คุยเศรษฐศาสตร์ จากอดีตถึงอนาคต วิชาที่ว่าด้วยเหตุผลและกลไก กับ วินัย วงศ์สุรวัฒน์

วิชาที่เป็นคุณสมบัติของทรัพยากรบุคคลในโลกแห่งอนาคต ว่าด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ด้วยหลักเหตุผล ไปพร้อมกับเปิดใจกว้างรับกับเรื่องราวใหม่ๆ ได้อยู่เสมอ

ค่าครองชีพ เงินเฟ้อ รายได้น้อย ของแพง หรือหนี้สินครัวเรือน ล้วนเป็นปัญหาใกล้ตัวในชีวิตประจำวันที่มองเห็น เป็นอยู่ และกระทบผู้คนในสังคมไม่มากก็น้อย

“ถ้าผ่านการศึกษาเศรษฐศาสตร์มาบ้าง ก็จะสามารถเข้าใจเรื่องพวกนี้ได้ดียิ่งขึ้น” รศ.ดร. วินัย วงศ์สุรวัฒน์ อาจารย์ประจำหลักสูตรการจัดการมหาบัณฑิต วิชาเศรษฐศาสตร์ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล เริ่มต้นบอกเล่าใจความของวิชาเศรษฐศาสตร์ให้เราฟัง

“ผมว่าเศรษฐศาสตร์มีประโยชน์คือ ทำให้เราเข้าใจว่าเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรเป็นตัวผลักดันให้เกิดขึ้นมา และทำให้เรารู้จักใช้เหตุผล เข้าใจถึงที่มาที่ไปของเรื่องราวเหล่านี้ ว่าวิธีใดที่จะทำให้มันพอดีขึ้นได้ แต่ก็รู้ถึงข้อจำกัดด้วยว่าหลายอย่างก็อยู่เหนือการควบคุมที่รัฐบาล หรือผู้บริหารจะสามารถทำได้ ทำให้เข้าใจว่าอะไรที่ทำได้หรือทำไม่ได้”

ข้อความที่ว่ามาอาจฟังดูนามธรรม แม้จะจับต้องได้ในชีวิตจริงของพวกเราทุกคน แต่ก็ดูจะไกลเกินเอื้อมกว่าที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ด้วยตัวเรา ตรงนี้เองที่ความหมายของ ‘วิชาเศรษฐศาสตร์’ ถูกใช้เพื่อสร้างความเข้าใจในการสร้างสมดุลในสังคม

ภูมิทัศน์ของเศรษฐศาสตร์ : วิชาที่วิวัฒน์ไปตามโลก

เศรษฐศาสตร์อย่างที่เราเคยเรียนกันในห้องเรียน แยกออกได้เป็นเศรษฐศาสตร์จุลภาค และเศรษฐศาสตร์มหภาค

“เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับสังคม พฤติกรรมของผู้บริโภค และปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในแต่ละหน่วยของสังคม หลักๆ เลย คือ ความพยายามเข้าใจและทำนายว่า คนเรามีพฤติกรรมอย่างไรกับตลาด แล้ววิเคราะห์ถึงแรงจูงใจที่ผู้ผลิตจะผลิตสินค้าและบริการในกลไกและแรงผลักดันที่ผู้บริโภคจะจับจ่ายซื้อหา นี่คือเศรษฐศาสตร์ระดับจุลภาค”

อีกส่วนคือเศรษฐศาสตร์มหภาคที่พูดกันในระดับชาติ “ก็คือการซูมออกมามองระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่กว่าแค่ตลาดใดตลาดหนึ่ง มองในภาพรวมเช่นว่า ทำไมบางประเทศมีกำลังการผลิตได้มาก ทำไมบางประเทศถึงรวย และก็บทบาทของรัฐบาลในนโยบายระดับมหภาคว่าจะส่งเสริมให้เศรษฐกิจพัฒนาไปทางไหน”

เวลาที่เดินหน้าไป เทคโนโลยีที่เติบโตขึ้น ความเข้าใจทางด้านสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์หลากมิติ กระตุ้นให้เศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ต้องมีมุมมองและความรู้ที่กว้างขวางมากขึ้น “ถ้าเรียนเศรษฐศาสตร์เมื่อยี่สิบปีที่แล้ว แล้วหลับไป ตื่นขึ้นมาตอนนี้ อาจรู้สึกว่าอะไรที่เคยเรียนในอดีตมันใช้ไม่ได้แล้วนะ ก็ไม่ได้แปลว่าวิชาเศรษฐศาสตร์ตายแล้ว เพียงแต่ว่ามันได้ลอกคราบไปหลายครั้งแล้ว”

อาจารย์วินัยยกตัวอย่างเคสของเศรษฐศาสตร์ที่มักเล่าให้กับนักศึกษาฟัง เรื่องราวแสดงให้เห็นว่า กลไกทางทฤษฎีไม่ใช่ทุกสิ่ง หากแต่การสร้างความเข้าใจ และเปิดกว้างยอมรับต่างหากที่เป็นคุณสมบัติสำคัญของการใช้งานวิชาเศรษฐศาสตร์ในยุคนี้

“เศรษฐศาสตร์สมัยก่อนบอกว่า คนเราตอบสนองต่อแรงจูงใจทางการเงิน เพราะฉะนั้นจะต้องให้รางวัลหรือลงโทษเพื่อให้เกิดแรงจูงใจในการทำ มีการศึกษาสถานดูแลเด็กในช่วงกลางวัน ที่อิสราเอล ซึ่งประสบปัญหาผู้ปกครองมารับลูกช้ากว่าเวลาจริง วิธีการแก้ปัญหาทางเศรษฐศาสตร์คือ การปรับ เพราะพ่อแม่จะได้มีแรงจูงใจในการมารับลูกให้ตรงเวลา พอประกาศปุ๊บกลายเป็นว่าพ่อแม่ยิ่งมารับลูกสายกว่าขึ้นไปใหญ่ อันนี้มันตรงข้ามกับที่เศรษฐศาสตร์ทำนายไว้ ว่าถ้าอะไรที่คิดเงิน คนต้องใช้น้อยลงสิ แต่ทำไมกลายเป็นรับช้ามากขึ้น?”

“การที่พ่อแม่มารับช้าหรือมารับตรงเวลา บางทีไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องความเกรงใจ ความรู้สึกผิดว่าเราเอาเปรียบหรือไม่มีความรับผิดชอบ พอตีค่าเป็นตัวเงิน พ่อแม่ก็สบายใจว่าไม่ต้องรู้สึกผิดแล้ว จิตวิทยาของมนุษย์จึงไม่ใช่แค่เรื่องเงินอย่างเดียว เป็นเรื่องศีลธรรม ความเกรงใจด้วย”

งูลอกคร: สัญญาณของวิชาที่ยังมีชีวิต

“ผมว่าการละทิ้งความเชื่อเก่าๆ ทฤษฎีเก่าๆ ที่เคยเรียนเคยสอนกันมาเมื่อสิบหรือสิบห้าปีที่แล้ว มันไม่ใช่สัญญาณบอกว่าเป็นวิชาที่ตายแล้ว แต่มันเป็นสัญญาณของวิชาที่ยังมีชีวิต ยังดิ้นรนอยู่” วิชาเศรษฐศาสตร์ที่อาจารย์วินัยนิยามว่าเหมือนงูลอกคราบ เพราะความเปลี่ยนแปลงคือทางของการเติบโต

“เช่นเรื่องการเงินการธนาคาร การลงทุน ระบบเศรษฐกิจ การบริหารเงินตราในระบบ หรือธนาคาร ที่มีรัฐบาลเป็นผู้ดูแลเงินตรา พอเกิดคริปโตขึ้นมา ก็เริ่มมีคนตั้งคำถามว่าต่อไปพวกทฤษฎีการเงินอะไรทั้งหลายที่อยู่ในตำราก็ใช้อะไรไม่ได้แล้วใช่ไหม? เพราะเงินเหล่านี้เกิดจากการไปขุดเหมืองคริปโต บิทคอยน์ ตรงนี้ยิ่งทำให้เห็นว่า เศรษฐศาสตร์ต้องมีวิวัฒนาการ อะไรที่เคยยึดถือเป็นสรณะก็ต้องปล่อยวาง ต้องคิดใหม่ เอาเทคโนโลยีหรือสิ่งที่เกิดขึ้นใหม่ๆ เข้ามาอยู่ร่วมในระบบและโมเดลด้วย”

หากจะให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ในมุมมองของเศรษฐศาสตร์สองระดับอย่างที่เล่ามา “ในแง่จุลภาค ไม่ใช่ใช้แค่โมเดลคณิตศาสตร์ หรือเข้าใจด้วยหลักเหตุผลอย่างเดียว แต่จะต้องเริ่มคิดว่าก็มีการจับจ่ายของผู้บริโภคในปัจจุบันมีปัจจัยเกี่ยวกับจิตวิทยาเข้าร่วมด้วย”

“หรือในทางมหภาคเห็นได้ชัดว่ามีความเปลี่ยนแปลงมากพอสมควร เช่น ตั้งแต่ที่จีนเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วจนกลายเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ก็ทำให้การศึกษาเศรษฐศาสตร์มหภาคต้องเปลี่ยนมุมมองที่ว่าตลาดเสรีดีที่สุด ภาคเอกชนเป็นผู้ดูแลจัดการ หรือการที่รัฐบาลไม่ต้องมาก้าวก่ายกับเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ดี หลังๆ ก็มีตัวอย่างของบางประเทศซึ่งไม่ตรงกับทฤษฎีที่เราเชื่อกัน บางประเทศสามารถเจริญก้าวหน้าได้ด้วยโมเดลที่แตกต่างกัน”

“เศรษฐศาสตร์ยุคใหม่ต้องมีความใจกว้างขึ้น ยืดหยุ่นขึ้น และเอามุมมองจากวิชาอื่นมาปรับใช้ด้วย อย่าไปยึดมั่นถือมั่นว่าทฤษฎีของตัวเองถูกหมดทุกอย่าง ถ้าในแง่นี้ก็เรียกว่า บางเรื่องตายไปก็ถือว่าดีแล้ว มันจะได้ไม่จมปลักอยู่ในความโบราณที่มันไม่เหมาะสมกับโลกปัจจุบัน หลายทฤษฎีเกิดขึ้นมาใหม่ มีประโยชน์และก็ใช้ได้กับโลกปัจจุบันมากขึ้น จะเรียกว่าตายแล้วก็ได้ แต่ว่าตายแล้วเกิดใหม่”

คุณสมบัติของทรัพยากรบุคคลในอนาคต

อาจารย์วินัยเริ่มต้นการเดินทางบนเส้นทางสายเศรษฐศาสตร์จากการวิเคราะห์จุดแข็งและจุดอ่อนของตัวเอง เพื่อหาสมดุลของความสนใจในชีวิต “ส่วนตัวชอบคำนวณ การมีหลักการเหตุผล การมีโมเดลอะไรทั้งหลายที่คล้ายวิทยาศาสตร์ แต่ก็ยังมีความเชื่อมโยงกับสังคม กับโลกภายนอก อย่างที่เราเห็นในชีวิตประจำวัน เศรษฐศาสตร์เป็นวิชาสายสังคมศาสตร์ที่มีความเป็นวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว นี่เป็นสาเหตุที่ชอบวิชานี้” จะเรียกว่าเป็นการหาสมดุลให้ชีวิตในแบบเศรษฐศาสตร์ก็คงไม่ผิดนัก

เพราะเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาที่กว้าง และเป็นวิชาเชิงแนวคิด (Framework) ที่มีหลักใหญ่ใจความอยู่ที่การวิเคราะห์ การใช้เหตุผล และการเปิดใจกว้างให้กับความซับซ้อน เพื่อสร้างนโยบายหรือการปรับเปลี่ยนที่เข้าสู่จุดสมดุล หรือ Equilibrium นั่นทำให้อาจารย์วินัยมองว่า เหล่านี้คือคุณสมบัติของทรัพยากรบุคคลในอนาคต

“ที่วิทยาลัยการจัดการฯ ถือว่าเศรษฐศาสตร์เป็นวิชาบังคับวิชาหนึ่งที่นักศึกษาปริญญาโททุกคนจะต้องเรียน เพราะเป็นวิชาที่เปิดโลกทัศน์ของนักศึกษาให้กว้างออกไปจากแค่ในองค์กรของตัวเอง ได้มองตลาด มองประเทศ มองภาพใหญ่ ซึ่งผมคิดว่าสำคัญมาก เพราะในการวางยุทธศาสตร์ของผู้บริหารสมัยใหม่ต้องใช้การวิเคราะห์​ภายในเพื่อหาจุดแข็งจุดอ่อน ขณะเดียวกันก็ต้องวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกด้วย ถ้าอยากจะเข้าใจว่า สังคม แนวโน้มตลาดโลกไปทางไหน อะไรเกิดขึ้นในสิ่งแวดล้อมรอบตัวในเชิงสังคมศาสตร์ การเรียนเศรษฐศาสตร์ถือเป็นเรื่องสำคัญ”

เศรษฐศาสตร์ไม่ได้เป็นเพียงแค่วิชาสำคัญในบทเรียน แต่ยังเป็นวิชานอกห้องเรียนสำหรับผู้คนเพื่อสร้างสังคมที่เข้าใจธรรมชาติของผู้คน และมีความสุขอย่างสมดุล

“ผมคิดว่าการเข้าใจเศรษฐศาสตร์ทำให้มีความหัวก้าวหน้าขึ้นด้วย คือมองว่าบางเรื่องก็สามารถทำให้ดีขึ้นได้ ผู้นำต้องมีบทบาทที่จะควบคุมทำให้สังคมดีขึ้น ทำให้เศรษฐกิจดูมีอนาคตมากขึ้น แต่ในเวลาเดียวกันก็มีความอ่อนน้อมถ่อมตนอยู่พอสมควรว่า ในหลายเรื่องมันไม่ใช่อะไรที่มีสูตรสำเร็จ แล้วสามารถเข้ามาแก้ไขให้มันตรงเป้าหมายได้ ก็คือมีความบาลานซ์ในมุมมอง”

“บางคนบอกว่าใครเป็นรัฐบาลก็ต้องดิ้นรนทำมาหากินเหมือนกัน อันนี้ก็ไม่ถูกเสียทีเดียว มันก็ขึ้นอยู่กับการใช้เหตุผล และความสามารถทำให้อะไรมันดีขึ้นด้วย แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่สุดโต่งในมุมมองที่ว่า ปัญหาความยากลำบากทั้งหลายมันเกิดจากผู้นำที่ไม่มีความสามารถ หลายอย่างมันก็เกินเลยกว่าที่ผู้นำหรือรัฐบาลจะสามารถแก้ไขได้”

“มันคือทำให้มีความบาลานซ์ระหว่างมุมมอง บางทีคนรุ่นใหม่ก็อาจจะมีความโน้มเอียงไปทางใดทางหนึ่ง อาจจะหัวก้าวหน้ามากอย่างที่บอกว่า ปัญหาทุกอย่างแก้ไขได้โดยใช้เหตุผล ความรู้ ตรงนี้ก็ไม่สมจริงเท่าไหร่ หรือบางคนก็ไปทางแนวอนุรักษนิยมมาก ใครเป็นรัฐบาลก็ออกมาเหมือนกันแหละ ซึ่งความจริงมันอาจจะต้องมีความสมดุลมากกว่านั้น”

“นี่เป็นความหวังของผม ถ้าได้เรียนเศรษฐศาสตร์ จะทำให้มองอะไรได้สมดุลมากยิ่งขึ้น”

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี 
ภาพ หทัยรัตน์ ดีนวลพะเนาว์


อ่านเพิ่มเติม SIIT ธรรมศาสตร์ กับภารกิจ Learning for the Future

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.