุโรปส่วนใหญ่จะไม่กินปลาในทะเลบอลติกเพราะรัสเซียปล่อยสารเคมีลงไป ตอนนี้ทะเลบอลติกกำลังจะฟื้นกลับมา ชาวยุโรปเริ่มกลับมากินปลาจากทะเลบอลติก แต่ถ้าสงครามยืดเยื้อไปอีก มีเหตุการณ์เดิมเกิดขึ้นซ้ำ แล้วสามารถผลิตอาหารป้อนให้กับโลกได้ วันนั้นเราอาจจะเป็นเจ้าในการผลิตอาหาร เป็นครัวของโลกจริงๆ ก็ได้”
แม้ในขณะนี้ หลักสูตรจะรับนักศึกษาเป็นรุ่นที่สอง แต่ก็ได้รับความสนใจจากนักเรียนมากมาย ทั้งที่ครอบครัวดั้งเดิมเป็นผู้ประกอบการและต้องการพัฒนาธุรกิจครอบครัวให้แข็งแรงขึ้น รวมทั้งนักเรียนที่มองอนาคตความยั่งยืนด้านวิชาชีพการผลิตอาหารผ่านแนวคิดการเพิ่มผลผลิตด้วยเทคโนโลยี เพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารให้กับผู้คนในประเทศ
“ถ้าวิศวกรรมเป็นคีม คือความแม่นยำ เกษตรกรรมเป็นมะเขือเทศ คือความเปราะบาง ถ้าคีมจับกับมะเขือเทศ แล้วสามารถทำงานร่วมกันได้ มันมหัศจรรย์มากนะ”
โครงการหลักสูตรควบระดับปริญญาตรี 2 ปริญญา Agrinovator
คณะเทคโนโลยีการเกษตร สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง
โทร. 0-2329-8504
http://agri.kmitl.ac.th/dualdegree/
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ เอกรัตน์ ปัญญะธารา, Agrinovator KMITL