Thammasat Frontier School หลักสูตรแห่งอนาคตที่นักศึกษาออกแบบการเรียนได้เอง

Thammasat Frontier School สหวิทยาการที่เปิดกว้างให้นักศึกษาได้ค้นหาตัวเอง สัมผัสประสบการณ์จริง และออกเดินทางบนเส้นทางอาชีพได้ตามที่ฝัน

Thammasat Frontier School – จากวัยมัธยมปลายเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย หลายครั้งหลายคราวก็ยังไม่แน่ใจว่าคณะที่ตัวเองเลือกเรียนจะใช่สิ่งที่ตัวเองฝันไว้หรือไม่? อนาคตจบไปจะได้วิชาที่เรียนเหล่านี้จริงๆ หรือ? หรือถ้าหากไม่ชอบขึ้นมากลางทาง อยากเปลี่ยนจะยังทันไหม?

หลายคำถามที่เกิดขึ้นระหว่างการเรียนมหาวิทยาลัยก็เป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับมหาวิทยาลัยเช่นกันในการออกแบบการเรียนการสอน และการสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อให้นักศึกษาสามารถค้นหาคำตอบในความสนใจของตัวเองได้ ที่วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีการพัฒนาหลักสูตรการศึกษาอย่างต่อเนื่องมากว่า 25 ปี และเกิดเป็นหลักสูตร Thammasat Frontier School หรือโครงการรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีแบบไม่สังกัดหลักสูตร เพื่อให้นักศึกษาสามารถเลือกศึกษาและค้นหาวิชาเรียนโดยไม่ติดกรอบของหลักสูตรใดๆ

เราได้รับเกียรติจาก รองศาสตราจารย์ ดร.สายฝน สุเอียนทรเมธี คณบดีวิทยาลัยสหวิทยาการ เป็นผู้บอกเล่าเรื่องราว ที่นอกจากการเรียนการสอนที่เลือกได้เองแล้ว ยังเสริมด้วยการสร้างประสบการณ์แตกต่างหลากหลายที่เลือกได้ทั้งในและนอกประเทศ ภายใต้เครือข่ายของพันธมิตรทั้งภายในมหาวิทยาลัยเอง และภายนอกในระดับสากล

จากวิทยาลัยสหวิทยาการ สู่การเรียนในโลกยุคใหม่

‘ธรรมศาสตรบัณฑิต’ คือหลักสูตรการศึกษาในรูปแบบตลาดวิชาตั้งแต่ยุคแรกเริ่มก่อตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพื่อเปิดโอกาสให้นักศึกษาสามารถประกอบอาชีพได้อย่างกว้างขวาง ไม่จำกัดเพียงวิชาใดวิชาหนึ่ง หลักสูตรนี้ปิดตัวลงอันเนื่องมาจากรูปแบบการเรียนสมัยใหม่ที่แบ่งเป็นคณะ และทางมหาวิทยาลัยต้องการฟื้นการเรียนแบบหลายศาสตร์ หรือ Interdisciplinary เช่นนี้กลับมาอีกครั้ง จึงเกิดเป็นวิทยาลัยสหวิทยาการด้วยวิสัยทัศน์สำหรับโลกในอนาคต

“เราพัฒนาหลักสูตรนี้ขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว ซึ่งตอนนั้นเป็นเรื่องยากมากที่จะอธิบายกับสังคมว่า สหวิทยาการคืออะไร? แล้วจบไปทำงานอะไร?” อาจารย์สายฝนเริ่มต้นเล่า “ปัจจุบันเวลาผ่านมา กลายเป็นว่า มหาวิทยาลัยในประเทศหลายแห่งมาขอดูงานจากเรา เราเลยคิดว่า สังคมเริ่มรู้จักเราแล้ว”

“แนวคิดของผู้บริหารในยุคนั้นเห็นมาจากลักษณะของสหวิทยาการจากต่างประเทศ และคิดว่าการผลิตมนุษย์ที่ไม่ใช่ Pure Sciences หรือศาสตร์ใดศาสตร์หนึ่งเฉพาะเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับโลกใบนี้ เพื่อให้เขาเป็นบุคลากรของประเทศ ให้รู้จักทั้งเศรษฐศาสตร์ กฎหมาย นโยบายประเทศ บริหาร เขาจะสามารถเข้าใจโลก และทำงานได้มากยิ่งขึ้น พิสูจน์จากประสบการณ์ของตัวเองที่ตอนเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ก็ยังตั้งคำถามว่าเรียนอะไรกัน แต่พอเราสอนไปและส่งเด็กไปทำงานในองค์กรต่างๆ ศิษย์เก่าก็กลับมาบอกเยอะว่า เด็กที่นี่ทำอะไรได้มากกว่าคนอื่น มันเหมือนกับเขาเป็นเป็ด”

สำหรับยุคนี้แล้ว การเป็น ‘มนุษย์เป็ด’ กลายเป็นอีกทักษะหนึ่งที่สำคัญสำหรับการทำงานในองค์กร นั่นก็เพราะความรู้รอบ รู้กว้าง การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์กลุ่มนี้จึงเป็นภารกิจของวิทยาลัยสหวิทยาการ “คำว่าเป็ด บินได้นิดหน่อย ว่ายน้ำได้ แต่อาจจะไม่เก่งมากในด้านนั้นๆ เช่นเดียวกันกับในองค์กรที่ต้องการมนุษย์พันธุ์ใหม่ ที่รู้และเข้าใจในสิ่งที่ผู้ใหญ่หรือสังคมกำลังพูดอยู่ และทักษะในการแก้ปัญหาสังคมหรือเสนอข้อชี้แนะที่แตกต่างเพราะผ่านความรู้ความเข้าใจในหลากหลายศาสตร์มาแล้ว”

อาจารย์สายฝนยกตัวอย่างให้เห็นภาพชัดเจน “เช่นเด็กจบไปเป็นผู้ประกาศข่าว การเรียนสื่อสารมวลชนทำให้ได้เทคนิคการพูดการสื่อสาร แต่เวลาลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์หรือพูดคุยในภาคสนามจะมีความรู้ความเข้าใจเรื่องที่คนอื่นคุยได้มากกว่า เรามีกระบวนการพัฒนาให้เด็กกลายเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพผ่านทางความรู้ ทักษะ และชุดเครื่องมือในการทำงาน”

เพราะวิชาที่หลากหลายและกว้างขวางเช่นนี้ จึงเป็นความท้าทายทั้งกับตัวผู้เรียนและผู้สอน ที่จะต้องออกเดินทางพร้อมกัน การใส่ใจเรื่องรายรอบระหว่างทางจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้สามารถค้นหาปลายทางของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Thammasat Frontier School

“Frontier School ไม่ใช่หลักสูตรนะคะ แต่เป็นวิธีการรับเข้าแบบใหม่” อาจารย์สายฝนอธิบายเพิ่มเติม “เราจะรับนักศึกษาเข้ามาก่อน แล้วให้นักศึกษาออกแบบการเรียนการสอนของตัวเอง เหมือนกับการจัดตะกร้าไว้ให้เด็กเลือกเรียน โดยมีคณะที่เข้าร่วม 10 คณะ 13 หลักสูตร และมีอาจารย์ที่ปรึกษาดูแล 1คนต่อนักศึกษา 10 คนเพื่อช่วยให้คำแนะนำและวางแผนการเรียน เปิดรับนักศึกษาปีแรกเด็กสนใจและชื่นชอบมาก แล้วคะแนนของเด็กก็สูงมาก”

หน้าที่ของอาจารย์นอกจากจะเป็นโค้ชช่วยแนะแนวทางในการเรียนโดยดูจากความสนใจและศักยภาพของนักศึกษาแล้ว ยังเป็นการออกแบบชุดวิชาเรียน และสิ่งแวดล้อมในการเรียนผ่านการลงมือปฏิบัติ เพื่อให้การเรียนสัมฤทธิผลอย่างแท้จริง

“เด็กที่เข้ามาในหลักสูตรนี้ ก่อนที่เขาจะเลือกชุดความรู้ของตัวเอง เขาควรจะมีความรู้แกนหลักชุดหนึ่งที่เป็นลักษณะสหวิทยาการ แล้วเป็นความรู้ที่ทันสมัย สอดคล้องกับความต้องการทรัพยากรมนุษย์ในโลกปัจจุบัน ซึ่งออกแบบโดยฝ่ายวิชาการ เราพยายามที่จะให้วิชานี้เป็นวิชาสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะไปตอบโจทย์ประเทศใหม่ๆ อย่างเช่นวิชาที่เกี่ยวกับการประกอบการทางสังคม นวัตกรรมทางสังคม หรือวิชาทางด้านวิทยาการข้อมูล ซึ่งคิดว่าเป็นชุดความรู้ที่น่าจะจำเป็นในปัจจุบันและอีก 5-10 ปีข้างหน้า เพื่อให้เขาได้มีแนวความคิดต่อยอดต่อไปจากการเรียนได้”

นอกจากชุดวิชาเหล่านี้ นักศึกษาสามารถเลือกเรียนวิชาโทได้จากคณะต่างๆ ในมหาวิทยาลัย “เราดีไซน์ว่า วิชาโทเป็นวิชาเสริมสำหรับสนับสนุนในการเรียน เช่น อยากทำงานด้านการท่องเที่ยว ก็สามารถเรียนวิชาโทกฎหมายเพื่อให้มีความรู้เรื่องกฎหมายท่องเที่ยว หรือทำงานด้านการจัดการทรัพยากรวัฒนธรรม ก็อาจจะไปเรียนบริหารธุรกิจเพื่อใช้ประโยชน์จากทุนวัฒนธรรมในพื้นที่”

การสร้างเสริมประสบการณ์ไม่ได้จำกัดเพียงภายในมหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่ยังมีเครือข่ายของพันธมิตรมหาวิทยาลัยจากทั่วโลกที่จัดการเรียนการสอนแบบสหวิทยาการ เปิดโอกาสให้นักศึกษาเลือกได้ทั้งการเรียนต่อในต่างประเทศ 1 ปีแล้วเทียบโอนกลับมาได้ หรือการฝึกงานสหกิจศึกษา 1 เทอมทั้งภายในและต่างประเทศ ซึ่งมีการเซ็นสัญญา MOU กับทั้งภาคการศึกษาและหน่วยงานองค์กรเตรียมพร้อมเรียบร้อยแล้ว

“หลักๆ อยากให้นักศึกษาออกแบบเองว่าอยากเรียนอะไร อยากจบไปทำงานอะไร แล้วเราจัดสรรอะไรให้กับเขาได้บ้าง”

‘โอกาส’ ในทุกมิติการเรียนรู้

“คำว่า Frontier คือพรมแดนความรู้” อาจารย์สายฝนให้นิยาม “ขอบเขตของความรู้ไม่ควรหยุดอยู่แค่ที่ในบทเรียนหรือในประเทศเท่านั้น เราควรให้เด็กได้เปิดโอกาสให้กับขอบเขตความรู้นอกประเทศได้ เลือกเอาตามศักยภาพ โดยมีเราคอยช่วยสนับสนุนเขา”

เช่นเดียวกับแนวคิดของที่ตั้งวิทยาลัยสหวิทยาการที่ครอบคลุม 3 ส่วนการศึกษา ทั้งศูนย์ลำปาง ท่าพระจันทร์ และรังสิต ที่นักศึกษาสามารถจัดกระบวนการเรียนและสามารถเคลื่อนย้ายตัวเองไปเรียนในแต่ละศูนย์ได้ เพื่อการเรียนรู้วัฒนธรรม ความเป็นอยู่ และได้ใช้ชีวิตจริงกับคนจริงๆ ในพื้นที่ “เราไม่ได้ต้องการให้เด็กพัฒนาชุมชน แคทำความเข้าใจ รู้จักชุมชนมากยิ่งขึ้น รู้จักปรับตัวเรียนรู้ และทำงานกับชุมชนจริงๆ พวกนี้จะเกิดเป็นทักษะที่พอถึงเวลาต้องทำงานจริง จะไม่มีอะไรน่ากลัวอีกแล้ว”

ตัวอย่างหนึ่งที่น่าสนใจของการจัดกระบวนการเรียนการสอนผ่านประสบการณ์จริงจาคำบอกเล่าของ รองศาสตราจารย์​ ดร.ชัยยุทธ ถาวรานุรักษ์ รองคณบดีฝ่ายบริการวิชาการและสื่อสารองค์กร  คือวิชาสัมมนากับโปรเจกต์พัฒนาชุมชน นักศึกษาจะเริ่มจากการมองหาต้นทุนในชุมชน ความต้องการของชุมชนและพื้นที่ แล้วนำต้นทุนเหล่านี้มาคิดเพื่อแปลงเป็นมูลค่า

“เด็กพบว่าวัดมีลวดลายภาพวาดที่น่าสนใจ ลวดลายเหล่านี้คือทุนที่สามารถสร้างคุณค่าได้ เขาไปถ่ายรูปแล้วแกะลวดลาย ทำกราฟิก แล้วนำเสนอเป็นโมเดลการออกแบบอัตลักษณ์ให้ชุมชนมองเห็นต้นทุนทางวัฒนธรรมในท้องที่ของตัวเอง จากนั้นเราก็ยกให้ชุมชนเอาไปทำต่อได้เลย โดยที่ทั้งหมดคือกระบวนการเรียนรู้ที่เด็กคิดเองทำเอง อาจารย์ช่วยแค่เพียงคอมเมนต์หรือชี้แนะ”

“เราต้องให้โอกาสเด็ก” อาจารย์ชัยยุทธเน้นย้ำ “ทั้งในระหว่างเรียนและนอกห้องเรียน อย่างทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 อย่าง Digital Literacy ที่จำเป็นสำหรับการทำงานในองค์กร หรือทักษะการสื่อสาร ที่เราให้โอกาสเขาได้พูด ได้ทำกิจกรรมร่วมกับนักศึกษาอินเทิร์นชิปจากต่างประเทศ ถ้าเราได้มีโอกาสใช้ชั่วโมงบินในการใช้ทักษะเหล่านี้ พวกเขาจะเก่งขึ้น เราก็มีหน้าที่หาช่องทาง หาพื้นที่ หาเวลาให้เขาได้พัฒนาทักษะหลายๆ อย่าง”

เช่นนั้นแล้ว นักศึกษาที่สนใจอยากจะเรียนในโครงการนี้ คุณสมบัติข้อแรกจึงเป็นเรื่องความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้และลงมือทำสิ่งใหม่ๆ อยู่เสมอ “เด็กต้องหิวกระหายการเรียนรู้ การพัฒนาตัวเองตลอดเวลา แล้วกระบวนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยจะเป็นตัวช่วยดึงศักยภาพและผลักดันเด็กให้เขานำความรู้ไปใช้ตามแพชชั่น และขับเคลื่อนตัวเองให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์”

“สำหรับเราแล้วเด็กเก่งเป็นเพียงนิยามหนึ่งเท่านั้นเอง แต่เด็กที่มีความสามารถ เป็นอาสาสมัครเพื่อสังคม ทำงานเพื่อส่วนรวม ทำกิจกรรมในโรงเรียน เป็นผู้นำ หรือแม้แต่ช่วยครอบครัวทำมาหากิน ก็มีโอกาสมานำเสนอตัวเองที่นี่ มาอยู่ในคณะที่ไม่ตัดสินว่าจะต้องพัฒนาแค่คนเก่งเท่านั้น สิ่งนี้คือโลกของ Frontier” อาจารย์ชัยยุทธกล่าวสรุป

 

วิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

https://cis.tu.ac.th

เรื่อง ณัฐนิช ชัยดี

ภาพ อภินัยน์ ทรรศโนภาส


อ่านเพิ่มเติม ผศ.ดร.สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล เล่าเรื่องธรณีวิทยา ย้อนอดีตจากหลักฐานในก้อนหิน เพื่อตามหาขุมทรัพย์ของอนาคต

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.