วิศวะมหิดล เปิดเวที Mahidol Engineering Maker Expo 2024

วิศวะมหิดล จัดงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” โชว์พลังสร้างสรรค์นักศึกษาวิศวะมหิดล ระดม 90 ผลงาน 5 คลัสเตอร์ เดินหน้าเผยแพร่องค์ความรู้และผลงานวิจัยตอบโจทย์สังคมต่อยอดสู่การใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์

16 พฤษภาคม 2567 – คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” งานแสดงโครงงานวิศวกรรมของนักศึกษา ชั้นปีที่ 4 ประจำปีการศึกษา 2567 โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.อิทธิโชติ จักรไพวงศ์ รองอธิการบดี ฝ่ายสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประธานเปิดงาน โดยมี รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ พร้อมด้วยทีมผู้บริหารคณะ ร่วมให้การต้อนรับ ณ มหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล

รศ.ดร.ธนภัทร์ วานิชานนท์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้จัด Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยน เผยแพร่องค์ความรู้ ผลงานวิจัยนวัตกรรมของนักศึกษาที่ตอบโจทย์การสร้างประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม เป็นโอกาสที่ผู้ประกอบการ ในภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ได้มาพบเจอกับเมกเกอร์นักศึกษา และสามารถพูดคุยเพื่อสร้างความร่วมมือในการพัฒนาต่อยอดผลงานวิจัยและนวัตกรรมสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ รวมถึงเป็นการเตรียมความพร้อมนักศึกษาสู่โลกของการทำงานในวิชาชีพ

สำหรับกิจกรรมภายในงาน Mahidol Engineering Maker Expo 2024 “Capstone Project Presentation” เป็นการนำเสนอโครงงานวิศวกรรมของนักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ทั้งในรูปแบบ Pitching บนเวทีและในรูปแบบ Poster ซึ่งในปีนี้มีจำนวน 90 ผลงาน ครอบคลุมงานวิจัยและพัฒนา 5 คลัสเตอร์ ประกอบด้วย วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Healthcare Engineering) วิศวกรรมดิจิทัล (Digital Engineering) วิศวกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Engineering) วิศวกรรมโลจิสติกส์และ ระบบราง (Logistics and Rail Engineering) และวิศวกรรมเคมีประยุกต์ (Applied Chemical Engineering) มีการแข่งขันนำเสนอผลงานนวัตกรรม  พร้อมทั้งการมอบเงินรางวัลเพื่อเป็นทุนสนับสนุนในการพัฒนาต่อยอดในอนาคต

นอกจากนี้ ภายในงานยังมีการจัดบูธนิทรรศการ แสดงผลงานนวัตกรรมที่โดดเด่น อาทิ ชุดตรวจ วัณโรคแฝงแบบพกพา สามารถให้ผลตรวจรวดเร็วภายในระยะเวลา 5 นาที โดยไม่ต้องส่งตัวอย่างไปยังห้องปฏิบัติการ อุปกรณ์ควบคุมการชาร์จไฟจากพลังงานแสงอาทิตย์ประสิทธิภาพสูง ระบบนำทางช่วยผ่าตัดกระดูกสันหลังอัจฉริยะด้วยหุ่นยนต์ จุดให้คำปรึกษาทางด้านเทคนิคแก่ผู้ประกอบการหรือผู้สนใจ โดยผู้เชี่ยวชาญของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล พร้อมทั้งการออกบูธของผู้ประกอบการในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต โดยมีผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ศิษย์เก่า นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจเข้าร่วมงาน จำนวนกว่า 700 คน

“ตลอดระยะเวลากว่า 30 ปี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตบุคลากรด้านวิศวกรรม ที่มีศักยภาพสูงสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ  องค์กรภาครัฐ องค์กรภาคเอกชน สถาบันการศึกษาชั้นนำ และประกอบธุรกิจส่วนตัวที่ประสบความสำเร็จ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ต่ำกว่า 10,000 คน รวมถึง การส่งเสริมงานวิจัยค้นคว้าทางวิศวกรรมที่สร้างชื่อเสียง อาทิ ระบบส่งยารักษามะเร็งสมองจากเจลชีวพอลิเมอร์ หุ่นยนต์ผ่าตัดทางการแพทย์ ทะลายปาล์มรักษามะเร็งลำไส้แบบมุ่งเป้า หน่วยรักษาอัมพาตเคลื่อนที่ และยังคงมุ่งมั่นสร้างสรรค์งานวิจัย นวัตกรรม และวิชาการด้านวิศวกรรมเชิงบูรณาการระดับโลก เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีทักษะแห่งโลกยุคใหม่ สามารถพัฒนางานด้านวิศวกรรมและเทคโนโลยีขั้นสูงที่ตอบสนองสังคมโลกได้อย่างมีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.ธนภัทร์ กล่าว

อ่านเพิ่มเติม : รศ.ชัชรี แก้วสุรลิขิต เล่าเรื่อง “หญ้าทะเลไทย” ให้ไกลไปกว่า “พะยูน”

 

 

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.