บันทึกวิชา EIA นอกห้องเรียน ประสบการณ์จริงสู่อาชีพด้านสิ่งแวดล้อม

บันทึกกิจกรรมในโครงการ แบ่งปันความรู้สู่ชุมชน เคล็ด ‘ไม่’ ลับ กระบวนการผลกระทบสิ่งแวดล้อม  โดยสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.)

ในกระบวนการก่อสร้างและการพัฒนาโปรเจคต่าง ๆ การทำ EIA (Environmental Impact Assessment ) สำคัญเป็นอย่างมาก เพราะนี่คือบันไดขั้นแรกที่จะทำให้เราทราบว่าผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมไม่ว่าจะทางบวกหรือทางลบที่มีต่อโครงการจะเป็นอย่างไร ทั้งยังเป็นการสำรวจหาจุดร่วมและค้นหาวิธีการแก้ไขปัญหา เพื่อให้สิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนน้อยที่สุด

พระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2561 ตอนหนึ่งระบุไว้ว่า “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม” นั้นคือกระบวนการศึกษาและประเมินผลที่อาจเกิดขึ้นจากการดำเนินโครงการหรือกิจการที่อาจมีผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ คุณภาพ สิ่งแวดล้อม สุขภาพ อนามัย คุณภาพชีวิต หรือส่วนได้เสียอื่นใดของประชาชนหรือชุมชนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยผ่านกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน เพื่อกำหนดมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบดังกล่าวนั่นเอง

ทุกวันนี้สาขาวิชาที่ว่าด้วยสิ่งแวดล้อม จึงมีรายวิชาซึ่งเกี่ยวข้องกับการทำ EIA เช่นเดียวกับภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้ได้ร่วมกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) จัดกิจกรรมในโครงการ แบ่งปันความรู้สู่ชุมชน เคล็ด ‘ไม่’ ลับ กระบวนการผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดยได้พานักศึกษาไปเยี่ยมชม ณ นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด และนิคมอุตสาหกรรมอาร์ ไอ แอล อำเภอมาบตาดุด จ.ระยอง ซึ่ง National Geographic ฉบับภาษาไทยได้ร่วมสังเกตการณ์ และอยากบอกต่อถึงกระบวนการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่น่าสนใจ

เรียนรู้ไซต์งาน เสริมสร้างประสบการณ์จริง

วัตถุประสงค์ของโครงการนี้ คือเพื่อให้เกิดการบูรณาการความร่วมมืออย่างเป็นรูปธรรมในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้ประกอบการที่ได้รับรางวัลสถานประกอบการดีเด่น (EIA Monitoring Awards 2023) และเปิดโอกาสให้นิสิตมหาวิทยาลัยได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย ผ่านการลงพื้นที่และสัมผัสโครงการ เพื่อนำความรู้มาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติงานจริงในอนาคต

กิจกรรมนี้ได้เลือกพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด  เป็นสถานที่เนื่องด้วยเป็นพื้นที่ที่มีแบบอย่างที่ดีจากอุตสาหกรรมในหลากหลายสาขา อีกทั้งระยะทางไม่ไกลจากกรุงเทพฯ จนเกินไปนัก

ขณะที่นักศึกษาที่เข้าร่วม คือนักศึกษาชั้นปีที่ 4 จำนวนราว 40 คน ซึ่ง รศ.ดร. วิลาสินี อยู่ชัชวาล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ได้สัมภาษณ์ว่า เนื่องจากนิสิตชั้นปีที่ 4 ได้เรียนพื้นฐานวิชา EIA บ้างแล้ว ดังนั้นจะมีความเข้าใจและพื้นฐานหลักของการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม และยิ่งเป็นชั้นปีที่ใกล้จบการศึกษา ให้ได้เห็นภาพว่าตนเองต้องการการทำงานแบบใด เป็นการเรียนรู้นอกห้องเรียนที่สามารถสัมผัสบรรยากาศการทำงานและได้เห็นถึงสภาพแวดล้อมได้อย่างดี

รศ.ดร. วิลาสินี อยู่ชัชวาล อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม ม.เกษตรศาสตร์

โครงการได้เลือก ไซต์งานของบริษัท พีทีที แอลเอ็นจี จำกัด เป็นสถานที่แรก เนื่องจากเป็นที่ตั้งของกระบวนการผลิตที่ครบวงจร ไล่ตั้งแต่ การสำรวจขุดเจาะแหล่ง ก๊าซธรรมชาติ กระบวนการแปรสภาพก๊าซธรรมชาติให้อยู่ในสถานะของเหลว การเก็บไว้ในถัง รวมถึงการมีระบบการขนส่ง LNG ผ่านทางเรือ ไปสู่ผู้ซื้อ จะช่วยให้ระบบท่อส่งซึ่งมีโรงไฟฟ้า เป็นลูกค้าหลัก

บรรยากาศในที่แรกนั้นเน้นบรรยายถึงองค์กร อุปกรณ์ต่าง เพื่อเตรียมพร้อมและควบคุมความปลอดภัย จากนั้นได้เดินทางไปยังอีกสถานที่ที่เป็นจุดเด่นของ PPT LNG ซึ่งคือ อาคารนิทรรศน์พรรณพฤกษา ที่ใช้พลังงานความเย็นมาเกิดกระบวนการการเปลี่ยนสถานะเป็น LNG มาใช้ในการผลิตดอกไม้เมืองหนาว อย่าง ทิวลิป และไฮเดรนเยีย ซึ่งเป็นช่วงที่น่าตื่นตาตื่นใจที่สุดในการเดินทาง เพราะเราได้เห็นและสามารถเข้าใกล้ได้มากที่สุด

ในสถานที่แห่งนี้ ยังมีการเปิดวงสนทนาถึงการทำ EIA โดยนักวิชาการจาก สผ . ผู้ประกอบการ ซึ่งต่างให้ความสำคัญถึงกระบวนการทำ EIA ซึ่งเกิดขึ้นตาม พรบ.สิ่งแวดล้อม 2535  ซึ่งกำหนดให้โครงการหรือกิจการตามประเภทและขนาด ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ควบคู่กับการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ (Feasibility study) และการออกแบบรายละเอียดเพื่อก่อสร้าง เพื่อให้ทราบถึงผลกระทบที่แท้จริง นั่นเพราะโครงการที่แม้จะมีผลกำไรหรือความเป็นไปได้ทางเศรษฐศาสตร์ค่อนข้างสูงแต่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก อาจทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จนทำให้ไม่คุ้มทุน

สำหรับวันที่สองนั้นเราได้เดินทางต่อไปยัง SCGC ซึ่งเป็นผู้ผลิตนวัตกรรมเคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมปิโตรเลียมขั้นต้น โดยมีผลิตภัณฑ์หลักคือ โอเลฟินส์ (Ethylene และ Propylene) โดยได้มีการบรรยายเกี่ยวองค์กร และกระบวนการในการผลิต โดย SCGC มุ่งสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน เป็นการสร้างธุรกิจเติบโตควบคู่ไปด้วยกับการดูแลสิ่งแวดล้อม ในช่วงระหว่างที่ได้ดูพื้นที่ในโครงการกระบวนการผลิต ไม่ได้มีเพียงอาคารเพียงอย่างเดียว แต่ SCGC ได้เห็นต้นไม้ระหว่างทาง เพราะต้องการเพิ่มพื้นที่สีเขียว การใช้แผง Solar Cell เพื่อที่จะ Net Zero คือการตั้งเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ แม้จะเป็นพื้นที่ในการทำโครงการ แต่มีการดูแลและรักษา เพื่อให้ลดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมไปด้วยกัน

เตรียมพร้อมสู่การทำงาน

แน่นอนว่า นี่คือกิจกรรมที่ต้องการเตรียมความพร้อมให้กับนิสิตที่จะเตรียมสู่โลกของการทำงาน ซึ่งจากการสอบถามก็ต่างเห็นร่วมกันถึงประโยชน์และความสนุกสนานที่ได้รับจากการประสบการณ์นอกห้องเรียนเช่นนี้

นรภัทร ตรึงสถิตย์วงศ์ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมชั้นปีที่ 4 ได้แสดงความรู้สึกที่มาโครงการนี้ “รู้สึกตื่นเต้นมาก เพราะว่าเป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงในระบบโรงงาน และสภาพแวดล้อมที่ใหญ่มาก ๆ สำหรับประเทศไทย” การเข้าถึงในแต่ละภาคส่วนมีขั้นตอนและการควบคุมความปลอดที่รัดกุม บางอย่างแม้จะเห็นเพียงภาพถ่าย การได้เข้ามาอยู่ในสภาพแวดล้อมและพื้นที่ เป็นประสบการณ์และโอกาสที่ไม่สามารถหาได้ง่าย

ศุภณัฐ สุวรรณเทพ นิสิตภาควิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อมชั้นปีที่ 4 บอกว่า “ในช่วงที่ผ่านมาเป็นช่วง Covid-19 ทำให้ไม่ได้ออกไปไหน คิดว่าการได้ออกมาข้างนอกเห็นสถานที่จริง การไปดูโรงงานจริงเป็นเรื่องที่ดีมาก ได้เห็นการทำงานจริง” นับว่าเป็นการเรียนรู้นอกสถานที่ที่ทำให้เราได้เปิดประสบการณ์ และได้เรียนรู้เกี่ยวกับโรงงานในเบื้องต้น

ท่ามกลางบรรยากาศการเรียนที่แปลกใหม่ การเดินทาง 2 วันที่ผ่านมานั้น เปิดมุมมององค์ความรู้ การให้ความสำคัญเกี่ยวกับ EIA มากขึ้น ทำให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นถึงกระบวนการการทำงาน ทั้งที่ PPT LNG และ SCGC พร้อมๆกับการตั้งคำถามว่า ในกระบวนการก่อสร้างและพัฒนาเราจะทำอย่างไรเพื่อให้สิ่งแวดล้อมได้รับผลกระทบน้อยที่สุด หรือ เราสามารถทำได้ดีกว่าที่เป็นอยู่ได้อย่างไร?

 

เรียบเรียง : กัญญารัตน์ นามแย้ม

โครงการสหกิจศึกษากองบรรณาธิการเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย

ภาพ : สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

อ่านเพิ่มเติม : ดร.ณัฐวิคม พันธุวงศ์ภักดี วิชา “ความยั่งยืน” เรียนอะไร? และการศึกษาแบบไหนที่ไม่ทำลายอนาคต?

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.