อาชีพสมัยใหม่เป็นแบบไหน? ในยุคที่ AI ครองเมือง เสวนาจากเวที Amarin Expo 2023 

ฟังประสบการณ์ทำงานร่วมกับ AI จากเสวนาหัวข้อ  ‘อาชีพสมัยใหม่ ยุค AI ครองเมือง’ เพื่อชวนกันคิด และจินตนาการว่าเมื่อยุคนี้และอนาคตจะเป็นโลกของ AI แล้วอาชีพต่างๆ จะก้าวสู่วันข้างหน้าร่วมกับ AI ได้อย่างไร

มนุษย์จะทำงานร่วมกับ AI ได้อย่างไร?

AI จะเข้ามาแย่งงานพวกเราหรือไม่? และอีก ฯลฯ คือสารพัดคำถามที่ว่าด้วยการทำงานในยุคที่เทคโนโลยีสร้างความสะดวกสบายในการดำเนินชีวิต ไม่เว้นแม้กระทั่งในตลาดแรงงานที่มีการนำ AI (Artificial Intelligence) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ เข้ามาสู่ตลาดแรงงานเพื่อแทนที่การจ้างแรงงานซึ่งเป็นมนุษย์

ท่ามกลางวิกฤตและโอกาส และการสนทนาที่ถกเถียงตลอด2-3 ปีที่ผ่านมา ในงาน Amarin Expo 2023 ได้มีการจัดเสวนาจาก National Geographic Thailand x Dek-D x Spotlight ในหัวข้อ ‘อาชีพสมัยใหม่ ยุค AI ครองเมือง’ เพื่อชวนกันคิด และจินตนาการว่าเมื่อยุคนี้และอนาคตจะเป็นโลกของ AI แล้วอาชีพต่างๆ จะก้าวสู่วันข้างหน้าร่วมกับ AI ได้อย่างไร

AI กับมนุษย์ทำงานร่วมกันอย่างไร

เริ่มที่ อาชีพในแวดวงเทคโนโลยีโดยตรง ซึ่ง ดร.มหิศร ว่องผาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท ไฮฟ์กราวนด์ จำกัด (HG Robotics) ซึ่งทำธุรกิจด้านหุ่นยนต์ เครื่องบินไร้คนขับ อธิบายว่า จุดเริ่มต้นของการทำงานด้านนี้คือ เป็นคนที่คลั่งไคล้เรื่องของเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาตั้งแต่เด็ก ผ่านจากการดูการ์ตูน อ่านหนังสือ จนเริ่มทำสิ่งประดิษฐ์เล็กๆ และเริ่มชัดเจนมากขึ้นเมื่อเข้าเรียนวิศวฯ และได้เข้าชมรมหุ่นยนต์ จนมีโอกาสประดิษฐ์หุ่นยนต์ประกวดจนได้แชมป์ ได้ไปแข่งขันในต่างประเทศ และมีโอกาสได้ตั้งบริษัทด้านหุ่นยนต์ร่วมกับเพื่อนๆ

“เราเป็น Start-up ที่ทำเรื่องเทคโนโลยี และรวมเอาหลายๆศาสตร์มารวมกันเพื่อผลิตหุ่นยนต์ ซึ่งทำในส่วนของการตอบโจทย์ธุรกิจที่ลูกค้าต้องการ หรือทำเครื่องบินลาดตระเวน พอทำไปเรื่อยๆ ก็เริ่มเห็นแนวทาง ว่าสิ่งเหล่านี้มันมีความต้องการอยู่ จึงทำเป็นแพลตฟอร์ม ทั้งฮาร์ดแวร์ และซอฟต์แวร์ และใช้ AI ร่วมกับการทำงานของมนุษย์ในรูปแบบต่างๆ”

ดร.มหิศร ยกตัวอย่างว่า เช่น AI กับหุ่นยนต์ คือสิ่งที่แยกกันไม่ออก เป็นความจำเป็นของกันและกัน  เพราะ AI เปรียบเสมือน Software คอยควบคุมการทำงาน ขณะที่ AI จะทำได้ก็ต้องอาศัยหุ่นยนต์ ซึ่งเปรียบเสมือน Hardware เช่นเดียวกับแรงงานมนุษย์ในการเขียนโปรแกรมใส่เข้าไป พัฒนาระบบแบตเตอรี่ การมองแบบ อละอีกหลายสาขาอาชีพ ดังนั้นโจทย์คือจะทำอย่างไรให้แต่ละศาสตร์นี้อยู่ร่วมกันและเกิดเป็นผลลัพธ์ของงานที่ดีที่สุด

“ผมยกตัวอย่างในภาคการเกษตรมัน ซึ่งมีกิจกรรมที่ทั้งสกปรกและอันตราย เช่น การฉีดพ่นสารเคมี ในแปลงนาซึ่งใช้โดรนมาบินฉีดสารเคมีทดแทนการทำงานของมนุษย์ หน้าที่ของมนุษย์คือการพัฒนาให้การใช้งานนั้นแม่นยำ เชื่อถือได้ จากนั้นก็เป็นหน้าที่ของ AI ที่จะทำงานทดแทนมนุษย์ในสิ่งที่เป็นอะไรซ้ำๆซากๆ และมีรูปแบบที่ตายตัว ซึ่งสำหรับผมเองการนำ AI มาทดแทนการทำงานของมนุษย์คือการปลดแอก เคยมีคนถามว่า เฮ้ย เราเอาโดรนมาแย่งงานคนหรือเปล่า ผมเองก็ต้องตั้งคำถามกลับว่า งานที่เขาทำอยู่เนี่ยมันดีจริงรึเปล่า คุณยังสนุกกับงานอยู่ไหม เพราะสิ่งนี้คือการแบกถังสารเคมี20 ลิตร ไปเดินกลางแดดร้อน เขาควรจะได้รับโอกาสแบบนั้นต่อไปจริงๆหรือ”

ด้านคุณอดิศักดิ์ กันทะเมืองลี้ ซึ่งนิยามว่า เป็นนักวิทยาศาสตร์สารสนเทศข้อมูลเมือง หรือเล่นแร่แปรธาตุข้อมูลของเมือง อธิบายว่า ใช้ AI สนับสนุนในการสำรวจข้อมูลเมือง เช่นจำนวนประชากร พื้นที่สีเขียว หาบเร่แผงลอย นั่นเพราะเมื่อเรื่องเมืองซับซ้อนขึ้น การใช้ข้อมูลคือการชี้สิ่งที่ควรจะแก้ไข และควรจะประยุกต์ไปในทางไหน

“บางอย่างเราไม่เข้าใจ เราใช้ข้อมูลขับเคลื่อนมัน ถ้าเป็นของหน่วยงานรัฐเราจะช่วยผู้บริหารเมืองจัดการอย่างไร ตั้งนโยบายที่ถูกต้อง ถ้าเป็นภาคธุรกิจเราทำเหมือน Market Research ที่จะส่งข้อมูลไปในส่วนที่ต่อยอดธุรกิจได้ เพื่อขับเคลื่อนในเชิงประเด็นแล้ว โน้มน้าวนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ให้ร่วมพัฒนาชุมชน”

“ผมคิดว่าเป็นอาชีพใหม่ เพราะในอดีต ผู้พัฒนาโปรเจคมักตัดสินใจด้วยสัญชาติญาณ แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่ จึงมีคนทำข้อมูลเครื่องมือสารสนเทศเชิงพื้นที่ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์ข้อมูลเมือง ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากการมีเทคโนโลยี และเกิดขึ้นจากเทรนด์ของการพัฒนาเมือง มันเป็นอาชีพที่ต่อยอด เปิดกว้าง และต่อยอดจากศาสตร์ความรู้ทั้งรัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ แต่ทักษะคือการจัดการข้อมูล ทั้งข้อมูลขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ และใช้ข้อมูลที่หลากหลาย”

ด้านอาชีพที่ใช้ศิลปะ มุมมอง เช่น นักเขียน ช่างภาพ รูปแบบจะเป็นอย่างไร? คุณ วิริทธิพล วิธานเดชสิทธิ์ ช่างภาพ Blogger ซึ่งได้รับรางวัลการประกวดภาพถ่ายสารคดี ‘10 ภาพเล่าเรื่อง’ โดย National Geographic ฉบับภาษาไทย บอกว่า ช่างภาพน่าจะสอดคล้องกับ AI มากที่สุด เพราะทุกคนมีโทรศัพท์มือถือ ซึ่งมี AI อยู่เบื้องหลังการถ่ายภาพนั้นๆ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม ในหมวดของคนสร้างสรรค์ภาพ มันก็มีแบ่งย่อยในหลายสาขา และ 1 ในสาขาที่ไม่น่าจะถูกแทนที่ได้ คคือ อาชีพช่างภาพข่าว เพราะ AI มัน Generate (สร้าง) ภาพเช่นนั้นได้ ต้องอาศัยมนุษย์ที่จะไปบันทึกภาพเหล่านั้นมา ซึ่งสาขาภาพเช่นนี้แตกต่างจากการทำภาพ Stock ซึ่งมีการ Set เพื่อความต้องการของผู้ใช้ภาพอยู่แล้ว ซึ่งสิ่งนั้น AI มาแทนที่ได้

“ถึงตรงนี้ผมไม่เคยมองว่า AI ไม่ดีเลยนะ มันทำให้ชีวิตเราง่ายขึ้นด้วยซ้ำผมเป็นช่างภาพ ทำงาน และต้องเขียน Story Board ซึ่งการมี AI เขียนช่วยลดค่าใช้จ่ายได้มาก ประหยัดเวลา แน่นอนว่ามันลดการทำงานของคนแน่ แต่คนที่จะอยู่ในอุตสาหกรรมนี้คือคนทำงานร่วมกับ AI และก็น่าสังเกตว่ายิ่ง AIสร้างภาพได้ดีแค่ไหน สิ่งที่เป็น Mad Made มนุษย์ทำจะมีคุณค่า ซึ่งขึ้นอยู่กับลูกค้าหรือผู้ต้องการผลลัพธ์งานนั้นอยู่ดี”

ปิดท้ายด้วยคุณ สุคนธี วสุธน เจ้าของนามปากกา ‘kiang’ นักเขียนนิยายออนไลน์ขายดีวัย 64 ปี ซึ่งเล่าว่า แต่เดิมเธอทำงานด้านบัญชี รับสอนพิเศษ แต่เมื่อต้องหาอาชีพเสริมเธอได้รับแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายจากการชอบอ่านในเว็ปเด็กดี และเมื่อได้ลงมือเขียนจริงๆ AI ได้ช่วยเธอ ในการเขียน ตรวจสอบคำผิด การเรียงรูปประโยค หารหาคำที่จะสื่อสารได้ง่ายขึ้น

“เวลาไม่มั่นใจ เราก็จะถาม AI ใช้ Google แต่ไอเดียก็มาจากเรา ใช้ความคิดของเราเป็นแนวทาง อย่างการทำภาพประกอบ AI นี่ช่วยได้เยอะเลยนะ จะเอาสวยแค่ไหนก็ได้ จะเอานางเอกหน้าตาแบบไหนก็ทำได้ เพราะ AI ทำได้หมด แต่ยังไงความสร้างสรรค์ต้องมาจากเรา เพราะถึงอย่างไร AI ก็ต้องอาศัยความคิด มีนักเขียนที่ต้องป้อนข้อมูลไป แต่ยังไงคุณก็ต้องควบคุมกัน”

AI กับตลาดแรงงาน

อย่างไรก็ดี สิ่งที่หลายวงสนทนามักพูดถึง AI คือการเชื่อมโยงประเด็นที่ว่า การมี AI จะมาแย่งงานของมนุษย์หรือไม่? ซึ่งผู้ร่วมสนทนาต่างมองว่า การจะมาแทนที่ในความหมายของ Replace นั้นคงยังไม่ถึงเวลา และมีบริบทที่จะพิจารณาจำนวนมาก แต่การมี AI จะเข้ามาหนุนเสริมการทำงานของมนุษย์ และแทนที่ในส่วนการทำงานที่ทำซ้ำ และมีรูปแบบ (Pattern) ที่ชัดเจน

ในประเด็นนี้ ด้านคุณอดิศักดิ์ นักวิทยาศาสตร์สารสนเทศข้อมูลเมือง ให้มุมมองว่า AI ช่วยในการทำงานได้มาก แต่คงไม่ได้เข้ามาแทนที่ โดยเฉพาะ AI จะเข้ามาช่วยในคนที่ใช้มันเป็น และเมื่อ AI มาผนวกกับการประยุกต์ของมนุษย์ เช่น การตั้งโจทย์ การแปรข้อมูลเป็นเนื้อหาการพัฒนา สิ่งนี้จะทำให้ผู้ที่ใช้ AI ทำงานได้มีประสิทธิภาพและตรงประเด็นมากขึ้น

“AI กับการพัฒนาเมือง เป็นอะไรที่ตรงมาก มันจะเข้ามาช่วยสำหรับคนที่ใช้มันเป็น เพื่อการใช้งบประมาณที่ถูกต้อง ตอบโจทย์ เช่น นโยบายของกรุงเทพฯ ซึ่งมีนโยบาย เขียว 15 นาที ซึ่งหมายถึงทำอย่างไรที่จะเข้าถึงสีเขียวในระยะ 15 นาที เราจะสำรวจว่าแปลงพื้นที่ไหนที่มีโอกาสบ้าง มีความต้องการมากอยู่ตรงไหน งานสายของคนเล่นข้อมูลของเมือง ยังเปิดกว้างมาก ทุกสาขาอาชีพ และใช้ประเด็นเกี่ยวกับข้อมูลมาขับเคลื่อน และนักเล่นแร่แปรธาตุข้อมูลเมือง หาประเด็นแตกต่างได้ ซึ่ง AI ไม่สามารถแทนที่ได้”

ขณะที่ ดร.มหิศร มองว่า  AI ไม่น่ามาแทนคนได้ แต่คนที่ใช้ AI เป็น จะมาแทนคุณ เพราะ AI เปรียบเสมือน การมีเครื่องมือที่ดี จึงต้องเรียนรู้และเข้าใจ เพราะการเชื่อมโลกของ AI มายังคอมพิวเตอร์ เสียบแบตเตอรี่ ยังต้องการแรงงานคนมาทำหน้าที่

ส่วน คุณ วิริทธิพล และคุณสุคนธี มองเช่นเดียวกันว่า การมาแทนที่ในงานสร้างสรรค์ยังเป็นเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น และไม่ว่าจะเป็นนักเขียนหรือช่างภาพก็ยังเป็นอาชีพที่ยังไม่ตาย หากคนทำงานก็ต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัวไปตราบใดที่ยังมีคนอ่าน และตราบใดที่ยังมีจินตนาการ อาชีพนักเขียนไปได้ ถ้าคนยังต้องการความสุขจากการอ่าน

“ฝากถึงน้องๆที่สนใจงานถ่ายภาพ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ผมว่ามันไม่มีพรมแดนแล้ว มันไม่มีคำถามว่าอาชีพแบบนี้จะหาเงินได้ไหม เพราะมันมีอาชีพใหม่อยู่เสมอ เพราะฉะนั้นจะมีการเข้ามาของเทคโนโลยีมากมายที่ทำให้เกิดอาชีพใหม่ๆ อยู่เยอะ ถ้าชอบอะไรก็ทำให้มันสุดโต่งไปเลย เรียนรู้ไปกับมัน” คุณ วิริทธิพล กล่าว

อ่านเพิ่มเติม : งานอนุรักษ์ไม่ใช่งานอาสา แต่เป็นอาชีพแห่งอนาคต: มุมมองนักอนุรักษ์มืออาชีพ

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.