นวัตกรรมการออกแบบ สาขาวิชาใหม่ที่มีรากฐานของ Design Thinking เป็นทักษะสำคัญ

Creative Economy เศรษฐกิจสร้างสรรค์ โจทย์ของการสร้างบุคลากรสู่ตลาดแรงงานแห่งอนาคต ที่ตอบคำถามได้ด้วยกระบวนการคิด

นโยบายเศรษฐกิจในภาพใหญ่ของประเทศไทยกำลังเน้นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ หรือ Creative Economy หากแต่เรายังคงต้องการฟันเฟืองสำคัญอย่างการสร้างคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ เพื่อต่อยอดทางธุรกิจและเพิ่มมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมต่างๆ เพื่อให้คำว่า ‘สร้างสรรค์’ ทำงานได้ครบวงรอบ

“คำถามคือ คำว่า ‘ความคิดสร้างสรรค์’ อยู่ตรงไหนในสังคม? พอมองย้อนกลับไปในระบบการศึกษา เราก็มองเห็นว่า พอพูดถึงเรื่องความคิดสร้างสรรค์ ส่วนใหญ่จะคิดถึงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งโฟกัสไปในเชิงวิชาชีพ แต่การออกแบบเป็นเรื่องของกระบวนการคิด ซึ่งหากเราอยากเรียนเรื่องนี้ แต่จบไปเป็นนักธุรกิจที่มีความคิดสร้างสรรค์ การเรียนแบบไหนที่จะตอบเราได้”

นี่เป็นที่มาของการเปลี่ยนชื่อคณะ จากเดิมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม มาสู่ ‘คณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์’ เพื่อขยายขอบเขตของการออกแบบให้ครอบคลุมในเรื่องกระบวนการและทักษะความคิดสำหรับต่อยอดไปใช้ในความสนใจที่หลากหลาย ภายใต้หลักสูตรใหม่ที่มีชื่อว่า หลักสูตรการออกแบบบัณฑิต (Bachelor of Design) สาขานวัตกรรมการออกแบบ หรือ Design Innovation

เราชวนคุยกับ อาจารย์ธีรบูลย์ พิศาลอภิพงศ์ คณบดีคณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีปทุม ถึงความต้องการของตลาดแรงงาน การตอบรับของภาคการศึกษา และอนาคตของบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์

ดึงกระบวนคิดแบบดีไซน์ มาสู่เทรนด์ธุรกิจ

“จริงๆ ทุกคนคิดเกี่ยวกับเรื่องการออกแบบในทุกวัน จะใส่เสื้อผ้าอย่างไร จะเดินทางอย่างไร นี่คือเราใช้กระบวนการคิดเพื่อออกแบบทั้งหมด” อาจารย์ธีรบูลย์เริ่มต้นเล่า “ผมอยากเปลี่ยนความคิดจากเดิมที่ทุกคนคิดว่า คนเรียนออกแบบต้องวาดรูปเป็น แต่บุคลากรสายงานออกแบบมีมากกว่านั้น มันอยู่ที่กระบวนการคิด หรือ Design Thinking”

Design Innovation หรือนวัตกรรมการออกแบบ คือสาขาใหม่ที่ต้องการใช้กระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์และพื้นฐานด้านดีไซน์เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงานในยุคที่ใช้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เป็นตัวขับเคลื่อน

“เด็กรุ่นใหม่มีความเป็นผู้ประกอบการมากับองค์ความรู้หรือประสบการณ์ที่แชร์กันระหว่างรุ่น แต่เมื่อเดินเข้ามาในสถาบันการศึกษา โดยเฉพาะสาขาการออกแบบนวัตกรรม มหาวิทยาลัยมีหน้าที่ในการเชิญบุคลากรในอุตสาหกรรมที่มีความรู้จริงๆ เข้ามาในระบบเพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เรียนรู้ จัดระบบความรู้ต่างๆ ฝึกฝนการทำงานร่วมกัน รวบรวมความรู้ที่กระจัดกระจายเพื่อสร้างองค์ความรู้ที่น่าสนใจเพิ่มขึ้นได้ อันนี้เป็นหน้าที่หลักของสถาบันการศึกษา”

เมื่อจับเข้ากับเทรนด์ธุรกิจของโลกยุคใหม่ที่เน้นการแก้จุดอ่อนหรือสร้างโซลูชั่นใหม่ๆ ให้กับโลกแห่งธุรกิจ รากฐานของกระบวนการคิดสร้างสรรค์ทื่จำเป็นต้องศึกษาพฤติกรรมพร้อมกับวิเคราะห์ความเข้าใจของผู้คน จะนำมาสู่การออกแบบแผนธุรกิจที่ผสมผสานนวัตกรรมเข้ากับความต้องการ ทำให้บทบาทของกระบวนการออกแบบกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้แก้ปัญหาและปรับตัวไม่ว่าจะในสายงานใดก็ตาม

การเปลี่ยนชื่อคณะเป็น คณะการออกแบบ และสถาปัตยกรรมศาสตร์ จึงถือเป็นเรื่องดีที่ได้นำเอาการออกแบบซึ่งเป็นหัวเรื่องใหญ่มาเป็นตัวตั้งต้นในการผลิตกำลังคนที่มีความสามารถและความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบลงไปสู่ตลาดแรงงานของประเทศไทยที่เพิ่มมากขึ้น

หลักสูตรแห่งความคิดสร้างสรรค์​ และการลงสนามจริง

องค์ความรู้ 4 ด้านที่ครอบคลุมทุกมิติของการสร้างสรรค์จึงเป็นแกนหลักสำคัญของหลักสูตร ทั้งศาสตร์และศิลป์ในกระบวนการทางความคิด ได้แก่ Design Creative หรือวิธีการออกแบบและสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของโลก, Humanity ความเข้าใจเรื่องมนุษย์ และพฤติกรรมของมนุษย์, Technology Innovation การใช้เครื่องมือทางเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มโอกาส และ Marketing & Management การบริหารกลยุทธ์เชิงการตลาด

“หลักสูตรนี้ถูกช่วยกันบ่มเพาะโดยที่ปรึกษาซึ่งอยู่ในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ทั้งจากสายงานสตาร์ทอัพ งานนวัตกร และการออกแบบผลิตภัณฑ์ดิจิทัล จนเกิดเป็นสาขานวัตกรรมการออกแบบ เพื่อให้รายวิชาสอดคล้องไปกับความรู้ความเข้าใจและการลงมือปฏิบัติจริง โดยจะต้องเข้าใจทั้งเรื่องจุดเด่นผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างประสบการณ์ (Process) การดีไซน์เพื่อตอบโจทย์การบริการ (Service Design) และกลยุทธ์ทางธุรกิจที่ตอบตลาดได้อย่างตรงโจทย์ (Business Model)”

ในด้านการเรียนการสอน นอกจากรายวิชาที่ลงเรียนแล้ว ยังมีกลุ่มวิชาเฉพาะ 15 หน่วยกิตเพื่อให้นักศึกษาได้เรียนข้ามศาสตร์ไปยังหัวเรื่องที่สนใจเฉพาะได้ “ถ้าต้องการเทคโนโลยีเพิ่ม ก็ข้ามไปเรียนที่คณะสารสนเทศ ถ้าสนใจด้านธุรกิจสามารถไปเรียนได้ที่คณะบริหารธุรกิจ หรือหากสนใจเรื่องการสื่อสาร ก็ไปเรียนเพิ่มที่คณะนิเทศศาสตร์ได้”

และอีก 15 หน่วยกิตในปีสุดท้าย จะเป็นการทำงานร่วมกับอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์งานให้เกิดขึ้นจริงตั้งแต่ยังเรียน “เพื่อย่นระยะเวลาการผลิตกำลังคนให้สามารถทำงานได้เลยหลังเรียนจบ ซึ่งตรงนี้ก็เป็นคีย์เวิร์ดหลักของการทำหลักสูตรนี้”

ถึงแม้หลักสูตรนี้เริ่มต้นเปิดรับนักศึกษาในปีการศึกษา 2566 แต่ทางคณะได้ดำเนินการนำร่องด้วยการเพิ่มเติมรายวิชาและชุดวิชาเพื่อสร้างศาสตร์แห่งประสบการณ์ผู้ใช้งาน (User Experience) ผ่านการลงมือทำงานจริงของนักศึกษาทั้งในโครงการร่วมกันกับภาครัฐ และผู้ร่วมจัดงานเทศกาลออกแบบกรุงเทพ หรือ Bangkok Design Week มาโดยตลอด

“คำว่า Creative Economy ปัญหาคือทำไมถึงไม่ค่อย Creative หรือไม่ค่อยโต จริงๆ ควรต้องโตเยอะแล้วแบบที่รัฐคาดหวัง” อาจารย์ธีรบูลย์ทิ้งคำถามไว้ให้คิด “แต่ความจริงคือเราไม่ได้มีคนอยู่ในวิชาชีพหรือคนในสายครีเอทีฟที่เข้าใจหลายๆ มุม ทั้งเรื่องเทคโนโลยี การบริหารจัดการ และมนุษย์เข้าไปในตลาด อุตสาหกรรมหรือธุรกิจในประเทศจึงยังเติบโตได้ไม่เต็มที่อย่างที่ต้องการ”

“เพราะฉะนั้น ผมคิดว่ากลไกสำคัญที่จะช่วยขับเคลื่อนตรงนี้คือ ภาคการศึกษา นี่คือพันธกิจที่เราต้องการสามารถสร้างบัณฑิตที่ตอบโจทย์อุตสาหกรรมแบบตรงจุด” อาจารย์ธีรบูลย์ทิ้งท้าย

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี


อ่านเพิ่มเติม ภาษาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เมื่อโปรแกรมสื่อสารโต้ตอบมนุษย์ได้เหมือนจริง

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.