การเผาขยะพลาสติกเป็นความคิดที่ดีหรือไม่?

แม้ว่าหลายคนในแวดวงโรงงานขยะจะคิดแบบนั้นแต่ การเผาขยะ หรือโครงการ “การผลิตไฟฟ้าจากขยะ” อาจส่งผลเสียให้แก่สิ่งแวดล้อมมากกว่าผลดี

จะจัดการกับกองขยะพลาสติกมหาศาลแบบนี้อย่างไร หากเราไม่ต้องการเห็นมันห้อยอยู่บนต้นไม้ ลอยอยู่ในมหาสมุทร หรือเข้าไปอุดตันอยู่ในท้องของนกทะเลและวาฬ?

ตามรายงานของ World Economic Forum มีการคาดการณ์ว่าในอีก 20 ปีข้างหน้าจะมีจำนวนการผลิตพลาสติกเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่า ขณะที่อัตราการรีไซเคิลคงที่อยู่ในปริมาณร้อยละ 30 ในทวีปยุโรป ร้อยละ 9 ในประเทศสหรัฐอเมริกา ในส่วนของประเทศกำลังพัฒนามีจำนวนรีไซเคิลที่น้อยมากจนแทบจะเป็นศูนย์เลยทีเดียว

เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทปิโตรเคมีและสินค้าอุปโภคบริโภคที่มีชื่อว่า Alliance to End Plastic Waste ได้แก่ Exxon, Dow, Total, Shell, Chevron Phillips และ Procter & Gamble ให้คำมั่นจะลงทุนเป็นจำนวนเงิน 1.5 พันล้านดอลลาร์เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้ภายใน 5 ปี เป้าหมายของพวกเขาคือการสนับสนุนวัสดุทางเลือก พัฒนาโปรแกรมรีไซเคิล และส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีที่สามารถเปลี่ยนพลาสติกให้เป็นเชื้อเพลิงหรือพลังงาน

เตาเผาขยะที่มีความซับซ้อนซึ่งเผาพลาสติกและขยะเทศบาลอื่นๆ สามารถผลิตความร้อนและไอน้ำได้เพียงพอที่จะเดินเครื่องกังหันผลิตไฟฟ้าทำงาน สหภาพยุโรปได้เผาขยะอินทรีย์ไปแล้วเกือบร้อยละ 42 ของขยะทั้งหมด ขณะที่สหรัฐอเมริกาเผาไปร้อยละ 12.5

จากรายงานของ World Energy Council เครือข่ายที่ได้รับการรองรับจากองค์กร U.N กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมพลังงานเปลี่ยนขยะให้เป็นพลังงานมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในอนาคตอันใกล้ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดยตอนนี้ในประเทศจีนมีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะกว่า 300 แห่งแล้ว และอีกกว่าหลายร้อยแห่งที่อยู่ในระหว่างการก่อสร้าง

แล้วสรุปเป็นความคิดที่ดีหรือไม่

การเผาขยะ พลาสติกเพื่อนำไปสู่การสร้างพลังงานฟังดูเข้าท่า เพราะว่าสุดท้ายแล้วพลาสติกก็ผลิตมาจากไฮโดรคาร์บอนเหมือนน้ำมันและมีความหนาแน่นของพลังงานมากกว่าถ่านหิน แต่ขณะเดียวกันก็มีอุปสรรคหลายอย่าง

อีกอย่างหนึ่งคือการเลือกสถานที่โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะเป็นเรื่องยาก เพราะไม่มีใครอยากอาศัยอยู่ใกล้โรงงานที่อาจมีรถบรรทุกขยะวิ่งผ่านหลายร้อยคันต่อวัน ซึ่งปกติแล้วโรงงานจะอยู่ใกล้กับชุมชนที่มีรายได้ต่ำ โดยตั้งแต่ปี 1997 สหรัฐอเมริกาได้มีโรงงานเผาขยะเพิ่มขึ้นเพียงแห่งเดียวเท่านั้น

อีกทั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะยังต้องใช้เงินจำนวนมหาศาลในการสร้างและดำเนินการ ทำให้พวกเขามักจะคิดค่าใช้จ่ายที่แพงมากกว่า การเลือกขุดหลุมฝังกลบ เพราะโรงงานพวกนี้จะมีประสิทธิภาพหากมีขยะป้อนอยู่ตลอดเวลา จนบ่อยครั้งต้องไปนำเข้าขยะจากที่ไกลๆ มาเลย

โรงงานขนาดใหญ่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงพอที่จะจำหน่ายไปให้ครัวเรือนนับหมื่นหลัง แต่จากการวิจัยแสดงให้เห็นว่าการรีไซเคิลช่วยประหยัดพลังงานได้มากกว่าการเผารวมกับขยะอื่นๆ ในครัวเรือน

ท้ายสุด โรงงานผลิตไฟฟ้าจากขยะมีศักยภาพในการปล่อยมลพิษระดับต่ำอย่างเช่น ไดออกซิน, ก๊าซที่มีฤทธิ์เป็นกรดต่างๆ และโลหะหนัก โรงงานสมัยใหม่ใช้เทคโนโลยีที่ซับซ้อนมากขึ้นในการลดมลพิษ แต่ตามรายงานของ World Energy Council ประจำปี 2017 รายงานว่า “เทคโนโลยีเหล่านี้มีประโยชน์ตราบใดที่โรงงานถูกควบคุมการปล่อยมลพิษอย่างถูกต้องและเหมาะสม”

ผู้เชี่ยวชาญบางคนกังวลว่าประเทศที่ขาดกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมหรือการบังคับใช้อย่างเข้มงวด อาจพยายามลดค่าใช้จ่ายในการควบคุมการปล่อยมลพิษ ซึ่งอาจจะไปส่งผลให้มีก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้น ในปี 2016 โรงงานเผาขยะของสหรัฐอเมริกาได้ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นจำนวนกว่า 12 ล้านตัน โดยจำนวนมากกว่าครึ่งมาจากการเผาพลาสติก

ภาพถ่ายโดย RANDY OLSON, NAT GEO IMAGE COLLECTION

มีวิธีอื่นอีกไหม?

อีกหนึ่งวิธีในการแปลงขยะให้เป็นพลังงานคือการทำให้เป็นก๊าซ ซึ่งเป็นกระบวนการหลอมพลาสติกที่อุณหภูมิสูงมากภายใต้สภาพที่แทบจะไร้ออกซิเจน (ซึ่งหมายถึงสารพิษอย่างไดออกซินและฟูแรนไม่สามารถก่อตัวขึ้นมาได้) กระบวนการนี้จะสร้างก๊าซสังเคราะห์ที่ให้พลังงานแก่กังหัน แต่ด้วยก๊าซธรรมชาติที่มีราคาถูกมาก ทำให้โรงงานผลิตก๊าซให้พลังงานไม่สามารถสู้ไหว

วิธีที่กำลังได้รับความนิยมตอนนี้คือ การไพไรโลซิส (Pyrolysis) ซึ่งพลาสติกจะถูกหั่นเป็นชิ้นเล็กๆ ละลายที่อุณหภูมิที่ต่ำกว่าและในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนน้อยกว่าด้านบนเสียอีก ความร้อนจะทำให้พอลิเมอร์ในพลาสติกแตกตัวกลายเป็นไฮโดรคาร์บอนขนาดเล็ก ซึ่งสามารถนำมากลั่นเป็นเชื้อเพลิงดีเซลได้

ไพโรไลซิสสามารถจัดการกับแผ่นพลาสติก กระเป๋า และวัสดุหลายชั้น ที่เครื่องรีไซเคิลเชิงกลส่วนใหญ่ไม่สามารถทำได้ กล่าวโดย Priyanka Bakaya ผู้ก่อตั้งบริษัทเปลี่ยนพลาสติกเป็นเชื้อเพลิงอย่าง Renewlogy และมันไม่ก่อให้เกิดสารก่อมลพิษที่เป็นอันตราย นอกเหนือไปจาก “การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณเล็กน้อย”

ในทางกลับกัน นักวิจารณ์แย้งว่า ไพโรไลซิส เป็นเทคโนโลยีที่มีราคาแพงและยังไม่ได้รับการพิสูจน์อย่างแพร่หลาย โดยบริษัทสตาร์ทอัพที่ลองใช้เมื่อหลายปีที่ผ่านมา ยังไม่มีบริษัทไหนสามารถบรรลุข้อจำกัดในการควบคุมมลภาวะหรือเป้าหมายทางเทคนิคและการเงินได้เลย โดยการทำดีเซลจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ณ ตอนนี้ยังถือว่ามีราคาถูกกว่า

แล้วมันเป็นพลังงานหมุนเวียนหรือเปล่า

เชื้อเพลิงจากพลาสติกนับว่าเป็นทรัพยากรหมุนเวียนหรือไม่? จากฐานข้อมูลของ State Incentives for Renewables and Efficiency ระบุว่ามี 16 รัฐในสหรัฐอเมริกา พิจารณาขยะมูลฝอยในเขตเทศบาลรวมถึงพลาสติกว่าเป็นแหล่งเชื้อเพลิงหมุนเวียน แต่พลาสติกไม่สามารถนำมาหมุนเวียนได้ในแง่เดียวกับไม้ กระดาษ หรือว่าฝ้าย เนื่องจากเราผลิตพลาสติกจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สกัดมาจากพื้นดินและในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการนั้นมีศักยภาพที่จะก่อให้เกิดมลพิษได้

ในสหภาพยุโรปมีเพียงขยะพลาสติกที่ผลิตจากวัสดุอินทรีย์เพียงน้อยนิดของขยะชุมชนเท่านั้นที่ถือว่าเป็นพลังงานหมุนเวียน แต่ไม่ว่าพวกเขาจะนับคาร์บอนกันอย่างไร การเผาพลาสติกเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงในเตาเผาขยะ ดูเหมือนว่าจะขัดต่อกับเป้าหมายของสหภาพในปี 2015 ภายใต้เป้าหมาย “เศรษฐกิจแบบวงกลม” ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรักษาทรัพยาการไว้ใช้ให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และเรียกร้องให้บรรจุภัณฑ์พลาสติกทั้งหมดสามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือย่อยสลายได้ ภายในปี 2030

ผู้สนับสนุนขยะเหลือศูนย์กังวลว่าวิธีการแปลงขยะพลาสติกให้เป็นพลังงานต่างๆ ไม่ได้ช่วยลดความต้องการผลิตภัณฑ์พลาสติกใหม่ หรือช่วยบรรเทาปัญหาการสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด “วิธีการเหล่านี้มีไว้แค่หันเหความสนใจจากวิธีแก้ปัญหาที่แท้จริง” Claire Arkin ผู้รณรงค์กับ Global Alliance for Incinerator Alternatives กล่าวพร้อมกับเสริมว่า..

..วิธีแก้ปัญหาที่แท้จริงคือการรณรงค์ให้ผู้คนใช้พลาสติกน้อยลง และนำกลับมาใช้ซ้ำหรือรีไซเคิลกันมากขึ้น

***แปลและเรียบเรียงโดย รชตะ ปิวาวัฒนพานิช
โครงการนักศึกษาฝึกงาน กองบรรณาธิการ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย


อ่านเพิ่มเติม : โลกของ Aquaman กำลังจมขยะพลาสติก

© COPYRIGHT 2024 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.