พื้นที่คุ้มครอง คือเครื่องมือที่นักสิ่งแวดล้อมใช้เพื่อปกป้องทรัพยากรและความหลากหลายทางชีวภาพในพื้นที่นั้นๆ โดยการกำหนดขอบเขต แต่ยังคงไว้ซึ่งระบบนิเวศทางธรรรมชาติที่เอื้อให้สายพันธุ์พืชและสัตว์ยังคงเติบโตขยายพันธุ์ต่อไปได้
แต่ผลการศึกษาใหม่ที่เผยแพร่ลงในวารสาร Science พบว่า 1 ใน 3 ของพื้นที่คุ้มครองกำลังถูกรุกล้ำโดยมนุษย์ ปัจจุบันทั่วโลกมีพื้นที่คุ้มครองราว 200,000 แห่ง แต่ทุกวันนี้มีพื้นที่กว่า 6 ล้านตารางกิโลเมตรที่กำลังเผชิญกับการรุกล้ำเพื่อการเกษตร, การตั้งถิ่นฐานบ้านเรือน, ตัดถนน, มลพิษทางแสง, ทางรถไฟ ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ
ทีมนักวิจัยมุ่งเป้าไปที่ “รอยเท้าคาร์บอน” ที่แสดงถึงผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมจากกิจกรรมของมนุษย์ พวกเขาเปรียบเทียบปริมาณของมันกับแผนที่ในปี 2016 ซึ่ง James Watson หนึ่งในนักวิจัยจากสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่าเผยว่า ร่องรอยการรุกล้ำธรรมชาติของมนุษย์กำลังเติบโตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้กำลังทำลายความหลากหลายที่มีในธรรมชาติ นอกจากนั้นยังระบุถึงอันตรายที่เกิดขึ้นเมื่อความหลากหลายทางชีวภาพลดน้อยลง
ยกตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา เมื่อผู้ล่าตามธรรมชาติอย่างบอบแคตลดจำนวนลง และกวางมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น นักวิจัยพบว่ามันทำให้เห็บมีจำนวนเพิ่มขึ้นตาม เนื่องมาจากมีเจ้าบ้านให้อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นกว่าเดิม และนำมาซึ่งการเพิ่มขึ้นของโรคลายม์ และโรคอื่นๆ ตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นนี้กำลังเป็นวิกฤติทั่วโลก ซึ่ง Wilson เองพยายามเรียกร้องให้มีการปกป้องคุ้มครองพื้นที่เหล่านี้อย่างจริงจัง เพื่อความหลากหลายทางชีวภาพจะได้เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ทีมวิจัยระบุว่า การค้นพบของพวกเขานั้นเปรียบเสมือนสัญญาณเตือน ไม่ใช่แค่การกระตุ้นให้คิดใหม่ทำใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทบทวนมาตราฐานของพื้นที่คุ้มครองที่กำหนดโดยอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ โดยสนธิสัญญาในปี 1992 ระบุว่าประเทศสมาชิกจำนวน 196 ประเทศต้องสร้างความมั่นใจว่าพวกเขาจะยังคงรักษาความหลากหลายทางชีวภาพ ผ่านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ซึ่งหากดูจากสถานการณ์ในปัจจุบันแล้วดูเหมือนว่าจะผิดไปไกลจากข้อตกลงร่วมกัน
(ชมไอเดียจากโรงแรมที่อนรุักษ์ผืนป่าควบคู่กับธุรกิจท่องเที่ยวได้ ที่นี่)
Elizabeth O’Donoghue ผู้อำนวยการโครงสร้างพื้นฐานและการสำรวจที่ดิน หรือTNC ระบุว่าเธอไม่แปลกใจกับการค้นพบนี้ เมื่อมองจากอัตราการเติบโตของประชากรทั่วโลกแล้ว
ที่ TNC เธอและทีมพัฒนาเครื่องมือที่เรียกว่า “Green Print” ที่เอื้อให้ชุมชนหรือนักพัฒนาสามารถมองเห็นแนวโน้มของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่คุ้มครองของซานฟรานซิสโก สถานที่แห่งนี้เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีการเติบโตของประชากรมากที่สุดในสหรัฐฯ และมีปัญหาด้านที่อยู่อาศัยโดยเฉพาะ
“ตอนนี้พื้นที่บริเวณอ่าวมีคนเพิ่มจาก 7 ล้านเป็น 9 ล้านคน และตรงจุดนั้นคือบริเวณที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ” O’Donoghue กล่าว ปัจจุบันเครื่อมือของ TNC ช่วยกระจายข่าวสารข้อมูลในประเด็นนี้มากขึ้น แต่ทั้งหมดยังเป็นแค่การเริ่มต้นเท่านั้น เพราะการที่จะสำเร็จได้อย่างแท้จริงนั้นจะเป็นต้องพึ่งพาแรงสนับสนุนใหญ่ เช่น นโยบายทางการเมือง
ว่าแต่ผลกระทบที่แท้จริงคืออะไร หากเราไม่ลุกขึ้นมาปกป้องธรรมชาติ? “บรรดาพืชและสัตว์ที่ทำให้ภูมิภาคนี้น่าสนใจจะพากันลดน้อยลง” เธอกล่าว “สายพันธุ์สัตว์จะขาดความหลากหลาย ความสามารถในการดูดซับน้ำฝนตามธรรมชาติจะลดน้อยถอยลงตาม และนั่นจะส่งผลกระทบต่อน้ำและอากาศที่เราใช้ตามมา”
อย่างไรก็ตามแม้จะฟังดูเลวร้าย แต่งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้พบแต่เรื่องลบไปเสียหมด ในภูมิภาคที่มีการดูแลพื้นที่คุ้มครองอย่างเข้มงวด ทีมวิจัยพบร่องรอยของการรุกรานโดยมนุษย์น้อยมาก นั่นหมายความว่าแนวทางที่พื้นที่อนุรักษ์เหล่านี้ใช้ คือตัวอย่างที่ดีในการเพิ่มความหลากหลายตามธรรมชาติ
ทั้งนี้งานวิจัยดังกล่าวไม่ได้วิเคราะห์ในประเด็นของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ด้วย ซึ่งนักวิทยาศาสตร์เองเตือนว่าสองปัจจัยนี้ก็ทีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาวไม่ต่างจากการรุกรานของมนุษย์เช่นกัน
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์
อ่านเพิ่มเติม