รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต เล่าเรื่อง “หญ้าทะเลไทย” ให้ไกลไปกว่า “พะยูน”

สถานการณ์หญ้าทะเลในไทยเป็นอย่างไร? สำรวจความเป็นไปจากทีมวิจัยของคณะประมง ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งอธิบายภาพรวมของความเป็นไปที่ไกลกว่าเรื่องพะยูน

ไม่นานมานี้ หลายคนคงคุ้นเคยกับข่าว การพบซากพะยูนโตเต็มวัย ทว่าร่างกายซูบผอม เกยตื้นบริเวณปากคลองบ้านพร้าว ต.เกาะลิบง จ.ตรัง

พะยูนตัวที่ว่านี้ได้เสียชีวิต และเวลาเดียวกันนี้ระบบนิเวศในท้องทะเลถูกพูดถึงอีกครั้ง โดยเฉพาะกับเรื่อง “หญ้าทะเล” หนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของพะยูนซึ่งถูกตั้งคำถามถึงความเสื่อมโทรม และสันนิษฐานกันว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่กระทบกับชีวิตของ “พะยูนไทย” ไม่ต่างจากปัญหาขยะ การถูกใบมีดของใบพัดเรือ การถูกอวนประมงรัด ซึ่งเป็นปัจจัยแรกๆที่ทำให้พะยูนไทยเสียชีวิต

สถานการณ์หญ้าทะเลไทยเป็นอย่างไร? หลายสายตาก็น่าจะอธิบายด้วยหลายคำตอบ ถึงเช่นนั้นหนึ่งในบรรดาผู้ทำวิจัยเรื่องหญ้าทะเลในประเทศไทย มีทีมวิจัยคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเฝ้ามองความเป็นไปของหญ้าทะเลมานาน

บ่ายกลางเดือนมีนาคม ระหว่างที่กระแสข่าวการตายของพะยูนตัวหนึ่งเบาบางลงไป National Geographic ภาษาไทย ชวน รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต ภาควิชาชีววิทยาประมง คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซักถามถึงสถานการณ์หญ้าทะเลไทย ในฐานะสมาชิกที่สำคัญในระบบนิเวศทางทะเล

ไม่นานมานี้ มีภาพพะยูนซูบผอมถูกแชร์ในโซเชียลมีเดีย  ก่อนที่จะตายไป อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร?

จากข้อมูล อ้างอิงจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) พบว่าพะยูนตัวนี้มีโรค มีร่างกายผอม และภายนอกก็มีสัตว์ (เพรียง) เกาะอยู่บริเวณผิวหนัง

พะยูนก็เหมือนสัตว์ทั่วไปที่เมื่อมีอาการป่วยก็อาจจะกินอาหารไม่ได้ ซึ่งถ้าเราสันนิษฐานว่า ก่อนจะเสียชีวิตพะยูนตัวนี้ป่วย เป็นโรค ไม่สามารถกินอาหารได้ เขาอาจไม่สามารถหาอาหารเองได้ หรือไม่สามารถไปครอบครองพื้นที่อาหารแย่งกับพะยูนตัวอื่นได้ เมื่อพื้นที่หญ้าทะเลมีจำนวนลดลงจนต้องว่ายน้ำไปหากินที่อื่น ทำให้พะยูนตัวนี้ไม่สามารถเคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงแหล่งอาหารใหม่ได้ ดังนั้นกรณีถ้าจะสันนิษฐานว่าเสียชีวิตได้อย่างไร เราจึงควรต้องมองจากหลายปัจจัย

ปกติ เราพบว่าพะยูนที่ตายมักจะมีลักษณะอ้วน การตายส่วนใหญ่เกิดจากอุบัติเหตุ เช่น จากใบพัดเรือ ติดอวน ซึ่งพะยูนเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความสมบูรณ์ และที่ผ่านมาเราอาจไม่เคยพบพะยูนแก่ตาย หรือผอมตาย  นั่นจึงอธิบายไม่ได้ว่าการตายของพะยูนตัวนี้มาจากการขาดแหล่งอาหาร หรือยังมีแหล่งอาหารที่อื่น หากแต่เขาป่วยจนไม่สามารถเข้าถึงแหล่งอาหารได้ แน่นอนแหล่งอาหารมันหายไป มันน้อยลง  แต่จะบอกว่าการตายของตัวนี้มาจากแหล่งอาหารไม่พออย่างเดียวก็คงไม่ใช่ เพราะหลักฐานส่วนหนึ่งมันก็มาจากอาการของเขาที่มีโรคติดมาอยู่แล้ว

ถ้าพูดถึงแหล่งอาหารสำคัญของพะยูนคือหญ้าทะเล ปัจจุบันนี้จากการทำงานวิจัย สถานการณ์ของหญ้าทะเลเป็นอย่างไร?

พูดได้เลยว่า น่าเป็นห่วง คือทั้งพื้นที่และจำนวนของหญ้าทะเลลดน้อยลง บางพื้นที่ที่เคยอุดมสมบูรณ์มากๆ เช่น เกาะลิบง จ.ตรัง อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง ซึ่งเคยเป็นพื้นที่ที่เคยมีหญ้าทะเลอุดมสมบูรณ์ ทั้งชนิด ปริมาณ เนื้อที่ แต่ปัจจุบันลดน้อยลง มีสภาพที่เปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด

ถ้าถามถึงสาเหตุว่าทำไมเป็นเช่นนั้น มันก็คงจะตอบด้วยสาเหตุเดียวไม่ได้ เกิดการลดลงของหญ้าทะเลกระจายเป็นวงกว้าง และไม่น่าจะเป็นเหตุการณ์โดยตรงที่เกิดจากมนุษย์หรือสัตว์ แต่เกิดจากสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ เช่น สภาพภูมิอากาศ ตะกอนของน้ำ ที่หมุนเวียนเปลี่ยนแปลงไป หรืออาจจะเป็นการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำขึ้นน้ำลง ซึ่งจากข้อมูลพบว่าในช่วง 1-2 ปีนี้ ระดับน้ำช่วงน้ำลงค่อนข้างมาก ทำให้หญ้าทะเลมีช่วงเวลาผึ่งแห้งขณะน้ำลงนานกว่าเดิม ซึ่งหญ้าทะเลอาจทนต่อการผึ่งแห้งนานเกินไปไม่ได้

ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจน เช่น ในพื้นที่บริเวณทะเลอันดามัน ในอดีต ช่วงที่น้ำลงต่ำจะมีระยะเวลาที่หญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งผึ่งแห้งอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง แต่หากระดับน้ำน้ำลดลงมากกว่าเดิม อาจทำให้ระยะเวลาที่หญ้าทะเลบริเวณชายฝั่งต้องผึ่งแห้งเพิ่มเป็น 3-4 ชั่วโมง ซึ่งถือว่าเป็นเวลาที่หญ้าทะเลไม่สามารถทนได้ จนทำให้หญ้าทะเลเกิดความเครียด และอ่อนแอ

มีข้อสันนิษฐานว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่การตายเป็นบริเวณกว้างนี้ เกิดจากโรคระบาด เราจึงพยายามเอาค้นหาแบคทีเรียหรือเชื้อโรคที่เกิดขึ้น เชื้อโรคที่เรามองหาคือราเมือกสกุล Labyrinthula ซึ่งเป็นเชื้อที่ทำให้เกิดโรคหญ้าทะเล ทำให้หญ้าทะเลตายเป็นวงกว้างในหลายประเทศ เราได้ทำงานร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง โดยในช่วงแรก มีการเก็บตัวอย่างหญ้าทะเลที่มีอาการกุดสั้น ปลายใบไหม้ มาตรวจสอบ เราพบเชื้อราแท้จริง ที่มักมีการพบบนใบหญ้าทะเลทั่วไปที่มีความสมบูรณ์อยู่แล้ว ซึ่งอาจเป็นไปได้ว่าประเทศไทยไม่มีราเมือก Labyrinthula ที่ทำให้เกิดโรค หรือการระบาดของโรคได้ผ่านไปแล้ว จึงทำให้เราไม่พบเชื้อ

ต่อมา เราลองเก็บตัวอย่างใบหญ้าทะเลที่มีลักษณะรอยโรคจากแหล่งหญ้าทะเลที่ยังมีสภาพสมบูรณ์ เมื่อนำมาเพาะเชื้อ เราพบราเมือก Labyrinthula ที่เราหาอยู่ สรุปคือเราเจอเชื้อโรค และโรคก็อาจทำให้ใบขาด แต่จำนวนต้นที่มีรอยโรคมีจำนวนน้อยมาก จึงทำให้ไม่สามารถระบุได้ว่าเชื้อชนิดนี้ทำให้เกิดการตายเป็นวงกว้างในประเทศเรา จากการตรวจสอบข้อมูลตีพิมพ์ในต่างประเทศพบว่า เชื้อนี้มีการกระจายบริเวณดินในแหล่งหญ้าทะเลอยู่แล้ว ดังนั้น การตายของหญ้าทะเลอาจไม่ได้เกิดจากโรค แต่อาจเกิดจากหลายสาเหตุร่วมกัน เช่น สภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลง หญ้าทะเลอ่อนแอ มีการติดเชื้อร่วมด้วย เป็นต้น

ตามธรรมชาตินั้น หญ้าทะเลมีความแข็งแรง และมีความสามารถต้านทานเชื้อโรคหรือจัดการรอยแผลจากการถูกสัตว์กัดกินได้ด้วยตัวเอง ที่คณะประมง ได้เพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเล ในกระบวนการมีขั้นตอนต่างๆ ที่เราต้องตัดใบ หรือชิ้นส่วนที่ไม่จำเป็นในการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อออกไป บริเวณรอยแผลที่ถูกตัด หญ้าทะเลจะผลิตสารชื่อ ฟีโนลิค คอมพาวน์ (phenolic compounds) ซึ่งสารตัวนี้มีหน้าที่ปิดปากแผล ฆ่าเชื้อโรคที่แผล เพราะฉะนั้นหากหญ้าทะเลมีความแข็งกรง หญ้าทะเลสามารถจัดการเชื้อโรคในธรรมชาติได้อยู่แล้ว หรือถ้ามีสัตว์มากินหญ้าทะเล หญ้าทะเลก็จะสร้าง ฟีโนลิค คอมพาวน์ เพื่อยุติการเน่าของส่วนต่างๆได้ด้วยตัวเอง

ดังนั้น การที่หญ้าทะเลหายไปทั้งหมด น่าจะเกิดจากสาเหตุรวมๆ กัน ตอนนี้เรามาถึงปลายทางที่มันไม่มีหญ้าทะเลอยู่แล้ว เราจะไปเก็บข้อมูลเพื่อหาสาเหตุ ก็อาจจะไม่เจอ แล้วก็จะมีคำถามว่า ทำไมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึงไม่ติดตาม ตรวจสอบตลอดเวลาก่อนหน้านี้ เราก็ขอตอบแทนว่า คงไม่มีใครที่สามารถใช้งบประมาณที่จะติดตามตรวจสอบการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ ที่ ทุกๆ เรื่อง ทั้งกายภาพ เคมี ชีวภาพ ในทะเล ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล โดยที่ไม่รู้ว่าโจทย์คืออะไร

ช่วงสถานการณ์ที่ทำให้ปริมาณของหญ้าทะเลเปลี่ยนแปลงไปคือช่วงไหน?

มีคนถ่ายภาพเห็นในมุมเดียวกัน คือเมื่อปี 2562 หญ้าชะเงาใบยาวมีลักษณะใบกุดสั้น และหญ้าทะเลชนิดอื่นๆก็มีจำนวนลดลง แล้วต่อมาก็เติบโตขึ้นมาทดแทนได้ใหม่ปลายปี 2565 หลังจากนั้นก็มีการลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตามธรรมชาติ หญ้าทะเล ชะเงาใบยาว มีลำต้นใต้ดินใต้ดินที่แข็งแรง มีขนาดใหญ่ และสามารถเจริญลึกลงไปใต้ดิน 1-2 เมตร นั่นหมายความว่า ใต้ดินมีโครงสร้างที่สานพันกันคล้ายเป็นพื้นพรมเป็นพื้นที่กว้าง ส่วนของต้นใต้ดินอัดแน่นไปด้วยเมล็ดแป้งขนาดเล็ก ๆ ทำหน้าที่เป็นอาหารสำรองของต้น ซึ่งใช้ในการผลิตใบ หากใบขาดหญ้าชะเงาใบยาวจะสร้างใบใหม่ขึ้นมาโดยใช้อาหารจากต้นใต้ดิน เมื่อใบเจริญเต็มที่ซึ่งใช้เวลา 28-40 วัน ใบจะสร้างอาหารลงไปเก็บไว้ใต้ดิน ทำให้ส่วนใต้ดินแข็งแรงมากยิ่งขึ้น แต่หากเกิดเหตุการณ์บางอย่าง เช่น ถูกสัตว์กิน ถูกแดดเผา ผึ่งแห้งเป็นเวลานาน ทำให้ใบขาดซ้ำซากจนใบไม่สามารถเจริญเป็นใบสมบูรณ์ได้ หญ้าชะเงาใบยาวจะดึงเอาอาหารจากลำต้นใต้ดินมาสร้างใบใหม่ โดยที่ใบที่สร้างขึ้นมาก็ขาดก่อนที่จะสร้างอาหารลงไปสะสมไว้ที่ต้นใต้ดินได้  ส่วนต้นใต้ดินก็ค่อยๆ ฟีบเล็กลง จนไม่สามารถยึดต้นให้ติดกับพื้นได้อีกต่อไป มันเหมือนกับเราเบิกเอาเงินในธนาคารมาใช้เรื่อย ๆ โดยไม่มีการฝากกลับคืน จนในที่สุดก็ไม่มีเงินเหลือ ต้องปิดบัญชีไป

ภาพถ่ายหญ้าทะเล ที่แสดงถึงใบยาวสมบูรณ์
ภาพถ่ายหญ้าทะเล บริเวณ แหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เกาะมุก ซึ่งมีหญ้าทะเลเชื่อมต่อกัน ในช่วงพฤศจิกายน 2564
ภาพถ่ายหญ้าทะเล ที่แสดงถึงลักษณะใบกุดสั้น บริเวณ แหลมหยงหลำ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม จ.ตรัง เกาะมุก ซึ่งมีหญ้าทะเลเชื่อมต่อกัน ถ่ายเมื่อธันวาคม 2565
ลักษณะของหญ้าทะเล บริเวณ เก็บตัวอย่างจากเกาะมุก จ.ตรัง ซึ่งแสดงถึงการเป็นโรค

กระบวนการฟื้นฟูจากนี้จะเป็นอย่างไร เราต้องมองไกลไปถึงการเร่งปลูกหญ้าทะเลทดแทนหรือไม่?

เรามองว่าตามธรรมชาติ เหตุการณ์เหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงแทนที่ทางนิเวศวิทยา (Ecological succession) เมื่อบางสิ่งหายไปก็จะมีสิ่งอื่นหายไปหรือมาทดแทน ในกรณีนี้ เมื่อหญ้าทะเลลดลง พะยูน เต่าทะเลก็ย้ายที่ สัตว์น้ำต่างๆลดลง  หรือเมื่อพื้นที่บางพื้นที่ไม่เหมาะสมต่อการเจริญของหญ้าทะเลอีกต่อไปแล้ว ในอนาคตอาจมีพื้นที่อื่น ๆ ที่เหมาะสมขึ้นมาทดแทนก็ได้

ในมุมมองส่วนตัว เมื่อใดที่มีการยุติ คือการเปลี่ยนแปลงนี้เริ่มนิ่ง ก็จะถึงเวลาที่ต้องหาทางฟื้นฟู แน่นอนว่าถึงเวลานั้นมันอาจจะไม่มีต้นหญ้าเหลือให้เราใช้เป็นต้นพันธุ์ หรือเราอาจโชคดีที่มีหญ้าทะเลเพียงบางพื้นที่ที่หายไปก็ได้ ซึ่งเมื่อวันนั้นมาถึง ในฐานะนักวิชาการ เราก็ต้องค่อยฟื้นฟูอย่างชาญฉลาด สิ่งที่เราทำรอไว้แล้วเพื่อตอบโจทย์ว่าเราจะฟื้นฟูและปลูกหญ้าทะเลอย่างเหมาะสมได้อย่างไรเกิดขึ้นตั้งแต่ยังไม่มีการรายงานว่าจะเกิดการลดลงของหญ้าทะเล คือการพัฒนาวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเล การอนุบาลต้นอ่อน และวิธีประเมินพื้นที่ที่เหมาะสมในฟื้นฟูด้วยการปลูกหญ้าทะเล เราเก็บข้อมูลในพื้นที่ทั้งทะเลอันดามัน และอ่าวไทย แล้วนำมาพัฒนาเป็นโมเดล โดยมีการทดสอบ โมเดล รวมถึงมีการถ่ายทอดให้กับนักวิชาการของกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งเพื่อใช้งานแล้ว หมายความว่า ในอนาคตเมื่อเราจะเริ่มฟื้นฟูหญ้าทะเล เราจะมีต้นพันธุ์ที่เราผลิต ไปลงปลูกในพื้นที่ที่ผ่านการทดสอบแล้วว่ามีความเหมาะสมและมีโอกาสที่จะฟื้นฟูได้

การทดลองเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเลที่คณะประมงทำอยู่เป็นอย่างไร?

อธิบายง่ายๆว่า การที่ผืนหญ้าทะเลจะกลับมาสมบูรณ์และสามารถเพิ่มจำนวนขยายพื้นที่ออกไปได้ตามธรรมชาติ ต้องมีจำนวนต้นปลูกตั้งต้นมากกว่า 10,000 ต้น ในแง่ของขนาดพื้นที่การจะปลูกหญ้าทะเลให้ได้ผลกลับมาเป็นนิเวศที่สมบูรณ์ในตัว

ที่ผ่านมา การปลูกหญ้าทะเลที่นิยมกัน คือ การปลูกหญ้าชะเงาใบยาว โดยการเพาะจากเมล็ด เมล็ด 1 เมล็ด จะสามารถงอกได้เป็น 1 ต้น และการที่ต้นนั้นจะงอกไปเป็น 2 ต้น ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 ปี ซึ่งจะเห็นว่าการเพิ่มจำนวนตามธรรมชาติเกิดขึ้นได้ช้ามาก นอกจากนี้ยังมีการปลูกแบบแยกกอ ซึ่งเป็นการทำลายแหล่งต้นพันธุ์ในธรรมชาติ ขณะนี้คณะประมงสามารถเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าชะเงาใบยาว จนสามารถผลิตยอดได้จำนวนมากขึ้น จาก 1  เมล็ด เป็น 300 ยอด ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาวิธีการให้สามารถผลิตรากได้เพิ่มมากขึ้นตามจำนวนยอด และทดสอบวิธีการให้เสถียร ซึ่งเราหวังว่าจะสามารถพัฒนาจนได้วิธีการผลิตต้นพันธุ์จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อได้ทันการฟื้นฟูและการปลูกหญ้าทะเลในอนาคต

เรามักเห็นกิจกรรมเพื่อสังคมของภาคธุรกิจ ในการสนับสนุนให้ประชาชนร่วมลงมือปลูกหญ้าทะเล การทำสิ่งนี้ช่วยได้มากน้อยอย่างไร?

เป็นความตั้งใจที่ดีของผู้ที่อยากมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูแหล่งหญ้าทะเล แต่เราจะทำอย่างไรให้เกิดการปลูกที่เหมาะสมตามหลักวิชาการ เราคงไปห้ามเค้าไม่ได้ แต่เราต้องให้ความรู้ถึงการปลูกที่ถูกต้อง เช่น เคยมีหน่วยงานที่อยากจะปลูกหญ้าทะเลพร้อมไปกับการจัดกิจกรรม และขอให้ช่วยประเมินพื้นที่ที่ต้องการปลูกว่ามีความเหมาะสมหรือไม่ เราก็เก็บข้อมูล และจัดเป็นแผนที่ประเมินศักยภาพของพื้นที่ให้ หากพบว่าบริเวณนั้น พื้นที่ส่วนใหญ่ความเหมาะสมปานกลาง หรือไม่เหมาะสม หน่วยงานก็อาจเห็นว่าไม่เกิดประโยชน์และอาจตัดสินใจยกเลิกกิจกรรมการปลูกในบริเวณนั้น หรือหากพื้นที่ส่วนใหญ่ในบริเวณนั้นมีความเหมาะสมก็จัดกิจกรรมปลูกหญ้าทะเลต่อไป การดำเนินการและการใช้ข้อมูลทางวิชาการเพื่อการตัดสินใจในลักษณะนี้ จึงถือเป็นการแสดงออกถึงการรับผิดชอบต่อกิจกรรมทางสิ่งแวดล้อม

ในการตรวจสอบหาพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกหญ้าทะเลที่คณะประมงพัฒนาขึ้นมา เรามีขั้นตอนในการทำแผนที่ประเมินศักยภาพของพื้นที่ที่เหมาะสมต่อการปลูกหญ้าทะเล  โดยมีโมเดลในการหาพื้นที่ที่เหมาะสม พิจารณาถึงจุดบังลม ซึ่งที่ผ่านมาเรามักได้ยินว่าหญ้าทะเลขึ้นในที่คลื่นลมสงบ  ถามว่า อะไรคือคลื่นลมสงบ เราหาคำตอบจนพบว่า สำหรับประเทศไทย พื้นที่คลื่นลมสงบที่เหมาะกับหญ้าทะเลคือระยะไม่เกิน 15.04 กิโลเมตร จากแนวกำบังคลื่นลมตามแนวมรสุม เรามีการเก็บข้อมูลภาคสนามโดย การวัดระดับพื้นว่าพื้นอยู่สูงหรือต่ำกว่าระดับน้ำที่ลงต่ำสุดในรอบ 19 ปี หรือ lowest low water

มีการเก็บดินเพื่อวิเคราะห์องค์ประกอบของดิน สารอินทรีย์ในดิน แล้วดูว่าในพื้นที่มีหญ้าหรือไม่มีหญ้ามาก่อน  แล้วเอาปัจจัยทั้งหมดมาเข้าโมเดลแล้วจัดทำเป็นแผนที่ เพื่อให้ผู้ปลูกสามารถเดินเข้าถึงจุดที่มีความเหมาะสมต่อการปลูกหญ้าทะเลได้

การลงภาคสนามสำรวจพื้นที่สำหรับการฟื้นฟูหญ้าทะเล
การเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อหญ้าทะเล ที่มหาวิทยาลัยเกษตศาสตร์

วันนี้ความสนใจเรื่องพะยูนลดน้อยลงไปแล้ว แต่ทำไมเราต้องให้ความสำคัญกับหญ้าทะเลอยู่?

หลักๆ หญ้าทะเลคือแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำจำนวนมาก มีการศึกษาในประเทศที่ระบุว่า มีปลามากกว่า 75 ชนิด อาศัยหญ้าทะเลเป็นแหล่งอาหารและที่หลบภัย ซึ่งเมื่อเป็นที่อยู่ของสัตว์น้ำ ที่หลบภัย นั่นหมายความว่าหญ้าทะเลยังเชื่อมโยงกับ แหล่งอาหารของชุมชนชายฝั่งด้วย

หญ้าทะเลไม่ใช่อาหารของสัตว์ทะเลทั้งหมด มีเพียงพะยูน เต่าทะเล และปลาบางชนิด ที่กินหญ้าทะเลเป็นอาหาร ปลาและสัตว์น้ำหลายชนิด รวมถึงสัตว์น้ำวัยอ่อนจำนวนมาก กินสิ่งมีชีวิตที่เกาะอยู่บนใบหญ้าทะเล นี่จึงเป็นความสำคัญของห่วงโซ่อาหาร ทำให้เกิดการกินซ้อนกันไปเรื่อยๆ หญ้าทะเลเป็นแหล่งหลบภัย ป้องกันคลื่นลม เป็นแหล่งหากิน แหล่งอนุบาล ของสัตว์ตัวเล็กตัวน้อยที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ  ในทางกายภาพ หญ้าทะเลบางชนิดสามารถเจริญเติบโตได้ลึกถึง  1-2 เมตร มีลักษณะสานกันเป็นพรมด้านล่าง ดังนั้นมันจึงความสำคัญในการลดการกัดเซาะของชายฝั่ง

ก็นับได้ว่า เป็นความชาญฉลาดของนักวิจัยในอดีต ที่เลือกเอาพะยูนมาเป็น Flagship Species เมื่อสื่อสารว่าพะยูนกินหญ้าทะเล ผู้คนก็นึกถึงความสำคัญของหญ้าทะเลไปพร้อมกัน นั่นเพราะพะยูนเป็นสัตว์ที่น่ารัก จับต้องได้ ตัวใหญ่ และในแง่สายวิวัฒนาการมันใกล้ชิดกับคน จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่เราผูกพันได้โดยง่าย พะยูนจึงเป็นตัวกระตุ้นให้คนเห็นความสำคัญของระบบนิเวศหญ้าทะเลนั่นเอง

 

ภาพ : ภูเบศ บุญเขียว

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : รศ.ดร. เดชา วิวัฒน์วิทยา 23 ปี “พิพิธภัณฑ์มด” และการอธิบายโลกผ่าน “ชีววิทยาป่าไม้”

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.