อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นของโลกส่งผลให้พายุทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น ฝนตกมากขึ้น ตลอดจนความเร็วลมเพิ่มขึ้นอีกด้วย รวมไปถึงคลื่นพายุ หรือ Storm Surges กระแสน้ำที่พัดเข้าหาฝั่งเมื่อพายุเคลื่อนตรงมายังแผ่นดิน ก็ยิ่งมีแนวโน้มที่จะสูงและรุนแรงขึ้นเช่นกัน รายงานจากผลการศึกษาใหม่ที่บ่งชี้ถึงความรุนแรงในภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ ทว่าการจะด่วนสรุปว่า เฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ และไต้ฝุ่นมังคุดที่เกิดขึ้นขณะนี้ เป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศด้วยนั้น ยังเป็นการสรุปที่เร็วเกินไป และมีข้อมูลไม่มากพอ
ถ้อยแถลงจากนักอุตุนิยมวิทยาและนักวิทยาศาสตร์จำนวน 17 ท่าน ที่ศึกษาเฮอร์ริเคนและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมานานระบุว่า ภาวะโลกร้อนไม่ได้ก่อให้เกิดเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ เนื่องจากในเดือนกันยายนของทุกปีเป็นฤดูของพายุเฮอร์ริเคนในมหาสมุทรแอตเเลนติก แต่ยกระดับให้ภัยพิบัติรุนแรงขึ้นต่างหาก
(10 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเฮอร์ริเคน)
“เฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์คือตัวแทนของภัยพิบัติรุนแรงที่จะเกิดบ่อยขึ้นในอนาคต เมื่อโลกของเราอุ่นขึ้น” Jonathan Overpeck จากมหาวิทยาลัยมิชิแกนกล่าว เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่เมื่อถามถึงเหตุการณ์พิเศษด้านสภาพอากาศที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ บรรดานักวิทยาศาสตร์จะพยายามไม่เชื่อมโยงสองสิ่งนี้เข้าด้วยกัน แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา งานวิจัยใหม่ๆ ช่วยเสริมให้นักวิทยาศาสตร์ใช้สถิติและโมเดลคอมพิวเตอร์ เพื่อคำนวณว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นจะแตกต่างไปอย่างไร หากโลกใบนี้ไม่มีภาวะโลกร้อน
“เหมือนหนังเรื่อง ‘Back to the Future’ เลยครับ เมื่อคุณได้ท่องไปยังมิติคู่ขนานอื่นๆ” แต่เป็นโลกที่มนุษย์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงสภาพอากาศใดๆ รายงานจาก Peter Stott นักวิทยาศาสตร์ด้านสภาพอากาศ มหาวิทยาลัยเอ็กซิเตอร์
สภาวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ รายงานว่าการศึกษาในทำนองนี้ค่อนข้างน่าเชื่อถือ หนึ่งในทีมวิจัยพยายามวิเคราะห์ข้อมูลของเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ ท่ามกลางเสียงเตือนจากนักวิทยาศาสตร์อื่นๆ เนื่องจากข้อมูลเหล่านี้ตั้งอยู่บนการพยากรณ์ ไม่ใช่การสังเกตการณ์ อีกทั้งยังไม่มากพอที่จะคำนวณด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ได้
พวกเขาพบว่าพายุที่เกิดขึ้นนั้นจะมีความรุนแรงขึ้น ปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนสร้างความเสียหายให้แก่ชายฝั่งมากขึ้นเช่นกัน หากอุณหภูมิในอากาศอุ่นขึ้น โดยทุกๆ หนึ่งองศาฟาเรนไฮต์จะส่งผลให้พายุอุ้มน้ำมากขึ้นราว 4% (สัดส่วนเพิ่มเป็น 7% หากเป็นองศาเซลเซียส) จากน้ำทะเลที่อุ่นขึ้นซึ่งส่งผลให้มีปริมาณน้ำระเหยไปสู่ชั้นบรรยากาศมากขึ้นตาม อีกทั้งอากาศที่อุ่นยังสามารถเก็กกักน้ำได้ในปริมาณมากขึ้นอีกด้วย
ในการพิจารณาเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์โดยเฉพาะ Jeff Masters ผู้อำนวยการ Weather Underground Meteorology ชี้ว่าอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นน่าจะส่งผลให้พายุมีปริมาณน้ำฝน และความรุนแรงมากกว่าปกติ จากข้อมูลตลอด 4 ปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่มหาสมุทรแอตแลนติกมีอุณหภูมิสูงที่สุด ดังนั้นจึงมีความเป็นไปได้สูง
Masters ยังเสริมอีกว่า ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นยังส่งผลให้คลื่นพายุมีความรุนแรงมากขึ้น เนื่องจากว่าการเกิดคลื่นพายุความสูงราว 1.8 – 3 เมตร นั้นถือเป็นระดับปกติที่ไม่อันตราย แต่นี่คือมาตรฐานที่ตั้งขึ้นเมื่อสิบปีก่อน ปัจจุบันระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นสูงสุดราว 8 นิ้ว จะส่งผลให้คลื่นทะเลมีความสูงต่างไปจากเดิม แม้ความสูงของคลื่นจะอยู่ในเกณฑ์ไม่อันตราย ทว่าเมื่อพิจารณารวมกับระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอาจสร้างความเสียหายได้
ด้าน Ryan Maue นักอุตุนิยมวิทยาจาก weathermodels.com ชี้ว่า การพิจารณาผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศควรพิจารณารวม ไม่ใช่จากเหตุการณ์เดียว สอดคล้องกับความคิดเห็นจาก Brian McNoldy ผู้เชี่ยวชาญด้านเฮอร์ริเคน จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน ที่ระบุว่า การเกิดภัยพิบัติมีปัจจัยมากมาย และไม่ควรกล่าวโทษภาวะโลกร้อนเพียงอย่างเดียว
สำหรับความเสียหายจากเฮอร์ริเคนฟลอเรนซ์ ล่าสุดเดินทางถึงเมืองวิลล์มิงตัน ในรัฐเดลาแวร์แล้ว ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมสูง รวมยอดผู้เสียชีวิตอย่างเป็นทางการ 32 รายหลังเฮอร์ริเคนขึ้นฝั่งที่รัฐนอร์ทแคโนไรนา เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา และอีกราว 500,000 คน ไม่มีไฟฟ้าใช้ คาดกันว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นน่าจะอยู่ที่ราว 17 – 22 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ
อ่านเพิ่มเติม
แหล่งข้อมูล
What Forecasters Got Right and Wrong About Florence
Global warming didn’t cause Florence, scientists say, but it’s making hurricanes more intense
Hurricane Florence is not climate change or global warming. It’s just the weather.