เสือศาสตร์ 101 เรียนรู้เริ่มต้นที่เสือโคร่ง ขยายสู่ความยั่งยืนของระบบนิเวศ

BioSpearhead ชวนเยาวชนเดินเข้าป่า ตามหาร่องรอยเสือ ในวิชา เสือศาสตร์ ที่บอกเล่าความหมายของความหลากหลายทางชีวภาพ

เสือศาสตร์ – ห้องเรียนธรรมชาติ คือพื้นที่แห่งประสบการณ์จริงในการศึกษาเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพผ่านประสาทสัมผัส เพราะมนุษย์และสิ่งแวดล้อมไม่สามารถอยู่อาศัยได้ด้วยตัวคนเดียว จำเป็นต้องสานความสัมพันธ์จนเป็นระบบนิเวศ การลงมือทำในสนามจริงจึงเป็นการเปิดโอกาสการเรียนรู้ และเข้าใจการพึ่งพาอาศัยธรรมชาติให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นไปอีก

หลังจากสถานการณ์โควิดที่เหมือนกับหยุดพักโลกและสิ่งแวดล้อมเอาไว้ชั่วขณะ แต่การเรียนรู้ไม่ได้ถูกหยุดตามไปด้วย คุณกฤษกร วงค์กรวุฒิ บรรณาธิการ นักสืบค้นข้อมูล และคุณพ่อโฮมสคูล ก็ได้ริเริ่มโปรแกรมเล็กๆ ในนาม BioSpearhead เพื่อเป็นหัวหอกในการอธิบายเรื่องราวความหลากหลายทางชีวภาพให้กับเยาวชน โดยในตอนเริ่มต้นได้รับการสนับสนุนจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP)

“การทำงานของเรา เรามองว่า กระบวนการเรียนรู้เกิดขึ้นได้จากการลงมือทำ จึงกลายมาเป็นโปรแกรมที่เทรนกลุ่มนักเรียนทางเลือก โดยมีห้วยขาแข้งเป็นพื้นที่ศึกษา เริ่มต้นตั้งแต่การเดินสำรวจ ทดลองทำเส้นสำรวจแบบที่นักวิจัยทำจริง เพื่อให้รู้จักสิ่งมีชีวิตในระบบนิเวศ ซึ่งจะมีพาร์ตหนึ่งที่เราหยิบเอาเรื่องราวของสัตว์ผู้ล่ามาเป็นเครื่องมืออธิบายให้เด็กมองเห็นความหลากหลายทางชีวภาพในเชิงรูปธรรมได้” คุณกฤษกรเกริ่นเล่าถึงภาพรวม ก่อนลงไปที่การเลือก ‘เสือโคร่ง’ มาเป็นผู้บอกเล่าเรื่องราวของผู้ล่าที่สำคัญและสัมพันธ์กันเป็นระบบนิเวศ​

“เพราะถ้าพูดถึงสัตว์ผู้ล่าเมื่อไร เราจะต้องเชื่อมโยงไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ตลอดเวลา ฉะนั้น ความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางชีวิตจึงเกิดขึ้น”

เสือโคร่ง กับการตอบคำถามด้วยวิทยาศาสตร์

ในประเทศไทยมีการทำวิจัยในเรื่องเสือโคร่งมายาวนานกว่า 3 ทศวรรษแล้ว มีการติดตามศึกษาและพัฒนาองค์ความรู้จนก้าวขึ้นมาอยู่ชั้นแนวหน้าของโลก จากชุดความรู้เหล่านี้ สามารถนำมาปรับเป็นกระบวนการเรียนรู้สำหรับเยาวชนได้ ผ่านการลงพื้นที่จริงพร้อมกับโจทย์ที่ท้าทายในการวิเคราะห์ผ่านกระบวนการทางวิทยาศาสตร์

“ในบริบทของเมืองไทยมีโจทย์ท้าทายอยู่ที่ว่า เวลาเราพูดถึงเสือโคร่ง กระบวนการรับรู้จะไปในทางไสยศาสตร์โดยอัตโนมัติ และนิยายก็สิ่งที่มีอิทธิพลกับความคิดของคนเป็นอย่างมาก แม้เราจะมีคนที่ทำงานโดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือในการอธิบายนิเวศวิทยามายาวนานจนสร้างความรับรู้ในระดับโลก แต่จะทำอย่างไร ความเข้าใจอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จึงจะเข้ามาอยู่ในความรับรู้ของผู้คนทั่วๆ ไปได้บ้าง”

การออกแบบกระบวนการเรียนรู้นั้น มีทีมวิจัยเสือ Thailand Tiger Project เป็นทีมหลัก และเครื่องมือที่เรียกว่าวิทยาศาสตร์จึงเกิดเป็นโปรแกรมค่าย 3 วัน 2 คืน ที่ประกอบด้วยภาคบรรยายจากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านเสือโคร่ง กิจกรรมฐานการเรียนรู้ การล้อมวงฟังเรื่องราวการศึกษาวิจัย ก่อนลงพื้นที่เดินป่าแบบนักวิจัย และพบกับเสือโคร่งในที่เลี้ยงที่นักวิจัยช่วยเหลือไว้ได้ พร้อมกับการเล่าเรื่องราวหลังกรงเลี้ยง

การใช้ ‘วิทยาศาสตร์’ เป็นอย่างไร? วิทยาศาสตร์ในแบบที่ทีมงานใช้คือ การตรวจวัดได้ด้วยเครื่องมือง่ายๆ เช่น ตลับเมตร หรือใช้การสังเกต ความสงสัยใคร่รู้ ร่วมกับการใช้ข้อมูลของทีมนักวิจัยประกอบในกิจกรรมสร้างการเรียนรู้ เช่นเรื่องรอย ซึ่งนักวิจัยจะเรียกอย่างตรงไปตรงมาว่า ‘รอยตีน’

“สมมติคุณเจอรอยตีนในทางด่าน วิธีการจำแนกเพื่อที่จะบอกว่าเจ้าของรอยเป็นเสือโคร่งหรือไม่ ก็มีข้อมูลพื้นฐานอยู่แล้ว ถ้าไม่เห็นเล็บก็อาจจะเป็นสัตว์ในกลุ่มแมว แต่ต้องดูรูปทรงด้วย แล้วสามารถโยงไปถึงเรื่องขนาดซึ่งต้องใช้ตลับเมตรวัด ค่าวิกฤตคือ ถ้าขนาดใหญ่กว่า 7-8 ซม. คือเสือโคร่ง ถ้าเล็กกว่า 6 ซม. คือเสือดาว”

“แล้วเรายังใช้การเริ่มต้นจากรอยตีนนี้นำไปสู่การเข้าใจนิเวศวิทยา ว่าเสือโคร่งกินอะไร บ้านอยู่ที่ไหน หรือกำลังจะไปไหน เป็นการขยับความรู้ที่เราต้องการผ่านการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์ เราสนับสนุนให้เด็กตั้งคำถาม ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะสะท้อนให้เห็นว่าผู้เรียนเข้าใจ และอีกทั้งยังนำมาซึ่งความเข้าใจที่แท้จริงได้ด้วย แต่ก็ควรจะเป็นการตั้งคำถามอย่างสร้างสรรค์และมุ่งมั่นแสวงหาคำตอบอย่างจริงจัง และแม่นยำ ผลลัพธ์นั้นมันจะนำเราไปสู่ความรู้ที่ขยับไปข้างหน้าเสมอ ซึ่งการทำงานเหล่านี้มีให้เห็นตลอดโดยไม่ต้องใช้เครื่องมือไฮเทคอะไรเลย”

รอยเท้า จุดเริ่มต้นการเชื่อมโยงความหลากหลายเข้าร่วมกัน

จากรอยเท้ารอยเดียวจับเข้ากับองค์ความรู้ที่สั่งสมมายาวนาน เป็นเหมือนกับกุญแจที่ไขเข้าพอดีกับแม่กุญแจ นอกจากจะปลดล็อกข้อสงสัยที่อยู่ตรงหน้า ยังสร้างคำถามต่อเนื่องเพื่อสำรวจประชากรสัตว์ป่าในพื้นที่ได้ทั้งผืนป่า

“การวัดที่แม่นยำจะช่วยให้รู้ว่าเจ้าของรอยเท้าเป็นใคร เป็นเสือโคร่งตัวผู้หรือตัวเมีย วิธีการเดินเป็นอย่างไร การตะกุยที่เป็นรูปแบบของการหมายอาณาเขต และพร้อมกับการอึ ซึ่งอึก็มาจากอาหารที่กินก่อนหน้า นี่คือตัวอย่างที่ชัดเจนของความสัมพันธ์ ส่งต่อไปถึงการทำฐานข้อมูลจากอึที่ได้แล้วพบขนปนอยู่ ขนนี่เองเป็นหลักฐานว่าเหยื่อหลักที่เสือโคร่งในห้วยขาแข้งกิน คือวัวแดง ไม่ใช่เก้ง”

การค้นพบเหยื่อของเสือโคร่งมีความสำคัญอย่างไร? “ความรู้ตรงนี้เองที่ส่งต่อไปสู่รูปแบบการจัดการพื้นที่อนุรักษ์ เพราะวัวแดงเป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ที่พฤติกรรมการใช้พื้นที่ในป่าผลัดใบที่ราบ ดังนั้น การบริหารจัดการพื้นที่จะต้องโฟกัสที่ทำอย่างไรให้วัวแดงอยู่รอดให้ได้ ที่ห้วยขาแข้งจึงกลายเป็นแหล่งเดียวในโลกที่มีประชากรวัวแดงหนาแน่นที่สุดในตอนนี้”

การทำงานวิจัยจึงสัมพันธ์กับการอนุรักษ์แบบแยกไม่ออก ในทางหนึ่งยังช่วยตรวจสอบความสำเร็จได้ด้วย เพราะองค์ความรู้ที่แม่นยำจะนำไปสู่การบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งต่อผืนป่าสู่คนรุ่นลูกรุ่นหลานให้อุดมสมบูรณ์มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“การที่เสือโคร่งอยู่ในป่าหมายความว่า เราจะต้องมีป่าต่อเนื่องผืนใหญ่ เพราะเสือตัวผู้ครอบครองอาณาเขตนับร้อยตารางกิโลเมตร ป่าเล็กๆ เสืออยู่ไม่ได้ แต่ถ้าป่าใหญ่แต่ไม่มีเหยื่อ เสือก็อยู่ไม่ได้เหมือนกัน ดังนั้นการที่จะมีเสือนั่นหมายถึงว่า เราจะต้องเก็บรักษาถิ่นอาศัยที่สมดุลและสมบูรณ์ ทั้งการรักษาตัวป่า และมาตรการป้องกันไม่ให้เกิดการล่าสัตว์ป่า”

Nature-based Solution กับความฝันที่ส่งต่อให้กับรุ่นหลัง

“สิ่งที่ทำให้ผมมาทำโปรแกรมนี้คือ เราเองเป็นพ่อคน เราต้องส่งต่อโลกใบนี้ให้กับรุ่นลูก ซึ่งลูกก็ควรจะต้องรู้ว่าโลกที่เราส่งต่อให้มันเป็นอย่างไร มันติดขัดปัญหาหรือยังคงเหลืออะไรไว้ให้กับเขาเพื่อที่จะใช้ชีวิตต่อ” กฤษกรเล่า

“การที่เรามีผืนป่า แหล่งธรรมชาติขนาดใหญ่ส่งต่อถึงคนรุ่นหลัง มันนำมาซึ่งความพยายามที่จะอธิบายว่า การที่เรารู้จักและรักษาเสือโคร่ง แล้วนำมาซึ่งการรักษาผืนป่าขนาดใหญ่ มันหมายถึงสิ่งที่คนรุ่นลูกใฝ่ฝันถึง นั่นคือความเท่าเทียมที่ธรรมชาติมอบให้ ไม่เฉพาะเท่าเทียมระหว่างมนุษย์กับสัตว์ แต่หมายถึงเท่าเทียมระหว่างมนุษย์ กับมนุษย์ด้วยกันด้วย”

ความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติ หมายถึงความเท่าเทียมที่ธรรมชาติมอบให้เริ่มลดน้อยถอยลงไป  “ตอนนี้เรามีตัวอย่างที่ชัดเจนว่า ถ้าคนไม่มีเงินพอจะซื้อเครื่องฟอกอากาศแล้วต้องอยู่เชียงใหม่ แค่จะใช้ชีวิตปกติ หายใจปกติ ยังต้องใช้ต้นทุนสูงขึ้น คำถามต่อไปจึงเกิดขึ้นว่า แล้วถ้าคนไม่มีจะทำอย่างไร เราควรจะมีวิธีอย่างไร ซึ่ง Nature-based Solution หรือการจัดการทุกอย่างให้ดีขึ้นโดยธรรมชาติ หมายความว่า เราไม่จำเป็นต้องใช้เงินหรือมีต้นทุนสูง แต่เราก็ทำได้หากรักษาถิ่นอาศัยหรือสภาพธรรมชาติเอาไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้”

ทั้งหมดที่ว่ามาของโปรแกรมเสือศาสตร์ จึงเป็นเหมือนกับการเพาะเมล็ดพันธุ์ของความรักในหัวใจ ทั้งความรักในธรรมชาติ ความรักในการเรียนรู้ และความรักที่เผื่อแผ่ให้โลกยังสามารถยืนหยัดเท่าเทียมสำหรับทุกคนให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้

“เสือสำคัญต่อระบบนิเวศมาก แต่ขณะเดียวกันในเชิงการเรียนรู้ เสือก็อาจเป็นเหมือนทางผ่านที่นำเราไปสู่เป้าหมาย” คุณกฤษกรทิ้งท้าย “เป้าหมายที่เราคาดหวังในการที่ลูกเราจะมีชีวิตต่อไป โดยใช้กระบวนการจากการทำงานจริง ประสบการณ์ภาคสนาม นำมาสร้างสรรค์องค์ความรู้ให้เกิดขึ้นผ่านเครื่องไม้เครื่องมือพื้นฐาน พร้อมกับปลุกเอาหัวใจใฝ่รู้ขึ้นมาเป็นต้นทางให้การอนุรักษ์เกิดขึ้นได้จากมือและมันสมองของผู้เรียนทุกคน”

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ Biospearhead


อ่านเพิ่มเติม ดอยสุเทพวิทยา ห้องเรียนใกล้ตัวของชาวเชียงใหม่ สู่ความยั่งยืนของทรัพยากรและชุมชน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.