ภาพถ่ายโดย เอกรัตน์ ปัญญะธารา
ทำความรู้จัก PM 2.5
PM ย่อมาจาก Particulate Matter หรืออนุภาคใดๆ ที่มีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมโครเมตร (ไมครอน) ซึ่งขนจมูกไม่ดักจับได้ โดยเป็นสารแขวนลอยที่ฟุ้งกระจายในชั้นบรรยากาศ อาจอยู่ในสภาพของเหลวหรือของแข็งขนาดเล็ก เช่น อนุภาคต่างๆ เชื้อโรค หรือฝุ่นละออง จนทำให้เรามองเห็นในภาพกว้างเป็นลักษณะคล้ายหมอกหรือควัน
ในประเทศไทยเริ่มตรวจวัดค่า PM 2.5 มาตั้งแต่ พ.ศ. 2544 ก่อนที่กรมควบคุมมลพิษจะมอบหมายให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องฝุ่นละอองและข้อมูลอื่นๆ หลังจากนั้นคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติจึงออกประกาศการกำหนดมาตรฐานฝุ่น PM 2.5 ใน พ.ศ. 2553
ในสถานการณ์ปัจจุบันนิยมใช้การวัดค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index, AQI) ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้ระบุคุณภาพอากาศของสถานที่นั้นๆ โดยตัวเลขบอกปริมาณ PM 2.5 เป็นหน่วย ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (μg/m3)
ค่าเฉลี่ย AQI ของ PM 2.5 องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดไว้ที่ 25 μg/m3 สำหรับค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 10 μg/m3 สำหรับค่าเฉลี่ยต่อปี ขณะที่ประเทศไทยกำหนดมาตรฐานไว้ที่ 50 μg/m3 ในค่าเฉลี่ย 24 ชั่วโมง และ 25 μg/m3 ในค่าเฉลี่ยต่อปี ซึ่งสูงกว่า WHO ถึงกว่า 2 เท่า
ฝุ่น PM 2.5 ส่วนใหญ่มักเกิดจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น การเผาไหม้จากเครื่องยนต์ดีเซล โรงงานอุตสาหกรรม การเผาไหม้ในที่โล่งของการเกษตร การคมนาคมขนส่ง ไอเสียจากรถยนต์ ฝุ่น ควันดำ รวมถึงภัยธรรมชาติอย่างไฟป่าและภูเขาไฟระเบิด ในเวลาปกติชั้นบรรยากาศจะไล่อุณหภูมิความร้อนบริเวณพื้นดินขึ้นไปสู่ชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ฝุ่นต่างๆ ลอยขึ้นสูงและถูกกระแสลมพัดออกไปในที่สุด แต่ในฤดูหนาวอุณหภูมิที่พื้นดินมักเย็นกว่าชั้นบรรยากาศด้านบน ทำให้ชั้นบรรยากาศเป็นแนวผกผัน (Inversion Layer) จึงเปรียบเหมือนโดมครอบพื้นที่ไว้ ทำให้ฝุ่นละอองไม่สามารถขึ้นสูงด้านบนได้ และสะสมจนกลายเป็นฝุ่นควันฟุ้งกระจายทั่วเมืองในที่สุด
แนวผกผันคืออะไร
แนวผกผัน (Inversion Layer) หรือเรียกอีกอย่างว่า ปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผัน (Temperature Inversion) เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตรงกันข้ามกับเหตุการณ์ของอุณหภูมิปกติในชั้นบรรยากาศ ซึ่งโดยปกติ อุณหภูมิในชั้นบรรยากาศจะลดลงตามประมาณ 6.4 องศาเซลเซียสในทุกๆ ความสูง 1,000 เมตร
สภาวะของปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันทำให้ควันและฝุ่นละอองต่างๆ ลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ แต่ช่วงเวลากลางคืน อุณหภูมิเหนือพื้นดินจะมีความเย็นกว่าอากาศข้างบน เนื่องจากมีการคายความร้อนของพื้นผิวโลก จึงทำให้เกิดปรากฏการณ์อุณหภูมิผกผันขึ้น
สำหรับในพื้นที่ย่านอุตสาหกรรมและเมืองใหญ่ๆ ที่มีการเผาไหม้เชื้อเพลิงชนิดต่างๆ ควันจะไม่สามารถลอยขึ้นไปในชั้นบรรยากาศได้ เนื่องจากอุณหภูมิของอากาศโดยรอบมีค่าสูงกว่า เรียกว่า แนวผกผัน (Inversion Layer) ปรากฏการณ์ดังกล่าวนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาตอนเช้าและหัวค่ำของฤดูหนาว โดยเฉพาะคืนที่ไม่มีลมและท้องฟ้าปลอดโปร่ง
ภาคอุตสาหกรรมและเกษตรกรรมแบบใดในประเทศไทยมักก่อมลพิษ PM 2.5
อย่างที่ทราบกันดีว่าภาคการเกษตร และภาคอุตสาหกรรมเป็นตัวก่อมลพิษทั้งทางด้านการผลิต และการเผาของเสีย ซึ่งทำให้เกิดการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ เช่น อุตสาหกรรมที่มีการเผาไหม้จากการผลิตในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นโรงงานถลุงโลหะ โรงผลิตไฟฟ้าจากถ่านหิน โดยโรงงานเหล่านี้ไม่มีการกรองฝุ่น PM 2.5 ก่อนออกสู่ชั้นบรรยากาศ ส่วนมลพิษที่เกิดจากภาคเกษตรกรรมนั้น มักมาจากการเผาไร่อ้อยขนาดใหญ่ ถึงแม้จะเป็นวิธีที่สะดวกสบายสำหรับคนงานที่เข้าไปตัดอ้อย แต่ผลกระทบจากการเผาไหม้สามารถแพร่กระจายออกไปในวงกว้างได้ง่าย
ฝุ่นละออง PM 2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อร่างกายของเราได้อย่างมากมาย เหตุเพราะ PM 2.5 เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กซึ่งสามารถเล็ดลอดเข้าจมูกไปสู่เส้นเลือดฝอยและกระจายไปตามอวัยวะได้ โดยผลกระทบเบื้องต้นคือเกิดการระคายเคืองต่อดวงตา แสบจมูก และส่งผลให้ผิวพรรณบริเวณใบหน้าเกิดริ้วรอย จุดด่างดำ เหี่ยวย่นง่าย และถ้าฝุ่นละอองสะสมอยู่ในอวัยวะเป็นเวลานานจะก่อให้เกิดความเสี่ยงของโรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดหัวใจ และโรคหอบหืด
อ่านเพิ่มเติม : “ต้นไม้” วิธีที่ง่ายและยั่งยืนที่สุดในการลดปัญหาฝุ่นควัน