SIIT ธรรมศาสตร์ กับภารกิจ Learning for the Future

ถอดรหัสการศึกษาเพื่อวันข้างหน้า SIIT มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับภารกิจ Learning for the Future

คุณคิดว่า ทักษะแบบไหนกันแน่ที่โลกอนาคตต้องการ?
Analytical thinking and innovation ทักษะการคิดวิเคราะห์และทักษะด้านนวัตกรรม
Complex problem-solving ทักษะการแก้ปัญหาที่ซับซ้อน
Creativity, Originality, and initiative ทักษะความคิดสร้างสรรค์และการริเริ่มสิ่งใหม่
หรือจริงๆแล้วจะเป็นแค่ ทักษะการหาความสุข และการค้นหาความหมายของการมีชีวิตอยู่?

บรรทัดนี้ไม่ได้มีเฉลย แต่ถึงเช่นนั้นไม่ว่าจะเลือกคำตอบแบบใด หากเมื่ออนาคตถูกตีความว่าคือสิ่งที่ยังไม่เกิด หัวใจหลักของทุกข้อจึงหนีไม่พ้นการ “เตรียมตัว” สำหรับวันข้างหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมตัวด้านความคิด ลงมือทำ การใช้นวัตกรรม รวมถึงสภาพอารมณ์จิตใจ

อาจฟังเป็นเรื่องนามธรรม และพล็อตเรื่องที่ว่าด้วยการศึกษาแห่งอนาคตก็น่าจะจบเพียงเท่านี้ ถ้าไม่ใช่ครั้งหนึ่งสถาบัน SIIT ได้ถูกก่อตั้งขึ้น และพยายามถอดรหัสความต้องการแห่งอนาคตนั้นให้เกิดขึ้นได้จริง

 

อนาคตของอดีต

ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร

ย้อนไปในช่วงปี พ.ศ.2535 ช่วงนั้นเศรษฐกิจของประเทศไทยกำลังเติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เกิดการลงทุนจากต่างประเทศจำนวนมาก มีการตั้งโรงงานขนาดใหญ่ในไทยหลายแห่ง และหนึ่งในอนาคตที่มาถึงเร็วที่สุด นั่นคือ ตลาดแรงงานด้านวิศวกรเปิดกว้าง ต้องการบุคลากรที่มีศักยภาพ เชี่ยวชาญ สามารถสื่อสารกับต่างประเทศได้

นั่นจึงเป็นที่มาของการที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น (Japan Business Federation) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกันก่อตั้งสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติ แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และต่อมาได้รับพระราชทานชื่อ เป็น สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร หรือ SIIT ดังเช่นทุกวันนี้

“ตอนนั้นมีแรงขับเคลื่อนมาจากธุรกิจ คือการลงทุนจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นที่ต้องการย้ายฐานการผลิต เพื่อรองรับอนาคตประเทศตอนนั้น ทุกโรงงานที่เป็นการลงทุนจากต่างประเทศต้องการวิศวกรที่มีความเป็นสากล สื่อสารภาษาอังกฤษได้ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของ SIIT ที่ผลิตคนเพื่อสนองความต้องการการเติบโตทางเศรษฐกิจในตอนนั้น” ศ.ดร.พฤทธา ณ นคร ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ย้อนถึงจุดเริ่มต้นของสถาบันที่ผลิตบัณฑิตด้านววิศวกรรมหลักสูตรภาษาอังกฤษแห่งแรกๆในประเทศไทย ในยุคที่ประเทศต้องการเป็นเสือเศรษฐกิจตัวที่ 5 ของเอเชีย

อนาคตจากภายนอกเร่งเร้าให้สถาบันการศึกษาต้องปรับตัว และแม้จะเป็นคณะใหม่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่แนวทางการบริหารของที่นี่แตกต่างจากคณะอื่น ๆ เช่น การคัดเลือกอาจารย์อัตราจ้างซึ่งมีสัญญาระบุชัดว่า ต้องทำงานวิจัย มีผลงานวิชาการ และใช้ภาษาอังกฤษในการเรียนทั้งหมด ซึ่งประเด็นนี้ทำให้สถาบันเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอยู่ตลอด เช่นเดียวกับการให้ทุนนักเรียนจากต่างชาติ รวมถึงมีหลักสูตรแลกเปลี่ยนกับต่างประเทศมาตั้งแต่แรกที่ก่อตั้ง

“ผลจากการสร้างบัณฑิตในวันนั้น เราได้รับคำชมว่านายจ้างแฮปปี้มาก เพราะบัณฑิตจาก SIIT ตอบโจทย์ความต้องการในตอนนั้นได้ มีความเชี่ยวชาญในสายงานวิศวกร สื่อสารภาษาอังกฤษ เข้าใจวัฒนธรรมทำงานที่หลากหลายเชื้อชาติ และจนถึงปัจจุบันเรามีตัวเลขสำรวจที่ทำร่วมกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ซึ่งแสดงว่าเรามีอัตรา Employment Rate (อัตราการจ้างงาน) ในสายวิศวกรสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ซึ่งอธิบายได้ส่วนหนึ่งว่า ที่เรามองอนาคตในอดีตและตั้งเป้าหมายไว้ เรามาถูกทางแล้ว”

 

ดีเอ็นเอของคนทำงานในอนาคต

นั่นเป็นที่มาและผลลัพธ์ในช่วงที่ผ่านมา แต่ในโลกปัจจุบันที่ Landscape ในธุรกิจต่างๆ เปลี่ยนแปลงไป แรงงานถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์ รูปแบบการสั่งการเป็นหน้าที่ของ AI เช่นนี้แล้ว SIIT ซึ่งเพิ่งฉลองครบรอบ 30 ปีไปไม่นาน จึงตั้งคำถามว่า อนาคตคืออะไร? และการศึกษาแบบใดถึงจะเป็นการเรียนรู้สู่อนาคตแบบที่เรียกว่า Learning for the Future

ยิ่งเฉพาะโจทย์ของภาคอุตสาหกรรมที่วิเคราะห์กันว่า การ Transformation จะเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า โดยมีรูปแบบสินค้าและบริการหลักซึ่งเป็นที่ต้องการของประชาคมโลก เช่น กลุ่มสินค้าเกษตรและอาหาร (Agriculture & Foods) กลุ่มสินค้าสร้างสรรค์ (Creative) และกลุ่มสินค้าเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูง (High Value Technology)

“ธุรกิจที่ชนะในวันนี้ มันไม่ได้มีโมเดลที่ลอกเลียนกันได้ง่าย ๆ มีข้อสังเกตว่าธุรกิจที่ชนะมักมี Innovation หรือนวัตกรรมใหม่เป็นส่วนประกอบ นั่นคือคุณต้องมีสินค้าหรือบริการอะไรใหม่ ถ้าอยู่แบบเดิมๆ คงชนะไม่ได้ ต้องสร้างจุดเด่น”

อธิบายง่าย ๆ ว่า เราจะขายของเหมือนเดิมไม่ได้ ต้องมีของที่ผลิตใหม่ คิดใหม่เอง จุดนี้ที่ทำให้ผู้เรียนและจบออกไปจาก SIIT ต้องสร้างสิ่งใหม่ได้ คิดใหม่เองได้ แต่ถึงเช่นนั้นก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนต้องเป็นสตาร์ทอัพ (Startup) ทั้งหมด เพราะการคิดใหม่ หาไอเดียใหม่ แทรกอยู่ในหลายบริบท

การ ‘คิดสิ่งใหม่’ สร้างสรรค์ได้ ต้องมีส่วนประกอบอะไรบ้าง? ผมว่าคงไม่มีคำตอบใดเพียงคำตอบเดียว แต่เราคิดว่าการคิดใหม่จะสร้างสรรค์ไม่ได้เลยถ้าไม่เคยแก้ปัญหามาก่อน ดังนั้นส่วนประกอบสำคัญของคนที่สร้างสิ่งใหม่ได้ ผมคิดว่าคือ หนึ่งต้องมีความรู้ดีเป็นพื้นฐาน กับสองมีโอกาสทดลองแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า ฝึกฝนไปเรื่อย จนกลายเป็นเรื่องปกติ ผู้บริหาร SIIT อธิบาย

“ยกตัวอย่างเวลาของใช้ในบ้านเสีย แล้วมีเด็กคนหนึ่งที่คอยช่วยพ่อแม่ซ่อมทุกครั้ง เขาหยิบโน่น หยิบนี่ ฝึกหัดแก้ปัญหาตลอดเวลา และทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ รับรองว่าเขาจะมีทักษะที่จะแก้ปัญหาในบ้านได้ และเมื่อฝึกฝนบ่อย ๆ ประกอบกับการมีความรู้ดี เขามีโอกาสที่จะใช้ความรู้นี้ผนวกกับทักษะ สร้างสิ่งใหม่ได้มากกว่าคนที่ไม่ลงมือทำอะไรเลย”

โจทย์ของการสร้างคนที่แก้ปัญหาได้จริงของ SIIT จึงถูกถ่ายทอดมาตั้งแต่ระดับอาจารย์ ตั้งแต่การสนับสนุนและมีหน้าที่ที่ต้องมีงานวิจัยกับอุตสาหกรรมภายนอก ซึ่งส่งผลกับผู้เรียนที่จะได้ศึกษาแนวทางทั้งในภาคทฤษฎีและการทำงานจริง โปรเจ็คต์ในโรงงานอุตสาหกรรม การโยธา ไฟฟ้า คอมพิวเตอร์ ฯลฯ จึงไหลเวียนเป็นแบบฝึกหัดให้กับนักศึกษาอยู่เสมอ

ทั้งนี้ในบอร์ดบริหารของ SIIT ยังประกอบไปด้วยกลุ่มคน 4 ฝ่าย คือจากมหาลัยธรรมศาสตร์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ตัวแทนจากสมาพันธ์องค์กรเศรษฐกิจญี่ปุ่น และผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งนั่นเป็นโอกาสที่ SIIT จะได้ข้อมูลจากสภาอุตสาหกรรมฯ เพื่อให้ทราบว่าอุตสาหกรรมในขณะนี้กำลังเดินหน้าไปในทิศทางอย่างไร

“เราต้องการคนที่มีความรู้ดี ทำงานเป็น และที่สำคัญคือเห็นปัญหาและอยากจะแก้ไข ไม่ใช่ว่ารู้ดีว่าควรทำอะไร แต่คนที่จะทำไม่ใช่ฉัน ถ้าถามผมว่าเราจะร่วมสร้างคนสำหรับอนาคตอย่างไร อย่างแรกคือต้องมีความรู้ดี มีพื้นฐานแน่นในภาคทฤษฎีและปฏิบัติ สองคือคนที่พร้อมรับกับความท้าทาย พร้อมลงสนามจริง และพร้อมจะหาความรู้ใหม่เมื่อความรู้เดิมหมดอายุ”

 

ถอดรหัส SIIT : หลักสูตร สิ่งแวดล้อม ทุนการศึกษา

ถึงตรงนี้ ถ้าถามว่าองค์ประกอบหลักของการสร้างบัณฑิต ในเชิงรูปธรรม และเป็นหัวใจหลักของ SIIT มีอะไรบ้าง ? ศ.ดร.พฤทธา นิยามว่า อยู่ใน 3 ส่วนหลัก เริ่มตั้งแต่หลักสูตร ซึ่งไม่ใช่แค่การเรียนและฝึกงานตามปกติ แต่จะแบ่งการเรียนเป็น 3 Track ได้แก่

  1. Track ของ Senior Project คล้ายกับคณะวิศวกรรมส่วนใหญ่ นั่นคือการเรียนอย่างเต็มที่ใน 3 ปีแรก ก่อนจะฝึกงานในช่วงภาคฤดูร้อนในปี 3 แล้วมาทำวิทยานิพนธ์ซึ่งเป็นโจทย์เฉพาะในการเรียนปีที่ 4
  2. Track ของ Exchange Student สามารถไปศึกษาต่อต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยพาร์ทเนอร์ พร้อมกับได้เครดิตกลับมา Track นี้ทำให้นักศึกษาต้องฝึกงานในช่วงภาคฤดูร้อนตอนปี 3 เช่นเดียวกับอย่างแรก แต่ได้ไปหาประสบการณ์ และสร้างวิสัยทัศน์ในต่างประเทศ ดังนั้นต้องเรียนดี เรียนผ่าน เพื่อกลับมาแอดเครดิต และมหาวิทยาลัยก็มีทุนให้ระดับหนึ่ง
  3. Track ของ Extended Training สามารถทำงานกับบริษัทในระยะยาว 1-2 เทอมทันที ซึ่งนักศึกษาจะได้ทำงานจริงมากกว่า Track อื่น เหมาะสำหรับผู้เรียนที่มองว่าต้องการลดเวลาในสถาบันให้สั้นที่สุด เพื่อให้ประสบการณ์สร้างอาชีพตามที่ต้องการ

“เมื่อเจนฯ เปลี่ยน การเรียนก็เปลี่ยน เราจึงมี 3 Track ให้เลือก ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นการจัดการหลักสูตรให้เข้ากับวิถีคิดของนักศึกษาในปัจจุบัน ซึ่งถือว่าสำคัญ เพราะความต้องการของผู้เรียนกับสิ่งที่มหาวิทยาลัยเป็นจะแยกจากกันไม่ได้”

จากนั้นหัวใจหลักข้อที่ 2 ศ.ดร.พฤทธามองว่าเป็นเรื่อง สิ่งแวดล้อม ซึ่งที่ SIIT จะมีนักศึกษาต่างชาติ ซึ่งทำให้ผู้เรียนได้พบเจอผู้คนในวัฒนธรรมที่หลากหลาย จากข้อมูลปัจจุบันระบุว่า นักศึกษาระดับปริญญาตรีซึ่งเป็นชาวต่างชาติมีอยู่ประมาณ 10% และระดับสูงกว่าปริญญาตรีจะอยู่ที่ 90% สิ่งแวดล้อมเพื่ออนาคตนี้ยังหมายถึงการปรับสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น ห้องสมุด  โต๊ะเรียน เทคโนโลยีการ Streaming สำหรับการเรียนแบบ On Demand การจัดสรรอุปกรณ์และห้องวิจัยที่ทันสมัยจากความต้องการใช้งานจริง ทั้งในระดับอาจารย์กับอุตสาหกรรมภายนอก และระดับนักศึกษา

“ข้อได้เปรียบของ SIIT ยังเป็นเรื่องที่ตั้งซึ่งอยู่ในบริเวณเดียวกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) Asian Institute of Technology (AIT) ซึ่งแวดล้อมไปด้วยองค์การการศึกษา ศูนย์วิจัย เทคโนโลยี ขณะที่ที่ตั้งอีกแห่งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดี ซึ่งแวดล้อมไปด้วยภาคธุรกิจ และอุตสาหกรรม ซึ่งการตั้งอยู่ใน 2 พื้นที่ตั้งนี้ช่วยส่งเสริมความร่วมมือระหว่าง SIIT กับภาคส่วนรอบ ๆได้ดีมากขึ้น นับเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับนักศึกษา”

“ส่วนหัวใจหลักข้อที่ 3 คือเรื่อง การให้ทุนการศึกษา ทั้งนักเรียนไทยไปต่างประเทศ และนักเรียนต่างชาติเข้ามาที่ SIIT จากทุนการศึกษาที่มีมากมายหลายรูปแบบ เช่น ทุนการศึกษาปริญญาตรี โท เอก สำหรับผู้สมัครที่มีความสามารถทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ทุนการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากองค์กรภายนอก และตรงนี้จะปูทางถึงอนาคตที่ SIIT จะเป็น Education Hub ของนักศึกษาจากต่างประเทศในภูมิภาคนี้”

 

Learning for the Future

เมื่อได้มองอดีต เห็นปัจจุบัน และคาดการณ์ถึงการศึกษาในอนาคต จึงนำมาสู่ข้อสรุปที่ว่า Learning for the Future คงไม่ใช่คำที่พูดลอย ๆ แต่มาจากการวิเคราะห์ว่า บุคลากรผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศในอนาคตจะเป็นแบบไหน และจากนั้นก็เป็นหน้าที่ของการศึกษาที่จะตอบโจทย์สิ่งนั้น

มีความรู้ดี แก้ปัญหาได้ และทำสิ่งใหม่เป็น นอกจากนี้นวัตกรรมที่ทำให้ชีวิตดีขึ้นยังต้องใช้ส่วนประกอบอื่นๆ ด้วย และที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เองก็มีโครงการ 88 SANDBOX ซึ่งเป็นโปรเจ็คต์ที่ร่วมกับพันธมิตรภาคธุรกิจระดับประเทศ สนับสนุนคนที่มีความฝันอยากสร้างธุรกิจสตาร์ทอัพให้ประสบความสำเร็จ

“โอกาสนี้ทำให้นักศึกษาจากสถาบันเรา ได้ทำงานร่วมกับนักศึกษาจากคณะอื่นหรือสถาบันอื่น เช่น อาจมีโปรเจ็คต์ของนักศึกษาจากคณะเภสัชศาสตร์ ซึ่งต้องการทำบริการด้านการแพทย์ แต่ยังขาดสมาชิกในสาย Tech ซึ่งแน่นอน วิศวกรจาก SIIT ก็พร้อมจะร่วมทีมกับเพื่อนต่างทักษะอาชีพ เพื่อเป้าหมายสร้างคุณภาพชีวิตของคนไทยดีขึ้น”

ทั้งหมดที่ว่านี้ คุณว่าโลกอนาคตต้องการไหม?

เรื่อง อรรถภูมิ อองกุลนะ

 


อ่านเพิ่มเติม เรียนรู้คู่ทำงานจริง ให้เป็น ‘บัณฑิตมือเปื้อน’ ที่สถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.