Explorer Awards 2018: รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์

รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์

นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล  

นอกจากจะเป็นนักวิทยาศาสตร์หญิงไทยคนแรกที่ได้ไปสำรวจและดำน้ำในแอนตาร์กติกาแล้ว รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ ยังเป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ไทยชุดแรกที่กำลังเดินทางมุ่งหน้าสู่มหาสมุทรอาร์กติกเพื่อสำรวจผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและขยะพลาสติก จากความรักและความฝันในวัยเด็กที่หลงใหลในท้องทะเล เป็นแรงบันดาลใจและหล่อหลอมให้ รศ.ดร.สุชนา ชวนิชย์ เลือกเส้นทางเดินสู่การเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล  เรื่องหนึ่งที่ รศ.ดร.สุชนา ทุ่มเทแรงกายแรงใจศึกษาคือปะการัง  รศ.ดร.สุชนาได้รับทุนวิจัยจากสมาคมเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ประเทศสหรัฐอเมริกา ที่สนับสนุนโครงการศึกษาผลกระทบที่มีต่อแนวปะการังหลังเหตุการณ์ธรณีพิบัติภัยและคลื่นยักษ์สึนามิเมื่อปี พ.ศ. 2547

 

งานที่ทำอยู่ในปัจจุบัน

ในฐานะอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นอกจากงานสอนนิสิตทั้งในระดับปริญญาตรี โท เอก แล้ว ก็ทำงานวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาทางทะเล

 

งานที่ทำเกี่ยวข้องกับการสำรวจอย่างไร

งานของนักวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องกับการสำรวจอย่างมาก การสำรวจถือเป็นเครื่องมือสำคัญและเป็นงานแรกๆของนักวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะนักวิทยาศาสตร์ภาคสนาม  การสำรวจเป็นสิ่งแรกที่ทำให้เราค้นพบว่า มีอะไรเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้ความเข้าใจว่า โลก ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปบ้าง

 

บทบาทของนักสำรวจในการสร้างความเปลี่ยนแปลง

งานของนักสำรวจไม่ใช่เพียงแค่ค้นพบสิ่งใหม่ๆ หรือช่วยให้เรารู้และเข้าใจความเป็นไปของโลกและสิ่งแวดล้อมเท่านั้น แต่ยังต่อยอดไปถึงการช่วยป้องกันหรือแก้ปัญหาในสิ่งที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้ เช่น ปัญหาโลกร้อน ถ้าไม่มีงานของนักสำรวจ เราจะไม่มีทางรู้ได้ว่า โลกร้อนเกิดจากอะไร แล้วเราจะมีแนวทางแก้ไขอย่างไร

 

ทะเลและมหาสมุทรเปราะบางเพียงใด

จริงๆต้องบอกว่า ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในทะเลมีมากกว่าที่เราเห็นบนบกเสียอีก นั่นแสดงว่าทะเลและมหาสมุทรแม้จะดูกว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็เปราะบางมาก ลองดูง่ายๆว่า อุณหภูมิน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเพียงหนึ่งองศาก็มากพอที่จะทำให้ปะการังตายได้ สัตว์น้อยสัตว์ใหญ่อาจไม่สามารถดำรงชีวิตต่อไปได้

 

อยากให้พูดเรื่องขยะพลาสติกสักหน่อย

จริงๆก็ดีที่คนเริ่มตื่นตัว แต่ปัญหานี้ต้องบอกว่ามีมานานมากแล้ว จริงๆเคยบอกนิสิตที่สอนตั้งแต่เมื่อสิบห้าปีที่แล้วว่าให้ช่วยลดการใช้ถุงพลาสติก ลองเปลี่ยนมาใช้ถุงผ้า สิบปีให้หลัง คนถึงเริ่มตื่นตัว จริงๆต้องบอกว่า เราช้า ตอนนั้นในอเมริกาหรือยุโรป  ไปถึงไหนกันแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่าดีกว่าไม่เริ่มทำอะไรเลย คงต้องมาดูว่าที่เราตื่นตัวกันเป็นเพราะอะไร จะใช่เพราะมีการตีพิมพ์รายงานว่า เราเป็นประเทศอันดับที่หกที่ทิ้งขยะพลาสติกมากที่สุดหรือเปล่า เราต้องรอให้มีงานวิจัยลักษณะนี้ออกมาหรือถึงเริ่มตื่นตัว ส่วนตัวเชื่อและคิดว่าไม่จำเป็น ยังมีอีกหลายๆ เรื่องที่เราควรช่วยกัน แต่ต้องยอมรับว่า ในงานด้านสิ่งแวดล้อม ความเป็นจริงคือ หลายๆครั้งถ้าเรื่องไม่เกิดให้เห็น เราก็ไม่ตื่นตัวป้องกัน

ยกตัวอย่างเรื่องชนิดพันธุ์ต่างถิ่นซึ่งตัวเองจบมาทางด้านนี้โดยตรง ที่ผ่านมาเราต้องทำงานหนัก เพราะหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องก็จะพูดว่า ยังไม่เกิดผลกระทบ เพราะฉะนั้นเรายังไม่จำเป็นต้องทำอะไร แต่ถ้ามามองกันจริงๆ ถ้าเกิดผลกระทบแล้ว นั่นคือภาวะหนักแล้วสำหรับระบบนิเวศ ทำไมไม่คิดว่าเราควรที่จะป้องกัน มากกว่าจะรอให้เห็นผลกระทบ แล้วถึงเริ่มลงมือทำอะไร นี่เป็นสิ่งที่ทำให้คิดว่า เราอาจต้องเปลี่ยนวิธีคิด  เสียใหม่ เพราะถ้าผลกระทบมาแล้ว อย่างเรื่องขยะ ถ้าเราไม่ป้องกันตั้งแต่แรก โดยลดการใช้หรือไม่ใช่ใช้ตั้งแต่ต้น เราก็ต้องคอยมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ วันก่อนมีคนมาถามว่า เราไปเก็บถุงพลาสติก ไปเก็บไมโครพลาสติกในทะเลได้ไหม เลยตอบไปว่าจะทำได้อย่างไร มันเล็กมาก

“มนุษย์เราเก่งและสามารถทำได้ทุกอย่าง ทั้งนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ต่างๆ  แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้ ก็คือเราไม่สามารถทำให้ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิมได้”

 

ถ้าจะมีสักบทเรียนหนึ่งที่อยากฝากไว้คืออะไร

ตัวเองโชคดีที่มีโอกาสลงทะเลตั้งแต่เด็กๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้ตัวเองมายืนอยู่ ณ จุดนี้ คือเป็นคนที่สนใจในท้องทะเลและเป็นนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล สิ่งหนึ่งที่เห็นแน่นอนคือความเปลี่ยนแปลงของทะเลจากในอดีตตั้งแต่ตอนที่ยังเป็นเด็ก เราเคยเห็นความสวยงามของมันถึงขนาดที่จุดประกายความสนใจในตัวเองได้ ทุกวันนี้ เราก็ยังพอเห็นความสวยงามนั้นได้ แต่คงไม่เหมือนกับในอดีตเมื่อสัก 20-30 ปีที่แล้ว สิ่งที่ตัวเองได้เรียนรู้คือว่า มนุษย์เรานี่เก่งมาก สามารถทำได้ทุกอย่าง มีนวัตกรรมใหม่ เทคโนโลยีใหม่ต่างๆ แต่สิ่งหนึ่งที่เราทำไม่ได้ ก็คือเราไม่สามารถทำให้ธรรมชาติหรือสิ่งแวดล้อมกลับคืนมาเป็นเหมือนเดิมได้

 

อ่านเพิ่มเติม

“หมีขั้วโลกผอมโซ” ประจักษ์พยานของภาวะโลกร้อน

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.