เมื่อต้นเดือนกรกฎาคม 2018 เมืองซีแอตเทิลของสหรัฐอเมริกากลายมาเป็นเมืองใหญ่เมืองแรกที่ประกาศแบน หลอดพลาสติก และพวกเขาไม่ใช่แค่กลุ่มเดียวที่เล็งเห็นถึงปัญหาขนาดใหญ่ในหลอดพลาสติกขนาดเล็กทั่วโลก แมคโดนัลด์เตรียมแบนการใช้หลอดพลาสติกในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์ ส่วนบริษัท Bon Appétit Management ที่มีร้านอาหารในเครือกว่า 1,000 ร้านทั่วสหรัฐฯ เพิ่งออกประกาศเมื่อเดือนพฤษภาคม 2018 ว่าจะยกเลิกการใช้หลอดพลาสติกเช่นกัน และล่าสุดสายการบินอลาสกาแอร์ไลน์จะเป็นสายการบินแรกที่ไม่ให้บริการหลอดพลาสติก และที่คนเครื่องดื่มซึ่งทำมาจากพลาสติก
หลายธุรกิจชั้นนำเหล่านี้กำลังแสดงออกซึ่งความรับผิดชอบต่อสังคม หลังกระแสการต่อต้านพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมทั้งหลอดพลาสติก ทวีความรุนแรงขึ้น เนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของวัสดุพลาสติกปรากฏให้เห็นแล้วว่าขยะเหล่านี้กำลังคร่าชีวิตของสัตว์ทะเลจำนวนมาก
แค่ในสหรัฐอเมริกาเพียงประเทศเดียว ประมาณการจำนวนหลอดพลาสติกที่ถูกใช้ในหนึ่งวันอยู่ที่ 500 ล้านหลอด และหนึ่งในรายงานก่อนหน้าชี้ว่า ในแต่ละปีมีขยะที่เป็นหลอดพลาสติกมากถึง 8,300 ล้านหลอดถูกทิ้งตามชายหาด และอีก 8 ล้านตันของขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงมหาสมุทร นับว่าขยะจากหลอดพลาสติกคิดเป็นสัดส่วน 0.025 ของจำนวนขยะพลาสติกทั้งหมดในทะเล
และวิธีที่ดีที่สุดในการช่วยแก้ไขปัญหานี้คือการปรับเปลี่ยนนิสัยของตัวคุณเอง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ไม่ยากสำหรับการใช้ชีวิตแบบลดพลาสติก ทว่าความเป็นมาของหลอดเป็นอย่างไร? และจุดเริ่มต้นแรกในการประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยดื่มน้ำของมนุษย์มาจากไหน?
ประวัติศาสตร์ของหลอด
หลอดพลาสติก คือนวัตกรรมที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน แต่แท้จริงแล้วมนุษย์เราหาอุปกรณ์ช่วยในการดูดน้ำมานานแล้ว ชาวสุเมเรียนโบราณคือหนึ่งในวัฒนธรรมแรก ๆ ที่ใช้หลอดสำหรับดูดเบียร์ เมื่อ 5,000 ปีก่อน ทำจากทองคำหรือโลหะ โดยหลอดของพวกเขามีลักษณะเป็นก้านยาว ๆ จุ่มลงไปในไหหมักเบียร์ขนาดใหญ่ ซึ่งเชื่อกันว่าใครยิ่งมีฐานะหลอดจะยิ่งยาวมากเป็นพิเศษ (ครั้งหน้าหากคุณถูกเพื่อนแซวเพราะเอาหลอดดูดเบียร์ ขอให้อธิบายเรื่องนี้ให้พวกเขาฟัง)
สำหรับบิดาแห่งหลอดดูดน้ำที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบันนั้นเกิดขึ้นมาจาก มาร์วิน สโตน ผู้คิดค้นหลอดขึ้นในปี 1888 รายงานจากสถาบันสมิธโซเนียนระบุว่า ฤดูร้อนวันหนึ่งในปี 1880 สโตนกำลังดื่มคอกเทล Mint Julep ด้วยปล้องของต้นของหญ้าไรย์ที่มีรูตรงกลาง จากนั้นเขาจึงคิดได้ว่าน่าจะประดิษฐ์หลอดที่ดีกว่าต้นหญ้านี้ได้ ด้วยการใช้กระดาษ
สโตนทดลองม้วนกระดาษรอบแท่งดินสอ จากนั้นทากาวเชื่อมติดให้เป็นหลอด และเคลือบด้วยไขพาราฟินอีกที เขาจดสิทธิบัตรผลงานชิ้นนี้ในปี 1888 และต่อมาในปี 1890 โรงงานผลิตหลอดกระดาษของเขาก็ก่อตั้งขึ้น
เวลาผ่านไปจนกระทั่งปี 1930 ในที่สุดหลอดแบบงอได้ก็ถือกำเนิดขึ้น หลังนักประดิษฐ์ท่านหนึ่งมองเห็นความยากลำบากของลูกสาวในการดูดมิลค์เชคจากแท่งหลอดแบบตรง โดย Joseph Friedman ออกแบบหลอดให้มีลักษณะเป็นรอยหยักเพื่อช่วยให้มันสามารถบิดงอได้โดยไม่แตกหัก เขาจดสิทธิบัตรในเวลาต่อมาในชื่อบริษัท Flex-Straw สินค้าของเขาเป็นที่นิยมอย่างมากโดยเฉพาะผู้ป่วยในโรงพยาบาลต้องประสบกับความยากลำบากในการดื่มน้ำ หลอดแบบบิดงอนี้ช่วยให้พวกเขาสามารถดื่มน้ำได้โดยไม่ต้องลุกจากเตียง
ยุคเฟื่องฟูของโรงงานพลาสติก
ชาวอเมริกันยังคงใช้หลอดกระดาษกันอยู่ แม้ว่าขณะนั้นโรงงานผลิตพลาสติกจะถือกำเนิดแล้วก็ตาม พลาสติกแรกเริ่มเกิดขึ้นในช่วงปี 1870 โดยจอห์น เวสลีย์ ไฮแอท นักวิทยาศาสตร์อเมริกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อการหาวัสดุทดแทนงาช้างซึ่งมีราคาแพง วัสดุดังกล่าวคือไนโตรเซลลูโลส (Celluloid) ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นของพลาสติก และอีกหลายสิบปีต่อมาวัสดุที่ทำจากพลาสติกก็เริ่มแพร่หลายมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นข้าวของเครื่องใช้ในครัวเรือน, พลาสติกไนลอนสำหรับถุงน่อง ไปจนถึงเป็นวัสดุส่วนประกอบเครื่องบินทางการทหาร
จากข้อดีที่พลาสติกนั้นมีความคงทน และมีราคาถูก ในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง พลาสติกถูกเร่งกระบวนการผลิตออกจากโรงงานในปริมาณมากอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และเมื่อความขัดแย้งสิ้นสุดลง พลาสติกก็กลายเป็นสินค้าเจาะตลาดใหม่แก่ผู้บริโภคชาวอเมริกันมากมาย
หลอดพลาสติกมาแล้ว
ปกติแล้วหลอดเป็นขยะที่ถูกทิ้งอย่างรวดเร็วหลังจากใช้งานเสร็จ ทว่าการมาถึงของพลาสติกทำให้หลอดที่ผลิตจากพลาสติกเหล่านี้มีราคาถูกกว่าหลอดกระดาษ อีกทั้งยังคงทนกว่ามาก ขอบแข็งของมันยังเจาะรูกากบาทของแก้วน้ำในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดได้ดีกว่าหลอดกระดาษแบบเดิมๆ ซึ่งมักฉีกขาดระหว่างการเจาะใช้งาน
ในปี 1969 บริษัท Flex-Straw ขายกิจการให้แก่ Maryland Cup Corporation บริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองบัลติมอร์นี้ผลิตหลอดพลาสติกที่หลากหลาย และในที่สุดก็กลายเป็นบริษัทผลิตหลอดพลาสติกที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ต่อมาในปี 1983 Fort Howard Corporation ซื้อกิจการของ Maryland Cup Corporation และยังคงเดินหน้าผลิตสินค้าจากพลาสติกต่อไป
“มันดีกว่า ถูกกว่า และไม่แตกเมื่อหล่น” David Rhodes ผู้อำนวยการฝ่ายผลิตหลอดเครื่องดื่มของบริษัท Aardvark Straws ในเครือ Precision Products Group กล่าว “พลาสติกคือสินค้าคุณภาพเยี่ยมแห่งยุคนั้นจริงๆ ทั้งถูกทั้งดี และไม่มีใครคาดคิดว่าในอนาคตมันจะก่อผลกระทบมากมายต่อสิ่งแวดล้อมขนาดนี้”
และแน่นอนว่าเมื่อจำนวนของผู้ผลิตมีเพิ่มมากขึ้นตามจำนวนของผู้บริโภค นั่นทำให้มีหลอดพลาสติกถูกผลิตออกมามากมายอย่างไม่หยุดหย่อน ข้อมูลจาก Plastics Europe หนึ่งในผู้ผลิตพลาสติกรายใหญ่ของโลกรายงานว่า ในปี 1950 พวกเขาผลิตสินค้าพลาสติกเป็นจำนวน 1.5 ล้านตัน ทว่าในปี 2015 จำนวนดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 322 ล้านตัน
อนาคตของหลอดพลาสติก
ขณะนี้โลกของเรากำลังเผชิญกับปัญหาใหญ่นั่นคือ จะทำอย่างไรกับขยะพลาสติกที่กำลังทับถมโลก บริษัทเอกชน หน่วยงานรัฐบาล ตลอดจนผู้นำประเทศเองพากันออกมาประกาศแบนหลอดพลาสติก บางบริษัทเปลี่ยนไปใช้หลอดโลหะหรือหลอดแก้ว เพื่อดึงดูดใจให้ผู้ที่รักสิ่งแวดล้อมหันมาซื้อใช้เป็นสินค้าส่วนตัว และปัจจุบันมีหลอดทางเลือกถือกำเนิดขึ้นมากมาย ตลอดจนมีการรณรงค์ในสังคมให้ผู้คนหันมาใช้ปากจิบแก้วแทนการใช้หลอด เพื่อลดปริมาณขยะ
Steve Russell รองประธานาธิบดีด้านพลาสติก จากสภาเคมีสหรัฐฯ หรือ ACC ระบุว่า การโฟกัสไปที่หลอด หรือสินค้าพลาสติกประเภทใดประเภทหนึ่งเพียงอย่างเดียว เป็นการหลุดประเด็นสำคัญ
“การมุ่งความสนใจไปที่สินค้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งทำให้เราหลงลืมประเด็นสำคัญที่ต้องถกเถียง นั่นคือ วิธีการจัดการกับขยะให้มันอยู่ในจุดที่เหมาะสม” เขากล่าว โดยระบุว่าทาง ACC มุ่งความสนใจไปที่วิธีการจัดการขยะที่ดีที่สุด เพื่อป้องกันไม่ให้ขยะพลาสติกถูกทิ้งลงในมหาสมุทร อย่างไรก็ดีด้านองค์กรสิ่งแวดล้อมระบุว่า การแบนหลอดพลาสติกยังคงเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องเดินหน้าต่อไปสำหรับเป้าหมายใหญ่ในอนาคต คือการยุติการใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งให้ได้ทั้งหมด
Rhodes เองเชื่อว่าในอนาคตข้างหน้า วันหนึ่งหลอดพลาสติกอาจกลายเป็นของแปลกก็เป็นได้ เขาเล่าว่าจุดเริ่มต้นของหลอดกระดาษของบริษัท Aardvark Straws ในปี 2007 มาจากความต้องการของสวนสัตว์, อควาเรียม และเรือสำราญที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และขณะนี้อุปสรรคขนาดใหญ่ที่ยังคงทำให้หลอดพลาสติกหมนุเวียนอยู่ในระบบก็คือราคาถูก”ถ้าเทียบหลอดต่อหลอดแล้ว หลอดกระดาษจะแพงกว่าหลอดพลาสติกเพียงไม่กี่เพนนี” เขากล่าว แต่หากเป็นกระบวนการผลิตขนาดใหญ่ในโรงงาน ราคาความต่างนี้จะพุ่งทะยานเป็นหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐ
แต่อย่าลืมว่าผลกระทบที่หลอดพลาสติกเหล่านี้ส่งผลต่อระบบนิเวศทางทะเล ไม่อาจตีค่าเป็นตัวเลขได้เลย
เรื่อง ซาร่าห์ กิบเบ็นส์