พระธรรมศากยวงศ์วิสุทธิ์ มองการศึกษาแบบพุทธศาสนา เรียนเพื่อเกิดปัญญา สู่ชีวิต ‘ปกติ’

การศึกษาคืออะไรในมุมมองของพระพุทธศาสนา สัมภาษณ์ พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ผู้เชื่อมโยงกับการสอนพุทธศาสนาทั้งในไทยและสากล

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เศรษฐกิจสีเขียว ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การลดปัญหาความยากจน และอีก ฯลฯ คือส่วนหนึ่งของประเด็นซึ่งเป็นความท้าทายของโลกที่ทุกประเทศให้ความสำคัญ

เราต่างลงความเห็นกันว่าโลกทุกวันนี้ช่างซับซ้อน อีกทั้งปัญหาและความท้าทายหนึ่งล้วนมีปัจจัยที่เชื่อมโยงกับอีกปัจจัยหนึ่ง และพลันที่โลกกำลังเดินหน้าไปด้วยบริบทเช่นนี้ ในเวลาเดียวกัน “การศึกษา” คือหัวข้อที่ถูกพูดถึงคู่ขนานกันไป บนคำถามที่ว่า เราควรศึกษาเรื่องใดเพื่ออนาคต? และทักษะหรือความรู้ชุดไหนบ้างที่เราควรมีไว้สำหรับความซับซ้อนและความไม่แน่นอนที่กำลังมาถึง?

ท่ามกลางการอธิบายถึงการศึกษาในมุมมองอันหลากหลาย วิชาพระพุทธศาสนาก็อธิบายถึงเรื่องนี้เช่นกัน และ National Geographic ฉบับภาษาไทย ได้โอกาสซักถาม พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร นักมานุษยวิทยา อาจารย์มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย (มมร) พระสงฆ์ที่เดินทางเพื่อสอนวิชาพระพุทธศาสนาทั้งในไทยและระดับนานาชาติ

ขออนุญาตเรียกท่านว่า “พระอาจารย์” ครับ การศึกษาและการเรียนรู้กับหลักพุทธศาสนา 2 เรื่องนี้เกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันอย่างไร?

ถ้าการศึกษาในศาสนาพุทธ จะสอนให้เรารู้จักศีล คำว่า “ศีล” และที่เราเรียกว่าให้ศีลกันนี้ ไม่ได้แปลว่าบอกให้รู้จักข้อห้ามว่าห้ามทำนู้นทำนี่ เพราะในภาษาพระจริง ๆ “ศีล” แปลว่า “ปกติ” แต่เวลาที่พระให้ศีล เขาไม่ได้หมายความว่าให้ความเป็นปกติ แต่เขาให้ผู้รับพิจารณาถึงเหตุหรือวิธีการที่จะได้ทำความปกตินั้นเกิดขึ้น นั่นก็คือต้อง “สิกขาปะทัง” ซึ่งก็คือ ข้อปฏิบัติที่เราควรพิจารณาศึกษา

ยกตัวอย่างเช่น ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ คำว่า “ปา” แปลว่า “สัตว์” ส่วน “ปาณา” แปลว่า “ลมปราณ” ดังนั้น ศีลข้อนี้ เขาไม่ได้บอกว่าห้ามฆ่าสัตว์ แต่บอกว่าให้เราไปศึกษา ให้ไปเรียนรู้ข้อดีข้อเสีย ถึงการรักษาความมีอยู่ของชีวิต

เมื่อเราต้องอยู่ในสังคม เราก็มีสิ่งที่ต้องทำเยอะแยะไปหมด สิ่งที่ต้องสนองตัณหาของเรามากมาย ดังนั้นการที่จะสนองตัณหานั้น มันก็จะต้องมีข้อระมัดระวัง ศีลจึงเป็นสิ่งที่จะข้อปฏิเสธ หรือข้อ Negative ที่เราจะต้องระมัดระวัง เมื่อพิจารณาถึงศีลข้อแรกคือ ปาณาติปาตา หลักมันจึงไม่ได้คิดแค่ว่า “ห้ามฆ่า” แต่คือการศึกษา “การมีชีวิต” ซึ่งยังหมายถึงการคิดที่จะไม่เบียดเบียนชีวิตของผู้ใด การศึกษาเรื่องศีลคือแบบนี้

สมมติเรารับศีลข้อนี้มา และเราทำหน้าที่เป็นทหารรักษาชายแดนอยู่ และในช่วงนั้นมีทหารของประเทศใกล้เคียงมาบุกเรา จะครอบครองดินแดน เราควรทำอย่างไร ถ้าตั้งเป้าหมายว่าจะไม่ฆ่า และหน้าที่ของการป้องกันประเทศจะเป็นอย่างไร เมื่ออธิบายถึงการศึกษากับศีลข้อนี้ เขาจึงไม่ได้บอกแค่ว่าเราต้องห้ามฆ่าสัตว์ แต่เป็นการไตร่ตรองว่าฆ่าเพื่อเหตุอะไร แต่เป็นการต้องพิจารณา ไตร่ตรอง พิจารณาถึง Accountability หรือความรับผิดชอบในการกระทำของตัวเอง และถ้าจะผิดก็ยอมรับผิด และยอมรับโทษแค่นั้นเอง แต่จะห้ามไม่ให้ต่อสู้เลยคงไม่ได้

สมมติว่าในบ้านของเราเอง มีน้องสาวอยู่ และมีคนมาทำมิดีมิร้ายกับน้องสาวคุณละจะทำยังไงอย่างไร? หากเราจะคิดแค่ว่า นี่เป็นกรรมของน้องสาว และเราก็รับศีลมาว่าไม่ควรฆ่า เราจะปล่อยมันไปก็ไม่ได้ เราจึงต้องไตร่ตรองถึงกระบวนการ ที่จะมาเบียดเบียน วิธีการที่จะจัดการเรื่องนี้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ซึ่งสิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้จากการศึกษา

หรือในศีลข้อ 2 ที่เราเข้าใจกันว่า ห้ามรับสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ หรือห้ามขโมยของใคร  นั่นจึงนำมาสู่พิธีกรรมคือการประเคนสองมือ ซึ่งแสดงถึงการเต็มใจถวายระหว่างฆราวาสกับพระ และถ้าเราศึกษามากขึ้น คิดมากขึ้น หากเรา (พระ) เดินอยู่ในป่า ไม่มีลูกศิษย์ ไม่มีคนประเคนให้จะทำอย่างไรละ จะรอผลไม้ร่วงก็คงหิวตาย ดังนั้นการศึกษาถึงศีลข้อสองจะมองแค่มิติการลักขโมยก็คงไม่ใช่ แต่มองถึงมิติของการได้มา หรืออย่างข้อที่สาม ที่เรามักตีความการประพฤติผิดในเรื่องของกาม และการจะมองเรื่องของกาม คือ SEX เพียงอย่างเดียวคงไม่ใช่

ในภาษาบาลีนั้น กาเมสุมิจฉาจารา “จาระ” คือประพฤติ “มิจฉา” ก็คือผิด “กาเมสุ” มันแปลว่า “กามทั้งหลาย” ซึ่งคำนี้มันเป็น Plural (พหูพจน์) เมื่อเป็นกามทั้งหลาย มันจึงไม่ใช่แค่ Sex แต่มันคือเบญจกามคุณ ก็คือทางการเสพทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ทุกอย่าง การประพฤติผิดทางกามจึงไม่ใช่แค่หมายถึงแค่การมี SEX กับคนที่ไม่ใช่สามีภรรยาของตนเองเท่านั้น แต่คือการล่วงละเมิดในการเสพกามทั้งหมด

ที่ยกตัวอย่างเรื่องศีลกับการศึกษา เพราะเมื่อเราอยู่ในสังคม ความเป็นปกติจะเกิดขึ้นได้มันจึงต้องมี “การศึกษา” เพราะเป็นการศึกษาจะให้รู้ว่า เราจะอยู่ร่วมกับคนอื่นอย่างไรโดยไม่ล่วงเกิน มีความปกติสุข อย่างเรื่อง กาเมสุมิจฉาจารา ก็คือ อย่าไปล่วงเกินใคร อย่าไปประพฤติผิดต่อคนอื่น ทั้ง ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งภาษาปัจจุบันนี้เรียก Human right นั่นเพราะทุกคนมีสิทธิของปัจเจกบุคคลมันมีอยู่ เมื่อเราต้องอยู่ในสังคมก็ “อย่าไปล่วงเกินสิทธิผู้อื่น” นั่นเอง ซึ่งครองคลุมความหมาย ไม่ใช่แค่เรื่อง SEX เท่านั้น

หรือข้อที่ 5 ซึ่งพูดถึง “สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐานา ซึ่งบ้านเรา “สุรา” ในภาษาไทยมันก็แปลตรงกับคำว่า “เหล้า”  แต่สุราในภาษาบาลีมันมากกว่าเหล้า ซึ่งเหล้าอย่างเดียวมันเป็นการมองที่ Subjective เท่านั้น แต่ Objective คือการหลีกเลี่ยงทุกอย่างที่ทำให้เราขาดสติจนทำให้เกิดความประมาทที่จะครองสติไม่ได้ แต่ถ้ากลับกันเราต้องผ่าตัด และในสมัยก่อนมันจะมีการฉีดมอร์ฟีนให้เราเคลิ้มๆ เราจะใช้ยาเสพติดแบบเดียวกันนั้น ที่ไม่ใช่วัตถุประสงค์การเสพเพื่อให้ขาดสติ คงไม่เข้าข่ายการประพฤติที่ขัดกับศีลข้อเดียวกัน

พระพรหมศากยวงศ์วิสุทธิ์ (อนิลมาน ธมฺมสากิโย) ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร

ท่านจะบอกว่าการศึกษาศีลคือการศึกษาในความปกติ ดังนั้นการศึกษาในมุมมองของพระพุทศาสนาคือการศึกษาเพื่อให้มนุษย์ประพฤติในสิ่งที่เป็นปกติ?

ที่กล่าวมาคือระดับศีลแค่นั้น การศึกษาในขั้นพื้นฐานเรื่องศีลนี้ คือการศึกษาเพื่อที่จะอยู่ร่วมกับคนอื่นได้อย่างปกติ เพราะถ้าไม่มีศีล สังคมนี้ก็จะเต็มไปด้วยมนุษย์ที่บ้าคลั่ง อยู่กับใครไม่ได้ กระบวนการจะอยู่ร่วมกับสังคมต้องอยู่อย่างไร ทำตัวอย่างไร มันต้องศึกษา ดังนั้นการศึกษาบทแรกคือการศึกษาพฤติกรรมตัวเอง เรียกว่า “ศีลสิกขา” หรือ “อธิศีลสิกขา”

เมื่อศึกษาตัวเองแล้ว การศึกษาที่สอง คือ “สมาธิสิกขา” หรือว่า “ศึกษาสมาธิ” เราอาจคิดว่าสมาธิคือการหลับตา ซึ่งมันไม่ใช่ เพราะคำว่า “สมาธิ” แปลว่า “สงบ” หรือในภาษาอังกฤษคือ  Concentrate ซึ่งหมายถึง ความนิ่งอยู่ในอันใดอันหนึ่ง สนใจอันใดอันหนึ่ง จิตใจไม่ดิ้นรน ดังนั้นสมาธิจริง ๆ จึงแปลว่า “สงบ” และเป็นการ “สงบจากกิเลส”

กระบวนการศึกษาก็คือ เมื่อเราต้องอยู่อยู่กับคนอื่น เราก็ต้องศึกษาจิตใจของตัวเองว่า อำนาจของกิเลสเป็นแบบใดจะส่งผลแบบไหนกับเรา ถ้าเราโลภ โกรธ หลง ขึ้นมา เราก็จะอยู่ร่วมกับคนอื่นไม่ได้ เช่น ความโลภ มันสุ่มเสี่ยงทำให้เราฉ้อโกง หรือถ้ามีคนทำอะไรไม่ถูกใจ เราสุ่มเสี่ยงที่โกรธ ส่วนความหลงเนี่ย มันแปลว่า “โง่” เพราะเมื่อใจเราหลง สมองเราไม่เปิดที่จะรับความคิดใครเลย กระบวนการศึกษาในเรื่องนี้ คือศึกษาใจของตัวเอง

ลำดับที่สามก็คือ “อธิปัญญาสิกขา” ซึ่งปัญญา แปลว่า “รู้”  และการรู้คือความรู้ในหลากหลายมิติ การศึกษาในความหมายนี้ไม่ได้หมายถึง การเรียนและได้ใบปริญญา แต่การมองให้ลึกว่าสิ่งเหล่านี้คืออะไร

ยกตัวอย่างเช่น กระดาษที่เราหยิบมา (หยิบกระดาษ 1 แผ่น) เราก็รู้ว่าเป็นกระดาษ แต่กระดาษแผ่นนี้ เมื่อเรามองให้ลึก นั่นก็คือการ “วิปัสสนา” ซึ่งรวมคำว่า “วิ” แปลว่า “วิเศษ” กับ “ปัสสนา” แปลว่า “เห็น” หมายถึงเห็นแบบวิเศษ เห็นแบบทะลุ เห็นแบบแจ้ง การมองกระดาษแผ่นเดียวกันนี้เมื่อเราศึกษาก็จะเห็นกระดาษแบบรู้แจ้ง ว่าเนื้อแท้และองค์ประกอบของมันมีอะไรบ้าง

กระดาษแผ่นหนึ่งมองด้วยตาเปล่าก็แค่กระดาษ แต่ถ้าเราเข้าไปในเครื่อง X-ray เราจะเห็นเยื่อกระดาษ ความหยาบ ความสะท้อนแสง เหมือนกันกับกระบวนการเรียนรู้ของเรา ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย เจออะไร ก็แล้วแต่ กระทบอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเรามองทะลุมากกว่าที่เรากระทบแค่จากอารมณ์ เราใช้ปัญญามองหลากหลายมิติ พอมองทะลุเข้าไปปุ๊บ สิ่งที่เคยเห็นเดิมนั้นก็ไม่มี พอสิ่งนั้นไม่มี มันทำให้เรายึดมั่น ถือมั่นในสิ่งที่ไม่มีไม่ได้ มันเป็นกระบวนการศึกษา ดังนั้นถ้าเรายึดถือว่า อันนี้คือกระดาษ พุทธเจ้าก็ถามว่ามีจริงหรือ? อะไรคือกระดาษ? ถ้ามันคือกระดาษ เวลากระดาษถูกไฟไหม้จะยังเป็นกระดาษอยู่หรือไหม? เพราะมันก็ต้องเปลี่ยนสภาพไปเรื่อย สิ่งเหล่านี่คือการศึกษาเพื่อให้เกิดปัญญา และการศึกษาที่ว่านี้ไม่ใช่การเรียนรู้แบบมีปริญญา แต่มันเป็นการเรียนรู้อะไรก็แล้วแต่ ที่มองเห็น ได้ยิน และมองสิ่งเหล่านั้นในหลากหลายมิติ

การศึกษาในพุทธศาสนาที่อธิบายข้างต้น เราเรียกว่า “ไตรสิกขา” ซึ่งหมายถึงข้อปฏิบัติที่พึงศึกษา 3 อย่าง เริ่มที่ศึกษาพฤติกรรมเพื่อจะอยู่ร่วมกับคนอื่น ศึกษาเรื่องจิต อบรมจิตให้สงบมั่นคงเป็นสมาธิ พัฒนาให้สูงขึ้นมองอะไรก็จะมองทะลุ สามารถมองเห็นเหตุและผล มองเห็นหลายมิติ ปฏิบัติเพื่อตัดกิเลสได้

แล้วการเรียนรู้เพื่อให้มองเห็น มองทะลุ แบบที่ควรจะเป็นคืออะไร?

ควรศึกษาทั้ง 84,000 พระธรรมขันธ์ ทั้งหมดคือการเรียนรู้ตัวเอง เมื่อเรียนรู้ตัวเอง มันก็คือเริ่มจากตัวเราเอง เรามี ตา หู จมูก ลิ้น

แม้เราจะเป็นฆราวาส ก็ตาม คำว่า “ฆราวาส” ถ้าแปลคำนี้แบบไม่ต้องเกรงใจ ก็แปลว่า “ผู้ที่อยู่ด้วยการเสพกาม” ซึ่งกามในที่นี้หมายถึง กามคุณทั้ง 5 ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ฆราวาสกระทำ เช่น การอยู่ด้วยการกินอาหารที่ตัวเองพอใจ กินของอร่อย มองภาพที่สวยๆ งาม อยู่ในสภาพสิ่งแวดล้อมดี ทำแล้วก็จะมีความสุข เพราะนี่คือวิถีของผู้เสพกาม

แต่เมื่อเราบวชแล้ว คำว่า “บวช”  มีรากศัพท์ มาจากการยกเว้น บวชไม่ได้แปลว่าใส่จีวร แต่คือการยกเว้น เว้นจากอะไรก็เว้นจากสิ่งที่ฆราวาสทำโดยปกตินั่นเอง

การบวชจึงเข้าไปศึกษาและปฏิบัติในสิ่งที่ตรงข้ามกับฆราวาส?

ฆราวาสอยู่ด้วยการสนองตัณหา หรือก็คือการเสพกามทางตา หู จมูก ลิ้น กาย เมื่อต้องบวช เราก็ต้องสำรวม ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และถ้าใจได้บวชแล้ว จะอยู่ในสถานะไหนก็ได้ เพราะแก่นของการบวชไม่ได้หมายถึงพิธีกรรม หรือการใส่จีวร แต่มันหมายถึงคุณภาพ ความหยาบ ความละเอียดของใจต่างหาก ถ้าเราสนองความต้องการของตัวเรา เติมเต็มตลอดเวลา นั่นคือวิถีของฆราวาส

ประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น โลกร้อนขึ้น เกิดภัยจากธรรมชาติที่มาจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง พุทธศาสนาสอนให้มองเรื่องนี้อย่างไร?

ในพระวินัยมีข้อจำกัดที่เชื่อมโยงกับเรื่องสิ่งแวดล้อม เช่น ห้ามปัสสาวะรดหญ้าเขียว ห้ามถ่มน้ำลายลงในแหล่งน้ำ ห้ามตัดต้นไม้ เพราะสิ่งแหล่านี้เป็นที่อยู่ของเรา เป็นแหล่งผลิตออกซิเจน และในอดีตพระต้องอยู่ตามโคนต้นไม้ ดังนั้นพระต้องรู้จักกตัญญูกตเวทีกับต้นไม้ อ่อนน้อมกับธรรมชาติ

ในศีล 227 ข้อ ถ้าเราแยกชัดเจนออกมา เป็นเรื่องของการบริหารจัดการชีวิตที่ต้องใช้อินทรีย์สังวร อย่างเวลาบวชพระ เขาจะสอนว่า อยู่ด้วยนิสัย 4 ซึ่งคือสิ่งที่ทำให้เป็นพระ 4 อย่าง อันที่หนึ่งก็คือ ต้องบริหารจัดการชีวิตตัวเอง ตั้งแต่เรื่องอาหาร ว่าอย่าบริโภคมากไป อย่าน้อยเกินไป ในจำนวนศีล 227 ข้อ ประมาณร้อยละ  25% เกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการชีวิตเรา อันที่สองก็คือเมื่อต้องอยู่โคนต้นไม้ สมัยพุทธกาล อยู่โคนต้นไม้ ยังไม่มีกุฎิ ยังไม่มีสร้างวัดกัน เพราะฉะนั้นมันต้องเกี่ยวกับเรื่องบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ที่บริหารความเป็นอยู่ของเรา

ข้อที่สามก็คือ บริหารจัดการเรื่องของเสื้อผ้า สมัยพุทธกาล พุทธเจ้าเนี่ยไม่ไปรบกวนชาวบ้าน หากจีวรขาด เราก็ปะ ๆ เอา เราจะไปขอคนนั้นไม่ได้ นอกจากเขาจะปวารณา หรือเราเจอพ่อ แม่ ของเราเอง เราถึงขอได้ ถ้านอกนั้นเราไม่ให้รบกวนใคร ถ้าพระจีวรขาด เราก็จะไปหาผ้าตามป่าช้า ที่เขาทิ้งศพ ห่อศพแล้วทิ้งไว้ เราก็บอกว่า “ผ้านี้มีเจ้าของไหม?” ถ้าเราถามสามครั้งไม่มีเจ้าของ เราก็คลี่ ทำความสะอาดผ้า แล้วเอามาปะติดปะต่อ ถ้าผ้าไม่พอก็ไปหาศพใหม่ นี่คือวิธีการหาจีวร

กว่าจะได้จีวรผืนนึงก็ต้องไปชอปปิงหลายป่าช้าเหมือนกันนะ เปรียบกับเรื่องสิ่งแวดล้อม สิ่งนี้คือการ Recycle หรือการนำผ้ากลับมาใช้ซ้ำ และไม่ผลิตขยะโดยไม่จำเป็น ต่อมาเมื่อญาติโยมเขาอยากถวายสิ่งเหล่านี้จึงหมดไป เขาก็ไปทิ้งตามป่า ทำให้วันนี้เราเรียกสิ่งนี้ว่า “ผ้าป่า” นั่นคือวิธีการได้มาซึ่งจีวรของเรามันมีกระบวนการบริหารจัดการเรื่องเสื้อผ้าในลักษณะการใช้ซ้ำอยู่

อันสุดท้ายก็คือให้พระฉันยาดองด้วยน้ำมนต์เน่า อันนี้ฟังดูแล้วโหด คือเวลาเราป่วย พุทธเจ้าบอกว่าให้พึ่งตัวเองให้ได้ อย่าไปพึ่งคนอื่นก่อน พึ่งตัวเองให้มันสุดก่อน เช่นนั้น วิธีการในสมัยก่อน คือการกินฉี่ของตัวเองซึ่งอาจจะเป็นยาได้ ย้ำว่าสมัยนั้นนะครับ หลักการคือ การพึ่งตัวเองให้ได้ อย่าไปรบกวนสิ่งแวดล้อม อย่าไปรบกวนเรื่องของทรัพยากรของสาธารณะ พึ่งตัวเองให้ได้ นี่คือความเป็นพระ

ทุกวันนี้เราพูดเรื่อง ความยั่งยืน การไม่ทำลายโลก และหากดูรากศัพท์ของคำว่า Sustain ในภาษาละติน จะพบว่านั่นคือรากศัพท์เดียวกับคำในภาษาบาลี-สันสกฤตคำหนึ่งที่เป็นรากศัพท์ของคำว่า “ธัมม” ทำให้ในบางประเทศอธิบายคำว่า Sustainable Development ใหม่ ให้กลายเป็นคำที่มีความหมายว่า “พัฒนาไปตามธรรม” หรือ พัฒนาไปตามธรรมชาติที่เป็น

การพัฒนาไปตามธรรม คือการพัฒนาที่เปลี่ยนแปลงได้ตามเหตุปัจจัย เพราะสิ่งที่เหมาะสมในวันนี้กับวันพรุ่งนี้อาจไม่เหมือนกัน และการทำให้ยั่งยืนจึงไม่ใช่การรักษาสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้อยู่คงที่เหมือนเดิมตลอดกาล แต่คือการรักษาดุลยภาพระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม

ความยั่งยืนจริง ๆ แล้วมาจากคำว่า ธัมมจักกัปปะวัตนะ ซึ่งธัมมะ อธิบายไปแล้ว ส่วนคำว่า จักกะ คือการพัฒนา ที่ต้องเริ่มต้นขึ้นจากตนเอง เคลื่อนไปข้างหน้าบนพื้นฐานที่มั่นคง ส่วนคำว่า ปวัตนะ คือความเป็นไป อาการที่เป็นไป คือต้องพัฒนาต่อด้วยการลงมือสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้น ซึ่งเชื่อมโยงได้ว่า เมื่อเราไม่ได้เป็นเจ้าของโลก แต่เราเป็นส่วนหนึ่งของโลกที่อาศัยซึ่งกันและกัน ถ้าเราทำลายสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เท่ากับทำลายตนเอง

อาจารย์เชื่อวิธีคิดแบบวิทยาศาสตร์นี้ไหม แล้ววิธีคิดนี้สามารถตอบปัญหาได้ทุกเรื่องไหม?

ในพุทธศาสนานั้น หากเทียบกับสิ่งที่เราเรียกว่า วิทยาศาสตร์ ต้องถือว่า มันเล็กน้อย เช่น มันอธิบายในตัวอย่างที่ว่า น้ำเกิดจากธาตุอะไรบ้าง มีองค์ประกอบธาตุเป็น H2O แต่ในพุทธศาสนามันอธิบายมากกว่านั้น เพราะว่าอะไรก็แล้วแต่ที่ประกอบเกิดขึ้นมา มันเป็นสังขารปรุงแต่ง มันเป็นสิ่งที่ปรุงแต่งขึ้นมา การจะอธิบายสิ่งนั้นสิ่งนี้ ในทางวิทยาศาสตร์มันขึ้นอยู่กับความรู้ วิทยาการของเรามากขนาดไหน เราก็จะได้รู้เท่านั้น เมื่อวิทยาศาสตร์มีเครื่องมือเท่าใด ก็จะอธิบายได้เท่าที่เครื่องมือ เช่น กล้องจุลทรรศน์ก็จะอธิบายเท่าที่ศักยภาพหรือแค่เทคนิคมันไปถึง แต่ กระบวนการเรียนรู้ของพุทธศาสนา คือการเรียนรู้อันเดียว คือการชี้สิ่งที่มีอยู่ให้เห็นชัด พุทธศาสนาสอนสิ่งหนึ่งที่สำคัญคือกระบวนการศึกษา เขาไม่ได้บอกให้เราเชื่อ เพราะถ้าเรามีความรู้ แต่ไม่มีปัญญาไม่มากรอง มันคือความเชื่อเชิงลบ ความรู้ที่ผิด

พุทธศาสนาคือการทำลายความเชื่อให้เกิดเป็น “พุทธะ” ที่แปลว่ารู้ เป้าหมายของพุทธศาสนาก็คือให้เป็นผู้รู้  พุทธศาสนาสอนคนที่ไม่รู้ให้เป็นผู้รู้ สอนปุถุชนให้เป็นกัลยาณชน จากผู้ที่หลงกิเลสอยู่ให้รู้จัก ลด ละกิเลส สอนถึงพฤติกรรมที่ดี หรือถ้าดีกว่านั้นก็คืออริยชน เป็นบุคคลที่รู้เต็มที่แล้ว แล้วจนถึงขั้นที่เรียกว่า อเสขบุคคลก็คือผู้ที่เรียกว่า ถึงพระอรหันต์แล้วนั้น ไม่ต้องศึกษาอีก

ส่วนความเชื่อเนี้ย เรามองได้ว่ามันเป็นแค่ความพึงพอใจของคน มันเป็นเรื่องของบุคลาธิษฐาน เรื่อง Subjective แต่สิ่งที่พุทธเจ้าสอนเป็นความรู้ สมมติว่านี่ก็คือถ้วย เรารู้ว่าคือถ้วยต้องเชื่อไหม? ก็รู้แล้ว ไม่ต้องเชื่ออะไร แต่ถ้าอาจารย์บอกว่า นี่มันถ้วยวิเศษ สามารถเปล่งแสงได้ เราก็ อ๊ะ! ไม่เห็นได้นี่ เราก็ว่าอาจารย์พูดแบบนี้ อาจเชื่อคำของอาจารย์ เฮ้ย ถ้วยวิเศษเว้ย ราคาเท่าไร มันจะเปล่งแสงได้ ก็ว่ากันไป แต่ถ้าเรารู้ว่าเฮ้ย นี่มันกลไกวิทยาศาสตร์ ใส่น้ำร้อนก็เปล่งแสงออกมา เรารู้ขึ้นมาแล้วต้องเชื่อไหม?

กระบวนการศึกษาของพุทธศาสนาทั้งหมดก็คือ เพื่อไปสู่ความรู้ด้วยปัญญา พอรู้ขึ้นมา เราจากปุถุชน ผู้ที่ยังอยู่กับกิเลส รู้ว่ากิเลสเนี่ยมันปวดหัว เริ่มมีปัญหา เราก็เริ่มที่จะเป็นกัลยาณชน เริ่มที่จะบริหารจัดการให้มันน้อยลง และเราจัดการให้มันสิ้นขาดแล้ว เราก็จะเป็นอริยชน เป็นอเสขบุคคลละ เป็นคนที่ไม่ต้องศึกษา แต่ถ้าตราบใด ที่ยังไม่เป็นอเสขบุคคล ยังไม่ถึงพระอรหันต์ ก็ต้องศึกษาต่อไปเรื่อย ๆ สิ่งที่เรียกว่าจบการศึกษา คือเป็นพระอรหันต์

ตลอดเวลาเรามักได้ยินข่าวว่าด้วยความเชื่อของคนในสังคมไทยมากมาย เราควรจะออกแบบการศึกษาแบบใดไม่ให้คนหลงเชื่ออะไรง่ายๆ?

ตอนนี้ในภาษาไทย คำว่า ความเชื่อเนี่ยมันมีหลายรูปแบบ พอมันเชื่อหลายรูปแบบ ก็ต้องมาดูว่าเชื่อนี้มันหมายถึงอะไร อย่างเชื่อในความหมายของคำว่า Trust อย่างเช่นกระบวนการของพวกเราเนี่ย เช่น ตอนเธอป่วย ไปหาหมอ เชื่อหมอไหม? โอเคเราเชื่อเพราะเขาเป็นหมอ ร่ำเรียนมา แต่อีกทางหนึ่งหมอก็คือใช้หลัก Probability หรือความน่าจะเป็นที่เขาใช้เก็บสถิติทั้งนั้น อาการแบบนี้ มีการเก็บสถิติอย่างไร มีงานวิจัยอะไรที่เกี่ยวข้องบ้าง ศึกษามา เก็บสถิติมา ให้กินยาตัวนี้มันหาย เพราะงั้นหมอที่เขาเก่งจริง ๆ เขาก็สามารถจะจำได้ว่า เมื่อเจออาการลักษณะนี้ ความน่าจะเป็นคืออะไร แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่า วิธีการรักษาคือแบบนี้เท่านั้น เขาต้องทดลองไปเรื่อย ถ้าไม่หายก็เปลี่ยนยา เราเชื่อเพราะมันน่าจะเป็น สมมติว่าเราเชื่อหมอทั้งหมดถ้าเป็นหวัด ไปหาหมอ แล้วเขาบอกให้ตัดจมูก เราเอาไหมล่ะ? ไม่เอา

อาจารย์กำลังให้ศึกษาวิธีคิด พิจารณาด้วยปัญญาตัวเอง มากกว่าจะเชื่อเพราะเป็นใคร?

ใช่ ที่เขาเรียกกันว่า Critical thinking ซึ่งภาษาบาลีก็คือการศึกษาให้เป็นกุศล ภาษาบ้านเรากุศลอาจหมายถึงทำบุญ ทำกุศล แต่บาลีหมายถึง Creative Creativity กุศลแปลว่าฉลาด เฉลียวกว่ากุศโลบาย ที่ภาษาไทยเอามาใช้อยูนี่ อุบายอันแยบยล กุศล แปลว่าแยบยล

จะต้องสอนคนให้คิดอะไรมันแยบยล และพิจารณาให้ได้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร รู้แบบมองเห็นกระบวนความทั้งหมด พอรู้กระบวนความทั้งหมดก็จะมีปัญญาว่าสิ่งที่อยู่ตรงหน้าคืออะไร ตัวอย่างเช่น เรารู้ว่าถ้วยนี้ (หยิบถ้วย) มีองค์ประกอบคืออะไร มีดีไซน์แบบนี้ และความสวยงาม ความประทับใจของเราที่มีมันคืออะไร มันจีรังไหม ยึดถือถ้วยได้ไหม? และถ้าขืนเรายึดถือถ้วย พอถ้วยแตก เราจะเศร้ากับมันไหม เมื่อเรารู้ว่าถ้วยที่สวยงามนี้คือสิ่งที่ประกอบขี้นมา รู้ว่าสักวันหนึ่งมันต้องตก ต้องแตก มันต้องชำรุด ทรุดโทรม เมื่อมันแตกขึ้นมา มันก็เป็นสิ่งที่ต้องเฉย ๆ เราก็หาถ้วยใหม่ ถ้าเราคิดว่าถ้วยนี้ซื้อมาจากที่นั้น ราคาแพง เราหวงมันมาก มันก็คือกิเลสแล้วล่ะ

ปัญหาของคนในทุกวันนี้ที่สังเกตได้ คือเรารู้สึกเหนื่อย โดยเฉพาะกับการเหนื่อยใจอาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร?

เวลาเราพูดถึงกายกับใจ กายเป็นตัวที่แสดงออก เป็นเครื่องมือ แต่ตัวที่เป็นเครื่องจักรให้เราเคลื่อนไหวทั้งหมดนั้นมันคือใจ กายเปรียบได้กับเครื่องยนต์ แต่ตัวที่เป็นพลังงานขับเคลื่อนยนต์ที่ว่านี่ก็คือ ‘ใจ’ ถ้าใจเรามีปัญหา พลังหรือมอเตอร์ที่จะไปขับเคลื่อนก็มีปัญหา มันก็เลยทำให้โรคทางใจมากมาย เท่าที่ทราบเขาทำการวิจัยมาตั้งแต่ ค.ศ. 2000 แล้ว โดยองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่าโรคที่ร้ายแรงที่สุดในอนาคตคือโรคที่มาจากความเครียด หรือมาจากสภาวะจิตใจ

โรคเหล่านี้ ส่วนหนึ่งมาจากกระบวนการเรียนรู้ตะวันตกเลยใช้พุทธศาสนามาแก้ เรียกว่า Mindfulness-Based Cognitive Therapy  (MBCT) ก็คือกระบวนการจัดการการเรียนรู้ บนพื้นฐานของความเจริญสติ ถ้าแปลตรง ๆ ไม่ใช่แค่สติ  แต่เป็น Mindfulness หมายถึงการเจริญปัญญาทางพุทธศาสนา เป็นรูปแบบการบำบัดทางปัญญาที่ดัดแปลงมาซึ่งผสมผสานการฝึกสติที่รวมถึง การตระหนักรู้ในปัจจุบัน การทำสมาธิ และการฝึกหายใจ

เราไม่ลงในรายละเอียดของโรคทางใจ แต่มองถึงเรื่องของการฝึกใจ เอาตัวเองให้รอดจากกิเลส ทักษะที่เราควรมีในทุกวันนี้คือการรู้เท่าทันความรู้สึกของเรา เท่าทันกิเลส อยากได้ อยากมี อยากได้บ้านหลังใหญ่ รถคันใหญ่ อยากได้เหมือนเขา อยากได้เสื้อผ้าใหม่ ความต้องการ กิเลสของมนุษย์มันไม่มีลิมิต พอไม่มีลิมิต ก็ทำลายตัวเอง สังคม สิ่งแวดล้อม ทำลายโลก นี่ก็คือที่เรียกว่าอำนาจของกิเลส เช่นนั้น ทักษะหรือความรู้ที่ต้องการคือเราจะบริหารจัดการตรงนี้อย่างไร ให้มันพอดี ๆ อย่ามากเกินไป

ทักษะและความรู้ที่ต้องศึกษาในทุกวันนี้คือทักษะการจัดการกิเลส เรื่อง Sustainability หรือ Sufficiency ก็ด้วย มันมีหลักที่เชื่อมโยงกัน การจัดการไม่ใช่แค่แง่วัตถุเท่านั้น แต่ต้องสนใจเรื่องของสังคม เรื่องของสิ่งแวดล้อมด้วย

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : ธนกฤต นวลอนันต์, ภูมิปกรณ์ ณ บางช้าง


อ่านเพิ่มเติม : “จักรกริช สังขมณี” มานุษยวิทยามหาสมุทร ถอดรหัสมนุษย์ในระบบนิเวศใต้ทะเล

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.