ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ ถอดรหัสเรียนกายภาพบำบัดฯ ม.รังสิต “ภายนอกปวดหลัง ภายในปวดร้าว องค์รวมทั้งหมดนักกายภาพต้องมองให้ออก”

กายภาพบำบัดเรียนอะไร? สาขาวิชานี้สำคัญแค่ไหน?  ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต มีคำอธิบาย

แดดบ่ายปลายเดือนสิงหาคมสว่างจ้า แม้เงาต้นไม้ใหญ่จะพาดผ่านบนชั้น 5 อาคาร 4  แต่นั้นก็ไม่มากพอที่จะห้ามเงาสะท้อนจากกระดานสีขาว สู่สายตาผู้มาเยือนซึ่งเพิ่งเดินออกจากลิฟต์

เรานัด ดร.วรชาติ เฉิดชมจันทร์ คณบดีคณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา มหาวิทยาลัยรังสิต ในห้องทำงานชั้นเดียวกัน แต่ก่อนจะเลี้ยวขวาไปติดต่อเจ้าหน้าที่ เราเดินไปตามความสงสัย ก่อนจะพบว่าวัตถุบนโต๊ะที่เรียงรายตรงหน้าคือร่างไร้ชีวิต และข้อความบนกระดานที่เคยมองยาก ขณะนี้มันชัดเจนแล้วว่าคือ “พิธีทำบุญอาจารย์ใหญ่ประจำปี ” ของคณะกายภาพฯ

กายภาพบำบัดไม่ใช่สาขาใหม่ หรือศาสตร์ยอดนิยมที่เพิ่งเป็นเทรนด์ความนิยม หากนี่คือสาขาดั้งเดิมที่เป็นส่วนหนึ่งของสถาบันการศึกษามานาน และนับเฉพาะที่มหาวิทยาลัยรังสิต คณะนี้เปิดสอนมามากกว่า 30 ปี ขณะที่บางสถาบันวางสาขานี้อยู่ในหมวดคณะวิทยาศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์การแพทย์

“ในประเทศไทย ที่คุ้นเคยก็น่าจะมีไม่กี่แห่ง เช่น ที่มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น มหาวิทยาลัยเขียงใหม่ และที่ ม.รังสิต เอง ย้อนกลับไปก็เป็นสถาบันเอกชนแห่งเดียวที่เปิดสอนในเวลานั้น” ดร.วรชาติ อธิบายตอนหนึ่ง (ปัจจุบันจากการรวบรวม พบว่า 17 สถาบันที่เปิดสอน ในจำนวนนี้เป็นภาครัฐ 12 แห่ง เอกชน 5 แห่ง)

ตามความเข้าใจแบบดั้งเดิม ศาสตร์กายภาพบำบัดคือกระบวนการจัดการเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติของร่างกายมนุษย์ มีพื้นฐานการเรียนที่ไม่ต่างจากการเรียนแพทย์ และอาชีพของผู้ที่เรียนในด้านนี้หนีไม่พ้น การเป็นนักกายภาพบำบัด ตามสถานพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการรักษาผู้ป่วย

หากแต่ในปัจจุบัน แนวทางการทำงานของสาขาที่ว่านี้กว้างขวางขึ้น โดยเฉพาะเมื่อองค์กรใหญ่ๆ ให้สำคัญกับคุณภาพชีวิตของพนักงาน และทุกคนในวัยทำงานล้วนต้องการการมีสุขภาพที่ดีแบบองค์รวม ทั้งการบริโภค การออกกำลังกาย การพัฒนาสภาพจิตใจ จนกลายมาเป็นลักษณะอาชีพอย่าง Wellness Coach, Well Being Manager, นักกายภาพในองค์กร, รวมถึงการเข้าสู่การเป็นผู้ประกอบการ ซึ่งสามารถเปิดคลินิก รักษาผู้ป่วยโดยใช้เครื่องมือทางกายภาพบำบัด และผู้ที่จะสามารถทำได้ก็ต้องมีใบประกอบวิชาชีพที่ถูกต้อง

“คลินิกกายภาพเป็นแนวทางหนึ่งที่ผู้เรียนจบกายภาพบำบัดจะสามารถเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง แต่เดิมคนเรียนกายภาพฯ มักจะทำงานในโรงพยาบาลทั้งรัฐและเอกชน และวิถีเช่นนี้ก็ได้รับความนิยมน้อยลง แต่หลังจากโควิด-19 การเติบโตของเทรนด์เรื่องการดูแลสุขภาพกลับมาอีกครั้ง และสาขากายภาพบำบัดก็ดูเหมือนจะคึกคักขึ้น โดยเฉพาะในช่วงที่ผู้คนสนใจการมีคุณภาพชีวิตที่ดี สนใจเรื่องสุขภาพองค์รวม ทำให้ผู้ที่เรียนกายภาพบำบัด หรือนักกายภาพบำบัดที่เรียกกันว่า Physical Therapist หรือเรียกย่อว่า PT มีแนวทางอาชีพที่หลากหลายขึ้น และเปลี่ยนออกไปตามความคาดหวังของสังคมยุคใหม่”

กายภาพบำบัดเรียนอะไร?

ที่มหาวิทยาลัยรังสิต ชื่อเต็มของคณะนี้คือ คณะกายภาพบำบัดและเวชศาสตร์การกีฬา

FACULTY OF PHYSICAL THERAPY AND SPORT MEDICINE | B.Sc. (Physical Therapy) ซึ่งผู้เรียนจะได้ปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (สาขาวิชากายภาพบำบัด) BACHELOR OF SCIENCE (PHYSICAL THERAPY) B.Sc. (Physical Therapy)

“ทั้งหมดใช้เวลาเรียน 4 ปี ผู้ที่เข้ามาคือนักเรียนสายวิทย์ ถือเป็นอีกทางของผู้ที่สนใจศาสตร์ทางด้านการแพทย์ แต่อาจจะไม่ลงลึกเท่ากับการเรียนหมอ แต่ก็เป็นอีกอาชีพในระบบสุขภาพที่มีความคล้ายกัน ยกตัวอย่าง อาจารย์ใหญ่ที่คุณเห็น ก็เป็นส่วนหนึ่งในการเรียน โดยคนเรียนกายภาพก็ต้องเข้าใจเรื่องสรีระของมนุษย์ กล้ามเนื้อ Anatomy ต่างๆ โดยในระหว่างการศึกษาจะต้องมีการผ่าร่างอาจารย์ใหญ่เพื่อศึกษาโครงสร้างระบบประสาท กล้ามเนื้อ และกระดูก เพื่อที่จะสามารถวินิจฉัยอาการได้อย่างแม่นยำ และบำบัดผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ จากนั้นเมื่อแยกเอกในปี 3-4 ก็จะลงลึกขึ้นเช่น กายภาพในด้านหัวใจและทรวงอก ระบบประสาท  กระดูกและกล้ามเนื้อ การรักษาด้วยมือเพื่อกายภาพบำบัด และเครื่องมือที่ใช้ในการกายภาพบำบัดต่างๆรวมไปถึงการตรวจประเมินและการรักษาผู้ป่วยตามอาการ”

หลักสูตรของคณะกายภาพบำบัดที่ ม.รังสิต จะประกอบไปด้วย 3 สาขาหลัก 1. กายภาพบำบัดสายหลักที่คุ้นเคยดี ซึ่งเน้นการเป็นนักกายภาพบำบัดที่มีความรู้ในศาสตร์ด้านกายภาพบำบัด ทั้งระดับลึกและระดับ กว้าง รวมทั้งมีความรู้ในเชิงสหวิทยาการซึ่งทันกับการพัฒนาของเทคโนโลยีทางการแพทย์ มีความสามารถในการปฏิบัติงานกายภาพบำบัดอย่างมีคุณภาพทั้งในงานด้านการสร้างเสริมสุขภาพ การดูแลผู้ป่วยทั่วไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ผู้สูงอายุ ผู้ประสบอุบัติเหตุ และผู้ป่วยโรคติดต่อร้ายแรง

2.สาขาวิทยาศาสตร์การกีฬา ซึ่งมีหลักการเดียวกับสาขาแรก ที่เน้นวิทยาศาสตร์การกีฬาแนวใหม่ ช่วยฟื้นฟูนักกีฬาที่ได้รับการบาดเจ็บทางการกีฬาหรือหลังผ่าตัดจากการบาดเจ็บจากการเล่นกีฬาให้สามารถกลับมาเล่นกีฬาได้ใหม่และมีประสิทธิภาพสูงสุด ด้วยศาสตร์ความรู้พื้นฐานทางการแพทย์ การออกกำลังกายเพื่อการฟื้นฟู สารอาหารเพื่อการรักษา เทคนิคการโค้ช

3.คือ หลักสูตรชรัณสุขศาสตร์ ที่มีความสามารถในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุแบบองค์รวม โดยผสมผสานศาสตร์ความรู้ทางการแพทย์ ร่วมกับศาสตร์ทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์

“ง่ายๆ ก็คือหลักกายภาพผสมกับการดูแลผู้สูงอายุ แต่สำหรับการดูแลผู้สูงอายุมันไม่ใช่แค่ร่างกายอย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องกฎหมายมาเกี่ยวข้อง เช่น การกฎหมายมรกด การทำพินัยกรรม หลักการ บริหารธุรกิจ กระทั่งการออกแบบแฟชั่น การปรุงน้ำหอมสำหรับผู้สูงอายุที่จะทำให้มีบุคลิกดีขึ้น”

หัวใจของการกายภาพ

ผู้เรียนสาขานี้ จะเรียนร่วมกันใน 2 ปีแรก ก่อนจะแยกตามความสาขาวิชาที่เลือกไว้ และหลักจากเรียนจบแล้วบัณฑิตผ่านการสอบประเมินเพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพกายภาพบำบัดต่อสภากายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย เพื่อมีสิทธิเข้าทำการให้การรักษา หรือฟื้นฟูต่อผู้ป่วยด้วยวิธีทางกายภาพบำบัด และสามารถใช้คำนำหน้าชื่อ กภ. ในการปฏิบัติงานได้ และนักกายภาพบำบัดจะต้องมีการต่อใบประกอบวิชาชีพทุกๆ 5 ปี และต้องมีการศึกษาหาความรู้อย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าอบรม เก็บคะแนน เนื่องจากวิทยาการทางการแพทย์มีการพัฒนามากขึ้นอยู่ตลอดเวลา

“เวลาคนมองถึงอาชีพในระบบสาธารณสุข คนมักนึกถึงหมอ พยาบาล หรือเภสัชกร แต่ยังมีนักกายภาพบำบัดที่มีความจำเป็นมาก อย่างในต่างประเทศ มีคลินิกกายภาพเยอะมาก เพราะสามารถรักษาผู้ป่วยได้โดยไม่ต้องทานยา ไม่ต้องฉีดยา และไม่ต้องผ่าตัด แต่ในประเทศไทยยังคงขาดแคลนวิชาชีพด้านนี้อยู่มาก และผู้ป่วยเองก็ยังขาดความเข้าใจในสายวิชาชีพนี้อยู่ไม่น้อย”

ดร.วรชาติ กล่าวว่า  ถ้าจะหาหัวใจหลักของอาชีพภายภาพก็คือการมี Human Touch ซึ่งก็คือการเอาใจใส่ ที่สื่อถึงอารมณ์ความรู้สึกระหว่างมนุษย์ เพราะนักกายภาพน่าจะเป็นอาชีพที่อยู่กับผู้ป่วยนานที่สุด

บางเคส เขาอาจจะกระดูกหักมา ได้เจอแพทย์แค่ 1-2 ครั้ง แต่การทำภายภาพนานกว่านั้น ครั้งหนึ่งมากกว่า ชั่วโมงนั้น ระหว่างนั้นเราจะได้เห็นสิ่งที่อยู่เบื้องหลัง ได้เห็นความเจ็บปวด ความรู้สึกที่เขาแบกมา หรืออย่างคนที่เป็นออฟฟิศซินโดรม ปวดหลัง หรือมีการกดทับเส้นประสาท อาการที่อยู่เบื้องหลังมันไม่ใช่แค่นั้น แต่มันคือความเครียดรวมอยู่ด้วย หน้าที่ของนักกายภาพคือทำให้ส่วนที่เคลื่อนไหวติดขัดเหล่านั้นได้ทำงานตามปกติ ควบคู่กับการสร้างกำลังใจ และในบางกรณีที่ความเครียดกับร่างกายมีส่วนเชื่อมโยงถึงกัน เราก็ต้องหาทางรักษาหรือแนะนำเขาไปในเส้นทางที่ถูกได้

นักกายภาพ เติบโตแบบไหน

อย่างที่เล่าไปในตอนแรกว่า เส้นทางอาชีพของนักกายภาพในอดีตมักมองเฉพาะตำแหน่งในโรงพยาบาล แต่ปัจจุบันได้ขยายขอบเขตขึ้น เช่นการเป็นนักกายภาพบำบัดในองค์กรต่างๆ การเป็น Wellness Coach ให้คำแนะนำในด้านสุขภาพองค์รวม หรือถ้าในสาขากายภาพบำบัดทางกีฬา  การมีสโมสรกีฬา สถานออกกำลังกาย ก็ทำให้ผู้เรียนสาขานี้มีโอกาสไปเป็น Rehab Coach ให้กับลูกค้าได้

“ความนิยมของการประกอบอาชีพเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และปัจจุบันหากได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ผู้เรียนก็มักจะทำธุรกิจส่วนตัว เป็น Entrepreneur ในด้าน Wellness ที่จะช่วยลูกค้าฟื้นฟูสุขภาพในหลายมิติ”

“มันอาจจะมีช่วงหนึ่งที่เมื่อเจอความผิดปกติ ผู้คนก็มักจะหายามารับประทาน แต่ปัจจุบันเรารู้กันดีว่า การบริโภคสารเคมีไม่สร้างผลดีกับร่างกายในระยะยาว การทำกายภาพเพื่อบำบัดความผิดปติ ก็เป็นหนทางหนึ่ง ผู้ที่เดินเข้ามาคลินิกเขาเจ็บปวกจากการทำงานมา นักกายภาพก็สามารถให้คำปรึกษาได้ บางคนเครียดเราก็มีเทคนิคในการสร้างความผ่อนคลาย เพราะปัญหาสุขภาพไม่จำเป็นต้องใช้ยาทั้งหมด อาจจะใช้เรื่องบรรยากาศ ใช้ Aroma เข้ามาช่วย แต่ทั้งหมดคือการอาศัยความเข้าใจ ซึ่งมีนักกายภาพเป็นผู้รับฟัง”

เป็นการทำงานที่ใช้ทั้งความรู้ ทักษะ และหัวใจ ของอาชีพที่เรียกว่า “นักกายภาพบำบัด”

ภาพ: ศุภกร ศรีสกุล

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : ผศ.ดร.สุคนธ์เมธ จิตรมหันตกุล เล่าเรื่องธรณีวิทยา ย้อนอดีตจากหลักฐานในก้อนหิน เพื่อตามหาขุมทรัพย์ของอนาคต

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.