รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา 23 ปี “พิพิธภัณฑ์มด” และการอธิบายโลกผ่าน “ชีววิทยาป่าไม้”

บันทึก 23 ปีพิพิธภัณฑ์มดและการมองโลกแบบนักชีววิทยา กับ รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาคชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้บุกเบิกศึกษาวิจัยมดอย่างจริงจังในประเทศไทย

นอกจากแมลงแล้ว “มด” น่าจะเป็นสัตว์อีกประเภทหนึ่งที่เราคุ้นเคยกัน และจะว่าไปก็คงไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้น แต่ยังรวมถึงประเทศในภูมิภาคเขตร้อน อย่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมีรายงานว่ามีมากถึง 1,000 ชนิด ทั้งมดในเขตเมืองและมดที่อยู่ในเขตป่า

มดเชื่อมโยงกับวิถีชีวิตอย่างไร แต่ละคนก็จะมีคำตอบในแบบของตัวเอง และที่บริเวณคณะวนศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ บางเขน มีพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมที่เรียกว่า พิพิธภัณฑ์มด หรือ Ant Museum ซึ่งเปิดให้นักเรียนและผู้สนใจเข้าร่วมเยี่ยมชมและค้นหาความเชื่อมโยงกับมด ตั้งแต่ปี 2544 และว่ากันว่าอธิบายเรื่องมดได้ดีที่สุด

“สัตว์ทุกตัวมีเรื่องราว มดก็เช่นกัน มันน่าศึกษาว่าทำไมสัตว์ตัวเล็กๆ ถึงอยู่รอดมาเช่นทุกวันนี้ ทำไมพวกมันถึงมีความมั่นคงทางอาหาร มีรังที่เป็นระบบระเบียบ มีการแบ่งหน้าที่ที่ชัดเจน พฤติกรรมของมดจึงเชื่อมโยงกับสังคมได้ และส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์เราพยายามอธิบายสิ่งเหล่านั้น” รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา อาจารย์ภาคชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์มด และเป็นผู้บุกเบิกศึกษาวิจัยมดอย่างจริงจังในประเทศไทยมากกว่า 20 ปี อธิบายตอนหนึ่ง

ถ้าระบบนิเวศ ล้วนประกอบด้วยหลายๆ สิ่งเข้าด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็น  พืช สัตว์ มนุษย์ เห็ด รา จุลินทรีย์ แสงแดด ดิน น้ำ ฯลฯ สัตว์ที่อยู่ในระบบนิเวศมายาวนานอย่าง “มด” อธิบายอะไรกับเราได้บ้าง?

ช่วยเล่าถึง พิพิธภัณฑ์มด ที่คณะวนศาสตร์ ทุกวันนี้เป็นอย่างไร และในฐานะนักชีววิทยาป่าไม้ การทำสิ่งนี้ให้อะไรกับคุณบ้าง?

ชีววิทยาป่าไม้ ก็เหมือนนักชีววิทยา คือเราศึกษาสิ่งมีชีวิต แต่เน้นไปที่สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าไม้ ในธรรมชาติ และมดเองก็เป็นสัตว์ที่อยู่ในนั้น ถ้าคุณไปตั้งแคมป์หรือไปเดินป่า คุณก็จะเห็นมด ซึ่งก็แน่นอนว่าสัตว์ในระบบนิเวศนี้ก็เป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากร

ถ้าพูดถึงพิพิธภัณฑ์มด ผมทำมาตั้งแต่ปี 2544 ตอนนี้ก็ 23 ปีแล้ว สำหรับผมภูมิใจมากนะ มันเหลือเชื่อมากๆหรือไม่น่าเป็นไปได้ มันอยู่อย่างยาวนาน เราสามารถทำให้คนเข้ามาได้ เรื่อยๆ แสดงว่าแนวทางที่จะทำมันถูกต้อง ถ้าเทียบกับพิพิธภัณฑ์ที่อยู่ในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก็ถือว่ามีคนเข้ามาไม่แพ้ที่ไหนนะ เรายังทำมาได้ต่อเนื่อง งบประมาณในการทำพิพิธภัณฑ์อย่างเดียวมันไม่มีเลย ส่วนใหญ่ผมใช้เงินโครงการวิจัย แล้วมีนักศึกษามาช่วย มีการปรับปรุงมา 2 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยและครั้งที่ 2 ได้รับจากบริษัท แปลน โมทีฟ จำกัด ตลอดระยะเวลา 23 ปี แล้วก็ไม่ได้มีเทคโนโลยีอะไรล้ำสมัยมาก แต่พยายามใช้การเล่าเรื่อง ให้สอดคล้องกับผู้เยี่ยมมาชมเป็นหลัก เช่น ถ้าเป็นเด็กก็จะอธิบายเรื่องมดแบบหนึ่ง ถ้าเป็นกลุ่มผู้ใหญ่เขาก็คงไม่อยากรู้แบบเด็ก แต่อยากรู้ว่าเขาจะจัดการมดที่บ้านอย่างไรมากกว่า ซึ่งเราจะออกแบบเนื้อหาตามลักษณะของผู้มาเยี่ยมชมสัปดาห์หนึ่งจะได้ไม่กี่คณะ เราก็จะให้เขาลงทะเบียนและกรอกข้อมูลก่อน ว่าต้องการแค่ไหนอย่างไร

ส่วนใหญ่ผู้เข้าเชี่ยมชมเป็นใคร?

เป็นเด็กอนุบาล ประถม มัธยม มหาวิทยาลัย ผู้ปกครองที่พาลูกหลานมา จนกระทั้งชาวต่างประเทศ เราเปิดเฉพาะวันธรรมดานะ ยิ่งทุกวันนี้มี ยูทูบเบอร์ ไปช่วยเผยแพร่ ยอดคนลงชื่อมาเยี่ยมชมก็มากขึ้น จนบางครั้งเกินกำลังจะรับได้

แนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์มด เรา ไม่ได้เน้นที่การจัดแสดงตัวอย่างมด แต่พิพิธภัณฑ์ในความหมายเราคือการสรุปลักษณะของพฤติกรรมต่างๆสัตว์ ที่ทำให้สัตว์ประเภทนี้อยู่กับเรามานาน และมาถ่ายทอดให้เด็กเรียนรู้ เราออกแบบเนื้อหาบรรยายตามลักษณะของผู้ชม เช่น ถ้าเป็นเด็กอายุสักไม่เกิน 12 ปี คีย์ของวันนั้นจะเน้นคุณธรรมจริยธรรมของมด แต่ถ้าเป็นนักเรียน นักศึกษาที่จะต้องทำโครงงานหรือวิทยานิพนธ์ เราจะเน้นองค์ความรู้ ถ้าเป็นผู้ใหญ่เราเน้นที่การแก้ปัญหา ที่เกี่ยวกับมด หรือการใช้ประโยชน์ ซึ่งจากการเก็บข้อมูล เราก็เอาสิ่งที่ได้ Feedback มาปรับปรุงในสิ่งที่เราคิดว่าจะทำให้มันดีขึ้นกว่านี้ได้

ในเรื่องของพฤติกรรมมดนั้น เราเน้นไปที่การเชื่อมโยงกับมนุษย์ เช่นถ้าเราจะปลูกฝังเด็กกับความมีระเบียบวินัย มดก็อธิบายได้ เพราะจากการวิจัยเราพบว่าความมีวินัย ความช่วยเหลือเกื้อกูล ซึ่งทำให้มดอยู่ได้มาถึงทุกวันนี้ และเกิดผลดีต่อการดำรงอยู่ เช่น การที่มดเดินเป็นแถวและอยู่รวมกัน มันเป็นไปเพื่อป้องกันสัตว์อื่นมาทำร้าย และไม่มีตัวใดหลงทางในการเดินทาง เป็นต้น

บทเรียนไหนของมดที่สังคมไทยควรรู้มากที่สุด?

พฤติกรรมความเป็นอยู่ เหมาะกับคนไทยนะ ความมีระเบียบวินัย ความมีน้ำใจ ความสามัคคี มันเป็นหลักการที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอในสังคมไทย ลองคิดดูว่าถ้ามด ที่เป็นสัตว์ขนาดเล็กไม่มีสิ่งเหล่านี้ สังคมมดคงล่มสลาย ไม่เข้มแข็ง และอยู่ไม่ได้ มดเกิดก่อนมนุษย์ แต่ยังคงอยู่บนโลก และศัตรูไม่สามารถมาทำร้ายความเป็นอยู่ และวิถีชีวิตของมันได้ง่ายๆ

นักมดคำนวณบอกว่า น้ำหนักของมดบนโลกนี้ เท่ากับน้ำหนักของมนุษย์บนโลกนี้ และมดตัวหนึ่งหนักเฉลี่ย 0.004 กรัม มันเล็กมากเลยนะถ้าเทียบกับสิ่งที่ทำ และความสำเร็จของมันก็คือพฤติกรรมที่ทำให้มดมีจุดแข็ง

ถ้ามองในมุมของนักกีฏวิทยาป่าไม้ สิ่งที่เราตื่นเต้นในการค้นพบส่วนใหญ่เป็นเรื่องชนิดใหม่ และการใช้ประโยชน์ คือมดในเมืองไทยยังมีชนิดใหม่อีกเยอะที่รอการตั้งชื่อ เรามองถึงการใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ยกตัวอย่างมดแดง ไข่มดแดง นอกจากเป็นอาหารเฉพาะกลุ่มที่มีราคาไม่น้อยแล้ว ยังถูกสกัดเป็นเครื่องสำอาง และถูกขายอยู่ในตะวันออกกลาง ซึ่งสำหรับตัวผม มันคือการประยุกต์ใช้ประโยชน์นั่นเอง

ตอนนี้ผมทำวิจัยเรื่องแมลงมัน และแมลงมันก็คือมดชนิดหนึ่ง และตัวอ่อนและตัวเต็มวัยก็กินได้ ราคามันสูงใช้ได้เลยนะ แบบนี้เราอยากส่งเสริมให้ชาวบ้านเลี้ยงและสร้างรายได้ ผมชอบแบบนี้ ซึ่งมันต่อยอดมาจากการศึกษาแบบอนุกรมวิธาน การจำแนกสายพันธุ์ วันนี้ผมมองถึงการใช้ประโยชน์ และมองการจัดการทั้งทางบวกและทางลบเป็นหลัก เพื่อให้ครบสมบูรณ์แบบของการวิจัยอย่างแท้จริง

การศึกษามด หรือกระทั่งแมลงให้คุณค่าอะไร?

คุณค่าคือทำให้คนเลี้ยงมีรายได้ ผมมองว่าถ้าชาวบ้านมีกิน มันก็จะแก้ปัญหาในสังคมได้ส่วนหนึ่ง ผมทำเรื่องมด เพราะคิดว่ามันก็สามารถเป็นอาหาร หรือนำมาขายได้ ในความเป็นจริง การรุกล้ำทรัพยากร การทำลายทรัพยากร ส่วนหนึ่งมันเป็นเพราะเขาไม่มีรายได้ หรือมีไม่พอ ซึ่งถ้าผมทำให้เขามีรายได้ อย่างน้อยๆ เพิ่ม 500-1000 บาทต่อสัปดาห์ ผมว่า ไม่มีใครอยากเข้าป่าไปลักลอบตัดไม้ หรือฆ่าสัตว์หรอก

เวลาเราจับชาวบ้านที่กระทำความผิด สาเหตุหนึ่งที่มักได้ยินก็คือเขาไม่มีจะกิน รัฐก็ช่วยเขาไม่ได้ เมื่อ 30 ปีก่อน ผมเลยกลับมาคิดในฐานะนักวิชาการ นักวิจัย ถ้าเราศึกษาและสามารถทำให้เขามีกินได้ มันก็คงจะดี ช่วยกันคนละไม้คนละมือ และสัตว์อย่างมด หรือแมลง ก็เป็นสัตว์ที่เราไม่ต้องทำอะไรมาก ไม่ต้องลงทุนอะไรสำหรับชาวบ้าน ยิ่งในช่วงฤดูแล้ง ซึ่งเป็นช่วงที่เขาไม่มีรายได้ แล้วทรัพยากรพวกนี้มันเยอะ มันออกในช่วงนี้ อย่างไข่มดแดง เนี่ยช่วงแล้ง เขาต้องมาหางานทำในเมือง ถ้าเราสร้างรายได้ มันก็ทำให้ปัญหาอื่นๆลดน้อยลง

มดยังให้คุณค่ากับผมในทางความภาคภูมิใจ ตอนผมเป็นอาจารย์ใหม่ๆ ผมคิดอยู่ตลอดว่า ผมต้องมีความชำนาญหรือโดดเด่นเกี่ยวกับแมลงสักตัว ที่ยังไม่มีใครทำมาก่อน ซึ่งแต่เดิมผมสนใจผีเสื้อ แต่ก็มีคนทำเยอะแล้ว ปลวก ก็มีแล้ว และพอมาเจอนักวิจัยมดจากญี่ปุ่น ผมก็หันมาศึกษา และพบว่ายังไม่มีใครทำ

ช่วงนั้นปี 2540 ก็ทำมาเรื่อยๆ ฝึกมาเรื่อยๆ และโชคดีที่เราอยู่ในสถาบันศึกษาเขาก็ค่อนข้างจะให้อิสระในการวิจัย แม้ว่า ณ ตอนนั้น เขาจะมองว่าเป็นเรื่องเล็กๆ เป็นสัตว์ที่ทุกคนคุ้นเคยและไม่ได้มีเสน่ห์อะไร ตอนนั้นไม่ค่อยมีคนทำ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถึงมีก็ไม่เข้มแข็ง แมลงป่าไม้ไม่ค่อยมีใครรู้จักอีกด้วย

นักกีฏวิทยาป่าไม้อย่างอาจารย์เห็นอะไรในมด?

ผมว่ามดมันมีเสน่ห์อย่างหนึ่งนะ คือทุกบ้านมีมัน แล้วมันก็มีปัญหาในทุกบ้าน แล้วทุกคนก็มีโจทย์กับสัตว์แบบนี้ตลอด ซึ่งมันต่างจากแมลงอื่นที่รู้จัก แต่อาจยังไม่มีประสบการณ์มากนัก ตอนช่วงปี 2535 ผมเคยไปเสวนาที่ จ.ลำปาง ได้ปรึกษาหารือให้ช่วยกำจัดแมลงชนิดหนึ่งที่เป็นศัตรูของต้นสัก คือมันเจาะต้นสักและทำให้เนื้อไม้เสื่อมราคา ระหว่างที่หาทางอยู่บังเอิญไปเจอรุ่นน้องในคณะแล้วฟังเขาเล่าว่า เขาดูแลสวนป่าสักแล้วเจอแมลงแบบนี้มากเลย ก็เลยชวนเราไปสังเกตดูในสวนเพื่อได้ไอเดีย เดินอยู่ครึ่งวันก็เห็นว่ามดกำลังกัดแมลงพวกนี้อยู่ ก็เลยเกิดไอเดียในการใช้มดเป็นส่วนหนึ่งในการกัดแมลงศัตรูพืชชนิดนี้

จากนั้นผมก็เก็บข้อมูลอย่างละเอียด คราวนี้มั่นใจว่าเอาอยู่ ดูพฤติกรรมในแต่ละเดือน พฤติกรรมเป็นอย่างไร แล้วแต่ละเดือนก็เลือกเอาวิธีการมาใช้ การฉีดยาหรือใช้วิธีการอย่างเดียวคงไม่ได้ผล เพราะพฤติกรรมมันไม่เหมือนกัน มดก็เป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศ การมีอยู่ของมด สามารถทำให้เกิดสมดุลขึ้นมาได้และยังมีมีคุณค่าอย่างมากต่อระบบนิเวศอย่างเช่นสัตว์อื่นๆ

การเรียนวนศาสตร์ เราเน้นที่ป่าไม้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม อย่างชีววิทยาป่าไม้ ก็เหมือนนักชีววิทยา แต่เราศึกษาเน้นเฉพาะสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในป่าไม้ ธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม ป่าในเมืองนั่นก็ใช่

และความสำคัญของงานนี้ ก็ต้องกลับไปถามว่า การมีป่าไม้นั้นสำคัญอย่างไร ในทางชีววิทยาป่าไม้เราให้ความสำคัญกับพฤติกรรมในธรรมชาติ อย่างเช่น แมลงมันเกื้อกูลกันในเรื่องผสมเกสร เป็นต้น ศาสตร์ในเชิงวนศาสตร์ไม่เคยหายไปนะ แม้จะเป็นสาขาวิชาที่อยู่มาหลายสิบปีก็ตาม แต่โลกก็ยังต้องการธรรมชาติ ยิ่งในวันที่อยู่ในสภาวะ Global Warming ศาสตนร์นี้ก็ยิ่งสำคัญ เพราะในระหว่างที่เราตื่นตัวการใช้พลังงานสะอาด เป็นเวลาเดียวกับที่ป่าไม้มันน้อยลง

อาชีพที่ต้องเรียนในสาขาวนศาสตร์มีอะไรบ้าง?

คุณรู้จัก รุกขกร ไหมละ นั่นก็เป็นสาขาหนึ่งของวนศาสตร์ ทุกวันนี้คนจบวนศาสตร์ไม่จำเป็นต้องทำงานในภาครัฐ หรืออุทยานเช่นในอดีต แต่สามารถทำธุรกิจ เพาะพันธุ์ไม้ขาย เป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสังคม ทำสวนในเมือง มีศิษย์เก่าที่ทำธุรกิจเพาะพันธุ์แมลง เป็นต้น

ทุกวันนี้ในระดับปริญญาตรี ก็ยังมีนักเรียนสนใจมาศึกษาต่อ ในอัตราส่วนแข่งขันที่ไม่ต่างจากเดิม เทียบกับสัดส่วน 8-10 ต่อ 1 โดยผู้ที่เรียนวนศาสตร์ จะได้วุฒิ หลักสูตรวิทยาศาสตรบัณฑิต (วนศาสตร์);วท.บ. (วนศาสตร์) ซึ่งประกอบไปด้วย 8 สาขาได้แก่ 1. สาขาวิชาวนศาสตร์ชุมชน 2. สาขาการจัดการลุ่มน้ำและสิ่งแวดล้อม 3. สาขาวิทยาศาสตร์ชีวภาพป่าไม้ 4. สาขาวิศวกรรมป่าไม้ 5. สาขาการจัดการป่าไม้ 6. สาขาวนวัฒนวิทยา 7. สาขาอุทยาน นันทนาการ และการท่องเที่ยว 8. สาขาการจัดการสัตว์ป่าและทุ่งหญ้า

ภาพ : ภูเบศ บุญเขียว

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักเรียนรู้ธรรมชาติวิทยาไร้กรอบ กับความเข้าใจระบบนิเวศในไทยผ่านปลาน้ำจืด

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.