มหาสมุทรเป็นพิษ: ภาพถ่ายที่ช่วยย้ำเตือนถึงสถานะน่ากังวลของทะเลในปัจจุบัน

มหาสมุทรเป็นพิษ: ภาพถ่ายที่ช่วยย้ำเตือนถึงสถานะน่ากังวลของทะเลในปัจจุบัน

ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่มหาสมุทรจะมีปริมาณมากกว่าจำนวนของปลา ภายในปี 2050 นี้ รายงานใหม่จาก แอนโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก โดยกูเตอร์เรสเตือนว่าขณะนี้สถานะของมหาสมุทรกำลังตกอยู่ภายใต้การคุกคามอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

“มลพิษ, การจับปลามากเกินไป และผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังทำลายสุขภาพของมหาสมุทร” เขากล่าว “จากรายงานฉบับหนึ่งของเรา ขยะพลาสติกที่ถูกทิ้งลงสู่ทะเลและมหาสมุทรกำลังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ และอาจมากกว่าจำนวนปลาภายในปี 2050  หากยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดๆเกิดขึ้น”

ในวันศุกร์นี้ ประเทศต่างๆจำนวน 200 ประเทศ เตรียมที่จะประชุมหารือกันในการจัดการกับปัญหามลพิษในทะเลโดยมีเป้าหมายสร้างมาตรการระยะยาวในการลดปริมาณการใช้พลาสติก รวมถึงลดอุณหภูมิของมหาสมุทรลง

และในวันนี้ วันที่ 8 มิถุนายน เนื่องในวันมหาสมุทรโลก (World Oceans Day) ทางเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ขอเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยสร้างความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กำลังคุกคามหลายมหาสมุทรทั่วโลก ด้วยการเผยแพร่ภาพถ่ายในหัวข้อ “มหาสมุทรเป็นพิษ” ให้ได้ชมกันอีกครั้ง

ขยะจำนวนมากมายเหล่านี้ทำให้สภาพของอ่าวบาร์โรว ในอะแลสกาไม่น่ามอง และเต็มไปด้วยความสกปรก ขยะจะค่อยๆเคลื่อนตัวออกสู่มหาสมุทรอย่างช้าๆ ในจำนวนนี้พวกมันจะถูกพัดไปเกยตื้นยังหาด, ทำให้น้ำกลายเป็นพิษ และเป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำเมื่อถูกเข้าใจผิดว่าเป็นอาหาร

ภาพถ่ายโดย Ken Graham / Getty Images

กระป๋องน้ำอัดลม, กล่องเครื่องดื่ม และเศษขยะพลาสติกอื่นๆกระจายเกลื่อนบนชายหาดของเมืองอากาปุลโก ในเม็กซิโกขยะพลาสติกเหล่านี้ใช้เวลานานถึง 500 ปี กว่าจะย่อยสลาย

ภาพถ่ายโดย Bryan Mullennix / Getty Images

ชายหาด และมหาสมุทรทั่วโลก เต็มไปด้วยขยะที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ขาข้างหนึ่งของตุ๊กตา หนึ่งในขยะบนหาดทรายสีดำของเกาะบีโอโก ในประเทศอิเควทอเรียลกินี พลาสติกเป็นวัสดุที่มีความทนทานมาก และสามารถล่อยลอยอยู่ได้หลายทศวรรษซึ่งในระหว่างการย่อยสลาย สารประกอบภายในที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อมจะค่อยๆถูกปลดปล่อยออกมา

ภาพถ่ายโดย Joel Sartore

บางส่วนของอ่าวมะนิลา ในกรุงฟิลิปปินส์ เต็มไปด้วยขยะ จากในภาพเด็กชายคนหนึ่งลงทุนดำน้ำที่เต็มไปด้วยมลพิษนี้เพื่อมองหาบางสิ่งที่อาจจะขายทำเงินได้

ภาพถ่ายโดย China Photos / Getty Images

 

คราบน้ำมันสีเหลืองส้มลอยตัวเป็นแพบริเวณชายฝั่งอะแลสกา อันเป็นผลกระทบจากเหตุน้ำมันรั่ว Exxon Valdez ในปี 1989 ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เหตุน้ำมันรั่วครั้งใหญ่เมื่อเปรียบเทียบกับครั้งอื่นๆ แต่เหตุน้ำมันรั่วนี้กลับส่งผลกระทบเลวร้ายต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุดในอันดับต้นๆ คราบน้ำมันทำให้ชายฝั่งทะเลเสียหายไปกว่า 1,200 ไมล์ และยังส่งผลถึงอุทยานแห่งชาติ 3 แห่ง, อุทยานสัตว์ป่า 3 แห่ง และป่าสงวนอีก 1 แห่งอีกด้วย

ภาพถ่ายโดย Ken Graham / Getty Images

ชาวประมงเผชิญกับผลกระทบจากน้ำมันรั่วในอ่าว Eleanor ของอะแลสกา เหตุที่เกิดขึ้นนับเป็นเหตุน้ำมันรั่วไหลที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐอเมริกา น้ำมันปริมาณ 11 ล้านแกลอนรั่วไหลลงทะเล และกระทบต่อชีวิตของสัตว์หลายรุ่นไม่ว่าจะเป็น ปลาแซลมอน, แมวน้ำ, นกพัพฟิน และอื่นๆอีกมากมาย

ภาพถ่ายโดย Natalie Fobes

ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักในเซาท์ฟลอริดาผลักเอาสารพิษ และน้ำเสียที่ยังไม่ได้ผ่านการบำบัดไหลลงสู่ทะเล ภาพถ่ายนี้คือบริเวณอ่าว Biscayne หลังพายุเข้าพัดถล่มยังชายหาดนอร์ทไมอามี

ภาพถ่ายโดย Mike Thesis

รัฐบาลนครมุมไบในอินเดีย ส่งคนงานเข้ากำจัดขยะหลายพันชิ้นที่ลอยค้างยังบริเวณท่าเรือ ใกล้กับ Gateway of India ในทุกๆวัน

ภาพถ่ายโดย Sebastian D’souza / AP

ในพื้นที่บริเวณแหล่งขุดเจาะพลังงานอย่างทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สิ่งมีชีวิตที่อาศัยยังที่นี่จำต้องเผชิญกับสถานการณ์น้ำมันรั่วไหลเป็นครั้งคราว จากในภาพปูตัวหนึ่งถูกปกคลุมไปด้วยคราบน้ำมัน เมื่อเครื่องบินของอิสราเอลโจมตีสถานีพลังงานของกรุงเบรุต ในเลบานอน เมื่อปี 2006

ภาพถ่ายโดย Patrick Baz / AFP

คราบน้ำมันหลังเรือบรรทุกน้ำมัน MV Braer เกิดล่มจากพายุเฮอริเคน บริเวณหมู่เกาะเชตแลนด์ ในสกอตแลนด์ เมื่อปี 1993 ส่งผลให้น้ำมันปริมาณ 84,700 เมตริกตันรั่วไหลลงในทะเลเหนือ

ภาพถ่ายโดย David Woodfall / Getty Images

 

อ่านเพิ่มเติม

จะช่วยมหาสมุทรต้องเลิกใช้กากเพชร?

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.