ดร.เอ้-สุชัชวีร์ วิศวกรเมือง นักการศึกษา ผู้เชื่อว่าประเทศไทยไปได้ไกล ถ้ามี AI เป็นธงนำ

มุมมองของ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ วิศวกรเมือง อดีตอธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ถึงทิศทางการเรียน AI และปัจจัยที่จะทำให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ

ตอนที่ ChatGPT เปิดตัวในปลายปี 2022 เรายังจินตนาการไม่ออกเลยว่า ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ประเภทผู้ช่วยสนทนาเช่นนี้ จะข้องเกี่ยวกับชีวิตการเรียนและการงานของเราได้อย่างไร

ผ่านมาไม่ถึง 2 ปี แทบไม่มีใครที่ไม่รู้จัก AI เราเห็นนักศึกษาใช้ ChatGPT เป็นผู้ช่วยทำรายงาน พนักงานบริษัทใช้ AI ช่วย Generate ไอเดียในช่วงเริ่มต้น ไม่เว้นกระทั่งวิศวกร นักออกแบบ นักธุรกิจ พ่อค้า และอีกสารพัดอาชีพ ที่ใช้ AI เป็นผู้ช่วย เปลี่ยนความคิด ข้อมูล ที่อยู่ในใจให้ออกเป็นรูปธรรมของการนำเสนองาน

ทุกวันนี้ AI มีความสำคัญต่อการปฏิวัติอุตสาหกรรมต่างๆ ยังไม่ต้องสงสัย เช่นเดียวกับที่ AI เป็นหัวข้อไฮไลท์ในวงการการศึกษา ซึ่งหนึ่งในบุคลที่พูดถึงเรื่องการศึกษากับ AI และการสร้างนักพัฒนา AI ในประเทศไทยคนแรกๆ คือ ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ วิศวกรเมือง อดีตอธิการบดี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ซึ่งเป็นความร่วมมือกับ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน (Carnegie Mellon University) สถาบันการศึกษาที่เชี่ยวชาญด้านหลักสูตรวิศวกรรมคอมพิวเตอร์อันดับ 1 ของโลก กับสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (KMITL)

ในงาน AI Engineering & Innovation Summit 2024 ซึ่งเป็นการงานที่ร่วมมือกับ 6 มหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศไทย เพื่อร่วมสนับสนุนความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และคอมพิวเตอร์ เพิ่มขีดความสามารถทางการของประเทศ National Geographic ฉบับภาษาไทย ได้พูดคุยกับ ดร.สุชัชวีร์ ในฐานะผู้เคยใช้ AI ในการทำงาน นักการศึกษา ถึงทิศทางการเรียน AI และปัจจัยที่จะทำให้ AI เป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ในงาน AI Engineering & Innovation Summit 2024

ย้อนไปในช่วงที่อาจารย์ศึกษา AI มาใช้งานตอนแรก กับปัจจุบันนี้แตกต่างกันอย่างไร?

ย้อนกลับไปก็ราวๆ 25 ปีที่แล้ว AI เป็นศาสตร์ที่แทบไม่มีใครรู้จัก ตอนนั้นผมมีส่วนในการทำรถไฟฟ้าใต้ดิน ในยุคนั้นยังไม่มีใครจบด้านการสร้างอุโมงค์ในดินอ่อนมาก่อน ผมต้องไปยืมตำราที่ห้องสมุดหลายแห่ง เพราะต้องหาตำราต่างประเทศมาใช้เป็นข้อมูลความรู้ให้ได้มากที่สุด

แต่ความรู้ที่เรามีมันไม่พอที่จะแก้ปัญหาอยู่ดี จำได้ว่าระหว่างการขุดดินเราใช้หัวเจาะขนาดใหญ่ วางแผนกันว่าการจัดวางหัวเจาะที่ระดับเท่าใด องศาขนาดไหน ทุกอย่างต้องผ่านการคำนวณ เอาสูตรคณิตศาสตร์มาช่วยหมด แต่ระหว่างที่เราขุดไปก็เจอปัญหาดินอ่อนตามมา ผมเลยคิดว่า ถ้าเรายังใช้การขุดแบบปกติไม่มีทางที่จะไปต่อได้แน่ๆ ผมเลยน่าจะเป็นคนแรกๆในประเทศที่เอา AI มาใช้ในการก่อสร้าง

ผมโทรปรึกษาเพื่อนว่าโครงการที่ผมทำอยู่เจอปัญหานี้ ทำอย่างไรดี เพราะถ้าใช้สูตรคณิตศาสตร์มันไม่เจอคำตอบตายตัว เพื่อนแนะนำว่ามันมีศาสตร์ที่เรียกว่า นิวรัลเน็ตเวิร์ค (Neural Network ) หนึ่งในปัญญาประดิษฐ์(AI) ที่สอนคอมพิวเตอร์ให้ประมวลผลข้อมูล ซึ่งเป็นอัลกอริทึ่มที่พยายามพัฒนาจากสิ่งนั้น ผมก็ไปศึกษา หาอ่านหนังสือที่มี ตอนนั้นจะหาหนังสืออ่านในประเทศไทยก็มีไม่กี่เล่ม เพราะ AI ในวันนั้นเป็นศาสตร์ที่ยังไม่มีคนรู้จัก สุดท้ายผมศึกษาไปเรื่อยๆและได้ไอเดียที่คิดมาใหม่ เอามาปรับใช้ เขียนสูตรเพื่อให้ AI ช่วยวิเคราะห์ว่าเราจะวางหัวเจาะแบบใด องศาไหน ความเร็วในการเจาะเท่าใด โดยผมมีหน้าที่ใส่ตัวแปรทั้งปริมาณน้ำใต้ดิน ชนิดของดิน ความเร็วหัวเจาะ มุมที่ใช้ ความเร็วที่ใช้

พอเขียนออกมา แรกๆ คอมพิวเตอร์ก็ตอบเราที่ไม่ตรงบ้าง ผิดเพี้ยนไปบ้าง ผมก็ป้อนข้อมูลไปเรื่อยๆ พัฒนาไปเรื่อยๆ หลอกล่อให้มันพัฒนาตัวเองให้แม่นยำขึ้น จนในที่สุดเราก็พบว่ามันได้ผล ทำงานได้สำเร็จ และผลงานในเรื่องนั้นก็ได้รับการตีพิมพ์และเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผมได้เป็นศาสตราจารย์ได้เร็ว

วันนี้ผมคงไม่ต้องบอกว่า AI จำเป็นแค่ไหน และปัจจุบันนี้ AI ก็เป็นสาขาการเรียนหนึ่งที่ผู้คนสนใจมากขึ้น แต่ก็ต้องพูดตามตรงว่ายังถือว่าเพิ่งเริ่มต้น และพฤติกรรมการใช้ของคนไทยน่าจะเป็นลักษณะ User (ผู้ใช้) หรือเป็นข้อมูลให้ AI มากกว่าจะเป็นผู้พัฒนา เช่น ระหว่างที่เราคุยกัน เสียงเราก็จะถูกบันทึก พอเราเปิดโซเชียลมีเดีย ก็จะมีเรื่อง AI ขึ้นมาในหน้าฟีดส์ หรือพอเราคุยกันเรื่องการวิ่ง โฆษณารองเท้าขึ้นมา คนไทยจึงเป็นข้อมูลใน Big data ระดับโลกมากกว่า แต่เรายังไม่เคยใช้งานอย่างลึกซึ้งจริงๆ ดังนั้นเราก็ต้องพัฒนากันต่อไป

ส่วนเรื่องการศึกษา ผมในฐานะผู้ร่วมก่อตั้งมหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล เราฝันที่จะมีสถาบันระดับโลกในเมืองไทย เราเดินทางไปที่ มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นสถาบันนวัตกรรมระดับโลก นำมาสู่การลงนามในสัญญาระหว่าง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน กับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในการร่วมกันจัดตั้ง มหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ในประเทศไทย ภายใต้ชื่อว่า มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล (CMKL University)

ซีเอ็มเคแอล เรามีบุคลากรและหลักสูตรการเรียนที่เหมือนกับการเรียนในต่างประเทศ โครงการวิจัยทุกโครงการจะใช้อาจารย์และนักวิจัยหลักจากมหาวิทยาลัยคาร์เนกีเมลลอน ร่วมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และภาคเอกชน ในลักษณะเป็นเครือข่ายนักวิจัยและถ่ายทอดความรู้ เพื่อสร้างงานวิจัยและนวัตกรรมที่มีโอกาสต่อยอดทางธุรกิจรวมถึงการแลกเปลี่ยนอาจารย์และนักวิจัยเพื่อพัฒนาทักษะ (Faculty Exchange) ซึ่งการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ถือเป็นหนึ่งในการพัฒนาบุคลากรไทยให้ทัดเทียมมาตรฐานโลก พร้อมผลักดันให้ประเทศไทยขยับขึ้นเป็นศูนย์กลางด้านการวิจัยและนวัตกรรมของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อครั้งเป็นส่วนหนึ่งในการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าใต้ดิน

AI Engineering & Innovation Summit 2024 ในครั้งนี้ มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับสถาบันการศึกษา สิ่งนี้จะสร้างประโยชน์ในแวดวงการศึกษา AI อย่างไร?

เดิมสถาบันวิศวกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI Engineering Institute; AIEI) ประกอบด้วย 6 มหาวิทยาลัย ได้แก่ มหาวิทยาลัยซีเอ็มเคแอล ร่วมกับ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง, มหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งสนับสนุนการดำเนินงานของอาจารย์ นักวิจัย  เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลิตบัณฑิตที่มีความ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ และคอมพิวเตอร์ เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน

การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับอีก 3 มหาวิทยาลัย ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) รวมกันเป็นเครือข่าย 9 มหาวิทยาลัย เพื่อร่วมพัฒนางานวิจัยด้านปัญญาประดิษฐ์ และเปิดโอกาสให้ใช้ทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาอย่างสูงสุด นอกจากนี้ ยังมีความร่วมมือกับอีก 2 หน่วยงาน ได้แก่ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (Federation of Thai Industries – FTI) เพื่อส่งเสริมการขับเคลื่อนการใช้งาน และพัฒนาเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับ SME ในเครือข่ายของ FTI และสยาม เอไอ คอร์เปอเรชั่น (Siam AI Cloud) เพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือด้านการวิจัย พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับระบบปัญญาประดิษฐ์

ผมอธิบายง่ายๆได้ว่า โลกปัจจุบันวิธีคิดคนเปลี่ยนไป ในอดีตมหาวิทยาลัยจะแข่งกันทำ Ranking เพื่อได้อันดับที่สูง แต่ที่ผ่านมาพบว่าถึงจะมี Ranking ที่สูง แต่ประเทศไทยก็ไม่สามารถแข่งขันได้ เพราะเรากลายเป็นแข่งกันเองเพื่ออันดับที่ดี เราจึงเห็นว่าเราควรมาร่วมมือกันดีกว่า การรวมกันเพื่อจะแชร์ทรัพยากร ทั้งภาคเอกชน ข้อมูลความต้องการจากสภาอุตสาหกรรม และในฐานะที่ผมเคยเป็นผู้บริหารสถาบันการศึกษา เราเปลี่ยนความคิดจากการทำงานคนเดียวมาร่วมกันทำงาน ซึ่งศาสตร์ด้านคอมพิวเตอร์และเทคโนโลยีเป็นศาสตร์ที่น่าสนใจ เนื่องจากมีเท่าไร สามารถนำมารวมกันได้ โดยที่ไม่ต้องแข่งขันกันอย่างเดียว ผมว่าสิ่งนี้จะทำให้ประเทศได้ประโยชน์ที่สุด

การแสดงผลงานของนักศึกษาในงาน AI Engineering & Innovation Summit 2024
ผู้เชี่ยวชาญด้าน AI ทั้งในไทยและจากต่างประเทศเข้าร่วมงาน

AI จะช่วยประเทศไทยเข้าสู่การแข่งขัน และเป็นประเทศที่โดดเด่นด้านนวัตกรรมได้อย่างไร?

หลักการของ AI ในภาคธุรกิจ อุตสาหกรรมคือจะช่วยให้เราทำงานเร็วขึ้น แม่นยำขึ้น และใช้ทรัพยากรน้อยลง ดังนั้นในระดับอุตสาหกรรมใครมีเทคโนโลยีที่ตอบโจทย์ได้มากกว่า แม่นยำกว่า จะเกิดความได้เปรียบ มีประสิทธิภาพ นำมาสู่การลงทุน ยิ่งเฉพาะในเรื่องสาธารณสุข ความแม่นยำและการเข้าถึงอย่างไม่มีอุปสรรค ยังช่วยลดความสูญเสีย ลดระยะเวลามาโรงพยาบาล และในแง่ของการบริหาร AI ยังช่วยให้การจัดสินใจของผู้นำแม่นยำ และช่วยพยากรณ์ที่แม่นยำขึ้น แทนการลองผิดลองถูก

พูดกันตามตรงว่าประเทศไทยเป็นประเทศที่ไม่ได้มีงบประมาณมาก และทรัพยากรที่มีมูลค่าไม่ได้มากเช่นเดียวกัน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี โดยมี AI ทำให้การแข่งขันของเราดีขึ้น เช่นเดียวกับการผลิตบุคลากร ถ้ามีคนเก่ง ใช้งานเป็น สิ่งเหล่านี้จะพาประเทศไปได้ไกลขึ้น นำการลงทุนของธุรกิจระดับโลกมายังประเทศไทย ขณะเดียวกับการผลิตนวัตกรรมส่งออก

ผมยกตัวอย่างผลงานจากนักวิจัยของซีเอ็มเคแอล และมหาวิทยาลัย Carnegie Mellon เช่น ในโปรเจคหนึ่งที่เราทำร่วมกับบริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน) ซึ่งผลิตอาหาร โดยเราใช้ AI ช่วยเรียนรู้พฤติกรรมของหมูในฟาร์ม เพื่อให้ทราบได้อย่างทันท่วงที ว่า หมูตัวใดกำลังมีอาการป่วย ช่วยให้รักษาหมูได้ทัน ลดอัตราการตายของหมู และคงผลิตภาพ (Productivity) ให้ยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งโมเดลนี้นำไปสู่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ในประเทศอื่น

หรืออีกโปรเจคเราร่วมกับกลุ่ม ไทยเบฟฯ พัฒนากระบวนการคัดแยกขวดอัตโนมัติโดยใช้การถ่ายภาพด้วยคอมพิวเตอร์, AI และ Deep Neural Networks ผ่านระบบการถ่ายภาพหลายมุมมองเพื่อให้ได้การวิเคราะห์ที่มีความแม่นยำสูง กล้องจะบันทึกภาพก้นขวด ปากขวด และด้านข้างขวดทั้งสองข้าง บริเวณส่วนท้ายของสายพานลำเลียง ขวดทั้งหมดจะถูกคัดแยกและจัดหมวดหมู่โดย AI แบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ ทีมงานที่โรงงานคัดแยกยังมีส่วนในการรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับขวดหลากหลายประเภทจากแต่ละหมวดหมู่เพื่อส่งไปฝึก AI Model ระบบดังกล่าวจะเน้นการเรียนรู้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับผิวสัมผัสและรายละเอียดปลีกย่อยของขวดเป็นหลัก จากนั้นจะคัดกรองเป็นหมวดหมู่ สำหรับ ขวดที่ใช้ซ้ำได้(Reuse) ที่ต้องทำความสะอาดก่อนใช้ซ้ำ (Check and Clean) และขวดแก้วที่จะนำไปรีไซเคิล (Recycled glass) ซึ่งทั้งหมดจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และลดต้นทุนใช้ทรัพยากร

ส่วนตัวแล้วผมมีความฝัน และเป็นความฝันที่ไม่ไกลมากคือการอยากให้คนไทยมีส่วนกับการพัฒนา AI โดยที่ผู้นำประเทศ ผู้บริหารในหลายระดับเอา AI เข้าไปใช้ในการประมวลผลดึงศักยภาพ AI ในการพยากรณ์ และให้ผู้บริหารช่วยตัดสินใจ โดยไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูกเพื่อลดการสูญเสียงบประมาณและทรัพยากรโดยไม่จำเป็น ประเทศไทยไปได้ไกลกว่านี้แน่ถ้าเรามี AI มาเป็นปัจจัย เอาจริงเอาจังกับการพัฒนา AI

ทุกวันนี้คนรุ่นใหม่ นักเรียนนักศึกษา คนทำงานก็ใช้ AI มากขึ้น อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร?

ใช่ครับ แต่ก็เป็นการใช้แบบทั่วไป เช่น Chat GPT, Gemini, หรือการปรับแก้อะไรต่างๆ ผมมองว่านั่นเป็นแค่จุดเริ่มต้น แต่ผมมองถึงการใช้ AI เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการทำงาน โดยเฉพาะการใช้ AI เพื่อการศึกษาอย่างแท้จริง

การใช้ AI เพื่อการศึกษา ไม่ได้หมายความว่า ใช้ AI มาสอนแทนอาจารย์ แต่เรามองถึงการที่ AI จะช่วยพัฒนาศักยภาพการเรียน ในแบบเฉพาะตัว บนพื้นฐานของความชอบ ความถนัด จุดแข็งจุดอ่อนที่แตกต่างกัน

สมมติว่า นักเรียนในห้องมี 50 คน อาจารย์ยังต้องรู้ว่าแต่ละคนมีเอกลักษณ์และจุดแข็งจุดอ่อนอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ต้องส่งเสริม และให้ AI มอบหมายงาน การบ้าน ที่พวกเขาต้องไปศึกษาเพิ่มเติม เด็กคนนี้เก่งเรื่องนี้แล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องทำการบ้านในแบบเดียวกับเพื่อนที่ยังอ่อนและต้องทำแบบฝึกหัดให้มากกว่านี้อีก หรือเด็กคนนี้เก่งและชอบคณิตศาสตร์ ก็ต้องมีการส่งเสริมที่ไม่เหมือนกับนักเรียนที่ไม่ถนัดและไม่ชอบเรียนคณิตศาสตร์  AI จะช่วยพัฒนาศักยภาพของผู้เรียนเป็นรายบุคคล ไม่ได้เสริมจุดแข็งในเรื่องใดเรื่องเดียวเหมือนกันหมด

เวลาพูดถึง AI กับตลาดแรงงาน ท่ามกลางโอกาสงานใหม่ๆ ในอีกด้านหนึ่งก็พูดถึงการใช้ AI มาแทนที่คน มีคนต้องตกงาน อาจารย์มองเรื่องนี้อย่างไร?

คงหนีไม่พ้นครับ เพราะเหรียญมี 2 ด้านเสมอ ผมมองว่า AI จะมาช่วยมนุษย์ปรับตัวและสร้างทักษะใหม่ๆมากกว่า โดย AI จะทำให้งานซ้ำๆ สุ่มเสี่ยงอันตรายและเสียสุขภาพสูญพันธ์ไป โดยมี AI มาทำแทน และเป็นโอกาสของนักพัฒนาและผู้ที่ใช้ AI สร้างคุณค่าในงานนั้นได้

แล้วอย่าเพิ่งมองว่า AI จะไม่มี Creativity เพราะถ้า AI เรียนรู้ก็จะเก่งไปเรื่อยๆ ผมเคยให้ AI Generate รูปภาพไอเดียกำแพงป้องกันน้ำทะเลในกรุงเทพ แรกๆเขียนออกมาอย่างกับเขื่อนเก็บน้ำ แต่พอใส่รายละเอียดไปเรื่อยๆ AI ปรับแต่งทุกอย่างให้ดีขึ้นจนน่าพอใจ และในอนาคตหากใครจะให้ AI ทำภาพ เขาก็จะส่งภาพของผมไป นั่นเพราะกลไกอย่างหนึ่งคือมันสามารประมวลผลและเรียนรู้เองได้

ผมมองว่า สุดท้าย AI ก็จะยังเป็นลักษณะ Co-Intelligence คือ AI เป็น Machine ที่จำเป็นต้องมีมนุษย์ผู้มีความเชี่ยวชาญในด้านนั้นมาทำงานร่วมกัน เพื่อให้ผลลัพธ์ของงานดีที่สุด ลองนึกว่า AI จะขุดเจาะอุโมงค์เพียงอย่างเดียวคงไม่ได้หรอก ถ้าไม่มีมนุษย์ที่บอกตัวแปรสำคัญ และเข้าใจบริบทของโครงการก่อสร้าง หรือ  AI จะแก้ปัญหาเซลล์เสื่อมสภาพไม่ดีแน่ๆ หากไม่มีศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาป้อนข้อมูล และใช้ทักษะบางอย่างที่มนุษย์มีจุดแข็งแต่ AI ไม่มี

ทุกวันนี้ AI ทำงานได้บางอย่าง แต่ในอนาคตนผมไม่กล้าตอบ ดังนั้นผู้คนในวงการ AI หรือผู้สนใจต้องไม่เรียน AI อย่างเดียว แต่ต้องมีความสนใจข้อมูล และต้องผนวกรวม AI กับหลายๆศาสตร์ เพื่อให้งานตอบโจทย์ชีวิตและทำให้คุณภาพของประเทศดีขึ้น

เรื่อง : อรรถภูมิ อองกุลนะ

ภาพ : ฤทธิรงค์ จันทองสุข


อ่านเพิ่มเติม : ถอดรหัส หลักสูตร 2 ปริญญา KMITLxCMKL ผสาน AI Engineering กับนวัตกรรมคอมพิวเตอร์แห่งแรกในไทย

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.