เจาะเบื้องลึกวิกฤติหมอกควัน

เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าในอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ ปฏิบัติงานเสี่ยงภัยดับไฟป่าในเวลากลางคืน ด้วยการกวาดใบไม้สร้างเป็นแนวกันไฟ


ไฟในป่าเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นเถ้าปลิวละล่องไปตามลมและหอบลอยขึ้นสู่ที่สูง นี่คือภาพของปัญหา หมอกควัน ในภาคเหนือที่เรื้อรังมานานหลายปี สาเหตุเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากนํ้ามือคน

เรื่อง ราชศักดิ์ นิลศิริ
ภาพถ่าย จิตรภณ ไข่คำ
ตีพิมพ์ใน เนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย เดือนพฤษภาคม 2558

เกือบสิบปีมาแล้วที่ชาวบ้านนาก้า ตำบลยาบหัวนา อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน เกือบทั้งหมู่บ้านผันตัวมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ พวกเขาซื้อเมล็ดพันธุ์จากบริษัท เช่นเดียวกับปุ๋ยและยาฆ่าแมลง และแปรสภาพสันเขาสลับซับซ้อนให้กลายเป็นทุ่งข้าวโพดเขียวชอุ่มในฤดูฝน ก่อนจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองตองแก่ยามเข้าสู่ฤดูหนาวพร้อมรอเก็บเกี่ยว

ย้อนหลังไปสัก 30 ปีก่อนหน้านี้ ชาวบ้านนาก้ายังพึ่งพาการเก็บของป่า ปลูกข้าวและพืชไร่หลากหลายอย่างอิสระ ไม่มีใครคุยกันเรื่องโฉนดที่ดินหรือเอกสารทำกินใด ๆ บรรพบุรุษของพวกเขาฝากชีวิตไว้กับผืนป่าและธรรมชาติ ครั้นเข้าสู่ยุคของการพัฒนา หนุ่มสาวที่นี่พากันไปขายแรงงานยังต่างเมืองไม่ต่างจากชนบทอีกหลายแห่ง ระหว่างนั้นใน พ.ศ. 2536 ทางการประกาศให้ป่า (ป่าเพื่อการเศรษฐกิจ โซน E) ในละแวกหมู่บ้านแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตร แรงงานเหล่านั้นจึงกลับมาแผ้วถางป่าเป็นพื้นที่ทำกินลึกเข้าไปในป่าสงวนอีกหลายโซน และไม่มีเอกสารสิทธิครอบครอง

นักท่องเที่ยวชาวจีนที่มาเที่ยวพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ สวมหน้ากากอนามัยตามคำแนะนำของทางการ เพื่อป้องกันภัยจากหมอกควันที่เกินค่ามาตรฐาน

แม้จะมีลำห้วยไหลผ่าน แต่เนินเขาแถบนี้ก็ร้อนแล้ง ชาวบ้านบ่นว่าพวกเขาไม่สามารถสูบนํ้าจากแหล่งนํ้าขึ้นที่สูงได้ ดังนั้นหลังจากลองผิดลองถูกมาหลายฤดูกาล ชาวบ้านจึงตัดสินใจฝากอนาคตไว้กับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีการส่งเสริมให้ปลูกอย่างแพร่หลาย ข้าวโพดทนแล้งและดูแลง่าย อีกทั้งชาวบ้านยังเบาใจว่า หากทางการยึดที่ดินทำกินคืน พวกเขาจะขาดทุนน้อยกว่าการปลูกไม้ยืนต้น “ปัญหาคือพวกเขาไม่มีที่ทำกินครับ” เสนอ ตินะอินทร์ ผู้เป็นทั้งนายกองค์การบริหารส่วนตำบลยาบหัวนา และขวัญใจของชาวบ้านนาก้า บอก “ไม่มีใครกล้าเสี่ยงปลูกไม้ยืนต้นครับ เพราะมีแต่ที่ป่า ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ขืนโดนยึดก็หมดตัว” เขาเสริม

วิธีการทำไร่ข้าวโพดบนพื้นที่สูงของชาวบ้านเป็นภัยรุนแรง เพราะเมื่อย่างเข้าสู่ฤดูแล้ง ชาวบ้านจะกำจัดซากตอซังข้าวโพดที่เหลือจากฤดูกาลก่อนด้วยการเผา เพลิงผลาญตอและซังข้าวโพดลุกลามอย่างรวดเร็ว เพียงไม่กี่ชั่วโมงเนินเขาทั้งลูกก็กลายเป็นเถ้าถ่านสีดำ ส่งควันไฟสีเทาลอยขึ้นสู่อากาศไปรวมกับควันไฟจากหมู่บ้านอื่น ๆ รวมตัวเป็นหมอกควันกลุ่มใหญ่ปกคลุมทั่วทั้งอำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน และจังหวัดข้างเคียง

วิกฤติหมอกควันในภาคเหนือส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมืองที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นหลักอย่างจังหวัดเชียงใหม่ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงขึ้นทุกปี

ชาวไร่ข้าวโพดมือเพลิงคนหนึ่ง (สงวนชื่อ) บอกว่า “ที่ต้องเผาเพราะเราจะขึ้นไปไถกลบบนดอยชันขนาดนั้นได้ยังไง ไม่มีทางเลยครับ” เขาหมายถึงไร่ข้าวโพดบนสันเขาสูงชัน และบอกว่าทุกครั้งที่เผาไร่ เขาจะทำแนวกันไฟเพื่อจำกัดวงไม่ให้ไฟลุกลามไปยังพื้นที่อื่น “แต่ถ้าลามเข้าป่า ก็ต้องปล่อยเลยตามเลยครับ ถือว่าถางไปในตัว” เขาว่าพลางขำ

ทว่าเรื่องของหมอกควันที่ฟุ้งกระจายไม่ใช่เรื่องขำเลย ฝุ่นละอองในอากาศเป็นตัวการก่อโรคทางเดินหายใจนานาชนิด วนเวียนเป็นปัญหาซํ้าซากของภาคเหนือทุกปี “ชาวบ้านรู้ดีว่า พวกเขาเป็นต้นเหตุของหมอกควัน” เสนอบอก แต่ยิ่งข้าวโพดราคาดี ชาวบ้านก็ยิ่งต้องเผา “เหมือนพวกเขาไม่มีทางเลือกครับ”

(อ่านต่อหน้า 2)

สถานการณ์หมอกควัน เป็นวงจรซํ้าซากที่ก่อร่างจากปัญหาระดับท้องถิ่น ก่อนก้าวกระโดดสู่ภัยระดับภาคและระดับชาติอย่างรวดเร็ว (บ้างว่าเป็นระดับนานาชาติไปแล้ว) ขณะที่จำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น ผนวกกับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง ยิ่งซํ้าเติมให้วิกฤติการณ์มีทีท่าว่าจะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

ภัยหมอกควันในภาคเหนือของไทย เริ่มตั้งแต่ปลายฤดูหนาวราวปีใหม่ลากยาวไปจนถึงปลายเดือนเมษายนซึ่งเป็นช่วงเตรียมปรับพื้นที่สำหรับทำเกษตรรอบใหม่ กอปรกับเป็นช่วงที่สภาพอากาศแห้งแล้ง ต้นตอของหมอกควันมาจากการเผา ทั้งไฟในพื้นที่เกษตร ผืนป่า และครัวเรือน เป็นที่แน่ชัดว่า สาเหตุเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์มาจากนํ้ามือคน ไฟเปลี่ยนเชื้อเพลิงเป็นเถ้าปลิวละล่องไปตามลมและหอบลอยขึ้นสู่ที่สูง เถ้าละอองแขวนลอยมีขนาดเล็กและใหญ่ต่างกันไป ทว่าส่งผลกระทบเป็นวงกว้างตั้งแต่เรื่องพื้นๆ อย่างบดบังทัศนวิสัย ไปจนถึงอณูเล็กๆ ระดับไมครอนซึ่งอันตรายต่อปอด เป็นบ่อเกิดของโรคทางเดินหายใจและโรคแทรกซ้อนอื่นๆ

กระนั้นคำถามคือ ทั้งๆ ที่ภาคกลางและภาคอีสานก็อยู่ในช่วงเวลาถางไร่ไถนาเพื่อเตรียมพื้นที่ทำเกษตร และมักใช้วิธีการเผาเพื่อกำจัดเศษซากเหมือนกัน แต่ทำไมภาคเหนือจึงได้รับผลกระทบจากหมอกควันมากที่สุด

คำตอบคือสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่แตกต่างกัน “เทศกาลเผา” มักตรงกับช่วงที่ความกดอากาศสูงจากทางตอนเหนือหรือประเทศจีน แผ่ลงมาปกคลุมภาคเหนือของไทย ความกดอากาศสูงส่งผลให้อากาศหนาวเย็นดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยี่ยมเยือน นี่คือช่วง “ไฮซีซั่น” ของการท่องเที่ยวทางเหนือ ความกดอากาศสูงจะกดทับไม่ให้อากาศจากระดับตํ่ากว่าลอยขึ้นไปได้ หมอกควันจึงถูกกดให้อยู่เหนือเมือง นั่นคือปัจจัยที่หนึ่ง

ปัจจัยต่อมาคือลักษณะภูมิประเทศที่ห้อมล้อมด้วยภูเขา มีร่องนํ้าและเขตเมืองซึ่งมักตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่ม สันเขาสูงชันปิดล้อมไม่ให้อากาศแผ่ขยายออกไปด้านข้าง ขังให้หมอกควันที่ลอยขึ้น (และถูกกดโดยความกดอากาศสูง) อบอวลอยู่ในเมือง ถ้าเปรียบแล้วก็เหมือนนํ้าขังบนถนนที่เป็นหลุมบ่อ ยิ่งไปกว่านั้น ภูเขาสูงที่โอบล้อมยังทำให้เกิด “ชั้นอุณหภูมิผกผัน” (temperature inversion) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติในพื้นที่ที่แวดล้อมด้วยหุบเขา อธิบายง่าย ๆ ว่า แทนที่ยิ่งสูงอุณหภูมิจะยิ่งลดตํ่า (ทำนองยิ่งสูงยิ่งหนาว) แต่เมื่อความสูงถึงระดับหนึ่ง อุณหภูมิกลับอุ่นขึ้นแทน ทำให้เกิด “ฝาครอบล่องหน” ขังให้อากาศจากที่ตํ่าไม่สามารถลอยขึ้นที่สูงได้

บรรยากาศภายในโรงพยาบาลนครพิงค์ จังหวัดเชียงใหม่ ในช่วงวิกฤติหมอกควัน

ด้วยลักษณะทางภูมิศาสตร์เช่นนี้ จึงแทบเป็นไปไม่ได้เลยที่จะบรรเทาปัญหาหมอกควันในช่วงเทศกาลเผาให้เบาบางลง นอกเสียจากการหยุดเผา เพื่อชะลอไม่ให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลงกว่าที่เป็นอยู่ และก็แทบเป็นไปไม่ได้อีกเช่นกัน สำหรับภูมิประเทศที่เกษตรกรต้องกระเสือกกระสนทำไร่ตามสันดอยสูงชัน การเผาจึงเป็นวิธีการที่ประหยัดและง่ายที่สุดในการเตรียมพื้นที่ทำเกษตร ดังนั้นแม้ว่าในช่วงเวลาดังกล่าว ทางการจะประกาศให้การเผาในที่โล่งเป็นความผิดตามกฎหมาย แต่เปลวไฟปริศนายังคงพบเห็นได้ทั่วไปและลุกลามเป็นวงกว้างส่งพวยควันพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าเช่นเดิม

หลายปีก่อนหน้า ทางการพยายามใช้ “ยาแรง” โดยบังคับใช้กฎหมาย จับกุมและดำเนินคดีมือเพลิง โดยเชื่อว่าเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู แต่ภาพของผู้ถูกจับกุมกลับพลิกเป็นว่า ทางการกลั่นแกล้งชาวบ้านผู้ยากไร้ มาตรการตอบโต้ของชาวบ้านจากมุมมืดรุนแรงขึ้น และกลายเป็นความขัดแย้งระหว่างรัฐกับชาวบ้าน เสนอเล่าว่า “ยิ่งห้ามก็เหมือนยิ่งยุ เผากันเยอะกว่าเดิมอีกครับ”

ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจและโรคแทรกซ้อน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุหรือผู้มีโรคประจำตัว ขณะที่ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอนที่เกินมาตรฐาน เป็นภัยเงียบสะสมโดยตรงสำหรับผู้ที่ต้องปฏิบัติงานกลางแจ้งอย่างแรงงานก่อสร้าง

เมื่อทางการเรียนรู้ความล้มเหลวจากการใช้ยาแรง จึงหันมาใช้มาตรการ “นํ้าเย็น” อย่างการรณรงค์และการจัดการ หรือไม่ก็พุ่งเป้าไปที่เด็กและเยาวชน อุธร สุทธิมิตร ผู้อำนวยการส่วนควบคุมไฟป่า กรมป่าไม้ เล่าว่า ที่ผ่านมาทางการรณรงค์เปิดโอกาสให้ชาวบ้านชิงเผาเศษซากจากการทำเกษตรตั้งแต่เนิ่นๆ “ถือว่าบรรเทาลงไปได้เยอะเลยครับ” (กระนั้น สภาพอากาศช่วงก่อนหน้ากลับเป็นอุปสรรค ฟ้าฝนเทลงมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย เชื้อเพลิงที่เตรียมเผาเปียกชื้นและทับถมมากกว่าเดิม)

ความพยายามในการบรรเทาปัญหาหมอกควันด้วยวิทยาศาสตร์ดูมีนํ้ามีเนื้อมากกว่าการรณรงค์ อย่างน้อยก็วัดผลสำเร็จได้ กองทัพอากาศพยายามใช้เครื่องบินบรรทุกนํ้าโปรยลงบนพื้นที่ป่าติดไฟ ทว่าผืนป่ากว้างใหญ่เกินไปจนไม่คุ้มค่านํ้ามันเครื่องบินแต่ละเที่ยว เทคนิคการดัดแปลงสภาพอากาศเป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ฝนหลวงเป็นความหวังว่าจะช่วยบรรเทาฝุ่นละอองในอากาศ เครื่องบินจะใช้สารเคมี (โซเดียมคลอไรด์) เลี้ยงเมฆให้อ้วนจนอิ่มนํ้า และโจมตีให้กลายเป็นฝนโปรยลงมาชะล้างหมอกควันได้ในระดับหนึ่ง แต่อุปสรรคใหญ่คือฝนเทียมไม่สามารถทำได้ตลอดเวลา เพราะขึ้นอยู่กับความชื้นในอากาศของแต่ละวัน

หนึ่งหทัย ตันติพลับทอง ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ บอกว่า “ความชื้นสัมพัทธ์ที่เหมาะสมในการทำฝนหลวงอยู่ที่ 60 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไปค่ะ” นั่นหมายความว่า วันใดที่ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศไม่ถึงเกณฑ์ ก็เท่ากับโปรยสารเคมีในอากาศเสียเปล่า “นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมเราถึงไม่สามารถทำฝนหลวงได้ทุกที่ทุกเวลา”

(อ่านต่อหน้า 3)

ปัจจุบัน ความเสี่ยงจากปัญหาหมอกควันทวีความรุนแรงขึ้น ประเด็นสำคัญมาจากการขยายพื้นที่เกษตรกรรม นักสิ่งแวดล้อมโทษข้าวโพดว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหาหมอกควัน ภาคเหนือเป็นแหล่งปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 4.7 ล้านไร่ นับว่ามากที่สุดในประเทศไทย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นพืชทนแล้ง ต้องการนํ้าน้อย และปลูกง่าย มีตลาดรับซื้อไม่อั้น เพื่อนำไปใช้ในอุตสาหกรรมผลิตอาหารสัตว์ซึ่งมีความต้องการมหาศาล สะท้อนถึงความต้องการบริโภคเนื้อสัตว์ของเราที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

เกษตรกรรุกป่าเพื่อแปรสภาพเป็นไร่ข้าวโพด และมักเผาตอซังเพื่อเตรียมการปลูกรอบใหม่ซึ่งจะเริ่มประมาณเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป ที่อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ถนนลาดยางอย่างดีพาเราลัดเลาะไปตามหุบเขาสูงชัน แต่น่าทึ่งที่ยอดดอยสูงชันขนาดเดินขึ้นยังยาก กลับถูกยึดครองด้วยดงข้าวโพดเขียวขจี เกษตรกรมากกว่า 7,000 รายของที่นี่ปลูกข้าวโพดเป็นหลัก จนได้รับการขนานนามว่า “หุบเขาแห่งข้าวโพด”

ส่วนที่จังหวัดน่าน พื้นที่ปลูกข้าวโพดมากเป็นอันดับสามของประเทศ ก็กลายเป็นหุบเขาเหี้ยนเตียนในช่วงเทศกาลเผา เดชา สงค์ประเสริฐ นักธุรกิจคนสำคัญของจังหวัดน่าน เล่าให้ผมฟังว่า “ลองดูสิ เวลาถามคนดอยว่าที่ดินของเขาอยู่ไหน เขาชี้แบบนี้” เขาควํ่ามือลงแล้วแบมือ เป็นคำตอบติดตลกทำนองว่าทุกทิศทุกทาง “ของเขาทั้งนั้น”

ถ้าไร่ข้าวโพดในจังหวัดน่านหรือเชียงใหม่เป็นตัวการของหมอกควัน นั่นเป็นความจริงเพียงครึ่งเดียว คำถามคือที่จังหวัดแม่ฮ่องสอนซึ่งมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดน้อยที่สุดในบรรดาจังหวัดภาคเหนือ คือประมาณ 9,000 ไร่ (เป็นเรื่องแปลกที่บริษัทนายทุนใหญ่ตีตลาดไม่ได้) ทำไมจึงเผชิญกับภัยหมอกควันหนักหนาสาหัสที่สุด ครั้งล่าสุดที่ผมอยู่ที่นั่น ค่าฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 10 ไมครอน หรือ PM 10 อยู่ในระดับเกินกว่า 300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ทุบสถิติจังหวัดอื่น ๆ หลายเท่าตัว

ผมรู้สึกแสบตาเมื่อขี่มอเตอร์ไซค์และหายใจติดขัดตลอดเวลา เครื่องบินหลายเที่ยวไม่สามารถลงจอดได้ และผู้โดยสารที่เร่งรีบต้องหันไปใช้บริการรถตู้หรือรถทัวร์แทน ผู้คนเก็บตัวในห้องแอร์และอีกไม่กี่วันจะมีการแข่งวิ่งมาราธอนเป็นเรื่องตลกร้ายสำหรับนักวิ่งปอดเหล็ก

สมญาดินแดนสามหมอกที่ประกอบด้วยหมอกม่านฝน หมอกนํ้าค้าง และหมอกควัน เป็นความจริงที่เด่นชัด โดยเฉพาะในยามหน้าร้อนที่อุณหภูมิแตะ 40 องศาเซลเซียส พื้นที่เกือบร้อยละ 90 ของจังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นป่าไม้ จึงค่อนข้างชัดเจนว่า วัตถุประสงค์การเผาของชาวบ้านที่นี่คือการหาของป่า

แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นวัดที่เคร่งครัดต่อวัตรปฏิบัติ (การพรากของเขียวถือเป็นอาบัติ) แต่พระสงฆ์ที่วัดถํ้าผาปล่อง อำเภอเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ต้องร่วมแรงกันตัดไม้ เพื่อสร้างแนวกันไฟป้องกันไฟป่า

สุริยน สังข์สุข สหายช่างภาพที่นั่น พาผมซ้อนมอเตอร์ไซค์วิ่งจากตัวเมืองไปถึงอำเภอปางมะผ้า เพื่อไปเยี่ยมพี่น้องชาวลาหู่ ระหว่างทางเราหยุดมองจากยอดดอยลูกหนึ่ง ภาพหมู่บ้านลูกข้าวหลามเดิมที่เคยน่าตื่นตาสำหรับผู้คนที่สัญจรผ่านไปมา คือภาพของหมู่บ้านเล็ก ๆ กระจุกตัวกลางหุบเขาลึก บัดนี้กลับซ่อนอยู่ในม่านหมอกคล้ายมีใยแมงมุมยักษ์ห่อหุ้มทั้งหมู่บ้านเอาไว้ ขากลับเราบึ่งมอเตอร์ไซค์เข้าเมืองในช่วงพลบคํ่า ตลอดรายทางคดโค้ง เราเห็นเปลวเพลิงเป็นแนวยาวเผาผลาญภูเขาทั้งลูกก็มี เป็นหย่อมๆ ก็มี กองไฟมีมากตลอดทางจนนับไม่ไหว และบางช่วงก็ลุกลามไปติดกอไม้แห้ง

สุริยนชี้ให้ดูกองไฟเล็ก ๆ กองหนึ่งและบอกว่า นี่เป็นกองไฟที่เพิ่งเริ่มจุด นั่นแสดงว่ามือเพลิงอยู่ไม่ไกล จากตรงนี้ “คนเก็บของป่าจะจุดไฟขาเดินออกจากป่าแล้วก็กลับบ้านครับ” เขาบอก

ขณะที่ทางการจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือสั่งการให้ควบคุมการเผาในพื้นที่เกษตร โดยดูข้อมูลจุดความร้อนหรือฮอตสปอตจากดาวเทียม แล้วสั่งการไล่ลงไปจนถึงระดับตำบลและหมู่บ้าน กำนันหรือผู้ใหญ่บ้านจะทราบทันทีว่า เปลวไฟมาจากแปลงเกษตรของลูกบ้านคนใด ทว่าการควบคุมไฟในจังหวัดแม่ฮ่องสอนหนักหนาสาหัสกว่ามาก จุดความร้อนส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าซึ่งไม่มีใครเป็นเจ้าของ และหลายจุดเป็นดอยสูงชันที่เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่ายังต้องเอามือก่ายหน้าผาก สุรพล พนัสอำพล
ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ยอมรับกับผมว่า “ความยากของการจัดการไฟป่าที่นี่คือ จะทำอย่างไรไม่ให้กระทบกับวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนครับ”

ไฟป่าในเขตจังหวัดแม่ฮ่องสอนอาจผลาญเศษซากไม้แห้งและใบตองตึงที่ทับถมจนป่าเหี้ยนเตียนก็จริง แต่ไม้ยืนต้นจะรอดจากเปลวเพลิง ไม้ยืนต้นเหล่านี้เป็นแหล่งขุมทรัพย์ลํ้าค่าของชาวบ้านในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า นั่นคือเห็ดป่า โดยเฉพาะเห็ดเผาะ หรือเห็ดถอบ ตามคำเรียกของคนทางนั้น

เมื่อป่าถูกเปลวไฟโหมจนโล่งเตียนแล้ว ปลายฤดูร้อนต่อฤดูฝน (ราวเดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน) จะเป็นช่วงที่ลมมรสุมหอบฝนมาโปรย สลับกับไอร้อนจากแดดจัดสภาพอากาศแบบนี้เหมาะแก่การเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตประเภทเชื้อราและเห็ด เห็ดถอบจะเติบโตอยู่ตามรากของต้นตึงซึ่งเป็นไม้ยืนต้นที่พบทั่วไป

เห็ดถอบทำรายได้มหาศาลให้ชาวบ้าน แต่ละครอบครัวต่างเฝ้ารอช่วงเวลากอบโกย เห็ดลิตรหนึ่ง (ขายเป็นลิตร) ขายได้ 200-250 บาท “พี่หนุ่ม” พ่อค้าเห็ดถอบรายใหญ่คนหนึ่งในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เล่าว่า ในฤดูเห็ดออกตลอดทั้งเดือนเขาแทบไม่ได้ลงจากรถกระบะเลย เพราะต้องขับรถรับส่งเห็ดเข้า-ออกจังหวัดเชียงใหม่ และสำรองเงินไว้วันละกว่าห้าแสนบาท เพื่อจ่ายค่าเห็ดให้เครือข่ายชาวบ้านในแต่ละหมู่บ้าน พ่อค้าเห็ดถอบรายนี้เล่าว่าเห็ดถอบจากแม่ฮ่องสอนเรียกว่า เห็ดถอบหนัง เป็นเห็ดถอบที่มีรสชาติดีกว่าเห็ดถอบทั่วไปในจังหวัดอื่นๆ และแน่นอนว่าราคาย่อมสูงกว่า “ชาวบ้านออกรถใหม่มอเตอร์ไซค์ใหม่กันได้ก็ช่วงนี้แหละครับ”

ความเชื่อเรื่องเผาป่าเพื่อหาเห็ดถอบแบ่งออกเป็นสองขั้ว ด้านหนึ่งคือความเชื่อที่ว่า หากไม่เผาป่า จะไม่มีเชื้อขี้เถ้าให้เห็ดสำหรับเจริญเติบโต อีกด้านหนึ่งบอกว่า การเผาช่วยให้เดินเข้าไปหาเห็ดได้ง่ายขึ้น เพราะไม่ต้องคอยแหวกเศษใบไม้ที่ทับถมบนดินและง่ายต่อการขุด แต่นันทินี ศรีจุมปา นักวิชาการด้านเห็ดจากศูนย์วิจัยพืชสวน จังหวัดเชียงราย อธิบายว่า ”ส่วนตัวคิดว่าไม่จำเป็นต้องเผานะคะ แต่เชื่อว่าที่ชาวบ้านเผาคงเพื่อให้หาเห็ดได้ง่ายขึ้น”

หมอกควันจากการเผาป่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตชาวแม่ฮ่องสอนไปแล้วจริงหรือ สำหรับชาวเมืองที่ไม่ค่อยมีปากมีเสียง หรือชาวบ้านที่ได้ประโยชน์จากการหาของป่านั้นอาจจะใช่ แต่สำหรับเสนีย์ อังคะรุด มองเรื่องนี้ในอีกแง่มุมหนึ่ง เจ้าของธุรกิจรีสอร์ตและร้านไวน์แห่งใหม่ใจกลางเมืองแม่ฮ่องสอนผู้นี้ออกตัวว่า หมอกควันไฟป่าไม่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของเขาเท่าไรนัก เพราะเป็นช่วงโลว์ซีซั่น แต่สิ่งที่เขาเรียกร้องคือคุณภาพอากาศที่ดีซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนพึงมี “ผมว่ามันไม่ยุติธรรมครับ คนเผาได้ประโยชน์ แต่คนอยู่ต้องทนอากาศอย่างนี้จะบอกว่าชินคงไม่ใช่ ผมว่าเราต้องจัดระเบียบกันใหม่แล้วเราจะอยู่กันอย่างนี้ต่อไปหรือ”

(อ่านต่อหน้า 4)

แม้ทางการจะยับยั้งไฟป่าได้ในระดับหนึ่ง แต่ความจริงที่เลี่ยงไม่ได้ของชาวแม่ฮ่องสอน คือหมอกควันอีกส่วนหนึ่ง (บ้างว่าเป็นส่วนใหญ่) มาจากเพื่อนบ้านอย่างเมียนมาร์ เช้าฟ้าหลัววันหนึ่ง ผมเปิดดูข้อมูลดาวเทียมพยากรณ์อากาศของสิงคโปร์ เว็บไซต์ชี้ให้เห็นข้อมูลอย่างละเอียดว่า จุดความร้อนในประเทศเมียนมาร์มีมากกว่าในประเทศไทยหลายร้อยเท่า ผมนึกย้อนไปในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่จุดความร้อนในประเทศกัมพูชามีมากเป็นพิเศษ หลักฐานนี้โยงให้เห็นว่า ปัญหาหมอกควันสามารถลุกลามเป็นปัญหาระดับนานาชาติได้อย่างไร

วิกฤติการณ์ข้ามชาติทำนองนี้เกิดขึ้นกับประเทศสิงคโปร์ที่ต้องแบกรับควันไฟจากการเผาป่าเพื่อแปรสภาพพื้นที่เป็นสวนปาล์มนํ้ามันบนเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย วิกฤติการณ์ดังกล่าวยังส่งผลกระทบมายังภาคใต้ของไทยด้วย ความพยายามในการแก้ปัญหาหมอกควันไฟระหว่างประเทศเริ่มเห็นผลเป็นรูปธรรมเมื่อผู้นำประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดการประชุมหารือเพื่อหาทางออกของวิกฤติการณ์ดังกล่าว จนนำไปสู่ความตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามแดน (ASEAN Agreement on Transboundary Haze Pollution) ที่มีการลงนามไปตั้งแต่ปี 2002 และกระทั่งถึงปี 2007 แปดชาติสมาชิกอาเซียน (เว้นอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์) ได้ให้สัตยาบันในความตกลงดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม แม้ความตกลงนี้จะมีผลผูกมัดรัฐที่มีพรมแดนติดต่อกันในการจัดการกับปัญหาหมอกควันข้ามแดน ทว่าในความเป็นจริงกลับยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร กระทั่งประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นชาติต้นตอของปัญหาก็ยังไม่สามารถผลักดันให้รัฐสภาลงมติให้สัตยาบันรับรองความตกลงดังกล่าวได้

ขณะที่ทางการบังคับใช้กฎหมายและโหมรณรงค์ต่อต้านการเผาป่าในช่วงวิกฤติหมอกควัน องค์กรอนุรักษ์หลายแห่งกลับพุ่งเป้าไปยังเยาวชนโดยจัดกิจกรรมต่างๆ อาทิ “การฟังเสียงต้นไม้” เพื่อสร้างจิตสำนึกในการรักและหวงแหนผืนป่า ตลอดจนเป็นรากฐานของการอนุรักษ์ธรรมชาติในอนาคต

ปัญหาหมอกควันจากประเทศเพื่อนบ้านส่งผลกระทบต่อสถานการณ์หมอกควันในภาคเหนือของไทยอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ผู้ว่าฯ สุรพล พ่อเมืองแม่ฮ่องสอนยอมรับว่า “ปัญหาหมอกควันจากเพื่อนบ้านถือเป็นเรื่องใหญ่มาก” และเสริมว่าที่ผ่านมาแม้จะมีการพูดคุยในหลายระดับ ตลอดจนการแลกเปลี่ยนบุคลากรและองค์ความรู้ แต่การแก้ไขปัญหาในประเทศเพื่อนบ้านอยู่เหนืออำนาจอธิปไตยของไทย จึงเป็นเรื่องยากเสียยิ่งกว่าการจับมือเผาในท้องที่ของเราเองเสียอีก

หากคุณเดินทางขึ้นภาคเหนือ พื้นที่รกร้างสองข้างทางมักมีป้ายรณรงค์งดเผาป่าด้วยข้อความน่ารักอย่างเช่น “ไม้ขีดหนึ่งก้าน ร้ายกว่าขวานร้อยเล่ม” หรือ “ไม่หยุดเผานํ้าตาจะเช็ดหัวเข่า” แต่เมื่อถึงเทศกาลเผา ป้ายรณรงค์เหล่านี้ไม่น้อยกลับกลายเป็นเชื้อเพลิงเสียเอง มิตรสหายชาวแม่ฮ่องสอนของผมคนหนึ่งเป็นอดีตมือเพลิง (ปัจจุบันย้ายไปทำงานต่างประเทศ) เล่าอย่างยียวนว่า เขาขี่มอเตอร์ไซค์ไปตามทางจนเห็นป้ายเขียนว่า “หยุดเผา!” เขาจึงหยุดรถทันทีและเผาหญ้าตามคำชักชวน

มิตรสหายอีกท่านตั้งข้อสงสัยว่า ในปีที่ธุรกิจท่องเที่ยวแม่ฮ่องสอนเฟื่องฟูสุดขีด หมอกควันอาจเป็นอาวุธต่อกรของรถโดยสารเพื่อแย่งลูกค้ากับเครื่องบินที่บินตรงจากเชียงใหม่ พ่อหลวง (ผู้ใหญ่บ้าน) บ้านใหม่ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอนเล่าว่าผู้ว่าราชการจังหวัดคนเก่าเคยวางมาตรการ “คาดโทษ” ผู้นำหมู่บ้านที่ปล่อยให้มีการเผาเกิดขึ้น ทว่าแทนที่จะระงับเหตุได้มากขึ้น กลับกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของฝ่ายตรงข้าม ให้ว่าจ้างคนมาเผาเพื่อโจมตีอีกฝ่าย

ภาพจากมุมสูงของพระธาตุดอยสุเทพ จังหวัดเชียงใหม่ โอบล้อมไปด้วยหมอกควัน ในช่วงฤดูแล้ง หมอกควันจากการเผาประกอบกับความกดอากาศสูงจะอบอวลอยู่ในพื้นที่แอ่งกระทะของหลายจังหวัดในภาคเหนือ

เหตุผลของมือเพลิงอาจมีตั้งแต่ความคึกคะนอง เผาเพื่อยังชีพ ไปจนถึงการเมืองท้องถิ่น แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด เมื่อไฟลุกลามบานปลาย ก็ต้องมีคนดับไฟ  ช่วงเดือนมีนาคม เจ้าหน้าที่สถานีควบคุมไฟป่าอำเภอแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ มีงานให้ทำมากเป็นพิเศษ เหตุไฟไหม้มีตลอดทั้งวันทั้งคืน และเจ้าหน้าที่ต้องอยู่เวรตลอด 24 ชั่วโมง เที่ยงของวันที่อากาศร้อนเหมือนตะวันขี่หลัง ผมติดตามเจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าไปยังจุดรับแจ้งเหตุเพลิงไหม้ ที่บ้านโป่งนก อำเภอสันกำแพง เลยบ่อนํ้าร้อนสันกำแพงและรีสอร์ตหลายแห่งไปไม่ไกล

“คนอื่นเขาวิ่งหนีไฟ แต่เราต้องวิ่งเข้าหาหรือครับ” ผมเอ่ยปากแซวลูกจ้างของสถานีขณะโดยสารไปกับรถ “ชาติที่แล้วพวกเราคงเกิดเป็นแมงเม่าครับ” ลูกจ้างคนหนึ่งตอบกลับมายิ้ม ๆ

ลูกจ้างดับไฟ 12 คน (เสือไฟ) เป็นชาวบ้านในละแวกนั้น พวกเขาได้ค่าจ้างวันละ 300 บาท พร้อมแบกอุปกรณ์ดับไฟคือคราดที่ด้ามทำจากไม้ไผ่ กับเครื่องพ่นลมสะพายหลังอีกเครื่องหนึ่ง หัวหน้าชุดดับไฟครั้งนั้นชื่อ สุริยน ภูใจ หนุ่มชาวลำปางผู้เงียบขรึม เขามีหน้าที่แจ้งพิกัดไฟจากจีพีเอส ถ่ายภาพ ช่วยทำแนวกันไฟ และตัดสินใจว่าเราควรจะหยุดหรือควรไปต่อ

พื้นที่ส่วนใหญ่แถบนี้เป็นป่าเบญจพรรณ กอไผ่แห้งๆ และเศษใบไม้กรอบบนพื้นเป็นเชื้อเพลิงชั้นดี นั่น! ไฟกำลังกระพือ เสียงไม้แตกลั่นดังเปรี๊ยะๆ เหมือนคนขอความช่วยเหลือ ลมพัดหอบให้ไฟโชนขึ้น เราโดดลงจากรถกระบะเก่า ๆ แล้วทำแนวกันไฟรอบ ๆ รถเพื่อป้องกันไฟไม่ให้ไหม้ลามมาถึงรถตอนที่เราไม่อยู่ สุริยนนำหน้าลูกทีมเราเดินเลาะไปตามสันเขา ข้างๆ เป็นลำห้วยแห้งผาก ไฟป่าลุกลามเป็นสาย ไฟเหมือนสัตว์ร้ายตะกละตะกลามกินทุกอย่างที่ขวางหน้า ทิ้งเถ้าถ่านดำไว้เบื้องหลัง เราคราดใบไม้บนพื้นสร้างเป็นแนวโล่งๆ เพื่อกันไฟ วิธีดับเพลิงง่ายๆ ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า ถ้าไม่มีเชื้อเพลิงก็ไม่มีไฟ เราทำแนวกันไฟเลียบเชิงเขา เมื่อไฟลามมาถึงแนวกันไฟก็ดับลง เหลือแต่ควันไฟให้นํ้าหูนํ้าตาไหล

กองเพลิงใหญ่ขวางทางอยู่ และเราจำเป็นต้องผ่านไป “เสือไฟ” เดินเฉียดกองเพลิงเหมือนมันไม่มีตัวตน แต่สำหรับผม แค่อยู่ห่างกองเพลิงใหญ่เพียงเมตรเดียวก็ร้อนระอุแสบผิว สุริยนสั่งการให้ลูกทีมไต่ดอยขึ้นไปทำแนวกันไฟให้สูงขึ้น ป้องกันไฟลามจากภูเขาลูกหนึ่งไปอีกลูกหนึ่ง เราไต่ความสูงขึ้นไปช้า ๆ ตามแนวหน้าผาชัน รองเท้ายางของผมทำงานได้ดี แต่ก็เริ่มต้องไต่สี่ขาเหมือนแพะภูเขา พวกเราหายใจหอบและสูดควันเข้าสองปอด “ถ้าใช้ผ้าปิดปากจะทำงานไม่ถนัดครับ เวลาเดินขึ้นดอยจะเหนื่อยมาก” สุริยนบอกผม

”ตรวจสุขภาพกันบ้างไหม” ผมถาม เขาหัวเราะพลางส่ายหน้า

ไฟลุกลามถึงยอดดอยไล่เลี่ยกับเรา หลายคนเริ่มนั่งพักเหนื่อย ควันปริศนาลอยจาง ๆ มาจากยอดดอยอีกหลายลูก งานของนักผจญเพลิงไม่มีวันจบ สุริยนส่งลูกทีมปีนขึ้นไปดูเส้นทางล่วงหน้า ลูกทีมโร่กลับมาบอกว่าไปไม่ไหว เพราะเป็นภูเขาชันอีกลูก และทอดยาวไปไกลไฟลามข้ามภูเขาแน่ๆ เราหยุดพักกันอึดใจหนึ่ง เมื่อมีสัญญาณว่าเปลวไฟจากยอดดอยจะไล่ลามลงมา พวกเขาจึงเร่งทำแนวกันไฟและจุดไฟย้อนกลับขึ้นไป เพื่อให้ไฟมาปะทะกันเองและดับลง

สุริยนตัดสินใจว่าคงไปไกลกว่านี้ไม่ไหวแน่ๆ เขาจึงสั่งถอยทัพ ระหว่างขาลงดอยชัน เรายังทำแนวกันไฟไปเรื่อยๆ ตลอดทาง จนมาพบกับไร่มันสำปะหลังของชาวบ้านในละแวกนั้น เราเดินตัดไร่ออกไปยังถนน จนกลับมาถึงรถที่จอดอยู่ แนวกันไฟที่เราทำไว้ก่อนหน้านี้ทำหน้าที่ได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ ไฟที่ลามจากป่าลึกมอดลง ทิ้งไว้เพียงขี้เถ้าและตอไม้ดำเป็นถ่าน เราพักกันที่ศาลาของหมู่บ้าน สุริยนแกะห่อข้าวกลางวัน ขณะที่ลูกทีมนั่งพักหมดสภาพ ตอนนั้นเกือบสี่โมงเย็นแล้ว รวมสามชั่วโมงกว่าที่เราขึ้นไปบนดอยลูกนั้น ใบหน้าผมมีคราบเขม่าและจมูกแทบไม่รับรู้กลิ่นใด ๆ

รถกระบะพาเราออกมาจากหมู่บ้าน ผมรู้สึกเหมือนฮีโร่ผู้ปิดทองหลังพระ ถ้าไม่มีใครขึ้นไปดับไฟ ป่านนี้ไฟคงลามลงมาถึงรีสอร์ตละแวกนี้ ออกจากจุดเกิดเหตุไปได้ไม่ไกลนัก สุริยนก็เลี้ยวรถเข้าไปในซอยเล็กๆ สู่เชิงเขาอีกลูกหนึ่ง ตรงนั้นดำเป็นตอตะโก ชาวบ้านแจ้งว่าไฟยังไม่ดับ เจ้าของสวนมะม่วงที่อยู่ใกล้ ๆ หอบนํ้าใส่กระติกและซื้อนํ้าอัดลมมาเลี้ยงพวกเรา ลูกทีมเสือไฟหยิบคราดประจำกาย สุริยนนำทีมเดินเท้าไป เสียงลั่นเปรี๊ยะของไม้ต้องไฟดังสนั่น ดวงอาทิตย์หลบไปหลังเขาพวกเขายังไม่ได้กลับบ้าน

(อ่านต่อหน้า 5)

ตลอดเวลาที่อยู่ในดงควัน การตามหามือเพลิงเป็นเรื่องยากที่สุด ผมทำได้ใกล้ที่สุดคือเฉียดไปถึงกองไฟที่เพิ่งจุดใหม่ๆ ไม่มีใครยอมปริปากหรือพาผมไปร่วมเผาด้วยสักคน การเผาในช่วงต้องห้ามถือเป็นความผิดร้ายแรงและเป็นคดีอาญา ประเด็นเปราะบางนี้กลายเป็นข้อพิพาทระหว่างทางการกับชาวบ้าน ณพปกร วัฒนสัตย์ หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ออน จังหวัดเชียงใหม่ เล่าว่า “มือเผาไม่ใช่ใครหรอกครับ ชาวบ้านเขารู้กันดี แต่อย่างว่าคนพวกนี้เขารับบท ‘ฮีโร่จำเป็น’ ครับ” เขาหมายถึงใครเป็นคนเผาป่า มักได้รับการปกป้องจากชาวบ้าน

ในบรรดาทีมงาน “เสือไฟ” ผมพบกับจรัญ ปาเวียงมูล หนุ่มใหญ่วัย 50 ปี เจ้าของไร่กะทกรกพันธุ์ดีที่มารับจ้างดับไฟป่าเป็นปีแรก เขาทบทวนความจำถึงชีวิตวัยหนุ่มเมื่อครั้งยังอยู่กับป่าว่า เขาเองก็เคยเป็นมือเพลิงเหมือนชาวบ้านคนอื่น ๆ แต่ทุกวันนี้เลิกเด็ดขาด เขาบอกว่า เปลวเพลิงและควันจะไล่แมลงที่อยู่ในดงไม้ออกมาบรรดาสารพัดนกจะโฉบมากินแมลงเหล่านี้ และตกเป็นเป้ากระสุนให้พรานยิงได้ง่ายๆ “ผมถามหน่อยเถอะครับ เผาป่าไปได้ประโยชน์แค่เดือนสองเดือน แล้วป่ามันเป็นอย่างนี้ อีกสิบเดือนจะมีอะไรให้กิน” เขาพยักเพยิดไปยังกองขี้เถ้า “มันมีแต่คนที่หาของป่านั่นแหละครับ หมู่บ้านหนึ่งจะมีสักกี่คนเชียว” เขาบอก

ทางออกของข้าวโพดยังมืดมน ขณะที่พืชไร่ชนิดนี้คืบคลานไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ระบบเกษตรพันธสัญญา (contact farming) ยังเป็นโซ่ตรวนที่ล่ามเกษตรกรไทยอีกนับหมื่นราย พวกเขายังต้องจมจ่อมอยู่กับข้าวโพดและวงจรเผาต่อไป นักสิ่งแวดล้อมโจมตีบริษัทผลิตอาหาร ทว่านายทุนประกาศว่า พวกเขาไม่เคยสนับสนุนให้เกษตรกรขยายพื้นที่ปลูกข้าวโพดในป่าและเผาไร่ ฝ่ายแรกโต้กลับว่า พวกเขาสร้างกลไกให้เกษตรกรเข้าตาจนแล้วจึงส่งเสริมให้ปลูกทางอ้อม วิวาทะนี้ยังไม่จบง่าย ๆ และคงต้องรบรากันไปอีกนาน

แน่นอนว่าคนที่ปวดหัวที่สุดคือฝ่ายปกครอง ในช่วงเทศกาลเผาทุกปี ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ เรื่อยไปจนถึงกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จะโดน “บีบ” จาก “หน่วยเหนือ” ทุกครั้ง พวกเขารู้ดีว่าการเซ็นเอกสารหรือเรียกประชุมแทบไม่ช่วยให้ปัญหาหมอกควันบรรเทาเบาบางลงเลย แต่คำสั่งย่อมเป็นคำสั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีโปรเจ็กต์ที่น่าสนใจ เขาสนับสนุนให้ลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานชีวมวล และรับซื้อเศษซากอินทรีย์ที่ชาวบ้านเก็บมาจากป่า “ไม่แน่นะครับ อีกหน่อยนอกจากเห็ดแล้ว ใบไม้ก็จะทำรายได้ให้ชาวแม่ฮ่องสอนอีกด้วย”

เจ้าหน้าที่ควบคุมไฟป่าจากหลายหน่วยงาน ร่วมฝึกซ้อมปฏิบัติการแผนดับไฟป่าประจำปี ในงานดังกล่าวมีการแสดงเทคโนโลยีและยุทธวิธีสำหรับดับไฟในแต่ละพื้นที่ ตลอดจนการถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่ๆ

ตลกร้ายอีกเรื่องคือ ในช่วงสัปดาห์ที่ปัญหาหมอกควันเข้าขั้นวิกฤติ มิตรสหายชาวเชียงใหม่ในเฟซบุ๊กของผม หลายคนบ่นเป็นหมีกินผึ้ง ค่า PM10 ทะลุเกือบ 200 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร มีคนแต่งคำขวัญให้เมืองเชียงใหม่ว่า “ดอยสุเทพเปลี่ยนสี ประเพณีเผาป่า ไปทางไหนก็แสบตา บ่ไหวแล้วก่านครพิงค์” แต่หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นกลับพาดหัวข่าวว่า “เชียงใหม่หายใจโล่ง หมอกควันจางอากาศดี” ขณะที่คนทางไกลอย่างผมฟังรายการวิทยุสัมภาษณ์ข้าราชการผู้ใหญ่ท่านหนึ่งของจังหวัดเชียงใหม่ก็ให้สัมภาษณ์ทำนองเดียวกันว่า อากาศไม่ได้เลวร้ายอย่างที่คิด

ผมทึกทักเอาเองว่า ท่านคงต้องการรักษาภาพลักษณ์ให้เมืองท่องเที่ยว แต่อีกใจก็คิดถึงเพื่อนรักที่เชียงใหม่คนหนึ่ง เขาและภรรยาเพิ่งได้ลูกชายแรกเกิดอายุเพียงเดือนเดียว ผมโทร.ไปสอบถามด้วยความเป็นห่วง เขาตั้งคำถามว่าเชียงใหม่ควรคิดเรื่องการอพยพคนได้แล้ว น่าสนใจที่อีกสัปดาห์ต่อมา เกิดพายุฤดูร้อน ฝนชะล้างหมอกควันไป แล้วหมอกควันก็ถูกลืมไปชั่วคราว

เสนีย์ อังคะรุด เจ้าของธุรกิจในเมืองแม่ฮ่องสอน เสนอว่า ถ้าหมอกควันในบ้านเขามาจากการเผาป่า ก็ควรสร้างจิตสำนึกว่าป่าเป็นของทุกคน ทุกคนควรมีสิทธิได้ประโยชน์จากป่าเท่ากัน ไม่ใช่ของใครคนเดียว และคนอื่นไม่ควรมารับมลพิษจากนํ้ามือคนไม่กี่คนเช่นกัน “ต่างประเทศเขายังมีฤดูปิดป่าเลยครับ แล้วพอเปิดป่าก็ขายบัตร ใครไม่มีบัตร จับเลย มันต้องเด็ดขาดครับ”

แต่ความเด็ดขาดจะแก้ปัญหาหมอกควันได้จริงหรือเสนอ นายกอบต. คนเดิมแห่งบ้านนาก้า จังหวัดน่าน เล่าว่า “วิธีการซื้อใจชาวบ้านไม่ใช่ง่ายนะครับ ผมโดนเบื้องบนบีบลงมา วิธีการของผมคือไปเคาะประตูทีละบ้าน แล้วอธิบายให้ชาวบ้านฟังว่า ‘พวกเขาสั่งไม่ให้เผาเพราะเป็นห่วงสุขภาพของพวกเรานะ คิดดูสิ ขนาดเขาอยู่ไกลถึงกรุงเทพฯ เขายังเป็นห่วงพวกเราเลย’ แต่ก็หลายปีนะครับ กว่าจะเข้าถึงได้”

ณพปกร หัวหน้าสถานีควบคุมไฟป่าแม่ออน สนทนากับผมอย่างออกรสในคํ่าคืนที่แนวเขาไกลลิบเป็นสีแดงเพลิงกลิ่นควันโชยบาง ๆ ตลอดทั้งคืนมีเหตุแจ้งเผากระจายทั่วไปหมด “ผมคงให้ลูกน้องขึ้นไปเสี่ยงไม่ได้หรอกครับอันตรายเกินไป ถ้าเขาสูงมากก็ต้องปล่อย” เขาชี้ไปยังยอดเขา แสงไฟแดงเหมือนทับทิม หลังไฟมอด ควันมหาศาลจะลอยขึ้นสูง

“ความยากของงานดับไฟป่าคืออะไรครับ” ผมถาม “ไฟป่าหรือ จะไปยากอะไร ทำแนวกันไฟก็จบแล้ว แต่ที่ยากที่สุดน่ะคือดับไฟในใจคน” เขาตบหน้าอก “มันร้อนยิ่งกว่าไฟป่าเป็นไหน ๆ ครับ”


อ่านเพิ่มเติม มหันตภัยไฟป่า

© COPYRIGHT 2025 AMARIN PRINTING AND PUBLISHING PUBLIC COMPANY LIMITED.