รถยนต์ไฟฟ้า กับโลกวิศวกรรมเดินทางไปไกลเพื่อเสาะหาโซลูชั่นยั่งยืนให้กับโลก ผลลัพธ์สำหรับการเดินทางจึงพัฒนาเป็นยานยนต์ไฮบริดและยานยนต์ไฟฟ้าตามลำดับ สิ่งสำคัญคือทักษะและความรู้เพื่อสร้างนวัตกรรมตอบความต้องการของมนุษย์และสิ่งแวดล้อมได้ในเวลาเดียวกัน อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยจึงต้องการบุคลากรที่พร้อมทำงานได้จริงในอุตสาหกรรม
หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ หรือ V-Tech คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นหลักสูตรใหม่ที่พัฒนามาจากหลักสูตรเทคโนโลยียานยนต์ ภายใต้โครงการบัณฑิตพันธุ์ใหม่ที่จัดการเรียนการสอนโดยความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการจัดการเรียนการสอนและการทำงานจริงตลอดปีสุดท้ายของการศึกษา โดยเพิ่มเอาวิชาทางด้านวิศวกรรมไฟฟ้า และระบบควบคุม เพื่อให้ตอบกับนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า ยานพาหนะแห่งอนาคต
เราได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.ชลดา เหลืองอาภา ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายบริหาร คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา และ ผศ.ดร.สนันตน์เขม อิชโรจน์ ประธานหลักสูตร V-Tech พร้อมกับนักศึกษาที่จะมาบอกเล่าประสบการณ์การเรียนและการใช้ชีวิตภายในรั้วมหาวิทยาลัยที่เป็นทั้งบ้านและห้องแล็บส่วนตัวที่เปิดต้อนรับนักศึกษาทุกคน
“ในระบบอุตสาหกรรม เรามองว่าในอนาคตจะมีการใช้พวกระบบอัตโนมัติเพิ่มขึ้น แล้วทางด้านยานยนต์ก็มีการเน้นหนักไปทางยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น เราจึงเพิ่มวิชาทางด้านไฟฟ้า และวิชาที่เกี่ยวกับระบบควบคุม รวมทั้งการเรียนรู้เรื่องยานยนต์ไฟฟ้า ยานยนต์ไฮบริด และระบบแบตเตอรี่ เข้าไปประกอบกับหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์เดิม เพื่อสร้างพื้นฐานรอบด้านให้กับนักศึกษาสามารถต่อยอดด้วยตัวเองได้” อาจารย์ชลดาเริ่มต้นเล่า
ความพิเศษของหลักสูตรนี้ คือการจัดการเรียนการสอนให้ปีสุดท้ายตลอดทั้งปี นักศึกษาจะได้เข้าไปลงสนามทำงานจริงในอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ทางหลักสูตรได้ร่วมทำบันทึกข้อตกลงร่วมกันเพื่อผลิตบัณฑิตที่พร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงานทันทีที่จบการศึกษา ขณะเดียวกัน ความสัมพันธ์ระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรมก็มีข้อดีตรงที่จะได้รับข้อมูลจากผู้ประกอบการโดยตรง จนเกิดเป็นการปรับปรุงหลักสูตรการเรียนการสอนและการพัฒนาทักษะตามที่ตลาดต้องการ
โครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญสำหรับการศึกษาอีกส่วนคือ อาคารปฏิบัติการยานยนต์ ซึ่งถูกออกแบบมาเพื่อการเรียนการสอน และงานวิจัยเกี่ยวกับยานยนต์โดยเฉพาะ ซึ่งมีทั้งห้องปฏิบัติการถอดประกอบยานยนต์และเครื่องยนต์ ห้องทดสอบแรงม้า เครื่องขึ้นรูปและประกอบ CNC เครื่องพิมพ์สามมิติ อุปกรณ์การผลิตพื้นฐานต่างๆ คอมพิวเตอร์แล็บกับโปรแกรมที่ใช้จริงในอุตสาหกรรม รวมทั้งห้องแล็บระบบการผลิตแบบลีน ครบทุกมิติตลอดห่วงโซ่ของอุตสาหกรรมยานยนต์ และด้วยจำนวนนักศึกษาที่มีไม่มาก และส่วนใหญ่พักในหอพักของมหาวิทยาลัย จึงสามารถเข้ามาใช้งานเครื่องจักรและเครื่องมือได้จริงตลอดเวลา
“การเป็นวิศวกร ทักษะในการปฏิบัติยังคงสำคัญอยู่” อาจารย์ชลดาเน้นย้ำ “การที่นักศึกษาได้ทำโครงงานที่คิดเอง แล้วได้ลงมือปฏิบัติเอง ทำให้เกิดทักษะที่คิดว่าสำคัญที่สุดคือ ทักษะการแก้ปัญหา เพราะในอนาคตจะมีอาชีพอะไรใหม่ๆ อีกบ้างเราก็ไม่รู้ แต่ถ้าเขามีทักษะในการเรียนรู้ด้วยตัวเองในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง มันก็จะติดตัวเขาไปตลอดชีวิต”
หลักสูตรนี้ประกอบด้วยองค์ความรู้หลัก 2 ด้านได้แก่ 1) วิศวกรรมยานยนต์ ครอบคลุมการเรียนรู้ตั้งแต่การออกแบบและผลิตชิ้นส่วน วิศวกรรมเทคโนโลยี ชุดควบคุมอิเล็กทรอนิกส์และระบบฝังตัวสำหรับยานยนต์ ยานยนต์ไฮบริดและไฟฟ้า 2) ออโตเมชั่น ครอบคลุมเทคโนโลยีอัตโนมัติในการควบคุมและสั่งการกระบวนการผลิต ภายใต้ทักษะแห่งอนาคต ได้แก่ เครื่องกล เทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ยานยนต์สมัยใหม่ และอุตสาหกรรมยานยนต์
อาจารย์สนันตน์เขม ในฐานะประธานหลักสูตร V-Tech เล่าให้เราฟังถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศไทย “หลักสูตรนี้สอดคล้องไปกับอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่มีศักยภาพในการเป็นรากฐานของการผลิตและส่งออกยานยนต์ที่สำคัญของโลก ผู้ที่จะผลิตยานยนต์ไฟฟ้าสมัยใหม่ จึงต้องการวิศวกรที่เข้าใจการออกแบบและการผลิตรถยนต์มากขึ้นกว่าเดิม”
สำหรับในปีแรก จะเป็นการปูพื้นฐานทฤษฎีทางวิศวกรรมให้กับนักศึกษา โดยจะเน้นไปที่วิชาดรออิ้ง เพื่อสร้างความเข้าใจรูปภาพสามมิติ เพราะรถยนต์เป็นมีรายละเอียดที่ซับซ้อน “นักศึกษาจึงต้องเข้าใจและสามารถเขียนแบบได้ด้วยในโปรแกรมที่ใช้งานจริงในอุตสาหกรรม”
ขึ้นมาชั้นปีที่สองและสาม จะเริ่มเจาะลึกเรื่องอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ เทคโนโลยีรถยนต์ เซนเซอร์ภายในรถยนต์ และนำองค์ความรู้เอามาประยุกต์ใช้ตามทฤษฎีและเทคโนโลยี “เราจึงเป็นสาขาเฉพาะทางที่ให้นักศึกษาได้เรียนรู้องค์ประกอบเกี่ยวกับรถยนต์โดยเฉพาะ รวมทั้งวิชาอุตสาหการบนพื้นฐานของอุตสาหกรรมรถยนต์ หรือวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับเคมี ทางด้านแบตเตอรี่ การเดินวงจรไฟฟ้า เราพยายามสอดแทรกนวัตกรรมต่างๆ เข้าไปในวิชาเรียนให้มากที่สุด”
ส่วนชั้นปีที่สี่ นักศึกษาจะได้ออกไปฝึกปฏิบัติงานจริงเป็นระยะเวลา 1 ปีเต็มในสถานประกอบการคู่สัญญา ที่นั่นเองจะฝึกให้เด็กได้มีประสบการณ์จริงกับการทำงาน ทั้งในเรื่องทักษะการทำงานและทักษะการจัดการตนเอง ซึ่งทำให้นักศึกษาที่จบจากหลักสูตรนี้ได้เปรียบตรงที่มีความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์โดยตรง และร่วมทำงานได้ทันทีหลังจบการศึกษาแบบไม่ขาดตอน
“หลักสูตรพยายามผลิตคนที่มีความรู้ทางด้านยานยนต์ เพราะว่าในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทย เรากำลังแข่งขันกับเพื่อนบ้าน ถ้าเราไม่ผลิตคนที่เก่งเค้าก็ย้ายไปที่อื่นหมด เพราะเราไม่มีทักษะที่เค้าต้องการ เป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเราอยู่นิ่งไม่ได้ ต้องผลิตทรัพยากรบุคคลและทักษะความรู้เผื่อไว้ อย่างหัวเรื่องการออกแบบดีไซน์ ให้อนาคตคนไทยสามารถออกแบบและวิจัยเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพา R&D จากต่างประเทศ”
เราชวนคุยกับนักศึกษาจากสาขาวิชาวิศวกรรมเทคโนโลยียานยนต์ วุฒิภัทร ติณสุวรรณ และอังคณา ขัดเรือน แม้จุดเริ่มต้นความสนใจในการเข้าเรียนจะแตกต่างกัน แต่การศึกษาที่นี่ ก็เปิดโอกาสให้ได้ค้นหาความสนใจของตนเอง และมองเห็นภาพอนาคตชัดเจนขึ้น
วุฒิภัทรเองที่เดิมเป็นนักแข่งรถอยู่แล้ว และสนใจด้านยานยนต์เป็นพิเศษ เริ่มต้นจากความประทับใจในอาคารสถานที่ที่เตรียมพร้อมให้นักศึกษาฝึกปฏิบัติได้จริง จนกระทั่งตอนนี้ที่เป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 3 “ที่นี่มีการเรียนแบบบูรณาการ และการลงมือปฏิบัติ ถ้าเราอยากรู้เพิ่มเติมจากเบสิกที่เรียนในห้องเรียน ก็สามารถสอบถามอาจารย์หรือลงมือทำงานที่สนใจนอกเวลาเรียนได้ เพราะคณะมันเล็กซึ่งอันนี้ผมมองว่ามันเป็นข้อดี”
ส่วนอังคณา นักศึกษาชั้นปีที่ 2 แม้จะมีความสนใจด้านการเรียนที่หลากหลาย แต่เพราะมองเห็นถึงเส้นทางการทำงานในอนาคต และประทับใจในสาธารณูปโภคทางการศึกษาที่ครบครัน จึงทำให้เธอตัดสินใจเลือกเรียนและค้นหาความสนใจทางด้านวิศวกรรมยานยนต์ที่นี่ “ปีแรกที่เข้ามาเรียนตรงกับช่วงโควิดพอดีทำให้ต้องเรียนออนไลน์ แต่ก็ได้รุ่นพี่ช่วยติวพื้นฐานให้ก่อนเข้ามาเรียนจริง พอปีนี้ได้กลับมาเรียนในสถานที่จริงก็เหมือนเริ่มต้นใหม่หมดเลย การปฏิบัติจริงก็ทำให้เข้าใจการเรียนได้ง่ายขึ้น”
ทั้งสองช่วยกันแชร์ประสบการณ์การเรียนและความประทับใจจากการเรียนที่นี่ให้ฟัง “การเรียนคณะนี้แค่ได้ลงช็อปก็สนุกแล้ว” เริ่มต้นที่วุฒิภัทรซึ่งชื่นชอบวิชาดรออิ้งเป็นพิเศษ “วิชานี้จะเรียนเกี่ยวกับการออกแบบพื้นฐาน ตั้งแต่การเขียนแบบเบื้องต้น เขียนมือฟรีแฮนด์ การมองภาพสามมิติ และการได้ใช้โปรแกรม Siemens NX หรือ Solidworks ที่ใช้จริงในอุตสาหกรรม ซึ่งความชอบด้านดีไซน์ผมมาเจอที่นี่ พอได้ทำแล้วรู้สึกตัวเองเก่งและสนุกกับมัน อนาคตผมเลยมองว่าตัวเองอยากเรียนต่อปริญญาโทในด้านการออกแบบ เพราะว่าผมมองว่าตลาดมีการพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ การที่เราจะเป็นผู้นำเทคโนโลยีได้เป็นเรื่องยากเพราะเทคโนโลยีเติบโตอยู่ตลอด แต่สิ่งที่ไม่ตายไป น่าจะเป็นพวกเรื่องดีไซน์”
“ด้วยความที่เรารู้จักกันทั้งหมดเพราะมีจำนวนนักศึกษาน้อย แล้วก็เข้าถึงกันได้ง่าย รุ่นพี่รุ่นน้องคุยกันได้หมด มีอะไรหรือทำอะไรไม่ได้ก็ปรึกษารุ่นพี่ได้ ทำให้การเรียนสนุกขึ้นอีก” อังคณาเล่าความประทับใจระหว่างการเรียนการสอน “ความสนใจในตอนนี้อยากทำในหัวเรื่องเกี่ยวกับพลังงานไฟฟ้าและพลังงานสะอาด เพราะตอนนี้เรื่องยานยนต์ไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยม แต่อาจยังไม่ถูกใช้งานมากนัก จะทำอย่างไรให้มีคนสนใจและใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น มองว่าเรื่องนี้ยังไปได้ไกลและพัฒนาต่อไปได้เรื่อยๆ ในสายงานนี้”
ทางด้านเครือข่ายการศึกษาระดับนานาชาติ คณะวิศวกรรมศาสตร์ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยอีแกม ลาซาล ประเทศฝรั่งเศส ในการจัดตั้ง Training Center เพื่อเป็นเครือข่ายทางการศึกษาที่ครอบคลุมในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านกิจกรรมเวิร์กช็อปลงมือปฏิบัติงานจริงระหว่างนักศึกษาไทยกับนักศึกษาจากฝรั่งเศส ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ทั้งทางการเรียนรู้และวัฒนธรรมร่วมกัน
นอกจากหลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติจะเปิดรับนักศึกษาภาคปกติแล้ว ที่นี่ยังเป็นศูนย์บริการด้านการศึกษาสำหรับฝึกอบรม Upskill และ Reskill ให้กับผู้ประกอบการ และในอนาคตเองก็มีแผนที่จะเปิดให้บุคคลทั่วไป โดยเฉพาะคนในพื้นที่เขต EEC (โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก) เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับทรัพยากรและอุตสาหกรรมยานยนต์ของประเทศไทยต่อไป
หลักสูตรวิศวกรรมยานยนต์และระบบอัตโนมัติ (V-Tech)
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์พัทยา
อ.บางละมุง จ.ชลบุรี
โทร. 0-3825-9050
https://tupine.engr.tu.ac.th/programme/v_tech
เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี
ภาพ ณัฏฐพล เพลิดโฉม