ชีวิตมีทางของมันในทุกที่ และเบ่งบานงอกงามแม้ไม่อาจมองเห็นด้วยตา กระแสน้ำในมหาสมุทรที่พัดเวียนได้สร้างให้ผิวน้ำทะเลเป็นสถานที่ที่ดีที่สุดแก่บรรดาแพลงก์ตอนตัวจิ๋ว และเมื่อพวกมันรวมตัวกันมากเข้า ปลาที่หิวโหยก็จะตามมา ก่อกำเนิดห่วงโซ่อาหารในระบบนิเวศ แต่ทุกวันนี้นักวิจัยพบสมาชิกใหม่ที่ไม่ได้รับเชิญ “พลาสติก”
“ปริมาณที่พบแค่ในตัวอย่างเล็กๆ สำหรับผมมันน่าตกใจมาก” David Liittschwager ช่างภาพ และนักสำรวจของเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกกล่าว เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ตัวเขาร่วมกับนักวิทยาศาสตร์เก็บตัวอย่างน้ำทะเลจากชายฝั่งของฮาวาย สถานที่ซึ่งอุดมไปด้วยแพลงก์ตอนจำนวนมาก พวกเขาตักผิวน้ำทะเลปริมาณ 400 ลูกบาศก์เมตรบรรจุลงถัง 5 แกลอนกลับไปยังห้องปฏิบัติการบนเกาะใหญ่ นอกจากนั้น Liittschwager ยังศึกษาตัวอย่างน้ำผิวดินจากเมือง Plymouth บนเกาะอังกฤษควบคู่ไปด้วย
Littschwager แบ่งตัวอย่างน้ำที่เก็บได้ใส่ถาด เพื่อเตรียมถ่ายภาพในระยะใกล้ที่สุด โลกที่ปรากฏคืออาณาจักรอันแยกจากกันไม่ได้ของแพลงก์ตอนและไมโครพลาสติก ลูกปลาตัวจิ๋วว่ายเคียงคู่อยู่กับชิ้นพลาสติกสีสันสดใส ถัดออกไปคือเศษของเอ็นตกปลา และบางถาดมีขยะแน่นเสียจนตัวเขาแยกไม่ออกว่าสิ่งใดคือสิ่งมีชีวิต และสิ่งใดไม่มีชีวิต
ภาพถ่ายชุดนี้ดูราวกับงานศิลปะแอบสแตรกที่เต็มไปด้วยสีสันแห่งมหาสมุทร ทว่าภายใต้ความสวยงามนี่คือภัยร้ายที่กำลังคุกคามและเพิ่มจำนวนขึ้นเรื่อยๆ ไมโครพลาสติกคือชื่อเรียกของขยะพลาสติกที่มีขนาดไม่เกิน 5 มิลลิเมตร พบได้ทั่วมหาสมุทร ในแม่น้ำ หรือแม้แต่ร่องลึกที่สุดของโลก พวกมันคือผลผลิตจากการแตกหักของขยะพลาสติกในทะเลเมื่อเผชิญกับคลื่นและแสงยูวี
ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์มากมายพยายามที่จะหาว่าไมโครพลาสติกเหล่านี้อันตรายต่อมนุษย์และสิ่งมีชีวิตในทะเลมากแค่ไหน ในปี 2017 งานวิจัยชิ้นหนึ่งพบว่าปลาแอนโชวี่มากมายกินไมโครพลาสติกเข้าไป เพราะกลิ่นที่คล้ายสาหร่ายทำให้เข้าใจผิดว่าขยะเหล่านี้คืออาหาร ปลาเล็กๆ จะถูกปลาใหญ่กินต่อตามห่วงโซ่อาหาร สร้างความกังวลว่าสุดท้ายแล้วไมโครพลาสติกจากขยะที่เราทิ้งจะวนกลับมายังมื้ออาหาร และส่งผลต่อสุขภาพตัวของเราเอง รายงานอีกชิ้นเมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมาพบว่าขณะนี้ 90% ของเกลือที่ใช้ปรุงอาหาร ล้วนปนเปื้อนไปด้วยไมโครพลาสติกแล้ว
“พลาสติกคือวัสดุที่มหัศจรรย์มาก” Liittschwager กล่าว “แต่ความคิดที่นำวัสดุนี้ไปผลิตข้าวของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งต่างหากที่น่าเหลวไหล” และวิกฤตนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น ในปี 1994 ตัวเขาออกสำรวจชายหาดในฮาวายที่รับขยะมาจากแพขยะแห่งแปซิฟิก สิบปีต่อมาดูเหมือนว่าผลกระทบจะลุกลามมากขึ้น ตัวเขาอยู่บนเกาะห่างไกลในฮาวายอีกครั้ง ร่วมหาคำตอบกับนักวิทยาศาสตร์ว่าทำไมลูกนกอัลบาทรอสถึงล้มตายตั้งแต่ยังเล็ก ผลการชันสูตรพบฝาขวดน้ำ และเศษพลาสติกอื่นๆ ในท้องของมัน
กระนั้น Liittschwager เล่าว่าสิ่งที่เขาทำเป็นเพียงบันทึกความจริง “ผมอยากให้ผู้คนได้เห็นว่าขณะนี้เกิดอะไรขึ้นบ้าง” เขากล่าว
เรื่อง Sarah Gibbens และ Laura Parker
ภาพถ่ายโดย David Liittschwager
อ่านเพิ่มเติม