นรพันธ์ ทองเชื่อม เล่างาน “จิตวิทยา” ในวันที่ความอ่อนแอไม่ใช่เรื่องผิด และอาชีพนักจิตฯ แข่งขันสูงในตลาดแรงงาน

เล่างาน “นักจิตวิทยาและบำบัด” นักกายภาพทางความรู้สึก คุณค่าของอาชีพและหน้าที่ในสังคม

ในวันที่ความเปราะบางอยู่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด

สายวันหนึ่งในเดือนเมษายน เรายืนอยู่หน้า “มีรักคลินิก” คลินิกจิตเวชเด็กและวัยรุ่นสถานที่ทำงานร่วมกันของทีมสหวิชาชีพสำหรับเด็ก วัยรุ่น และครอบครัว

“ส่วนใหญ่จะเป็นเด็กและวัยรุ่นครับ ตั้งแต่อายุ 4-5 ปีขึ้นไปจนไปถึงวัยทำงาน ถ้าเป็นเด็กผู้ปกครองก็ชักชวนเขามาด้วยเพื่อหาทางออกบางอย่างจากอาการที่แตกต่างกัน เช่น สมาธิสั้น ทักษะสังคม ความวิตกกังวล ในอดีตเราอาจมองสิ่งเหล่านี้ว่าไม่ใช่ปัญหา แต่ปัจจุบันที่สังคมมีความซับซ้อนและผันผวนมากขึ้น เราทราบดีว่าอาการเหล่านี้ส่งผลต่อการดำรงชีวิต เช่น หากเด็กขาดสมาธิ เขาจะมีความยุกยิก ไม่นิ่ง ไม่จดจ่อกับสิ่งที่ครูสอน ชวนเพื่อนคุยพราะอารมณ์เบื่อหรือสนุกกว่าการเรียน บ้างก็อาจโพล่งถามในขณะที่ครูกำลังพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก ส่งผลต่อบรรยากาศในห้องเรียน และการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่น” ครูต้น-นรพันธ์ ทองเชื่อม นักจิตวิทยายกตัวอย่าง

ใขณะที่เรื่องราวแห่งความสำเร็จทั้งการงาน การเรียน ครอบครัว ฯลฯของแต่ละบ้าน ถูกแชร์ต่อนับร้อยนับพันครั้งประทับความรู้สึกดีลงบนหัวใจ และเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ ในเวลาเดียวกันนี้ความเจ็บป่วยทางจิตใจก็ปรากฏกับผู้คนนับน้อยนับพันเช่นกัน จะต่างกันก็เพียงว่าผู้เป็นเจ้าของอาการนั้นจะมีความเข้าใจ ได้รับการรบกวนจากอาการ มีครูหรือผู้ปกครองแนะนำการบำบัดรักษา หรืออาจเลือกที่จะไม่บอกใคร และเผชิญกับสิ่งเหล่านั้นเพียงลำพัง

ถึงเช่นนั้นสังคมก็ยังมีอาชีพ “นักจิตวิทยาและผู้บำบัด” ที่เสมือนนักกายภาพทางความรู้สึก ซึ่ง National Geographic ภาษาไทย พูดคุยกับครูต้น-นรพันธ์ ถึงความเป็นไปของอาชีพนักจิตวิทยา หนึ่งในอาชีพที่นักเรียนมัธยมปลายให้ความสนใจและพูดถึงตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา

ทุกวันนี้อาชีพนักจิตวิทยาในตลาดแรงงานเป็นอย่างไร?

ถ้าย้อนกลับไปดูจำนวนผู้สมัคร เกณฑ์คะแนนคัดเลือก ก็พอสรุปได้ว่าสาขาจิตวิทยาได้รับความนิยมมาหลายปีแล้ว และถ้ายกนิสิตนักศึกษาที่จบไปประกอบอาชีพที่เกี่ยวข้องทั้งรุ่น ก็จะมีคนที่ดูพร้อมในตลาดแรงงานด้านจิตใจจำนวนมาก

ถึงเช่นนั้นการเรียนจิตวิทยาอย่างเดียวก็คงเรียกได้ว่า เป็นนักจิตวิทยา หากแต่ในบางสถานที่ถ้าจะประกอบอาชีพก็จำเป็นต้องมีใบอนุญาตประกอบ เช่น นักจิตวิทยาคลินิก คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านจิตวิทยาสาขาจิตวิทยาคลินิก (Clinical psychology) และมีใบประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิก นักจิตวิทยาคลินิกส่วนใหญ่ปฏิบัติงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวชในหน่วยงานทางการแพทย์และสถานพยาบาลต่างๆ นักจิตวิทยาคลินิกเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ให้การรักษาทางการแพทย์ อาทิ งานจิตเวชศาสตร์(Psychiatry) งานระบบประสาทและสมอง(Neuroscience) งานเวชกรรมป้องกัน งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู งานยาเสพติด จิตเวชเด็กและวัยรุ่น งานเวชศาสตร์ครอบครัว งานนิติจิตเวชหรือในสาขาจิตวิทยา ก็จะมีสาขาจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาซึ่งเป็นกระบวนการที่มุ่งเน้นให้ผู้มีปัญหาได้ทำความเข้าใจกับปัญหาของตน และมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง  สาขาจิตวิทยาแนะแนว (Guidance Psychology) ศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการทางการศึกษาที่ช่วยให้บุคคลรู้จัก และเข้าใจตนเองและสิ่งแวดล้อม สามารถนำตนเองได้ แก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง และพัฒนา

ตนเองได้ตามศักยภาพ เป็นการแนะแนวเป็นการช่วยเหลือ ให้เขาสามารถช่วยตนเองได้ หรือถ้าจะทำงานด้านบำบัดก็จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมในแขนงวิชาของการบำบัดต่างๆที่ได้มาตรฐาน ยกตัวอย่าง เช่น สาขาสุขภาพจิต แขนงจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ ในคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ถ้าถามถึงตลาดแรงงานก็ต้องบอกว่า เป็นความท้าทายของผู้ประกอบอาชีพในการแข่งขันด้านบุคลากรที่สูงขึ้นเนื่องจากมีการเรียนรู้ศาสตร์ด้านจิตใจทั้งในระบบมหาวิทยาลัย สถาบันด้านสุขภาพจิตทั้งในและต่างประเทศ คือในขณะเดียวกันที่ความต้องการที่มากขึ้น มีผู้ป่วยมากขึ้น ซึ่งถือเป็นความท้าทายของนิสิตนักศึกษาที่จะตัดสินใจก้าวเข้าสู่วงการนี้

นิยามของนักจิตวิทยา และรูปแบบการทำงานในแต่ละวันเป็นอย่างไรบ้าง?

ผมทำหลากหลายหน้าที่ในฐานะนักจิตวิทยา งานสำคัญคือการซักประวัติเกี่ยวกับเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือจากมุมมองของพ่อแม่ และขอข้อมูลจากครูในกรณีที่จำเป็น ให้การปรึกษาพ่อแม่ และครูในกรณีที่ต้องทำงานร่วมกันในดูแลเด็ก ในฐานะนักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมก็ทำการบำบัดอาการทางอารมณ์ อาทิ ซึมเศร้า กังวล และปรับพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะที่ดีขึ้นของผู้รับบริการ ซึ่งถือเป็นงานส่วนการตั้งรับและรักษา (intervention) อีกส่วนงานที่นับได้ว่าสำคัญคือการบรรยายให้ความเข้าใจด้านสุขภาพจิตทั้งในสถานศึกษา และองค์กรใจความสำคัญคือการชวนให้มีทัศนคติอย่างเป็นกลางต่อมุมมองด้านจิตใจ ทั้งยังเป็นอาจารย์พิเศษดูแลนิสิตที่เข้าเรียนจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมอีกด้วย

ผู้ที่เรียนจบปริญญาตรีหรือโทเขาก็เรียกว่า นักจิตวิทยา ในตำแหน่งนี้หลักๆ คือประเมิน สัมภาษณ์ทางจิตวิทยา ประเมินการรับรู้ ก็จะมีสัมภาษณ์ข้อมูลตั้งแต่ประวัติการเลี้ยงดู พัฒนาการปัจจุบัน อาการนำที่เข้ามา การสัมภาษณ์ข้อมูลเหล่านี้ถือเป็นการลดเวลาของแพทย์และกระชับเวลาในการให้ความช่วยเหลือเด็กและวัยรุ่น เพื่อให้แพทย์กับผู้รับบริการสามารถเข้าใจและพร้อมร่วมมือแก้ไขได้อย่างทันท่วงที จากนั้นเมื่อพบแพทย์ จะทำการประเมินและวินิจฉัย จากนั้น  แพทย์และผู้ปกครองวางแผนร่วมเพื่อวางแผนการบำบัดรักษาต่อไป

ผมเริ่มต้นจากการเป็นนักจิตวิทยา และไปต่อ Diploma ด้านวิชาชีพสุขภาพจิต ที่คณะแพทย์ศาสตร์ จึงจบออกมาเป็นนักจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรม ผมทำ 2 งานทั้งนักจิตวิทยาและนักบำบัด อย่างนักจิตวิทยา อย่างที่บอกไปคือการรวบรวมข้อมูลในขอบข่ายที่เป็นไปได้ว่าจะเป็นประโยชน์กับการรักษา เพื่อทำให้ภาพชัดขึ้น ขณะที่เมื่อพบแพทย์ แพทย์เห็นว่าเด็กคนนี้เหมาะกับการรักษา ผ่านกระบวนการ นักจิตที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องเด็กวัยรุ่นและครอบครัวก็จะทำหน้าที่นี้ต่อ “ถ้าจะเปรียบเปรยว่านักกายภาพทำให้ร่างกายผ่อนคลาย นักจิตบำบัดก็ทำหน้าที่ช่วยให้จิตใจได้ผ่อนคลายผ่านความร่วมมือของผู้รับบริการ

ส่วนในฐานะนักบำบัดความคิดพฤติกรรม แพทย์จะส่งมาเมื่อประเมินแล้วว่า เด็กจะมีปัญหาด้านอารมณ์ การแสดงออก มุมมองต่ออารมณ์ จิตบำบัดทางพฤติกรรมจะปรับความคิดเพื่อให้อารมณ์ดีขึ้น และใช้ชีวิตได้มากขึ้น แล้วมีความคืบหน้าอย่างไรจะส่งให้แพทย์พิจารณา

ตอนแรกผมทำงานด้านจิตวิทยาอย่างเดียว แล้วเราเห็นว่าเด็กและผู้ปกครองจำนวนไม่น้อยมีข้อจำกัดทางพัฒนาการ เช่น ออทิสติก สมาธิสั้น และเมื่อทำงานร่วมกันในระยะหนึ่ง พบได้ว่ามีเด็กๆที่อยู่ในกระบวนการช่วยเหลือไม่น้อยที่มีโรคร่วมทางอารมณ์ อาทิ กังวลสูง จัดการความโกรธไม่ได้ จึงเข้ารับการศึกษาต่อเรื่องจิตบำบัดความคิดและพฤติกรรมเพื่อพัฒนาตนเองและมีเครื่องมือที่จะช่วยเหลือเด็กๆในความดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพ

การรักษาความเจ็บป่วยทางใจ ต้องการแผนรักษาอย่างเป็นขั้นตอน?

ใช่ครับ การบำบัดไม่ได้เกิดขึ้นและจบลงในครั้งเดียว เพราะเป้าหมายของการทำจิตบำบัดคือการปรับเปลี่ยนและเรียนรู้ทักษะที่จะดูแลตนเองในระยะยาว ระยะเวลาขึ้นอยู่กับตัวโรค ปัจจัยสนับสนุน ผ่านการวางแผนการรักษาร่วมกันทั้งกับแพทย์ ผู้ปกครอง นักจิตวิทยา และประสานข้อมูลสองทางระหว่างครูกับผู้บำบัดผ่านการขออนุญาตเด็กและผู้ปกครอง

ตอนท้ายสรุปร่วมกันกับผู้ปกครองว่าแนวทางจะแก้ไขอย่างไร และแผนไม่ได้จบที่คลินิกเพราะการดูแลเด็กหนึ่งคนต้องอาศัยการทำงานร่วมกันเป็นทีม อาจต้องกลับไปมองด้วยว่าเด็กอยู่โรงเรียนประเภทไหน ถ้าเด็กเรียนทางเลือก โรงเรียนเล็ก มีนักเรียนในห้องราว 10-15 คน ก็จะง่ายขึ้นที่ครูจะบันทึกรายงาน ฝึกเด็ก แล้วหาทางออกเพื่อช่วยเหลือเด็กกับผู้ปกครอง กลับกันถ้าเด็กอยู่ในโรงเรียนขนาดใหญ่มีนักเรียนห้องละ 50 คน อาจมีข้อจำกัดของการดูแลอย่างใกล้ชิด หากแต่ที่ผ่านมาแม้ครูผู้ดูแลจะมีนักเรียนจำนวนมากกลับพบได้ว่าครูให้ความร่วมมือผ่านแนะนำจากแพทย์ให้ช่วยเหลือเด็กตามแผนการรักษา

ในบรรดาหลายปัญหาที่เข้ามาพบนักจิตวิทยาอะไรคือความเข้าใจผิดที่ทั้งผู้ปกครอง เด็ก และเข้าใจผิดมากที่สุด?

ที่นี่ (มีรักคลินิก) ไม่ค่อยเจอความเข้าใจผิด เพราะผู้ปกครองเปิดใจมาพอสมควรแล้ว แต่ความเข้าใจผิด มักอยู่ในงานทางสังคม ที่ไปเจอมา  คืออาการป่วยยังมักถูกมองว่าแปลกแยก เป็นความเชื่อว่าในห้องเรียนเด็กที่มีอาการไม่ปกติทางจิตใจ กับคนปกติอยู่ร่วมกันไม่ได้ต้องแยกออก หรือยังมีความเชื่อที่ผิดพลาดว่า การป่วยเท่ากับอ่อนแอ ทำให้เป็นอุปสรรคในการตัดสินใจเข้สู่ระบบการรักษาหรือร้องขอความช่วยเหลือเมื่อเกิดความทุกข์ใจ

ในอดีตเราอาจเคยเจอเพื่อนที่ฉุนเฉียว หุนหัน เข้ากับคนอื่นไม่ได้ แต่ยังไม่ถูกนิยามเพียงเท่านั้น ไม่มีเครื่องมือจัดการ เด็กยุคก่อนจึงคุ้นเคยที่จะเข้าไปในห้องปกครองมากกว่าห้องบำบัด อีกทั้งผลการศึกษาจำนวนมากพบว่าการเลี้ยงดูอย่างเดียวไม่สัมพันธ์กับการเจ็บป่วยหรือดีขึ้นต้องมองอย่างองค์รวมเพื่อความเข้าใจและเพื่อการลำดับการช่วยเหลืออย่างรัดกุม หรือในระบบโรงเรียน ยังพบความกังวลและสับสนของผู้ปกครองที่ไม่อนุญาตให้เด็กพบแพทย์ เพราะคิดว่าการมีประวัติพบจิตแทพย์ จะทำให้เขาได้รับการยกเว้นในการประกอบอาชีพที่ควรเป็นในอนาคต คิดว่าการมีประวัติการรักษาทางจิตจะส่งผลถึงการทำอาชีพในอนาคต นี่เป็นสิ่งที่น่ากังวลเพราะมีวัยรุ่นไม่น้อยที่กำลังประสบปัญหาด้านจิตใจแต่ยังไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการทุกข์นั้นของตนเอง

แต่หลังช่วงวิกฤตโควิดเป็นต้นมากลับพบได้ว่า ผู้ปกครองในระบบโรงเรียนมีมุมมองและ ทัศนคติว่าด้วยการเจ็บป่วยทางจิตใจไปในลักษณะที่ดีมากขึ้นส่งผลต่อการที่วัยรุ่นได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

อาชีพนักจิตวิทยาดูเหมือนเป็นการผสมผสานระหว่างความเป็นสังคมศาสตร์ มานุษยวิทยา กับหลักการทางวิทยาศาสตร์ ในฐานะนักจิตวิทยาเชื่อมโยงหรือให้น้ำหนักกับ 2 ศาสตร์ที่เกี่ยวข้องนี้อย่างไร?

ย้อนไปสมัยเรียน ผมเรียนปริญญาตรี ที่ ม.สงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ในวิชาเรียน ก็มีเลือกเรียนวิชาเอก วิชาโท ซึ่งวิชาเอกแน่นอนว่าผมเลือกจิตวิทยา แต่เมื่อผมได้มีโอกาสทำงานกับชุมชน ผมมีความรู้สึกว่าการทำงานโดยไม่เข้าใจวิถีมาลายูท้องถิ่นมันไม่ง่ายเลย ลองคิดดูว่า เมื่อคุณเอาทฤษฎีตะวันตก มาใช้กับคนตะวันออก มันเป็นเรื่องไม่ง่าย ดังนั้นนอกจากจะเรียนวิชาเอก เวลาอีกเกือบครึ่งผมจึงเอาตัวเองไปเรียนวิชาโทนิเทศศาสตร์ และศึกษาวิชาเลือกเสรีอื่นๆที่จะทำให้ผมเข้าใจบริบทชุมชนได้มากขึ้น

จากนั้นผมเลือกที่จะเรียนวิชาที่เกี่ยวกับวัฒนธรรมมุสลิม ผมลงเรียน Muslim of life เรียนเศรษฐศาสตร์มุสลิม เรียนการเมืองมุสลิม เรียนภาษายาวี เพื่ออยากรู้เขาคิดอย่างไร อะไรคือหลักการที่เขาเชื่อมโยงในการเข้าใจชีวิต นั่นเพราะผมเชื่อว่าการเข้าใจคนตรงหน้าคือการเข้าใจบริบทในชีวิตของเขา ดังนั้นเมื่อผมได้รับโอกาสต้องทำงานบำบัดกับใคร การบำบัดของเราต้องไม่จบแค่คนนี้ โรคนี้ แต่เราต้องเห็นภูมิหลังว่าชีวิตเขาทำอะไรมา และสิ่งที่เขาเป็นอยู่มันสำคัญกับเขาแค่ไหน นี่คืองานทางสังคมที่ผมเชื่อมโยงกับห้องบำบัด โดยมีหลักการทางวิทยาศาสตร์เพื่อสรุปความเข้าใจไปเป็นแผนในการช่วยเหลือ

ช่วงปีท้ายๆในการเรียน ผมลงไปทำงานกับคนมากขึ้น ทั้งโรงเรียน โรงพยาบาล ใครที่อยากได้นักจิตวิทยาไปพัฒนาด้านจิตใจให้กับทีมงาน บุคลากร ผมไปหมด สิ่งนี้ทำให้ผมเรียนรู้ที่จะเข้าใจกับคน ซึ่งถ้าเราสามารถเอาทักษะงานด้านจิตใจมาเข้ากับคนได้ มันจะมองเรื่องความไม่ปกติทางจิตใจอย่างเป็นกลาง

ความเข้าใจมนุษย์คือทักษะด้านสังคม แต่ถ้าเกี่ยวกับชีววิทยาในทางร่างกาย นี่คือเรื่องวิทยาศาสตร์?

จะมองเช่นนั้นก็ได้ แต่ก็แยกกันไม่ออกซะทีเดียว เพราะความเชื่อที่ฝั่งเป็นกลไกในสมองและส่งผลต่อการทำงานของสารสื่อประสาทนั้นนอกจากจะมาจากการทำงานเดิมของร่ากายแล้ว ยังมีผลสะสมมาจากเรื่องสังคม อย่างครอบครัวนี่ชัดมาก ความเชื่อเดิมขอพ่อแม่ วิถีการเลี้ยงดู การสื่อสาร การวางเงื่อนไขและให้รางวัล ล้วนเป็นปัจจัยให้สมองเรียนรู้กระทั่งแสดงออกมาเป็นความคิดและการกระทำของบุคคลนั้นๆ

อะไรทำให้ครูต้นสนใจเรื่องพฤติกรรมและงานจิตวิทยา?

ตอนมัยมปลายเราสนใจและสงสัยพฤติกรรมคน ผมเป็นคนชอบปั่นจักรยาน มีวันหนึ่งผมปั่นไปสวนสาธารณะ เจอผู้หญิงท้องคนหนึ่งกำลังข้ามถนน ตอนนั้นผมจอดรถคิดจะพาเขาข้ามถนน แต่แทนที่จะขอบคุณ ผมกลับเจอเขาถุยน้ำลายใส่ ตอนแรกโกรธมาก กลัวด้วย สงสัยไปหมดว่าเขาถุยน้ำลายใส่เราทำไม แต่พอเราเดินตามเข้าไปในแคมป์คนงานก่อสร้าง คนตรงนั้นเขาบอกเราว่าอย่าไปถือสาอะไรกับเขาเลย เขามีพฤติกรรมแบบนี้กับผู้ชายทุกคน คือเห็นผู้ชายแล้วต้องโกรธ เห็นผู้ชายต้องหงุดหงิด คนระแวกนั้นคาดเดาไปว่าเขาคโกรธและเศร้าที่สามีทิ้งเขาไปในขณะกำลังตั้งครรภ์

วันนั้นผมมาถามตัวเองว่าผมต้องทำยังไงให้เข้าใจคน เลยเป็นที่มาของการเรียนสาขาด้านจิตวิทยา แต่ในภาคใต้ไม่มีสาขาจิตวิทยาแบบจิตวิทยา มีแต่จิตวิทยาและการแนะแนว ในบริบทถิ่นมลายู เป็นโอกาสทอในการผสานการเรียนรู้ระหว่างทฤษฎีตะวันตกกับบริบทเฉพาะของท้อถิ่นปัตตานี

แลกเปลี่ยนอะไร?

ภาคใต้ในพื้นที่ที่ผมเรียน ก็หนีไม่พ้นเรื่องสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ผมไม่ได้พูดเรื่องการเมือง ไม่ได้พูดเรื่องความมั่นคง แต่ผมอยากรู้ว่าเขารู้สึกอย่างไรกับสิ่งที่เขาเจอ ผู้หญิงที่สามีตายขณะปฏิบัติหน้าที่รู้สึกอย่างไร หญิงหม้ายที่สามีก็สูญเสียจากการปะทะกับเจ้าหน้าที่ ผมเริ่มทำกลุ่มบำบัดให้ผู้สนใจมาแชร์ความรู้สึก ใช้กระบวนการทางนิเทศศาสตร์มาช่วยให้กิจกรรมมันน่าสนใจ ผมเริ่มรู้สึกรักงานแบบนี้ ได้คุยกับคน ได้เข้าใจคน แต่ก็ไม่จบว่าเข้าใจและอย่างไรต่อ เพราะเรายังรักษาคนไม่ได้ ในระดับปริญญาโทผมจึงมาเรียนจิตวิทยาคลินิกเพิ่มเติม และเริ่มงานช่วยเหลือผู้คนโดยย้ำคำสำคัญคือ How เพื่อลดการตีตราแต่เน้นการหาทางออกร่วมกันระหว่างเรากับเขา ทำให้หองบำบัดที่คลินิกเป็นพื้นที่ปลอดภัยพอสำหรับผู้ที่เดินเข้ามา

ผู้ที่สนใจงานด้านจิตวิทยาต้องมีความรู้และมีทักษะอะไรบ้าง?

สำคัญคือต้องเคารพความแตกต่าง เข้าใจว่ามนุษย์แต่ละคนไม่เหมือนกัน สิ่งนี้พูดง่ายแต่ทำได้ยาก เพราะเราเองก็มีกฎภายในใจที่ต่างจากผู้อื่น อาจทำให้เราเผลอที่จะตัดสินและรู้สึกไม่ดีกับการกระทำของผู้อื่นที่ต่างไปจากเรา การเคารพความแตกต่างจำเป็นต้องเรียนรู้อย่างค่อยเป็นค่อยไป

สองต้องรู้ตัวเองให้ทัน ผมสอนหรือบรรยายให้กับนิสิตฟังทุกครั้งว่า ถ้าเราคิดว่าเราทำงานเพื่อช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ อันนั้นคือความคิดที่เป็นทุกข์ เพราะเมื่อใดถ้าเขาไม่เป็นดังที่เราปรารถนาเราก็อาจจะเป็นทุกข์ ดังนั้นงานจิตวิทยาคืองานหนึ่งที่เป็นอาชีพ ได้เงินเลี้ยงดูตัวเองเหมือนกับอาชีพอื่น แต่ก็ได้โอกาสในการเข้าใจตนเอง และเรียนรู้ชีวิตผ่านเรื่องราวของผู้คน

สามอย่าลืมเคารพตัวเองในฐานะมนุษย์ ซึ่งสามารถคิดอคติได้ รู้สึกแย่ได้ ทำผิดพลาดได้ หากต้อคอยกำกับตนเองอยู่ตลอดเวลาให้ตนเป็นคนที่สมบูรณ์แบบอาจทำให้เราทุกข์โดยไม่จำเป็น

ถ้าถามผมว่าคุณค่าของอาชีพนี้คืออะไร แน่ละมันเป็นอาชีพที่ได้เงิน มีความต้องการสูงในปัจจุบัน แต่เมื่อได้เงินก็ต้องพัฒนาตัวเอง ฝึกการบำบัด ทำกลุ่ม บรรยาย ที่เป็นความชอบสำหรับผมคือการทำงานกับผู้คนได้เรียนรู้โลกข้างในตัวเอง ได้ยินบางเรื่องและรู้สึก และได้เรียนรู้ชีวิตผู้คนผ่านการทำงาน

ภาพ :  ศุภกร ศรีสกุล

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

อ่านเพิ่มเติม : รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต เล่าเรื่อง “หญ้าทะเลไทย” ให้ไกลไปกว่า “พะยูน”

 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.