ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้กรณีเขื่อนลาวแตก

ข้อเท็จจริงที่ต้องรู้กรณี เขื่อนลาวแตก

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2018 เวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น เกิดเหตุภัยพิบัติขึ้นจากพายุฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก ส่งผลให้เขื่อนเซเปียน-เซน้ำน้อย เขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานน้ำซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างในจังหวัดอัตตะปือ ประเทศลาว เกิดพังถล่มลงมา สำนักข่าวท่องถิ่นรายงานมีผู้เสียชีวิตแล้ว 19 ราย ผู้สูญหายหลายร้อยคน และอีกกว่า 4,000-6,600 คนต้องกลายเป็นผู้ไร้ที่อยู่อาศัย ล่าสุดรายงานจากสำนักข่าวไทยรัฐ เมื่อเวลาประมาณ 21.00 น. ของเมื่อวานนี้ เจ้าหน้าที่สามารถคุมให้น้ำในเขื่อนไม่ไหลทะลักเพิ่มได้แล้ว แต่หลายพื้นที่ยังคงเผชิญกับน้ำท่วมสูง

เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย รวบรวมข้อมูลจากเหตุการณ์เขื่อนลาวแตกที่เกิดขึ้นในหลายประเด็นมาให้ชมกัน เพื่อช่วยให้คุณผู้อ่านเข้าใจเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้หากคุณผู้อ่านต้องการช่วยเหลือบรรดาพี่น้องชาวลาวที่ประสบภัยสามารถบริจาคเงินได้ตามเลขบัญชีที่สถานเอกอัคราชทูตเวียงจันทน์ลงประกาศ โดยเข้าไปดูรายละเอียดได้ ที่นี่

ภาพถ่ายทางอากาศแสดงให้เห็นขอบเขตของพื้นที่ที่ถูกน้ำท่วมซึ่งกินบริเวณกว้างมาก
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Attapeu Today

 

เขื่อนที่ถล่มเป็นเขื่อนย่อย

สำนักข่าวบีบีซี รายงาน เขื่อนที่ถล่มพังลงมานั้นเป็นเขื่อนดินย่อยที่สร้างขึ้นไว้สำหรับกั้นช่องเขาส่วน D (Saddle Dam D) โดยตัวเขื่อนมีความสูง 16 เมตร ยาว 800 เมตร และมีความหนาของสันเขื่อน 8 เมตร บริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หนึ่งในผู้ถือหุ้นของโครงการก่อสร้างระบุว่า เขื่อนดินนี้ถูกสร้างขึ้นเพื่อกั้นน้ำรอบอ่างเก็บน้ำเซน้ำน้อย ทว่าพายุฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับการทรุดตัวของเขื่อนจึงส่งผลให้เกิดรอยร้าวและส่วนสันเขื่อนพังถล่มลงตามมา

ด้าน ดาริน คล่องอักขระ ผู้สื่อข่าวจากสำนักข่าวไทยพีบีเอสให้รายละเอียดเพิ่มเติม ข้อมูลจาก รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ ระบุว่าช่วงที่เขื่อนดินพังถล่มเสียหายนั้นมีความยาว 250 เมตร แต่ปริมาณน้ำที่ไหลออกไปนั้นไม่ได้รั่วไหลออกไปทั้งหมดของการกักเก็บ (5,000 ล้านลูกบาศก์เมตร) ณ ขณะนี้คาดกันว่าน้ำที่ไหลเข้าท่วมมีปริมาณ 400 ล้านลูกบาศก์เมตร จากทั้งหมด 1,034 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเป็นความจุทั้งหมดของบริเวณเขื่อนดินส่วนช่องเขา D

ทั้งนี้รายงานจากเฟซบุ๊กของ Pai Deetes จาก International Rivres, มูลนิธิพัฒนาชุมชนและเขตภูเขา เขื่อนดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2019 คาดกันว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 410 เมกะวัตต์ โดยจะขายให้ประเทศไทย 370 เมกะวัตต์ มีอายุสัมปทาน 27 ปี ร่วมทุนสามประเทศประกอบด้วย ลาว, ไทย และเกาหลีใต้ โดยมีบริษัทผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) ถือหุ้น 25%, บริษัท Lao Holding State Enterprise ถือหุ้น 24%, บริษัท SK Engineering and Construction และ  Korea Western Power ของเกาหลีใต้ถือหุ้น 26% และ 25% ตามลำดับ

 

เขื่อนดังกล่าวยังคงอยู่ระหว่างการก่อสร้าง และมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2019 คาดกันว่าเมื่อเสร็จสิ้นโครงการจะสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ 410 เมกะวัตต์ โดยจะขายให้ประเทศไทย 370 เมกะวัตต์

เสียงจากชาวบ้าน

สำนักข่าว South China Morning Post รายงาน บริษัท SK Engineering and Construction ได้รับคำเตือนว่าเขื่อนอาจจะถล่มลง เมื่อ 24 ชั่วโมงก่อนหน้าภัยพิบัติจะเกิดขึ้น ทว่าแม้จะมีประกาศให้ชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยอพยพ แต่ก็ไม่ทันเนื่องจากกระแสน้ำมาเร็วและแรงมาก ล่าสุดทางบริษัทได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบภัยพิบัติที่เกิดขึ้น รวมทั้งลงพื้นที่ช่วยเหลือชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบแล้ว

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ ผู้วิจัยเรื่องเขื่อนในแม่น้ำโขง แบ่งปันประเด็นน่าสนใจโดยระบุว่าก่อนหน้านี้ที่โครงการสร้างเขื่อนจะเกิดขึ้น บรรดาชาวบ้านในพื้นที่ต้องการให้มีการปรึกษาหารือกับทางโครงการก่อนเริ่มดำเนินการ ในรายงานระบุบันทึกจากคุณ Tania Lee ที่เคยไปพักอาศัยกับครอบครัวกลุ่มชาติพันธุ์ยาหยวนในลาวใต้ เมื่อต้นปี 2013 เล่าว่าประชาชนหลายพันคนถูกบังคับให้อพยพมาอาศัยยังพื้นที่แห่งนี้ระหว่างปี 2539 – 2544 เพื่อปูทางให้พื้นที่เดิมของพวกเขาเป็นสถานที่สร้างเขื่อน

แต่เดิมพื้นที่บ้านเกิดที่อาศัยกันมาตั้งแต่บรรรพบุรุษของพวกเขาเป็นพื้นที่ที่มีแม่น้ำลำห้วยไหลผ่าน ทำการประมงได้อย่างสมบูรณ์ และสามารถเก็บของป่า ตลอดจนทำการเกษตร ทว่าพื้นที่ใหม่นั้นเกิดจากากรถางป่า และไม่มีแม่น้ำในบริเวณใกล้เคียงให้จับปลา หรือใช้น้ำสะอาดได้ วิถีชีวิตของชาวบ้านต้องเปลี่ยนแปลงไปเป็นการใช้เงินจับจ่ายซื้อหาอาหารจากตลาดที่ตั้งห่างออกไป 5- 8 กิโลเมตรแทน

กลุ่มชาติพันธุ์ยาหวน (Nya Heun) และสายน้ำที่พวกเขาใช้ในการดำรงชีวิต ที่ได้รับผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อน
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ

ประชาชนหลายพันคนถูกบังคับให้อพยพมาอาศัยยังพื้นที่แห่งนี้ระหว่างปี 2539 – 2544 เพื่อปูทางให้พื้นที่เดิมของพวกเขาเป็นสถานที่สร้างเขื่อน

อย่างไรก็ดียังคงมีชาวบ้านกลุ่มหนึ่งที่ยืนหยัดไม่ยอมย้ายออกไป คือชาวบ้านในหมู่บ้านห้วยโจด และบ้านหนองผานวน แม้จะเผชิญกับการข่มขู่จากเจ้าหน้าที่ไปจนถึงการตัดสาธารณูปโภคก็ตาม จากกรณีเขื่อนแตกล่าสุด รายงานข่าวระบุหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วมมีน้อยเจ็ดแห่ง และชาวบ้านเหล่านี้เป็นผู้อพยพมายังที่อยู่ใหม่จากโครงการก่อสร้างเขื่อนทั้งสิ้น พวกเขาต้องเผชิญกับผลกระทบอย่างใหญ่หลวง ต้องสูญเสียบ้านเรือน ทรัพย์สิน และสมาชิกในครอบครัวไปจากเขื่อนที่สร้างบนพื้นที่ทำกินเดิมของพวกเขา

 

บทเรียนจากเขื่อนแตก

องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers ระบุว่าเขื่อนดังกล่าวมีความเสี่ยงอยู่เดิมที่ไม่ได้ออกแบบให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและภัยพิบัติได้  ในนขณะเดียวกันก็มีความบกพร่องเรื่องการเตือนภัยที่ล่าช้า เนื่องจากก่อนหน้าเขื่อนแตกเพียงไม่กี่ชั่วโมง หัวหน้าโครงการจัดสรรที่อยู่ใหม่ของประชาชนเพิ่งออกจดหมายเตือนไปยังแขวงจำปาสักและอัตตะปือถึงสภาพเขื่อนที่อาจแตก และจะยังผลให้น้ำปริมาณ 5,000 ล้านตันไหลสู่แม่น้ำเซเปียน แต่เขื่อนก็แตกเสียก่อน

สอดคล้องกับ สำนักข่าวคมชัดลึก ที่วิเคราะห์บทเรียนชัดเจนจากภัยพิบัติดังกล่าว ระบุว่าสาเหตุมาจากสองปัจจัยหลักคือ 1. ความเสี่ยงที่สำคัญจากการออกแบบเขื่อน – ซึ่งไม่สามารถรับมือกับความผันผวนด้านสภาพอากาศอันเลวร้ายได้ ซึ่งเกิดขึ้นบ่อยในภูมิภาคนี้ และเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ 2. ข้อบกพร่องด้านการเตือนภัย – การเตือนภัยที่ล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพมากพอ ซึ่งทั้งสองประเด็นนำมาสู่คำถามด้านความรับผิดชอบ และมาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อนลาวในอนาคต

ชาวบ้านผู้ประสบภัยกำลังรอความช่วยเหลือ
ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Attapeu Today

 

องค์กรแม่น้ำนานาชาติ International Rivers ระบุว่าเขื่อนดังกล่าวมีความเสี่ยงอยู่เดิมที่ไม่ได้ออกแบบให้สามารถรับมือกับสภาพอากาศที่เลวร้ายและภัยพิบัติได้  ในนขณะเดียวกันก็มีความบกพร่องเรื่องการเตือนภัยที่ล่าช้า

ด้านเฟซบุ๊ก หยุดเขื่อนไซยะบุรี รายงาน ตลอด 3 ปีที่ผ่านมาเกิดเหตุการณ์เขื่อนแตกมาแล้วถึง 3 ครั้ง โดยสองเหตุการณ์ก่อนหน้าเกิดขึ้นเมื่อเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2017 เขื่อนน้ำอ้าว เมืองผาไซ แขวงเซียงขวาง กำลังการผลิต 15 เมกะวัตต์แตก ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมเมืองท่าโทม แขวงไซยสมบูน ส่วนก่อนหน้านั้นเกิดเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2016 อุโมงค์ของเขื่อนเซกะมาน 3 แตก ทำให้น้ำไหลเข้าท่วมบ้านดายรัง เมืองดากจัง แขวงเซกอง

ทั้งนี้นอกเหนือจากคำถามด้านมาตรฐานความปลอดภัยของเขื่อน และระบบการเตือนภัยที่ควรมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว นายวิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ ผู้อำนวยการเครือข่ายพลังงานเพื่อนิเวศวิทยาแม่น้ำโขง (Mekong Energy and Ecology Network:MEE-NET) มูลนิธิฟื้นฟูชีวิตและธรรมชาติ ระบุว่าอีกคำถามสำคัญคือ “คุณธรรม-ศีลธรรม” ของบริษัทผู้สร้างเขื่อนก็เป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญ เนื่องจากในกฎหมายลาวระบุไว้ว่า ผลความเสียหายด้านสิ่งแวดล้อมทั้งหมดระหว่างก่อสร้างเป็นหน้าที่ของบริษัทที่รับสัมปทานต้องรับผิดชอบ แต่ถ้าสร้างเสร็จแล้วความรับผิดชอบจะตกอยู่กับรัฐบาล

“โครงการนี้แม้เริ่มต้นด้วยบริษัทของเกาหลีใต้ได้รับสัมปทาน แต่เมื่อมาแตกหุ้นและดำเนินการก่อสร้าง ทุนเกือบทั้งหมดได้จากประเทศไทย แถมยังขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพราะฉะนั้นต้องถามว่าบริษัทเหล่านี้จะรับผิดชอบต่อความเสียหายครั้งนี้อย่างไร” นายวิฑูรย์กล่าว พร้อมเสริมว่าในปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านหรือไม่ ในเมื่อกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าของเราเองก็มีเพียงพอ?

ในปัจจุบันประเทศไทยจำเป็นต้องซื้อพลังงานไฟฟ้าจากเพื่อนบ้านหรือไม่ ในเมื่อกำลังผลิตพลังงานไฟฟ้าของเราเองก็มีเพียงพอ

 

น้ำอาจขังยาวนาน

ดร. สมพร ช่วยอารีย์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้จำลองเส้นทางน้ำจากเขื่อนที่ไหลจากพื้นที่บริเวณเขื่อนแตกเพื่อดูกรณีที่เลวร้ายที่สุด โดยใช้ช้อมูล SRTM 90 ม. มาคำนวณ โดยไม่มีถนนหรือสิ่งปลูกสร้างมาขวางทางน้ำ และวิเคราะห์ว่ามีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมขังยาวนานขึ้น เนื่องจากแม่น้ำทางตอนใต้เป็นคอขวด  น้ำที่ท่วมเป็นบริเวณกว้างด้านบนจะค่อยๆ ไหลลงแม่น้ำธรรมชาติไปยังแม่น้ำโขง ที่สตึงเตรง กัมพูชา

ข้างล่างนี้คือแบบจำลองเส้นทางน้ำท่วมตั้งแต่จุดที่เขื่อนแตก โดย ดร. สมพร ช่วยอารีย์

 

ในกรณีเลวร้ายที่สุด มีความเสี่ยงที่จะเกิดน้ำท่วมขังยาวนาน เนื่องจากแม่น้ำทางตอนใต้เป็นคอขวด

อ่านเพิ่มเติม

วิถีชีวิตของชนเผ่าที่เปลี่ยนไปเพราะเขื่อน

 

แหล่งข้อมูล

เขื่อนลาวแตก มีผู้สูญหายหลายร้อย คนกว่าครึ่งหมื่นทางตอนใต้ของประเทศไร้ที่อยู่อาศัย

Laos dam damage was discovered 24 hours before disastrous collapse, says South Korean builder

เขื่อนแตกในลาว ถามถึงคุณธรรม-จริยธรรมนักสร้างเขื่อน-นักปล่อยกู้ไทย ผ่านมุมมอง “วิฑูรย์ เพิ่มพงศาเจริญ”

เขื่อนแตกที่ลาวคุมได้แล้ว น้ำไม่ทะลักเพิ่ม แต่ที่ท่วมยังสูง

เขื่อนที่ลาวแตกสะท้อนอะไร

Attapeu Today

 

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.