ทวีปแอนตาร์กติกา คือทวีปที่อยู่ทางทิศใต้สุดของโลก ในเขตขั้วโลกใต้ ล้อมรอบด้วยมหาสมุทร มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 5 รองจากทวีปเอเชีย แอฟริกา อเมริกาเหนือ และอเมริกา ซึ่งร้อยละ 98% ของแอนตาร์กติกาถูกปกคลุมด้วยแผ่นน้ำแข็ง เรียกว่า พืดน้ำแข็ง มากไปกว่านั้น น้ำแข็งในทวีปนี้ยังคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 90% ของน้ำแข็งทั้งหมดบนโลก ทวีปแอนตาร์กติกาเป็นทวีปเดียวที่ไม่มีมนุษย์อาศัยอยู่แบบถาวร แต่มีสิ่งมีชีวิตบางชนิดที่สามารถทนกับความหนาวเหน็บนี้ได้ เช่น นกเพนกวิน แมวน้ำ ปลาวาฬ และสาหร่าย เป็นต้น
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ จากการค้นคว้าวิจัยของสถานีวิจัยเกรทวอลบริเวณขั้วโลกใต้ ซึ่งอยู่ใกล้กับประเทศชิลี มีการค้นพบฟอสซิลพืชและสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังอีกด้วย ซึ่งคาดว่าจะมีอายุไม่ต่ำกว่าล้านปี
(พบฟอสซิลของสัตว์แปลกๆสมัย 500 ล้านปีที่แล้ว)
จากฟอสซิลบ่งบอกได้ว่าในอดีตบริเวณนี้มีอุณหภูมิที่เหมาะสมและอบอุ่นเพียงพอให้พืชเติบโตได้อย่างดี ซึ่งต่างจากบริเวณขั้วโลกใต้ในปัจจุบันที่เป็นพื้นที่ความชื้นสัมพัทธ์ต่ำที่สุด ( แห้งแล้งที่สุด ) หนาวที่สุด และมีฝนตกน้อยมาก ทว่าในปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นนี้ส่งผลกระทบให้น้ำแข็งที่ขั้วโลกละลาย และปริแตกออก
น้ำแข็งที่ละลายเหล่านี้จะกลายเป็นมวลน้ำแทรกตัวเข้าไปยังใต้บริเวณที่เป็นน้ำแข็งและก่อให้เกิดรอยร้าวของพืดน้ำแข็งได้ นอกจากนั้นอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นอาจจะปลดปล่อยเชื้อแบคทีเรียและไวรัสที่ถูกกักเก็บอยู่ในชั้นดินมานานนับหมื่นปีให้กลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกครั้ง
ย้อนกลับไปในอดีตบริเวณชั้นดินเปลือกแข็งเป็นสถานที่เหมาะสำหรับการฝังตัวอยู่ของเชื้อไวรัสและแบคทีเรีย เนื่องจากไม่มีแสงสามารถส่องไปถึง มีความเย็น และไม่มีออกซิเจน ทำให้เชื้อโรคที่อาศัยอยู่ในซากสัตว์ที่ถูกกลบฝังสามารถมีชีวิตอยู่ได้นานนับหมื่นๆ ปี จนเมื่อกระทั่งปี 2005 นักวิทยาศาสตร์ของนาซ่าพบว่าเชื้อแบคทีเรีย Carnobacterium pleistocenium ซึ่งอยู่ในบ่อน้ำแข็งบริเวณอลาสกามานานกว่า 32,000 ปี เริ่มเคลื่อนไหวได้ หลังจากที่ก้อนน้ำแข็งที่ห่อหุ้มละลายออก
(ในช่วง 20 ถึง 30 ปีที่ผ่านมาน้ำแข็งละลายและการแตกตัวเพิ่มขึ้นถึงสี่เท่า)
และ 2 ปีหลังจากนั้น มีรายงานต่อมาว่าแบคทีเรียที่มีอายุ 8 ล้านปีซึ่งอยู่ใต้ธารน้ำแข็งของทวีปแอนตาร์กติกา กลับมาเคลื่อนไหวได้อีกครั้ง นอกจากนั้น จากการวิจัยของคณะวิทย์ฯจุฬาฯ ยังพบว่า มีพยาธิเพิ่มขึ้นในตัวปลาเยอะกว่าสมัยก่อน และไม่ใช่เพียงในตัวปลาแต่ยังพบนอกตัวปลาอีกด้วย โดยพบว่าตั้งแต่ปี 2009 มีพยาธิเกาะติดที่ลำตัวปลาเป็นจำนวนมาก เทียบกับปี 2004 ที่ไม่พบพยาธิเลย
และล่าสุดในปี 2016 กลับพบว่า ร้อยละ 80 เปอร์เซ็นต์ ของปลามีพยาธิเกาะอยู่ 6 – 7 ตัวต่อปลา 1 ตัว ยิ่งไปกว่านั้นในการศึกษายังพบอีกว่าในกระเพาะของปลาก็มีพยาธิและไข่พยาธิอยู่ด้วยเช่นกัน มากไปกว่านั้นยังมีการคาดการณ์ว่า จะมีพยาธิเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ต่อปี ด้วยสภาวะอุณหภูมิโลกที่สูงขึ้น ในขณะที่สัตว์หลายๆ ชนิด เช่น เพนกวิน และแมวน้ำ จะมีอัตราการรอดที่น้อยลง
(การเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศกำลังลดจำนวนประชากรของเพนกวิน)
อ่านเพิ่มเติม
http://ngthai.com/animals/8500/hidden-penguin-mega-colonies/