ครอบครัวนี้ปฏิเสธแพมเพิส และกลับไปใช้ผ้าอ้อมธรรมดา

ครอบครัวนี้ปฏิเสธ แพมเพิส และกลับไปใช้ผ้าอ้อมธรรมดา

หากคุณเพิ่งจะมีลูก คุณอาจนึกอยากกราบขอบคุณลงที่ตักของ มาเรียน  โดโนแวน (Marion  Donovan) แม่บ้านผู้คิดค้นแพมเพิส ด้วยการตัดแผ่นพลาสติกจากม่านห้องน้ำนำมาเย็บกับผ้าอ้อม เพื่อช่วยให้ผ้าอ้อมมีคุณสมบัติในการกันน้ำได้ดีขึ้น เจ้าสิ่งประดิษฐ์สุดมหัศจรรย์ในการซึมซับนี้ช่วยชีวิตบรรดาพ่อแม่มือใหม่ได้มาก และมอบเวลาคืนกลับมาเมื่อไม่ต้องคอยเช็ดอึเช็ดฉี่ให้ลูกน้อยทุกๆ ชั่วโมง ทั้งยังมอบความไว้วางใจในการหอบหิ้วเอาเด็กอ่อนไปไหนมาไหนด้วยความมั่นใจว่าสารอินทรีย์จะไม่รั่วซึมออกมา

เพราะแพมเพิสสะดวกสบายเช่นนี้ ในขวบปีแรกๆ ของเด็กมีงานวิจัยพบว่าพวกเขาผ่านแพมเพิสมากถึง 6,000 ชิ้น กว่าจะสามารถเรียนรู้การกลั้นอุจจาระปัสสาวะ และวัฒนธรรมการเข้าห้องน้ำ แล้วแพมเพิสจำนวน 6,000 ชิ้นที่ว่าไปลงเอยที่ไหน? คำตอบคือหลุมฝังกลบ แพมเพิสมีส่วนประกอบของพลาสติก ทำให้พวกมันมีสถานะไม่ต่างจากขยะใช้แล้วทิ้งอื่นๆ เพียงแต่ยากยิ่งกว่าในการรีไซเคิล เมื่อขยะดังกล่าวเปียกชุ่มไปด้วยสิ่งปฏิกูล ดังนั้นคุณอาจจะตกใจที่พบว่ากว่าแพมเพิสผืนแรกของลูกน้อยจะย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ลูกของคุณคงสิ้นอายุขัยไปแล้ว เพราะนักวิทยาศาสตร์คาดกันว่าต้องใช้เวลาถึง 500 ปีเลยทีเดียว

แต่ในเมื่อของมันจำเป็นต้องใช้จะให้ทำอย่างไร? พิจารณาให้ถี่ถ้วนแพมเพิสจำเป็นจริงๆ หรือไม่…อันที่จริงหากย้อนกลับไปเมื่อทศวรรษ 1960 นวัตกรรมนี้เพิ่งจะกำลังได้รับความนิยมในสหรัฐฯ และทวีปยุโรปควบคู่ไปกับการเติบโตของตลาดผ้าอนามัย

ในทศวรรษต่อมา ผู้ผลิตพัฒนาการซึมซับให้ดียิ่งขึ้นด้วยการเปลี่ยนกระดาษชำระภายในให้เป็นเศษเยื่อไม้ และคำว่า “แพมเพิส” ที่เราเรียกกันติดปาก คือชื่อบองบริษัทแรกที่พัฒนาผ้าอ้อมสำเร็จรูปเป็นสินค้าหลัก เพื่อขายอย่างจริงจัง ก่อนที่จะได้การตอบรับอย่างดีจากบรรดาพ่อแม่ทั่วโลก และหากย้อนไปในยุคก่อนสงคราม เด็กๆ ถูกห่อหุ้มร่างกายด้วยผ้าอ้อม ซึ่งทำจากฝ้ายธรรมดา

ย้อนไปไกลกว่านั้น ในสังคมโบราณของชาวเอสกิโมที่อยู่ห่างไกล พ่อแม่ใช้หนังแมวน้ำคลุมตัวเด็ก ในสังคมชนพื้นเมืองของอเมริกาใต้ ชาวอินคาใช้หญ้าและหนังกระต่ายแทนผ้าอ้อม ส่วนในภูมิภาคเขตร้อน การอึหรือฉี่อาจไม่มีความจำเป็นต้องซึมซับเลย เพราะเด็กๆ ส่วนใหญ่เปลือยเปล่า ดังนั้นหากเทียบกันแล้วแพมเพิสเป็นเพียงจุดเล็กๆ บนเส้นทางการเลี้ยงเด็กตลอดประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา

รูปภาพของหนังแมวน้ำ ที่ชาวเอสกิโมนำมาใช้เป็นกางเกงสำหรับเด็ก ภาพถ่ายโดย Meghan Mulkerin

ด้วยสารดูดซับแบบพิเศษที่เรียกกันว่าพอลิเมอร์ดูดซับ (superabsorbent polymer ; SAP) และผ้าทอสังเคราะห์ที่มีคุณสมบัติไม่ชอบน้ำช่วยให้แพมเพิสสมัยใหม่มีประสิทธิภาพในการซึมซับที่มากกว่าผ้าอ้อมและแพมเพิสยุคก่อนๆ จะทำได้ ทั้งยังคงน้ำหนักเบาอย่างน่าทึ่ง สิ่งประดิษฐ์นี้ปฏิวัติการเลี้ยงดูเด็กและมอบความสะดวกสบายให้แก่เราก็จริง แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบจากแพมเพิสยิ่งใหญ่กว่าตัวทารกหลายเท่า เพราะกว่าจะได้แพมเพิสที่ถูกใช้ซึมซับเพียงไม่กี่ชั่วโมงต้องใช้พลังงานน้ำ ไฟฟ้า และน้ำมันในการผลิต

เมื่อถูกโยนทิ้งแล้ว ในกระบวนการย่อยสลาย แพมเพิสซึ่งเป็นขยะมากที่สุดอันดับ 3 ในหลุมฝังกลบยังผลิตก๊าซเรือนกระจกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศตามมา ในขณะที่บางส่วนซึ่งผลิตมาจากพลาสติกนั้นยังคงอยู่และยากต่อการกำจัด อาจกล่าวได้ว่ามนุษย์เรามีส่วนร่วมในการสร้างรอยเท้าคาร์บอนต่อโลก ตั้งแต่ยังไร้เดียงสาก็ไม่ผิดนัก

กองขยะผ้าอ้อมสำเร็จรูป ที่กำลังจะถูกเคลื่อนย้ายไปทิ้ง ณ หลุมฝังกลบ ขอขอบคุณรูปภาพจาก https://airfreshener.club/quotes/trash-no-sign-diapers.html

ทุกวันนี้มีคนรุ่นใหม่มากมายที่ออกมาเรียกร้องความรับผิดชอบจากคนรุ่นเก่าๆ เมื่อพวกเขามองว่าการกระทำแบบไม่ใส่ใจจากคนรุ่นก่อนกำลังทิ้งโลกที่ไม่น่าอยู่ให้แก่พวกเขา เมื่อปี 2018 สหประชาชาติออกมาเตือนว่าเรามีเวลาเหลือเพียงแค่ 12 ปีในการช่วยกันควบคุมไม่ให้อุณหภูมิโลกเพิ่มสูงเกินกว่า 1.5 องศาเซลเซียส เพื่อหลีกเลี่ยงหายนะมากมายที่จะตามมา ทว่าหากยังไม่เกิดการเปลี่ยนแปลง เด็กๆ รุ่นใหม่อาจไม่ใช่แค่เดินไปเข้าไปถามพ่อแม่ว่าพวกเขาเกิดมาเพื่ออะไร แต่คำถามในอนาคตอาจไปไกลกว่านั้นว่า ทำไมต้องให้เขาเกิดมาในโลกที่ไม่น่าอภิรมย์เช่นนี้?

แล้วเราพอจะทำอะไรได้บ้าง ในฐานะพลเมืองโลกคนหนึ่ง เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิกมีโอกาสได้พูดคุยกับ ศิระ และ ปริศนา ลีปิพัฒนวิทย์ คุณพ่อและคุณแม่มือใหม่ผู้พยายามเลี้ยงดูน้องศิริน ลีปิพัฒนวิทย์ ลูกสาววัย 6 เดือน โดยก่อขยะให้น้อยที่สุด ใครก็ทราบกันดีว่าการเลี้ยงเด็กสักคนนั้นยากและเหน็ดเหนื่อยแค่ไหน ท้าทายยิ่งกว่าคือพวกเขาเลี้ยงลูกกันอย่างไรโดยไม่ทำร้ายโลก

“จุดเริ่มต้นมันมาจากก่อนหน้านี้ที่เราพยายามใช้ชีวิตแบบไม่รบกวนโลกอยู่แล้ว โดยไม่ต้องยากลำบาก กล้ำกลืนฝืนทน ทุกครั้งที่เราทำได้ เรารู้สึกดี ทุกครั้งที่เราพลาด เรารู้สึกแย่ ชีวิตมันเป็นแบบนี้มาเรื่อยๆ ดังนั้นพอมีเงื่อนไขใหม่ในชีวิตเข้ามา (การมีลูก) เราก็พยายามรักษาวิถีชีวิตของเราไว้” ศิระกล่าว ชายผู้นี้มีไลฟ์สไตล์กรีนอยู่แล้ว ด้วยการปั่นจักรยานไปทำงาน พกช้อนส้อมหลอด และกระติกน้ำติดตัว ทั้งยังพกเผื่อเพื่อนๆ เพื่อที่จะได้ลดการก่อขยะในชีวิตประจำวันให้น้อยที่สุด ด้านปริศนาผู้เป็นภรรยาเล่าว่า ในตอนแรกค่อนข้างกังวล เพราะทราบดีว่าการเลี้ยงลูกคนแรกนั้นต้องลำบากมาก จึงไม่สามารถรับปากอะไรได้ว่าจะยังคงสามารถยืนหยัดกับแนวทางลดการก่อขยะได้ไหม แต่ในที่สุดหลังผ่านการทดลองมามากมาย ครอบครัวนี้ก็พบเจอหนทางตรงกลางที่พวกเขาและโลกไม่ต้องเจ็บปวดในการดูแลน้องศิริน

“เราวางแผนกันตั้งแต่ก่อนน้องคลอดเลย เดาว่าพอคลอดจะมีของขวัญจำนวนมหาศาลที่เราไม่ต้องการ เราก็เลยทำ wish list ขึ้นมา เพื่อลดปัญหานี้ โดยเฉพาะแพมเพิสซึ่งเป็นสิ่งที่คนอยากให้กันมาก เราเลยประกาศไปเลยว่าเราใช้ผ้าอ้อม” ศิระเล่า “การมี wish list คือดีมาก เราไปคิดมาว่าเราต้องการอะไร แล้วประกาศออกไป ก็มีคนซื้อให้ตามนั้น ทำให้ข้าวของที่ทุกคนซื้อมาเป็นประโยชน์หมดทุกชิ้น ไม่มีของเกินความจำเป็น ไม่มีของเหลือใช้ ยกเว้นแพมเพิสที่เพื่อนซื้อมาให้ เพราะเชื่อว่ายังไงก็ต้องใช้แน่ๆ”

แล้วทำอย่างไรกับแพมเพิส? ปริศนาบอกว่าในตอนแรกเธอตั้งใจเก็บไว้ เผื่อใช้ในกรณีฉุกเฉิน แต่สำหรับศิระตัวเขาตั้งใจว่าไม่ว่าอย่างไรก็ตามจะไม่ใช่แพมเพิสนี้แน่ๆ “ปกติแพมเพิสจะเปลี่ยนทุก 2 ชั่วโมง แต่ในความเป็นจริง แพมเพิสมันแพง เราไม่ได้ใช้กันทุก 2 ชั่วโมง พ่อแม่เลยพยายามไม่เปลี่ยนบ่อย มันเลยทำให้เสียอนามัยเด็กไปด้วย เพราะน้องต้องแช่ฉี่ แช่อึ” เขากล่าวพร้อมหยิบเอาตัวอย่างผ้าอ้อม กางเกงผ้าอ้อม และแผ่นผ้าที่ใช้ในการเช็ดถูทำความสะอาดออกมาให้ดู อุปกรณ์ธรรมดาๆ ช่วยให้ครอบครัวนี้ไม่ต้องเสียเงินซื้อแพมเพิสเลย

“วิธีการของเราไม่ใช่วิธีสำเร็จรูป หลายอย่างเราต้องหาหนทางของเรา กว่าจะจับทางถูกก็ลำบากเหมือนกัน ตอนแรกก็เอาผ้าอ้อมที่เลอะอึไปฉีดตรงชัดโครก ชักโครกก็เละ เพราะต้องใช้น้ำแรง ต่อมาเลยลองเอาไปขยี้ในกะละมัง ปรากฏน้ำเหลืองผ้าอ้อมเลยเหลืองทั้งผืนไปด้วย ไม่เวิร์คอีก กว่าจะทำให้สะอาดเลยเปลืองน้ำยาซักผ้ากว่าเดิม เราเลยลองโพสต์ถามในเฟซ ได้วิธีใหม่มาคือใช้สบู่ก้อนทั่วไปในการถูจุดที่เลอะคราบ เพราะอึของเด็กเต็มไปด้วยไขมัน” ศิระเสริมว่าทุกวันนี้โซเชียลมีเดียมีประโยชน์มากในการหาข้อมูลหรือความรู้ใหม่ๆ สำหรับการเลี้ยงเด็ก “พอเราจัดการได้เราก็ไม่เครียดแล้ว”

“ทีนี้พอเราไม่ได้ใช้แพมเพิส หันมาใช้ผ้าอ้อมแทนก็ต้องใช้น้ำในการซักล้างมากขึ้น แต่มันคุ้มค่ากว่า เมื่อชั่งน้ำหนักเทียบกันแล้ว เพราะว่าน้ำเป็นทรัพยากรที่หมุนเวียนได้ แล้วสิ่งที่ทิ้งไปกับน้ำคือสารอินทรีย์ซึ่งมันเป็นประโยชน์ ส่วนน้ำยาซักผ้าเราก็เลือกแบบออร์แกนิก เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม” ศิระอธิบายให้เห็นภาพว่าการปฏิเสธผ้าอ้อมนั้นไม่ได้ยากลำบากอย่างที่ใครหลายคนคิด ในเมื่อผ้าอ้อมเองคือวิถีดั้งเดิมที่ผู้คนใช้ในการเลี้ยงเด็กมาตั้งแต่แรก “ทุกครั้งที่เราซักผ้าอ้อม เท่ากับเราประหยัดแพมเพิสไปแล้วหนึ่งผืน เพราะเราสามารถนำผ้าอ้อมกลับมาใช้ใหม่ได้ สิ่งที่เด็กสร้างทั้งอึ ทั้งฉี่ ทั้งเลือด ไม่ได้สร้างปัญหาใดๆ แก่โลก มันสามารถกลับเข้าสู่วงจรธรรมชาติได้ทั้งนั้น มนุษย์เองต่างหากที่ซับซ้อนสร้างนั่นนี่ขึ้นมา”

มากไปกว่านั้น การปฎิเสธแพมเพิสไม่ได้แค่ดีกับโลก แต่ยังดีกับตัวเด็กเองอีกด้วย ศิระชี้ไปที่ก้นของน้องศิรินแล้วเล่าว่า “พอไม่มีแพมเพิสแล้วก้นใสเนียนมาก มันแสดงให้เห็นเลยว่าสิ่งที่เราทำเพื่อโลกมันดีต่อเด็กมากด้วยซ้ำ มันไม่ใช่ว่าเด็กต้องเสียสละบางอย่าง เพื่อรักษาธรรมชาติไว้ วินวินทั้งคู่ เราไม่ได้รู้สึกว่าเสียอะไรบางอย่างไปเพื่ออะไร” ด้านปริศนาเสริมว่า การใช้ผ้าอ้อมช่วยให้เด็กรับรู้ว่าความเหนอะหนะ ความสกปรกเลอะเทอะคืออะไร หากใส่แพมเพิสก็เหมือนแห้งไปตลอด เพราะสิ่งปฏิกูลถูกซึมซับไปหมด เธอเล่าถึงประสบการณ์จากคนใกล้ตัวที่พบว่ามีเด็กติดแพมเพิส แม้จะอายุหลายขวบแล้ว แต่พอไม่ใส่แพมเพิสปรากฎว่าไม่สามารถอึได้ด้วยตัวเอง “โลกเรากำลังทำให้ชีวิตซับซ้อนมากเกินไป เทคโนโลยีแพมเพิสประดิษฐ์มาเพื่อทำให้เด็กสบายที่สุด เปียกแล้วซับทันที แห้งเลยเหมือนไม่เคยฉี่มาก่อน แต่กลับไปงอกปัญหาอื่นๆ แทน”

ปัจจุบันน้องศิรินเพิ่งจะอายุแค่ 6 เดือน ชีวิตจึงมีแค่การกิน นอน และขับถ่าย แต่หากเด็กคนนี้เติบโตขึ้น พวกเขามีแผนอย่างไรกันบ้าง? แผนคือเราไม่ได้เปลี่ยนตัวเราเองเพื่อเด็ก ไม่ใช่ว่าเราชอบอะไรแล้วบังคับให้เขาทำ แต่เน้นให้เขาได้ชิมประสบการณ์ต่างๆ มากกว่า แล้วให้เขาเป็นคนเลือกเอง สำคัญคือต้องมองว่าเขาเป็นมนุษย์คนหนึ่งที่มีสิทธิในร่างกาย สิทธิในการตัดสินใจของตัวเอง เราจะไม่ควบคุม เลี้ยงลูกเหมือนเลี้ยงหมา เพื่อป้องกันไม่ให้เรายึดเด็กเป็นศูนย์กลางเกินไป ปล่อยให้เขาเติบโต พึ่งตนเองบ้าง ล้มบ้างผู้เป็นพ่อเล่าพร้อมเสริมว่ามีความกังวลคือตอนนี้น้องยังไม่ได้ไปเจอโลกภายนอก ซึ่งในอนาคตจะเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก แต่ตนก็คิดว่าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันได้ ด้วยการปลูกฝังความใกล้ชิดในครอบครัวเสียตั้งแต่ตอนนี้

“สุดท้ายนี้อยากบอกว่าปัจจัยความสำเร็จมาจากความมุ่งมั่นในตัวเราเอง ก่อนหน้านี้มีหลายเรื่องเลยที่เราขัดกับภรรยาในช่วงแรก เพราะเรายังหาวิธีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมไม่เจอ ยังหาคำตอบไม่ได้ว่าจะแก้ปัญหานี้ยังไง แต่เราไม่หยุดที่จะคิด พอครั้งแรกเฟลเรากลับมาคิดใหม่ว่าถ้าลองไปทางอื่นล่ะ ถ้าใช้วิธีนี้ หรือถ้าประดิษฐ์เครื่องมือเพิ่มล่ะ พอมีความมุ่งมั่นเราสามารถแก้ไขปัญหาได้หมด จนทุกวันนี้เราสามารถประกาศได้เลยว่าไม่จำเป็นต้องใช้แพมเพิส ดังนั้นความมุ่งมั่นสำคัญที่สุดในการเริ่มต้น” เขากล่าวพร้อมย้ำให้เห็นถึงความสำคัญของการเชื่อมโยงกันระหว่างเรากับธรรมชาติ

“ถามว่าแค่ลดการใช้แพมเพิสมันสำคัญยังไง จริงๆ สำคัญกับทุกคนบนโลกใบนี้ เทียบกับความสะดวกสบายเพียงไม่กี่นาที แต่สุดท้ายแล้วผลกระทบที่เราทำในวันนี้ปลายทางมันไปหาลูกเราเองทั้งนั้น ดังนั้นมันเป็นสิ่งที่เราต้องแคร์ทั้งระบบ เรามองว่าสิ่งที่ดูยุ่งยากในวิถีกรีนจริงๆ แล้วมันเรียบง่ายมาก มันทำให้ทั้งวงจรธรรมชาติยังคงหมุนต่อไปได้ ซึ่งสำคัญมากในฐานะที่เราเป็นมนุษย์ เผ่าพันธุ์หนึ่งของโลกใบนี้ ถ้าเรามองเห็นภาพนี้ มันจะไม่ใช่การจำใจฝืนทำอยู่คนเดียว เพราะแค่เราทำคนเดียวเนี่ยมันก็ช่วยในวงจรธรรมชาติแล้ว”

 

ขอขอบคุณ ครอบครัวลีปิพัฒนวิทย์

 

อ่านเพิ่มเติม

6 สิ่งที่คุณทำได้เพื่อลดพลาสติก (และไม่รู้สึกเจ็บปวด)

 

แหล่งข้อมูล

วิวัฒนาการของผ้าอ้อมสำเร็จรูป

The History of Diapers – Disposable & Cloth The History of Diapers

Environmental Impact of Disposable Diapers

WHY DISPOSABLE DIAPERS ARE DIRTY AND DANGEROUS

We have 12 years to limit climate change catastrophe, warns UN

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.